xs
xsm
sm
md
lg

ประเพณีและกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) นักสังคมวิทยานามอุโฆษ มีงานเขียนหลากหลายโดยเป็นงานเขียนที่มีการกล่าวอ้างโดยนักวิชาการเป็นจำนวนมาก ในจำนวนงานเขียนและทฤษฎีที่เสนอเป็นที่รู้จักก็คือ การเกิดระบบองค์การบริหารในสังคมสมัยใหม่ โดยแม็กซ์ เวเบอร์ กล่าวว่า สังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นนั้นจะเกิดหน่วยงานเพื่อการบริหารงานในลักษณะเป็นกระบวนการองค์กราธิปไตย (Bureaucratization) ซึ่งก็เป็นความจริงตามนั้น ในสังคมอุตสาหกรรมหนีไม่พ้นที่จะมีการจัดตั้งทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นหน่วยงานที่มีการบริหาร มีกฎเกณฑ์ มีบุคลากรที่มีความชำนัญการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในองค์การนั้นๆ

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว แม็กซ์ เวเบอร์ ยังพูดถึงอำนาจทางการเมือง โดยแม็กซ์ เวเบอร์กล่าวว่า อำนาจทางการเมืองมีอยู่ 3 ประเภท อำนาจแรกคืออำนาจที่เกิดตามประเพณี (traditional authority) เช่น ประเพณีที่ให้ลูกชายหัวหน้าเผ่าสืบต่อเป็นหัวหน้าเผ่า หรือการสืบเชื้อสาย นั่นคืออำนาจตามประเพณี อำนาจประเภทที่สอง ได้แก่ อำนาจที่กำหนดขึ้นด้วยเหตุผลและด้วยกฎหมาย เช่น คนที่จะเป็นผู้พิพากษาจะต้องสอบผ่านการคัดเลือกได้ และมีความรู้ทางกฎหมาย (legal-rational authority) อำนาจประเภทที่สาม ได้แก่ อำนาจที่ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของตัวบุคคล เรียกว่า อำนาจโดยบุญญาธิการ (charismatic authority) อำนาจบุญญาธิการนี้จะเกิดกับบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะพิเศษสอดคล้องกับความเชื่อและศรัทธาของประชาชน เช่น บุคลิกของผีบุญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คนมีความเชื่อถือว่าจะมาแสดงปาฏิหาริย์แก้ปัญหาได้ อำนาจบุญญาธิการนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่อำนาจตามประเพณีและอำนาจตามกฎหมายและเหตุผลเสื่อมคลายลง

ในแง่อำนาจทางการเมืองนั้น อำนาจประเพณีเป็นอำนาจที่มีฐานมาจากความเชื่อและการปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วคนจนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ยกตัวอย่างเช่น ในองค์กรระบบราชการที่มีประเพณีการให้น้ำหนักกับความมีอาวุโส บุคคลที่ได้เลื่อนตำแหน่งจนเป็นหัวหน้าองค์การนั้นจะต้องเป็นผู้มีอาวุโส เช่น มีอายุการทำงานยาวนานกว่าคนอื่น หรือมีอายุทางชีวภาพเข้าลักษณะเป็นผู้ใหญ่ก็จะได้รับตำแหน่งในการบริหารงานระดับสูงได้ ตัวอย่างที่เห็นก็คือ ในประเทศจีนนั้นผู้นำนั้นมักจะมีความอาวุโส โดยเชื่อว่าความอาวุโสจะทำให้มีความเป็นผู้ใหญ่ สร้างสมประสบการณ์ไว้มาก มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาและงานใหญ่ๆ ได้ นี่คืออำนาจตามประเพณี ในสภาพเช่นนี้การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งก็จะอาศัยประเพณีการถือปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลัก

แต่ในกรณีการปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ต้องอาศัยความชำนัญการเป็นพิเศษ ประเพณีความอาวุโสก็จะคลายความสำคัญลง ตัวอย่างเช่น องค์กรที่ต้องใช้ความรู้ทางกฎหมายในการทำงาน ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญที่สุดในเรื่องใดก็จะกลายเป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะมีอาวุโสหรือไม่ เพราะคนอื่นไม่สามารถจะทำงานดังกล่าวได้ ทำนองเดียวกับหมอผ่าตัดที่เชี่ยวชาญถึงแม้จะอายุน้อยแต่ก็ต้องเป็นหัวหน้าทีมในการผ่าตัด จะให้บุคคลที่อาวุโสในการทำงานมายาวนานกว่าแต่ขาดความรู้ในการผ่าตัดแบบสมัยใหม่มาเป็นหัวหน้าทีม ย่อมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ปัญหาก็คือในสภาพการณ์ปัจจุบันโอกาสของความขัดแย้งระหว่างประเพณีการนับถืออาวุโส กับการให้น้ำหนักกับความชำนัญการย่อมเกิดขึ้นได้โดยง่าย และถ้าไม่มีระบบการจัดการที่ดีก็อาจนำไปสู่ผลเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ซึ่งมีความชำนัญการไม่เต็มใจที่จะอยู่ภายใต้สภาพที่ไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ก็จะลาออกไปอยู่ที่อื่นซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร

แต่สถานการณ์ในความเป็นจริงจะไม่มีลักษณะขาวดำ เพราะจะมีในส่วนของสีเทาที่ต้องผสมผสานระหว่างความมีอาวุโสและความชำนัญการ ตัวอย่างเช่น นายทหารผู้มีอาวุโสที่ขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงย่อมจะขึ้นมาสู่ตำแหน่งดังกล่าวมิได้ถ้าไม่มีความรู้ความสามารถเลย ดังนั้น การเลื่อนขั้นจึงต้องคำนึงถึงข้อพิจารณาในเรื่องอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันไป จะใช้ความรู้ความสามารถแต่อย่างเดียวก็คงไม่เกิดผลดี แต่จะใช้ความอาวุโสโดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถก็จะไม่สอดคล้องกับหลักการบริหารที่ถูกต้อง

นอกเหนือจากที่กล่าวมาเบื้องต้นยังมีอีกกรณีหนึ่งที่ใกล้เคียงกันที่น่าจะพิจารณานั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างค่านิยมสังคมกับสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถคือบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้สอนหนังสือเนื่องจากความรู้ทางวิชาการ แต่ขณะเดียวกันในค่านิยมของสังคมครูบาอาจารย์จะมีภาพลักษณ์ของแบบอย่างที่ดีของสังคมด้วย ดังนั้น ครูบาอาจารย์ที่เมาสุราอยู่ข้างถนนก็ดี ครูบาอาจารย์ที่ติดการพนันก็ดี จะถูกมองด้วยสายตาที่ไม่สบายใจยิ่ง แต่ตัวอย่างที่จะเห็นเด่นชัดก็คือ ในฐานะเป็นปัจเจกบุคคลครูบาอาจารย์ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะลงทุนในธุรกิจ แต่ถ้าธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจซึ่งไม่ดีในสายตาของสังคม เช่น สถานอาบอบนวด ถ้าครูบาอาจารย์เอาเงินไปลงทุนในสถานอาบอบนวดโดยมีสิทธิตามกฎหมาย แต่ก็จะถูกมองด้วยสายตาที่ไม่เห็นด้วยจากสาธารณชน เพราะขัดกับประเพณีความเชื่อและภาพลักษณ์ที่ว่า นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้วจะต้องเป็นแบบอย่างของความดี มีศีลธรรมและจริยธรรมอีกด้วย

กรณีของเบียร์ยี่ห้อหนึ่งที่พยายามจะเข้าในตลาดหลักทรัพย์ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่การเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่เนื่องจากการดื่มสุราเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับศีลข้อที่ 5 จึงมีการคัดค้านและประท้วง ถ้าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาการคัดค้านและประท้วงนั้นเป็นสิทธิ์ที่บุคคลจะกระทำได้ แต่ขณะเดียวกันเนื่องจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ไม่ขัดกฎหมาย เจ้าของกิจการย่อมมีสิทธิที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายบอกว่าการดื่มสุราเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องที่สร้างเป็นกฎเกณฑ์สำหรับสังคม เรื่องค่านิยมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความพอใจและอารมณ์ของสังคม ถ้ากฎหมายและอารมณ์สอดคล้องกันก็จะไม่มีปัญหา แต่เมื่อใดที่ขัดแย้งกันย่อมยากที่จะตัดสินว่าใครถูกใครผิด การสร้างดุลยภาพระหว่างสองส่วนจึงเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง

ตัวอย่างที่สองก็คือตัวอย่างเรื่องสถานอาบอบนวด ผู้เป็นเจ้าของกิจการได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากเจ้าหน้าที่ จึงลงทุนก่อสร้างสถานที่ด้วยเงินจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อมีการประท้วงเกิดขึ้นโดยชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมเพราะอยู่ใกล้โรงเรียน จึงได้มีการถอนใบอนุญาต คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจในการออกใบอนุญาต และเมื่อออกใบอนุญาตแล้วต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ บนความเชื่อถือดังกล่าวผู้ได้รับอนุญาตจึงทำการลงทุนก่อสร้างสถานที่ แต่เพื่อให้คล้อยตามกับความต้องการของสังคมเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้ทำการถอนใบอนุญาต ในกรณีเช่นนี้ผู้ได้รับอนุญาตย่อมมีสิทธิที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนตามกระบวนการยุติธรรม นี่คือตัวอย่างของความถูกต้องตามกฎหมาย แต่ขัดกับค่านิยมและประเพณีของสังคม

ตัวอย่างที่สามก็คือ กรณีสื่อมวลชนที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯโดยเจ้าของเดิมขายหุ้นที่มีอยู่เพื่อจะได้เงินจากสาธารณะ จนเกิดช่องว่างทำให้มีการกว้านซื้อโดยผู้อื่นได้ และเมื่อจำนวนการถือหุ้นสูงขึ้นระดับหนึ่งก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นข้างมาก ทำให้สามารถจะยึดการบริหารมาไว้ในมือได้ ถ้าพูดในแง่กฎหมายหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯย่อมเปิดให้มีการซื้อขายกันได้ แต่ในส่วนของการธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของสื่อ โดยถือว่าความเป็นอิสระดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย การพยายามซื้อหุ้นเพื่อยึดการบริหารนั้นเป็นการคุกคามสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ข้อถกเถียงดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่า การเปลี่ยนมือผู้บริหารจะนำไปสู่ผลเสีย ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดมายืนยัน แต่ก็ได้นำไปสู่การคัดค้านและไม่เห็นด้วยโดยสาธารณชน ประเด็นก็คือในแง่กฎหมายผู้ซื้อย่อมมีสิทธิซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเป็นการซื้อภายใต้ระบบการซื้อขายที่มีอยู่ ถ้าห้ามมิให้มีการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็จะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ข้อถกเถียงที่ว่าสื่อมวลชนที่เป็นอิสระย่อมเป็นฐานสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิด ดังนั้น สาธารณชนสามารถแสดงความคิดเห็นคัดค้านการพยายามซื้อหุ้นดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยืนยันในที่นี้ว่าผู้ซื้อมีสิทธิตามกฎหมาย แต่เผอิญสิทธิดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม นอกเหนือจากนั้นคำถามที่จะต้องมีการตอบก็คือ ถ้าเจ้าของเดิมไม่ต้องการให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ทำไมไม่ถือหุ้นไว้อย่างน้อย 51% การขายหุ้นของตนในตลาดหลักทรัพย์ย่อมเป็นการเปิดประตูความเสี่ยงโดยการกระทำของตนเอง

ประเด็นดังกล่าวเบื้องต้นเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่า สิ่งซึ่งถูกต้องตามกฎหมายเมื่อขัดแย้งกับประเพณี ความเชื่อ ค่านิยมหรืออารมณ์ของคน ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาได้ ทางออกที่ดีที่สุดก็คือต้องพยายามผสมผสานความถูกต้องตามกฎหมาย กับค่านิยมทางสังคม ขนบธรรมเนียมและประเพณี เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาเบื้องต้น

ในชีวิตจริงความขัดแย้งระหว่างสองสิ่ง สองค่านิยม มักจะเกิดขึ้นเสมอ เช่น ตามหลักประชาธิปไตยนั้นจะต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น แต่ตามหลักศาสนาพุทธจะต้องมีความเมตตากรุณา ดังนั้น เมื่อเห็นงูคอทองแดงกำลังจะกลืนเขียด และเขียดดิ้นด้วยความตกใจอยู่ในปากงู ผู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถจะใช้ไม้เขี่ยให้เขียดหลุดออกจากปากงูได้ แต่ก็จะเป็นการแทรกแซงสิทธิของงูที่จะกินอาหาร แต่ถ้ามองโดยไม่แสดงออกอะไรทั้งสิ้นก็ดูจะเสมือนหนึ่งขาดความเมตตา

นี่คือตัวอย่างของความลำบากหนักใจในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม

--------------------
ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
e-mail: likhit@dhiravegin.com
www.dhiravegin.com
กำลังโหลดความคิดเห็น