xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณอยากเป็นฮีโร่ไหม?

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

รายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร" ประเดิมครั้งแรก เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างสง่างามจริงๆ

แฟนๆ รายการที่อดดูรายการนี้ทางโทรทัศน์ เพราะถูกห้ามออกอากาศ จึงพากันมายืนยันความชื่นชอบรายการจนล้นหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนต้องนั่งดูโทรทัศน์วงจรปิดที่เชื่อมต่อออกไปหน้าหอประชุม และบริเวณโรงอาหารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เป็นจำนวนมาก

ช่อดอกไม้จากตัวแทนสมาคมและองค์กรภาคสังคมหลายสถาบัน รวมทั้งหลายคนที่เป็นประชาชนและสมาชิกวุฒิสภาที่มอบให้พร้อมคำอวยพรให้กำลังใจอย่างอบอุ่นท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างกึกก้องที่มอบให้แก่คู่สนทนา สนธิ ลิ้มทองกุล และ สโรชา พรอุดมศักดิ์ นั้น

เป็นการแสดงออกถึงความชื่นชมการทำหน้าที่วิเคราะห์วิจารณ์เพื่อผลประโยชน์ของสังคมประเทศชาติอย่างแท้จริง

แต่รายการที่มีคุณค่าเชิงปัญญาแก่สังคมที่ผู้ชมชื่นชอบอย่างกว้างขวาง และมีผลสำรวจยืนยันความนิยม แต่การติเตือนที่มีผลกระทบต่อผู้นำรัฐบาลจึงต้องถูกถอดถอนออก

ทั้งๆ ที่ในปีแรกของการดำเนินรายการ การวิเคราะห์ประเด็นปัญหาได้ถูกสังคมมองว่า เป็นการอธิบายเข้าข้างรัฐบาลในหลายประเด็นที่กำลังเผชิญปัญหาด้วยซ้ำไป

แต่ตอนนี้ความเห็นส่วนใหญ่กลับกลายเป็นจุดยืนที่ตรงข้ามกับผู้นำรัฐบาล จนเป็นที่ชื่นชอบของพรรคฝ่ายค้านเป็นธรรมดา

ทั้งๆ ที่ปลายยุคสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ คุณสนธิเคยวิพากษ์วิจารณ์อย่างแข็งกร้าวด้วยจุดยืนตรงข้ามกับพรรคฝ่ายค้านตอนนี้มาแล้ว

นี่แหละ คือบทบาทของสื่อมวลชนที่ตระหนักในพันธกิจวิชาชีพ ที่ผ่านทั้งความกดดัน การเล่นงานทางกฎหมาย และการคุกคามในรูปแบบต่างๆ

ภาพคุณสนธิบนเวทีในหอประชุมศรีบูรพาค่ำวันนั้น ผมเชื่อว่าทุกคนรู้สึกว่าเขาเป็น "ฮีโร่" หรือ "วีรบุรุษ"
ที่กล้าวิจารณ์ชี้ข้อผิดอย่างตรงไปตรงมาของผู้มีอำนาจรัฐอย่างจริงใจ ก็เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

ความเป็นคนที่รอบรู้ รักความเป็นธรรมและใจสู้ คุณสนธิเมื่อพบว่ามีความผิดปกติเมื่อเข้าสู่ปี 2547 ในการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

การประกาศ "ยอมหักไม่ยอมงอ" เพราะถือคติที่ว่า "ยอมเป็นหยกที่แหลกลาญดีกว่าเป็นกระเบื้องที่สมบูรณ์" จึงเกิดขึ้น

แม้จะระบุเงื่อนไข 3 ประการ อันโอกาสสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการรักษาคุณค่าที่ดูดีในปีแรกๆ ให้ยั่งยืนก็คือ

1. ต้องกล้าจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันรายใหญ่แม้อาจเกี่ยวพันกับเครือญาติ

2. ต้องกล้าจัดการแก้ปัญหาสภาวะการมีสมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์

3. กล้าให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

แต่ดูเหมือนท่าทีในการจัดการปัญหาทั้ง 3 จะไม่มีวี่แววว่าจะเกิดจริงจัง

วันนั้นพอกลับจากธรรมศาสตร์ถึงบ้านตอนกลางคืนพร้อมหน้าครอบครัว ลูกชายได้เปิดหนังแผ่นให้ดูเรื่อง "สไปเดอร์แมน ภาค 2" ซึ่งนอกจากความตื่นตาตื่นใจกับลีลาแอกชันของฮีโร่ในเรื่องที่ต่อสู้กับคนร้าย เมื่อพบเห็นการกระทำที่ทำร้ายผู้คนในสังคม

ผมมาสะกิดใจกับข้อคิดคำคมของคุณย่าที่ตอบพระเอกซึ่งกำลังสับสนกับภารกิจเพื่อสังคมและปัจจัยความเป็นชีวิตส่วนตัวซึ่งนับเป็นคติธรรมที่น่าจะเป็นหัวใจของเรื่องก็ว่าได้

"ทุกๆ คนต่างรักฮีโร่ ผู้คนเข้าแถวรอเขาเชียร์เขา เรียกร้องชื่อเขา

คนเราทุกคนมีความเป็นฮีโร่ ที่ทำให้เราซื่อสัตย์ ทำให้เราเข้มแข็ง ทำให้เรามีศักดิ์ศรี และสุดท้ายให้เราตายอย่างภาคภูมิ

แม้ว่าบางครั้ง เราจำเป็นต้องแน่วแน่และละทิ้งสิ่งที่หัวใจเราปรารถนาที่สุด แม้แต่ความเป็นตัวของเรา..."

หวนคิดถึงการเมืองไทยเรา มีการหาเสียงเลือกตั้ง เลือกตัวแทนพรรค และเสนอนโยบายพร้อมคำมั่นสัญญาที่จะทุ่มเทแรงกายและความสามารถเป็นตัวแทนปวงชนในการเข้าไปทำหน้าที่ทั้งในฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาผู้แทนราษฎรในการออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

มีการกล่าวคำปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่บริหาร

แต่ในโลกความเป็นจริง เสียงวิจารณ์ การเปิดโปงแม้กระทั่งการสอบสวนเฉพาะที่พบหลักฐานหรือถูกดำเนินคดีก็มีมาเป็นระยะทุกยุคทุกรัฐบาล

โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต คอร์รัปชันที่รัฐบาลนี้ประกาศจะจัดการเด็ดขาดถึงขนาดประกาศเป็นนโยบายตอนหาเสียงสมัยแรกซึ่งเป็นความหวังของสังคมมาก

แต่รัฐบาลนี้เองก็กลับเผชิญกับคำวิจารณ์และการกล่าวหาอย่างหนักในระยะหลัง เช่นตัวอย่างที่ชัดก็คือกรณีการประมูลโครงการที่เกี่ยวกับการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

ถ้าย้อนนิดถึงประโยคในคำคมจากหนังที่ผมกล่าวถึงข้างต้นว่า "ทำให้เราเข้มแข็ง ทำให้เรามีศักดิ์ศรี และสุดท้ายให้เราตายอย่างภาคภูมิ"

ผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีก็น่าจะเป็นฮีโร่ที่แท้จริงได้ หากคิดที่จะเป็น

เหมือนอย่างที่เราเรียกว่า "รัฐบุรุษ"

แต่นั่นดูจะเป็นความสูงส่ง ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นพันธกิจที่จะต้องทำของนักการเมืองที่เสนอตัวมาเป็นผู้บริหารประเทศ จะต้องซื่อสัตย์ และมุ่งประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน

ทุกวิชาชีพมี "ฮีโร่" เกิดขึ้นในแต่ละยุค ขณะที่คนในวิชาชีพก็สามารถเลือกวิถีทางนั้นได้ และสังคมยังหวังจะให้มีฮีโร่เกิดขึ้นอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น