xs
xsm
sm
md
lg

การยึดครองสื่อ

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

ต้องขอประทานโทษท่านผู้อ่านที่คอลัมน์ “โลกกว้าง – ทางแคบ” ได้ขาดหายไปเป็นเวลาร่วม 3 เดือน ทั้งนี้เป็นเรื่องสุขภาพ ทำใ ห้ต้องหยุดเขียนไประยะหนึ่ง บัดนี้ได้กระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว จึงขอกลับมาเสนอ “โลกกว้าง – ทางแคบ” ใน ผู้จัดการรายวัน ฉบับทุกวันอังคารต่อไปเหมือนเดิม

ในระหว่างที่ป่วยอยู่ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง คือกรณีบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ของคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมได้ประกาศเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)และบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

กรณีนี้นับว่าเป็นเรื่องเข้า ยึดครอง หรือ take-over แบบไม่เป็นมิตร หรือ hostile take-over

บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของ หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ประชาชาติธุรกิจมติชนสุดสัปดาห์ หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด และนิตยสารรายเดือน ศิลปวัฒนรรม นับว่าเป็นแหล่งรวมที่สำคัญแห่งหนึ่งของสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองสังคมและวัฒนธรรมของสังคมไทย

ส่วนบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ทั้งยังมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ชื่อ โพสต์ ทูเดย์ อีกด้วย

ที่สำคัญก็คือภาพลักษณ์ของคุณไพบูลย์ของแกรมมี่ ก็ขมุกขมัว ทำให้เกิดความหวาดระแวงว่ามีพลังการเมืองหนุนหลังในการเข้ายึดครองสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งสองกลุ่มนี้

นอกจากนี้กลุ่มมติชนยังได้รับความเชื่อมั่นและนับถืออย่างกว้างขวางจากประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดปฎิกิริยาต่อต้านการยึดครองของแกรมมี่ครั้งนี้อย่างรุนแรง
อันที่จริงการเข้ายึดครองแบบไม่เป็นมิตร ซึ่งหมายถึงการกวาดซื้อหุ้นเพื่อให้ได้เป็นผู้ถือหุ้นมีเสียงข้างมากในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของเรา โดยไม่ได้บอกกล่าวฝ่ายผู้ถือหุ้นเดิม เป็นเรื่องไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก และเท่าที่ผ่านมาการยึดครองแบบไม่เป็นมิตรเช่นนี้มักไม่ประสพความสำเร็จเสียด้วย

ปฎิกิริยาของประชาชนในเรื่องการเข้ายึดครองกลุ่มมติชนครั้งนี้นั้นนับว่าเป็นเรื่องกว้างขวาง และมีสีสันมากมาย ถึงขนาดเตรียมการจะมีการตั้งกลุ่ม”เฟรนด์ออฟมติชน” ทำนองเดียวกับการมีกลุ่ม “เฟรนด์ออฟอานันท์” ทีเดียว !

กระแสความเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดครองมติชนคราวนี้ มีลักษณะคล้ายกับกระแสเคลื่อนไหวของกลุ่ม”ม็อบมือถือ” ต่อต้านรสช.ในเดือนมีนาคม – เมษายน 2435

อันที่จริงผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการยึดครองมติชนครั้งนี้ มีลักษณะพื้นเพเป็นภูมิหลังทำนองเดียวกันกับกลุ่ม “ม็อบมือถือ” ที่ต่อต้านรสช.เมื่อ 2435 คือเป็นชนชั้นกลางมีการศึกษา มีการงานหรืออาชีพเป็นหลักฐาน และเป็นกลุ่มที่นิยมอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารของมติชน

ยิ่งไปกว่านั้นกระแสการคัดค้านยึดครองมติชนคราวนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะผู้คนรังเกียจการเข้ายึดครองแบบไม่เป็นมิตรของกลุ่มแกรมมี่เท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อว่าคุณไพบูลย์ หรือ อากู๋เป็น “หน้าม้า”ของนักการเมืองที่ประสงค์จะเข้าครอบงำสื่อมวลชนอีกด้วย

เรื่องการพยายามเข้ายึดครองหนังสือพิมพ์คราวนี้ เป็นเรื่องลุกลามเกี่ยวพันไปถึง ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารที่เป็นผู้เปิดวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาทให้แก่แกรมมี่ ในการพยายามเข้ายึดครองหนังสือพิมพ์คราวนี้

โดยโยงใยว่าคุณวิชิตเคยก้าวเข้ามาในวงการเมือง ได้คุมกระทรวงคมนาคม โดยพล.ต.
จำลอง ศรีเมือง เมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้เสนอคราวเดียวกับเสนอให้คุณทักษิณ ได้ก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

อันที่จริง เมื่อคุณทักษิณ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับจากการไปเยือนสหรัฐอเมริกา
แล้ว ได้แถลงกับสื่อมวลชนว่าตนเองไม่ “โง่ “ ที่จะคิดไปยึดครองธุรกิจหนังสือพิมพ์ ความเคลื่อนไหวคราวนี้เป็นเรื่องทำธุรกิจปกติของกลุ่มแกรมมี่ของอากู๋ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนอย่างไรเลย

แต่คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้คงไม่มีใครฟัง ไม่มีใครเชื่อเสียแล้ว !

กระแสสังคมได้สาปไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า “ถึงอมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ !”

เรื่องนี้ได้ส่อให้เห็นว่า วาจาของคุณทักษิณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนี้นั้น ได้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงถึงเพียงนี้แล้ว !

มีข้อสังเกตว่า กระแสต่อต้านการยึดครองกลุ่มหนังสือพิมพ์มติชนในครั้งนี้ ได้ลุกลามใหญ่โตกว่าการต่อต้านการยึดกลุ่มหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มากมายนัก

กระแสความห่วงใยต่อการยึดครองบางกอกโพสต์ มีอยู่แต่เบาบางเมื่อเทียบกับมติชน ขนาดนักวิชาการที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการยึดครองหนังสือพิมพ์ ก็มักพูดถึงกรณีของมติชน ไม่ค่อยได้เอ่ยถึงบางกอกโพสต์เท่าใดนัก ทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุหลายประการ

ประการแรก มติชนเป็นหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่ออกเป็นภาษาไทย ซึ่งมีคนอ่านมากกว่าบางกอกโพสต์ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งถึงแม้จะมีอายุยืนนานมาตั้งแตสิ้นสมัยสงครามโลกครั้กงที่สองก็จริง แต่ฐานคนอ่านแคบกว่าผู้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์ของกลุ่มมติชน เทียบกันไม่ได้ เลยทีเดียว

ถึงแม้กลุ่มบางกอกโพสต์จะมีหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ เป็นภาษาไทยก็ตาม แต่ก็เพิ่ง
ปรากฎออกมาเมื่อประมาณ 2 ปีกว่าเท่านั้นเอง

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงระยะเวลายาวนานของบางกอกโพสต์ ได้เคยมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่หลายครั้งหลายหนแล้ว ฉะนั้นการเคลื่อนไหวเข้ายึดครองของกลุ่มแกรมมี่ครั้งนี้ ผู้คนจึงมองว่าไม่ผิดปกติเท่าใดนัก

แต่กลุ่มหนังสือพิมพ์มติชนนั้นต่างกัน เป็นกลุ่มที่คุณขรรค์ชัย บุนปานและพรรคพวกปลุกปล้ำสร้างกันขึ้นมา ใช้เวลาเกือบ 30 ปี และมติชนก็นับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทย “คุณภาพ”ฉบับหนึ่ง ฉะนั้นการกลุ่มแกรมมี่มุ่งหมายจะเข้ามายึดครอง โดยเป็นผู้ถือหุ้มเสียงข้างมากเด็ดขาดในมติชน จึงเกิดมีปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงและกว้างขวาง

จะเห็นได้ว่าสำหรับบางกอกโพสต์มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งคือกลุ่มเซ็นทรัล ได้มีเสียงมาก่อนหน้านี้ ปรารรภอยากจะถอนตัวจากการถือหุ้นบางกอกโพสต์ เพราะต้องไปขัดแย้งกับรัฐบาลเพราะเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจ

ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่กลุ่มแกรมมี่ของคุณไพบูลย์ จะเข้าไปยึดครอง เป็นผู้ถือหุ้นแทนกลุ่มเซ็นทรัล

มีข้อสังเกตประการหนึ่งหุ้นบางกอกโพสต์ของกลุ่มเซ็นทรัลนั้น ยังคงเหลือหุ้นของคุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์เท่านั้น ที่ยังยืนกรานไม่ยอมปล่อยให้ส่วนของตนตกไปในมือของ
อากู๋ได้

นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกรายหนึ่งของบางกอกโพสต์ คือหนังสือพิมพ์เซาท์ ไช่น่า
มอร์นิง โพสต์ ก็ยืนยันไม่ยอมขายหุ้นของตนในบางกอกโพสต์ ทั้งยังประกาศสนับสนุนนโยบาย
ปัจจุบันของกองบรรณาธิการบางโพสต์เสียด้วย

ถึงอย่างไรก็ตามกรณีบางกอกโพสต์ผิดกับเรื่องของมติชน เพราะทางด้านมติชนนั้น เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างคุณขรรค์ชัย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนหนึ่งของมติชน กับคุณไพบูลย์ของแกรมมี่โดยตรงทีเดียว

คุณขรรค์ชัย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของมติชนนั้นมิได้มีบุคลิกภาพของนักธุรกิจเลย ตรงกันข้ามภูมิหลังและภาพลักษณ์ของคุณขรรค์ชัย เป็นผู้ที่คลุกคลีและต่อสู้อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยังหนุ่มมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเทียบภาพลักษณ์ของคุณขรรค์ชัยกับคุณไพบูลย์หรืออากู๋ของกลุ่มแกรมมี่แล้ว ภาพของคุณขรรค์ชัยใสสะอาดกว่าแบบ “กินขาด” ไปเลย

ตรงกันข้ามคุณไพบูลย์มีภาพเป็นนักธุรกิจผู้ฉวยโอกาส และยังมักยอมสยบตัวเองอยู่กับผู้มีอำนาจทางการเมืองอีกด้วย และก็เป็นคนช่างพูดช่างคุยเสียด้วย ถึงขนาดได้คุยว่า จะเข้ายึดครองหุ้นในมติชนให้ได้ถึง 75 เปอร์เซนต์ เพื่อ “ต่อยอด “ ธุรกิจบันเทิงของแกรมมี่

อากู๋คงไม่ได้คาดฝั่นว่ากระแสประชาชนที่สนับสนุนมติชนและคุณขรรค์ชัยจะใหญ่โตมหาศาล ถึงขนาดกดภาพลักษณ์ของคุณไพบูลย์ให้กลายเป็น “ผู้ร้าย”ซึ่งเข้าปล้นทำลายความชอบธรรมของหนังสือพิมพ์”คุณภาพ”อย่างมติชนไปเลย
ในที่สุดทางแกรมมี่ก็ยอมแพ้ หยุดความพยายามที่จะเข้าเข้ายึดครองมติชน โดยพร้อมที่จะขายหุ้นมติชนที่แกรมมี่ถืออยู่ 12.2 เปอร์เซนต์ให้คุณขรรค์ชัย เพื่อลดหุ้นส่วนที่แกรมมี่ถืออยู่ในมติชนให้เหลือเพียง 20 เปอร์เซนต์เท่านั้น

ราคาที่แกรมมี่ขายให้คุณขรรค์ชัยคือหุ้นละ 11.10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่แกรมมี่ซื้อเก็บเข้ามาไว้ตอนต้น

สรุปแล้ว ฝ่ายคุณขรรค์ชัยก็ต้องสูญเสียเหมือนกัน กล่าวคือต้องควักเงินออกซื้อหุ้นคืนจากแกรมมี่ ในจำนวน 12.2 เปอร์เซนต์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ซึ่งทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ปล่อยสินเชื่อในวงเงินดังกล่าวให้แล้ว

มีปมปริศนาที่น่าคิดอยู่ประการหนึ่ง ฝ่ายมติชนและคุณขรรค์ชัย ไม่ได้ล่วงรู้ถึงเรื่องความพยายามของคุณไพบูลย์แห่งแกรมมี่ที่กวาดซื้อหุ้นมติชน ก่อนล่วงหน้าบ้างหรืออย่างไร ?

แท้ที่จริงแล้วถ้าได้ล่วงรู้ตัวมาก่อนทางมติชนและคุณขรรค์ชัย คงต้องเตรียมการป้องกันหรือแก้ไขไว้ได้บ้าง ไม่ใช่มารู้ตัวเอาเมื่ออากู๋ออกมาประกาศ ว่าจะเข้ายึดครองโดยจะซื้อหุ้นมติชนให้ได้ถึง 75 เปอร์เซนต์

มีนักเล่นหุ้นรายย่อยผู้หนึ่งมาคุยให้ฟังว่า โปรกเกอร์ของเขาได้แนะนำมาตั้งเกือบเดือนกว่าก่อนเกิดเรื่องครั้งนี้ ให้ซื้อหุ้นมติชนเก็บไว้ เพราะจะมีการกว้านซื้อหุ้นดังกล่าวนี้ เขาเองก็ไม่สนใจว่าใครเป็นผู้กว้านซื้อ แต่ก็ได้ซื้อหุ้นมติชนไว้จำนวนหนึ่ง

เมื่อเกิดเรื่องอากู๋จะเข้ายึดครองมติชน หุ้นของมติชนก็พุ่งขึ้นจริง พอได้จังหวะ เข้าก็
ปล่อยขายหุ้นมติชน ฟันกำไรได้ประมาณ 5 แสนกว่าบาท!

เมื่อฟังเรื่องนี้แล้ว ทำให้เกิดความสงสัย ! แสดงว่ามีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติเกี่ยวกับหุ้นมติชนจนถึงขนาดโปรกเกอร์แนะนำลูกค้าให้ซื้อเก็บไว้ แต่ทำไมผู้ถือหุ้นใหญ่ของมติชนไม่ได้ล่วงรู้ความเคลื่อนไหวอะไรเลย ?

หลังจากเกิดเรื่องแกรมมี่จะเข้ายึดครองมติชน ได้มีเสียงเตือนให้คิดหามาตรการป้องกันการเจ้ายึดครองสื่อในตลาดหุ้น

แต่จริงๆแล้วการหามาตรการป้องกันคงทำได้ยาก เพราะเมื่อสื่อใดเลือกที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ก็คงต้องอยู่ในกรอบกติกาของตลาดทุน ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นความจริงที่ว่า”มือใครยาวได้สาวเอา “ นั่นเอง

ในระบบทุนนิยมนั้น ไม่มีใครปราณีใครหรอก ! ใครหาได้หาเอา ! มีแต่พวกเราซึ่งเป็นเพียงรากหญ้าต้องนั่งหน้าเศร้าอยู่เท่านั้นเอง !

*******
กำลังโหลดความคิดเห็น