xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจอีสานครึ่งปี48ชะลอตัว เอกชนลดการบริโภค-เกษตรเจอภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ภาวะเศรษฐกิจอีสานครึ่งแรกปี 2548 ชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศ อัตราเงินเฟ้อพุ่ง 3.6% ขณะที่ภาคการเกษตรเจอภัยแล้ง ผลผลิตลดทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เผยปริมาณการผลิตในภาคอุตสาหกรรมลด เหตุขาดแคลนวัตถุดิบ ทั้งเจอต้นทุนขนส่งจากน้ำมันแพง ยอดขายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เติบโตในอัตราที่ลดลง แต่พื้นที่ก่อสร้างและการจัดเก็บรายได้ของรัฐยังเพิ่มขึ้น

ภาวะเศรษฐกิจ ในยุคที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาน้ำมันแพง ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม ทั้งเป็นสาเหตุหลัก ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น กระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศช่วงครึ่งแรกปี 2548 ชะลอตัว ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ สำหรับภาวะเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชะลอตัวในลักษณะเดียวกัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงครึ่งแรกปี 2548 พบว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคอีสานโดยรวม ชะลอตัวลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ขณะที่ภาคเกษตร เจอภัยแล้ง ผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักลด แต่ในภาคก่อสร้างขยายตัว ทั้งการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้น

การผลิตภาคอุตสาหกรรมลด

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งโรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล และโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง จากภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบเกษตร ขณะที่ต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบสูงจากน้ำมันราคาแพง แต่อุตสาหกรรมบางสาขายังสามารถขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนในภาคอีสาน ช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัว เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน วัดได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ทั้งสิ้น 2,631.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน จัดเก็บได้ 2,357.1 ล้านบาท ร้อยละ 11.6 (ปีก่อนขยายตัวร้อยละ 19.7)

ที่น่าสนใจยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เริ่มขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยวัดจากยอดจดทะเบียน โดยครึ่งแรกปีนี้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ทั้งสิ้น 17,603 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 15,205 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 (ปีก่อนขยายตัวถึงร้อยละ 30.2) ขณะที่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 30,718 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน 28,262 คัน (ปีก่อนขยายตัวร้อยละ 46.2)

รถจักรยานยนต์ 240,270 คัน เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน 239,477 คัน (ปีก่อนขยายตัวร้อยละ 31.4) เนื่องจากผู้ซื้อระวังการใช้จ่ายตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งในระยะนี้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะแข่งขันจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายให้สูงขึ้น

การลงทุนในภาคอีสานช่วงปีแรก 2548 จำนวนโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน 47 โครงการ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มี 10 โครงการ ส่วนวงเงินลงทุน 5,171.0 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 18,293.0 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 71.7 การจดทะเบียนบริษัทจำกัดใหม่ช่วงครึ่งปีแรก 2548 มีทุนจดทะเบียน 1,533.8 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.6 และทุนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด 1,960.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 29.5

สำหรับภาคการก่อสร้าง มีพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครในภาคอีสาน ครึ่งแรกปีนี้จำนวน 1,107,500 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการในโครงการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างมากที่สุด 156,483 ตารางเมตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.1 รองลงมาจังหวัดอุดรธานี 124,981 ตารางเมตร หรือร้อยละ 11.2 และจังหวัดขอนแก่น 117,749 ตารางเมตร หรือร้อยละ 10.6

ด้านภาคการเงิน ช่วงครึ่งแรกปี 2548 มีสาขาธนาคารพาณิชย์เปิดดำเนินการทั้งสิ้น 506 สำนักงาน เพิ่มขึ้น 47 สำนักงานจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยมีเงินฝากคงค้าง 300,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 โดยเงินฝากรายย่อยยังคงเพิ่มขึ้น แต่รายใหญ่มีแนวโน้มลดลง ส่วนสินเชื่อมียอดคงค้าง 248,035 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่อัตราส่วน 78.8 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 82.7

ภาคการคลัง ช่วงครึ่งแรกปี 2548 สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ และด่านศุลกากรในภาคอีสาน สามารถจัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 12,062.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่จัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 10,337.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น แต่จัดเก็บอากรขาเข้าลดลง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปโดยเฉลี่ยในช่วงแรกปี 2548 สูงขึ้นในระดับร้อยละ 3.6 สูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนที่อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.7 เนื่องจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 5.1 และราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 2.7

สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีราคาสูงขึ้นมากได้แก่ ไข่เป็ด ไข่ไก่ สูงขึ้นถึงร้อยละ 23.7 ผักผลไม้สูงขึ้นร้อยละ 19.8 เป็ด ไก่มีชีวิต สูงขึ้นร้อยละ 15.4 ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 6.4 ส่วนสินค้าในหมวดอื่นที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม พบว่า สินค้าในหมวดพลังงานสูงขึ้นร้อยละ 13.1 ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 6.2

ภาคเกษตรเจอภัยแล้งคุกคาม

ครึ่งแรกปี 2548 การผลิตภาคเกษตรกรรม เป็นระยะเก็บเกี่ยวพืชผลเกษตรจากฤดูกาลผลิตปี 47/48 ผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงจากฤดูกาลที่ผ่านมา เนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยข้าวนาปี ซึ่งเข้าสู่ช่วงปลายการเก็บเกี่ยว คาดว่าได้ผลผลิตรวม 7.914 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลผลิตปีก่อนร้อยละ 17.2

ขณะที่การค้าข้าวเปลือกไม่คึกคักเท่าที่ควร ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทั้งราคาลดลงตามตลาดโลก โดยข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิเฉลี่ยตันละ 7,801 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีราคาตันละ 8,873 บาท หรือลดลงร้อยละ 12.1

มันสำปะหลัง เป็นอีกพืชที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตหัวมันสดไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะโรงงานแป้งมันหลายแห่ง ขยายกำลังผลิตรองรับคำสั่งซื้อเพิ่มจากประเทศจีน ทำให้ระดับราคาหัวมันสดอยู่ในเกณฑ์สูง โดยมีราคาเฉลี่ยครึ่งปีแรกสูงถึงกิโลกรัมละ 1.46 บาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนกิโลกรัมละ 0.82 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.0

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความต้องการในตลาดสูงขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อยจากภัยแล้ง ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ในเกณฑ์สูง โดยราคาขยายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยในภาคอีสานครึ่งแรกปี 48 กิโลกรัมละ 5.08 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่กิโลกรัมละ 4.91 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5
กำลังโหลดความคิดเห็น