xs
xsm
sm
md
lg

บุหรี่หรือยาสูบ : สิ่งเสพติดที่สังคมเคยยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในสังคมไทยยุคโบราณ บุหรี่หรือยาสูบในภาษาพื้นบ้านเคยเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนควบคู่ไปกับหมากพลู จะเห็นได้จากคำพูดเป็นวลีควบกันไปที่ว่า หมากพลู บุหรี่ ทุกครั้งที่มีการต้อนรับแขกที่มาเยือนชานเรือนของตน และในยุคนั้นไม่เคยปรากฏว่ามีการต่อต้านการสูบบุหรี่ ทั้งนี้อาจด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ในยุคก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ ดังนั้น การค้นพบโรคอันเกิดจากการสูบบุหรี่ยังไม่มี และประกอบกับการสูบบุหรี่ในยุคนั้นถือว่าแสดงออกถึงความเป็นนักเลงสมชาย ในทำนองเดียวกับการที่สตรีสาวนิยมกินหมากเพื่อให้ริมฝีปากแดง และที่สำคัญสตรีทุกนางจะต้องได้รับการสอนเรื่องจีบหมากให้เป็นคำๆ เพื่อต้อนรับแขกเหรื่อผู้มาเยือนด้วย

ด้วยเหตุนี้ การสูบบุหรี่จึงควบคู่มากับการกินหมากในสังคมไทย จนเรียกได้ว่าเป็นความนิยมก็ว่าได้

2. บุหรี่ หรือยาสูบเป็นสิ่งที่ผู้คนในชนบทผลิตได้เอง โดยการนำเมล็ดต้นยาสูบมาปลูกในแปลง และบำรุงด้วยการใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ และเมื่อใบยาแก่จัดก็เก็บมาบ่ม และหั่นเป็นเส้นๆ ตากแดดให้แห้ง เรียกว่า ยาเส้นบ้าง ยาฉุนบ้าง ยาตั้งบ้าง แล้วนำมามวนด้วยใบจากหรือใบตองแห้งเพื่อสูบ แค่นี้ก็จะได้บุหรี่ไว้สูบเอง และต้อนรับแขกได้แล้ว

ส่วนในสังคมเมืองที่ไม่มีที่เพาะปลูก ก็สามารถซื้อหาทั้งยาเส้น และใบจากหรือใบตองแห้งได้ไม่ยาก ทั้งราคาก็ไม่แพงด้วย

3. พฤติกรรมการเสพสิ่งเสพติดในยุคก่อน ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่หรือแม้กระทั่งยาฝิ่นเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ทั้งส่วนการที่ดำเนินการควบคุม และเก็บภาษีจากกิจการที่เรียกว่า โรงยาฝิ่นก็ดี เป็นหน่วยงานในระดับกรม คือ กรมฝิ่น หรือที่เรียกว่ากรมสรรพสามิตในปัจจุบัน

ดังนั้น การเสพสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่จึงแพร่หลายในสังคมไทย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีไทยในการต้อนรับแขก หรือแม้กระทั่งไปทำบุญคนโบราณยังนิยมจัดบุหรี่ถวายพระภิกษุสงฆ์ที่มาทำพิธีด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการแพทย์เจริญขึ้น และมีการค้นพบว่าการสูบบุหรี่เป็นเหตุให้เกิดโรคร้าย เช่น มะเร็งปอด และโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ จึงได้มีการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่เกิดขึ้นดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ไม่ว่าจะมีการเชิญชวนให้ลดการสูบบุหรี่ และมีกฎหมายออกมาห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะที่ผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ในโรงภาพยนตร์ และในรถโดยสาร เป็นต้น รวมไปถึงกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ที่มีผลให้เกิดการต่อต้านการขายบุหรี่ในการนำออกมาวางบนชั้นขายของ ดังเช่นในกรณีของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในขณะนี้ แต่ก็ยังปรากฏมีผู้สูบบุหรี่อยู่จำนวนมากในสังคมไทย จะมีผลบ้างก็เพียงป้องกันผู้ที่ยังไม่เคยสูบมิให้สูบได้บ้างเท่านั้น

ส่วนผู้ที่สูบแล้วเชื่อได้เลยมีผลทำให้ลดลงได้น้อยมาก เพราะถ้าผู้ที่เคยสูบจะเลิกก็มักจะเลิกด้วยเหตุผลส่วนตัวมากกว่าการออกกฎหมายหรือการเชิญชวน และเหตุผลส่วนตัวที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสุขภาพบ้าง เรื่องของครอบครัวขอร้องบ้าง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความต้องการอยากเลิกเอง

ส่วนว่าการห้ามโฆษณาบุหรี่ โดยเฉพาะการห้ามวางขายให้เห็น และให้บอกเพียงว่ามีบุหรี่ขายคงไม่ช่วยให้คนติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ได้มากนัก เพราะคนที่เสพติดแล้ว ต่อให้ห้ามขายโดยเด็ดขาดก็เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ต้องดิ้นรนหาซื้อมาเสพจนได้ ในทำนองเดียวกัน ยาเสพติดที่ห้ามผลิตและห้ามขายแต่ไม่เอาผิดคนเสพ ก็ยังไม่สามารถให้ผู้เสพเลิกพยายามที่จะหามาเสพเพียงเพราะเหตุผลเดียวคือ ติดจนเป็นนิสัย และถ้าไม่เสพก็จะมีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมให้เป็นปกติได้

ถ้าเป็นเช่นนี้ การห้ามวางขายบุหรี่จะมีประโยชน์อันใดต่อการเลิกบุหรี่ และถ้าจะให้เลิกจริงจะมีวิธีไหนบ้าง?

เกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ ผู้เขียนในฐานะที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน และได้เลิกไปแล้วประมาณ 20 กว่าปี พอจะมีแนวทางเสนอแนะเป็นการส่วนตัวได้บ้าง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพากฎหมายแต่อย่างใด

เริ่มด้วยการตรวจดูอาการติดบุหรี่ และระยะเวลาที่ท่านติดบุหรี่ กล่าวคือ ถ้าท่านติดบุหรี่ถึงขนาดต้องสูบทุกระยะ และวันหนึ่ง 1-2 ซองขึ้นไป ทั้งจะต้องสูบทันทีหลังรับประทานอาหาร และตื่นนอนรวมไปถึงก่อนนอนด้วย ทั้งเป็นการติดบุหรี่ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งด้วยแล้ว บอกได้ว่าท่านเป็นทาสบุหรี่แล้วจริงๆ และอาการติดทำนองนี้ถ้าจะเลิกจะต้องมีขั้นตอนมิใช่เลิกในทันที แต่ควรจะเริ่มด้วยการลดจำนวนลงจาก 2 ซองเหลือซองครึ่ง และครึ่งซอง จนสุดท้ายเช้ามวนและเย็นมวน แล้วเลิกในที่สุด

ถ้าท่านใช้วิธีนี้ไม่ได้ ควรเริ่มด้วยการเปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ ไม่คงที่ หรือประจำยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งสักระยะหนึ่งแล้วค่อยๆ ลดจำนวนลงไป ทำนองเดียวกันกับวิธีแรก

ถ้าทั้งสองวิธีนี้ไม่ได้ผลก็ขอให้ลองพึ่งยาสมุนไพรมาช่วย เช่น อมยาเมื่อรู้สึกอยากสูบบุหรี่ และดื่มน้ำอุ่นมากๆ เมื่อไม่ไหวค่อยสูบ และไม่ควรสูบหมดมวน แต่ดูดเพียงเล็กน้อยแล้วให้ทิ้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนแน่ใจว่า ท่านเริ่มลดการสูบได้ในระดับหนึ่งแล้วค่อยทิ้งระยะห่างไปเรื่อยๆ ก็จะเลิกได้ แต่ควรจำไว้ว่า ไม่ควรเลิกด้วยการหักดิบคือ เลิกเลยในทันที เพราะถ้าท่านใจไม่แข็งพอจะกลับมาสูบอีก และอาจติดบุหรี่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วย

สำหรับการป้องกันมิให้ผู้ที่ยังไม่เคยสูบบุหรี่ต้องหันมาพึ่งบุหรี่เพื่อเพิ่มการมีบุคลิกภาพในการเข้าสังคมที่คนส่วนใหญ่ อ้างนั้นคงทำได้ไม่ยาก เพราะเพียงราคาบุหรี่แพงขึ้นในระดับที่เด็กที่อยู่ในวัยเรียนไม่มีรายได้เอง แต่ต้องอาศัยรายได้จากพ่อแม่ผู้ปกครอง คงจะช่วยให้ป้องกันปัญหานี้ได้ส่วนหนึ่ง

แต่ที่น่าจะป้องกันได้จริงๆ ก็คือ การสอนของครูบาอาจารย์ และภิกษุสงฆ์ให้เห็นถึงพิษร้ายของบุหรี่ และความหลงผิดเข้าใจผิดที่ว่าบุหรี่ช่วยให้เข้าสังคมได้ ก็คงจะป้องกันได้ในระดับหนึ่ง

แต่ที่น่าจะป้องกันเรื่องนี้ได้ดีก็คือ การที่ผู้ใหญ่ในสังคมอันเป็นแบบอย่างให้เด็กยึดถือไม่สูบบุหรี่ และการห้ามมิให้บุคคลในสื่อสาธารณะ เช่น ภาพยนตร์ เป็นต้น มีการสูบบุหรี่ให้เห็นอย่างเด็ดขาด และถ้าปรากฏว่าคนที่มีส่วนในการนี้ เช่น ดาราภาพยนตร์ เป็นต้น คนใดมีการสูบบุหรี่ก็ไม่ควรส่งเสริมโดยการให้มีบทบาทในทางสื่อ เช่น นักแสดงที่ติดบุหรี่ก็ไม่ให้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ เป็นต้น แต่การกระทำในทำนองนี้จะต้องไม่ออกเป็นกฎหมาย แต่ควรจะเป็นมาตรการขอความร่วมมือเจ้าของกิจการให้ช่วยกันเท่านั้น

อีกประการหนึ่ง ผู้ที่มีหน้าที่สั่งสอนอบรมเด็ก เช่น ครู และพระภิกษุสงฆ์ไม่ควรสูบบุหรี่ให้เด็กถือเป็นแบบอย่าง ถ้าทำได้จำนวนผู้สูบบุหรี่ในสังคมไทยจะค่อยๆ ลดลง และมีโอกาสหมดไปได้เองเมื่อจำนวนผู้สูบบุหรี่เหลือน้อยในระดับที่ไม่คุ้มต่อการผลิต และนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ

ส่วนว่าเมื่อใด และใครจะเริ่มต้นเพื่อแนวทางนี้ ผู้เขียนเห็นว่าในสังคมไทยเรามีผู้กล้าอยู่มากมาย และในเรื่องนี้คงจะหาผู้กล้าที่ออกมาต่อสู้เกี่ยวกับการลดและเลิกสูบบุหรี่ไม่ยาก โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มว่าสูบบุหรี่น้อยลงกว่าแต่ก่อน และการไม่มีคนสูบบุหรี่ใช่ว่าจะเป็นเครื่องรับประกันว่าสังคมดีขึ้น เพราะอาจมีคนสูบบุหรี่น้อยลงแต่หันไปเสพสิ่งเสพติดอย่างอื่น เช่น ยาอี เป็นต้น มากขึ้น และถ้าเป็นเช่นนี้ก็แปลว่ามาตรการแก้ไขปัญหาสังคมไม่ได้ดีขึ้นแต่ประการใด แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบจากสิ่งเก่าที่ล้าหลัง หันไปเสพสิ่งใหม่ที่เห็นว่าทันสมัยกว่าเท่านั้น ในทำนองเดียวกันกับการแก้ไขปัญหาการโกงตามน้ำ โดยการกินเปอร์เซ็นต์จากผู้รับเหมาหรือผู้ขายของให้ราชการ มาเป็นผู้รับเหมาเอง และขายของให้ราชการเสียเองโดยยังคงต้องการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น ลดสเปก และขายของคุณภาพต่ำในราคาแพง เป็นต้น อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมได้มากกว่าเดิมด้วย

ถ้ากฎหมายมีการตีความชัดเจนในเรื่องการวางขายบุหรี่ให้เห็น ออกมาบังคับใช้ตามนัยว่าเป็นการโฆษณาสินค้าต้องห้ามคือบุหรี่จริง จะช่วยแก้ไขปัญหาคนติดบุหรี่ในกลุ่มวัยรุ่นได้หรือไม่?

เกี่ยวกับประเด็นแห่งคำถามนี้ ผู้เขียนเชื่อว่ามีส่วนทำให้ลดลงได้ไม่มาก ด้วยเหตุผลในแง่ของตรรกะดังต่อไปนี้

1.คนติดบุหรี่ไม่แตกต่างไปจากคนติดสิ่งเสพติดอื่นๆ ที่ถึงเวลาเสพต้องได้เสพ และถ้าไม่เสพแล้วจะมีผลกระทบต่อสภาวะทางอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น หงุดหงิด และโกรธง่ายพาลเอากับคนรอบข้าง รวมไปถึงมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการย่อยอาหารหรือการพักผ่อนด้วย

ถ้าคนที่ติดบุหรี่ในระดับนี้ การไม่อนุญาตให้วางบุหรี่ขายแต่บอกว่ามีขายก็ไม่แตกต่างกัน จะแตกต่างกันก็เพียงว่า แทนที่จะหยิบเองและจ่ายสตางค์ ก็จะถามว่ามีบุหรี่ยี่ห้อที่ตนต้องการไหม และให้คนขายหยิบมาให้แล้วจ่ายเงินเสียเวลานานกว่ากันแต่ผลเหมือนกัน คือสามารถหาซื้อบุหรี่มาสูบได้ทุกครั้งที่ต้องการจะซื้อในร้านเดิมที่เคยซื้อ และยังคงขายด้วยการเขียนบอกว่ามีขาย

2.จะต้องไม่ลืมว่าสินค้าบุหรี่มิได้มีขายในร้านค้าที่ขายบุหรี่เพียงอย่างเดียว แต่จะขายรวมอยู่กับสินค้าอื่นๆ จะเป็นร้านเล็กหรือร้านใหญ่หรือแม้กระทั่งในร้านอาหารก็ขายได้

ดังนั้น การห้ามวางขายจึงมิใช่ประเด็นที่จะทำให้หาซื้อได้ยาก และเป็นเหตุให้คนไม่อยากบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ลงได้แต่ประการใด

ทางที่ดีและน่าจะได้ประโยชน์ในการลดบุหรี่ลง ควรจะได้มีการลดการผลิตและการนำเข้าบุหรี่ พร้อมกับการเก็บภาษีให้สูงเพื่อให้ราคาขายแพงขึ้นถึงระดับที่ว่าจะทำให้ผู้สูบเดือดร้อนจากราคา และหันมาลดบุหรี่เองจะดีกว่า

เท่าที่เขียนมาตั้งแต่ต้นก็เพียงท้วงติงให้เห็นว่ารัฐบาลมีเจตนาจะให้คนลดบุหรี่ อันถือได้ว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่ให้โทษ และควรจะได้มีการดำเนินการในทุกแนวทางพร้อมๆ กัน ทั้งในส่วนของกฎหมายห้าม มาตรการเชิญชวน และรวมไปถึงการขึ้นราคาเพื่อลดกำลังซื้อ ทั้งนี้เพื่อให้โรคอันเกิดจากการสูบบุหรี่ลดลง และนำเงินงบประมาณในการรักษาคนป่วยประเภทนี้ไปใช้ในส่วนอื่นเท่านั้น มิได้มีเจตนาอื่นใดในอันที่จะทำให้คนติดบุหรี่ และเลิกไม่ได้เพราะยากแก่การเลิก หรือไม่อยากเลิกเพราะยังไม่เห็นโทษของการสูบบุหรี่ต้องมาเดือดร้อนเพราะมาตรการต่างๆ ที่รัฐดำเนินการ และเชื่อว่าการหาทางเพื่อลดการสูบบุหรี่จะยังคงทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตราบเท่าที่รัฐยังต้องการรายได้จากการขายบุหรี่
กำลังโหลดความคิดเห็น