xs
xsm
sm
md
lg

กฎทองคำสำหรับปกป้องเด็กๆ จากโทรทัศน์

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ก่อนหน้านี้ ผมได้อาศัยข้อค้นพบจากการวิจัยในสหรัฐอเมริกาและยุโรปบอกเล่าถึงอันตรายของโทรทัศน์ต่อสุขภาพทางกาย ใจ และสมองของเด็กๆ เพื่อเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์สำหรับใครๆ ในเมืองไทยไว้หลายครั้ง ในวันนี้ ผมจะขอพูดถึงปัญหาในทำนองเดียวกันนี้อีกสักครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพราะเรื่องราวที่จะนำมาบอกเล่าคราวนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้ปกครองของเด็กๆ ในเมืองไทยโดยตรง ในแง่ที่เป็นคู่มือในการตัดสินใจดำเนินการเกี่ยวกับปัญหานี้ในบ้านของตนให้ได้ผล

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณแม่ชาวอังกฤษสองท่านผู้มีลูกๆ รวมกันทั้งหมดห้าคน กล่าวคือ เทเรซา ออเรนจ์และหลุยส์ โอฟลินน์ ได้ร่วมกันเขียนและตีพิมพ์หนังสือออกมาวางตลาดเล่มหนึ่งชื่อ The Media Diet for Kids: A Parents’ Survival Guide to TV & Computer Games ถึงแม้ว่าจะเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ทว่ากลับได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในอังกฤษ ถึงขนาดที่เป็นอะไรที่ช่วยกระตุ้นในเกิดการอภิปรายกันในบางวงการก่อนที่หนังสือจะปรากฏโฉมในตลาดด้วยซ้ำ

ความดังของหนังสือเล่มนี้มีรากฐานมาจากความจริงง่ายๆ ที่ว่า สื่อสมัยใหม่อย่างโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์นั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่ไปอย่างแยกไม่ออกเสียแล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ล้วนมีความกังวลว่าตนเองควรจะมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายในบ้านของตนเองอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่เด็กๆ

เป้าหมายของคุณแม่ทั้งสองในการเขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ การสร้างคู่มือเพื่อคุณพ่อคุณแม่ของเด็กๆ ในช่วงอายุ 2-12 ขวบ โดยพิจารณาทั้งด้านดีและด้านเสียของสื่อ

ในทัศนะของผู้เขียนที่ลงทุนลงแรงเขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือการออกมาปกป้องสังคม หรืออย่างน้อยๆ ก็ปกป้องเด็กๆ จากการดูโทรทัศน์มากเกินไป สำหรับนักเขียนคู่นี้ สองสิ่งนั้นก็คือสิ่งเดียวกันนั่นเอง

ทั้งนี้ ก็เพราะอังกฤษก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่บรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายประสบกับปัญหาที่ว่าลูกๆ ของตนใช้เวลาค่อนข้างมากกับโทรทัศน์และเกมคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบัน ในกรณีของโทรทัศน์ โดยเฉลี่ยแล้วเด็กๆ ในอังกฤษจะใช้เวลาดูโทรทัศน์กันคนละ 53 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาจาก 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพียงเมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้

ถึงแม้ว่าจะทราบกันดีทั่วไปพอสมควรว่า กิจกรรมทั้งสองชนิดนี้มากับความเจ็บป่วยนานาชนิดแอบแฝงมาด้วย รวมทั้งความเครียด ความอ้วน จนกระทั่งถึงพฤติกรรมที่ฝักใฝ่ความรุนแรง ทว่าก็ไม่ค่อยมีใครสักกี่คนนักที่ล่วงรู้เคล็ดลับในการที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความที่หนังสือเล่มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็น “คู่มือ” ของพ่อแม่ในการจัดการกับปัญหาที่เขาต้องพบกันในชีวิตประจำวัน มันจึงได้รับความสนใจไม่ใช่น้อยๆ

จุดที่น่าสนใจมากก็คือ ผู้เขียนทั้งสองท่านมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้เขียนหนังสืออย่างนี้เป็นยิ่งนัก แรกเลยทีเดียว ทั้งคู่มีภูมิหลังมาจากธุรกิจสื่อมาก่อน นั่นก็คือ ออเรนจ์เป็นนักวิจัยเกี่ยวกับเด็กในบริษัทโฆษณา ส่วนโอฟลินน์ก็เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทขายลอตเตอรี่

เดิมที ผู้เขียนทั้งสองได้เรียบเรียงข้อสังเกตเอาไว้ในสมุดบันทึกประจำวันว่าเด็กๆ ของตนใช้เวลามากน้อยเพียงใดกับการดูโทรทัศน์ ออเรนจ์ค้นพบว่าโดยปกติแล้ว คนมักจะไม่ค่อยยอมรับว่าตนเองใช้โทรทัศน์เป็นผู้ช่วยในการเลี้ยงดูลูกๆ ของตนมากเพียงใด “เราตกใจมากเมื่อเราตระหนักว่าเด็กๆ ของเราดูโทรทัศน์กันมากขนาดไหน”

เดิมที คนทั้งสองเริ่มต้นที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ในรูปของที่ตั้งใจจะให้เป็นคู่มือด้านสุขภาพชนิดหนึ่งเพื่อปลุกให้ผู้คนตระหนักถึงอันตรายของการดูโทรทัศน์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในอังกฤษ รวมทั้งในบางประเทศของยุโรปตะวันตกมากเป็นพิเศษ

โอฟลินน์เล่าว่า “หลังจากนั้น เราก็มาคิดได้ว่าเราต้องมีทางแก้ไขปัญหาให้ด้วย (เพราะฉะนั้น ลงท้ายแล้ว) ส่วนแรกของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัว (ของโทรทัศน์) ส่วนที่สองก็คือคำแนะนำว่าเราควรจะดำเนินการอย่างไรดี”

ออเรนจ์และโอฟลินน์ได้ออกไปสัมภาษณ์หมู่พวกเด็กๆ พ่อแม่ คุณตาคุณยาย ครูและคนดูแลเด็กๆ จำนวนหนึ่ง ส่วนที่น่าสนใจที่สุดส่วนหนึ่งของหนังสือก็คือการคัดเลือกคำพูดเด่นๆ ของเด็กๆ มาตีพิมพ์ประกอบกับข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เรียบเรียงขึ้นมาจากนักวิชาการและผู้รู้อื่นๆ

เนื่องจากพฤติกรรมในการดูโทรทัศน์มีอะไรคล้ายๆ กับการเสพเหล้าจนติดงอมแงม การที่พ่อแม่จะออกมาควบคุมจึงเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก กระนั้นก็ตาม ในท้ายที่สุด ประสบการณ์จากการสัมภาษณ์ก็ได้ช่วยให้คุณแม่นักเขียนทั้งสองค้นพบคำแนะนำชุดหนึ่งว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการ “ตัดวงจร” ระหว่างเด็กๆ กับโทรทัศน์คืออะไร

สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ การหาทางออกให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายในอันที่จะจัดการให้การเปิดรับสื่อของลูกๆ มีความสมดุล ไม่มากเกินไปจนเข้าข่ายเป็นอันตรายแก่เด็กๆ เอง และไม่น้อยเกินไปจนกระทั่งเด็กๆ ไม่รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในสังคมของตน ผู้เขียนทั้งสองมีความเห็นรวมๆ ว่าการดูโทรทัศน์ประมาณวันละสองชั่วโมงเป็นสัดส่วนที่กำลังดี

ความที่อังกฤษมีโทรทัศน์ที่ให้ความสนใจกับการผลิตรายการเพื่อเด็กๆ มากมายถึง ๑๙ ช่อง อีกทั้งยังมีทางเลือกในทำนองเดียวกันทางอินเตอร์เน็ตอีกไม่ใช่น้อยๆ ผู้บริโภคที่เป็นเด็กทั้งหลายจึงมีทางเลือกจนเข้าข่ายมากเกินไปทีเดียว ความจริงข้อนี้ทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาชุดหนึ่ง

“ใช่ เรากำลังอยู่ท่ามกลางการปฏิวัติสื่อ ใครๆ ก็ต้องการกลืนมันจนหมด” ออเรนจ์อธิบาย “แต่หลังจากการปฏิวัติ มันก็ต้องมีช่วงเวลาสำหรับการหาความลงตัวสักแห่งหนึ่ง จุดสมดุลช่างหาได้ยากเย็นเสียจริงๆ”

หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากเป็นพิเศษอย่างหนึ่งก็คือแหล่ง “พบปะ” กันในเครือข่ายไมโครซ็อฟ (MSN) ในบางบ้าน การพบปะกันแบบใหม่นี้ได้สูบเอาเวลาของเด็กๆ ไปอย่างมาก มันง่ายมากที่การกระทำแบบนี้จะกลายเป็นความหมกมุ่น เพราะเด็กๆ มักชอบที่จะรู้สึกว่าตนเองมีอะไรที่เหมือนๆ กับคนอื่น และหากว่าเพื่อนๆ ของเขาต่างก็พูดคุยกันในเครือข่ายที่ว่านั้น พวกเด็กๆ ก็มักจะอยากทำตามๆ กันไป

การวิจัยของคนทั้งสองค้นพบว่าเด็กเพศหญิงจะใช้เวลามากมายถึงห้าชั่วโมงต่อคืนในการพูดคุยกับเพื่อนๆ ในเครือข่ายไมโครซ็อฟ

ออเรนจ์กับโอฟลินน์ยืนยันว่าการเลี้ยงดูเด็กๆ รุ่นใหม่ที่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงสื่ออย่างโทรทัศน์และเครือข่ายไมโครซ็อฟอย่างไม่มีข้อจำกัดนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง อันตรายที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ มันจะก่อให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถเข้าใจชีวิตด้วยตนเองได้เลยนอกจากโดยผ่านทาง “สายตา” ของสื่อ โอฟลินน์ถึงกับสรุปว่า “เด็กๆ พากันคิดว่าหากตนเองไม่ได้เข้าไปร่วมในการแข่งขันในรายการ Big Brother ชีวิตนี้ก็ไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ต่อไป”

หนังสือเล่มนี้มีรายละอียดหลายชนิดที่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตดูว่าลูกๆ ของตนตกอยู่ในภาวะที่ติดสื่อพวกนี้อย่างงอมแงมขนาดไหน เช่น เด็กๆ ชอบปล่อยอารมณ์ร้ายๆ แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยหรือไม่ ถ้าใช่ มันอาจจะเป็นผลจากการที่เด็กๆ เหล่านี้ใช้เวลากับการอยู่หน้าจอขนาดเล็กๆ พวกนั้นมากเกินไปก็ได้

เด็กๆ ของคุณชอบเข้าหาผู้ใหญ่เพื่อให้ตนได้รับความสนุกสนานร่าเริงหรือไม่ ถ้าใช่ มันอาจจะเป็นผลจากการที่โทรทัศน์ที่มักจะทำให้ความสามารถในการจินตนาการของเด็กๆ ลดน้อยถอยลง

พวกเด็กมักจะอยู่ในสภาพซึมเศร้าหรือมีความชื่นชมในตัวเองน้อยไปหรือไม่ ถ้าใช่ นั่นอาจจะเป็นผลจากการดูโทรทัศน์มากเกินไปได้เช่นกัน เพราะการทำเช่นนั้นมักจะทำให้เด็กๆ มีความหงุดหงิดมากขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด หนังสือเล่มนี้แนะนำวาคุณพ่อคุณแม่จะต้องควบคุมไม่ให้เด็กดูโทรทัศน์และนั่งเล่นอะไรก็ตามอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป “การสร้างวินัยเป็นสิ่งที่ใช้ทั้งเวลาและพลังงาน เด็กจำนวนมากมักจะได้รับสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่มีใครถือเป็นธุระ”

หลังจากคิดค้นมานานพอสมควร ออเรนจ์และโอฟลินน์มีข้อพิจารณาสามประการคือ การดูโทรทัศน์และเล่นคอมพิวเตอร์ต้องมีการ (1) จำกัดเวลา (2) ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ (3) หากิจกรรมอื่นๆ มาทดแทน

จุดสำคัญของหนังสือก็คือการนำเสนอ “กฎทองคำ” เจ็ดประการเพื่อแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่นำไปปฏิบัติในบ้านของตนโดยฉับพลันทันทีคือ

(1) พ่อแม่จำเป็นต้องควบคุมการใช้โทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ (2) เด็กๆ ควรจะดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์แต่น้อยๆ (3) จะต้องไม่มีโทรทัศน์ตั้งอยู่ในห้องนอนเป็นอันขาด (4) การดูโทรทัศน์ในระหว่างที่กำลังรับประทานอาหารนั้นจะต้องเถือว่าเป็น “รางวัล” เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น ไม่ใช่เป็น “สิทธิ์” จนกลายเป็นบรรทัดฐานประจำวัน (5) หากเป็นไปได้ การดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์ในช่วงเช้าๆ ต้องมีแต่น้อย หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงอย่างสมบูรณ์แบบเลย (6) ในช่วงที่เด็กๆ กำลังเตรียมตัวขึ้นเตียงนอน จะต้องไม่อนุญาตให้มีการดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์ใดๆ เป็นอันขาด และ (7) สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่าในช่วงใดบ้างที่เด็กจะดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์ไม่ได้เลย

ใครที่สนใจอยากจะอ่านหนังสือเล่มนี้ไวๆ คงจะต้องสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตกันเอาเอง ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังสือประเภทนี้จะมีตลาดในเมืองไทยสักเท่าไรนัก สงสัยว่าจะไม่มีใครถือเป็นธุระไปจัดหามาวางจำหน่ายให้เกะกะเนื้อที่อันจำกัดของสิ่งที่เรียกๆ กันไปเองตามความสะดวกว่าร้านหนังสือ

ทั้งนี้ ก็เพราะด้วยเหตุร้อยแปดพันเก้าจนทำให้เมืองไทยเป็นเมืองคลั่งโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่อะไรๆ ส่วนมากเท่าที่ปรากฏในโทรทัศน์นั้น ก็ไม่ทราบว่าจะดูจะฟังกันไปทำไม คงจะเป็นเพราะพวกเราดูโทรทัศน์แบบไทยๆ กันมานานละกระมัง มาถึงจุดหนึ่ง วัฏจักรแห่งความชั่วร้ายก็หมุนเวียนไปบรรจบกันจนครบวงจร จนกระทั่งความชั่วร้ายแปรสภาพเป็น “บรรทัดฐาน” หรือแม้กระทั่ง “วิถีชีวิต” กันแล้ว

ใครๆ ก็ คงจะดูๆ ฟังๆ โทรทัศน์แบบไทยๆ กันกันมานาน จนภาวะประเภทที่ยิ่งดูยิ่งฟังก็ยิ่งมีความรู้สึกว่าตนไม่ต้องคิดอะไรเองให้เหน็ดเหนื่อย กลายเป็นอะไรที่ใครๆ ชอบกันไปหมด สบายดี ครั้นพอเจอรายการที่เข้าประเด็นดีอย่าง “เมืองไทยรายสัปดาห์” ใครๆ จึงปวดหัวตัวร้อนกันใหญ่

ดูรายการโทรทัศน์แบบบ้าๆ บอๆ ที่แทบทุกช่องจะมีทุกสิ่งทุกอย่างที่เหมือนๆ กันดีกว่า ไม่ต้องคิดไม่ต้องตั้งคำถามอะไรกันให้มากความ

ในเมืองไทยทุกวันนี้ อะไรที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์คือทุกสิ่งทุกอย่าง และดูๆ ไปแล้วคล้ายๆ กับว่าอะไรที่ไม่ปรากฏบนจอโทรทัศน์นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องที่ต้องใส่ใจกันอีกต่อไปแล้ว

วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการปกป้องตัวเองและเด็กๆ ของคุณจากพิษภัยของโทรทัศน์กันเอาเอง นอกจากจะด้วยการดูโทรทัศน์นิดๆ หน่อยๆ เท่าที่จำเป็นแล้ว ก็ด้วยการหากิจกรรมอื่นๆ นอกจอโทรทัศน์เป็นทางเลือก ให้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการอุทิศเวลาให้กับการแสวงหายุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการปฏิรูปและปฏิวัติโทรทัศน์กันเสียใหม่ ให้เทคโนโลยีที่สุดแสนจะวิเศษนี้สามารถรับใช้เป้าหมายที่สูงส่งกว่าที่เรารู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น