xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอศึกษาความเป็นเลิศของสวีเดน

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2548 บีโอไอได้จัดคณะไปชักจูงการลงทุนยังประเทศสวีเดน พร้อมกับศึกษาถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยกรณีของสวีเดนนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจมาก แม้มีประชากรเพียงแค่ 9 ล้านคน แต่ก็สามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ มากมาย

สวีเดนเป็นประเทศตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปเหนือ ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในปี 2547 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP เป็นเงินประมาณ 10,500,000 ล้านบาท โดยประชากรสวีเดนมี GDP ต่อหัวโดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 ล้านบาท/คน/ปี

แม้ประเทศจะมีรายได้สูง แต่ในระยะที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง โดยเฉพาะการเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เมื่อปี 2534 ประกอบกับรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จนถึงกับมีข่าวลือว่าประเทศอาจจะต้องไปขอความช่วยเหลือจาก IMF ดังนั้น รัฐบาลในช่วงนั้นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ เป็นต้นว่า ตัดทอนงบประมาณรายจ่าย โดยรวมถึงลดจำนวนข้าราชการลง 10% ตัดรายจ่ายในด้านสวัสดิการสังคม เร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ

จุดเด่นสำคัญของสวีเดน คือ ให้ความสำคัญในด้านการศึกษามาก โดยการศึกษาทุกระดับจะฟรีโดยไม่คิดมูลค่าตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยสถาบันการศึกษาเกือบทั้งหมดเป็นของรัฐ

สวีเดนมีอุตสาหกรรมสำคัญๆ มากมาย เป็นต้นว่า อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปัจจุบันสวีเดนมีบริษัท Electrolux AB ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ในบ้านประเภท White Goods ใหญ่ที่สุดของโลก โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกอบด้วยแบรนด์มากมาย เป็นต้นว่า Electrolux, Frigidaire, Tappan, Kelvinator ฯลฯ โดยมีตลาดส่วนใหญ่มากเป็นอันดับ 1 ในยุโรป และมากเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ

อนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้บริษัท Electrolux AB ได้ลงทุนจำนวนมากเพื่อตั้งโรงงานภายในเขตอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โดยกำหนดให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในภูมิภาคเอเชีย

ส่วนอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมก็นับว่าแข็งแกร่งมากเช่นกัน โดยมีบริษัทชั้นนำของโลก เป็นต้นว่า Ericsson, SonyEricsson ฯลฯ โดยเฉพาะบริษัท Ericsson เป็นเจ้าของสิทธิบัตรจำนวนมากในด้านนี้ ทั้งนี้ แม้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ SonyEricsson จะมียอดขายเป็นรองยี่ห้อโนเกียหรือซัมซุง แต่ในส่วนอุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์มือถือแล้ว บริษัท Ericsson มีส่วนแบ่งตลาดโลกมากถึง 35 – 40% นับว่ามากเป็นอันดับ 1 ของโลก

สวีเดนนับว่ามีบริษัททำธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากเป็นอันดับ 4 ของยุโรป มีผู้ประกอบธุรกิจในด้านชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ประมาณ 400 บริษัท โดยจากการสำรวจสมาคมธุรกิจกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) ของยุโรป พบว่ากองทุน Venture Capital ได้มาลงทุนในสวีเดนคิดเป็นสัดส่วน 15% ของการลงทุนทั้งหมดในทวีปยุโรป นับว่ามากเป็นอันดับ 2 รองจากสหราชอาณาจักรซึ่งมีสัดส่วน 38% โดยมากกว่าฝรั่งเศสซึ่งมีสัดส่วน 14% เยอรมนี 13% สวิสเซอร์แลนด์ 5% และเนเธอร์แลนด์ 5%

สวีเดนมีความก้าวหน้ามากในสาขาประสาทวิทยา (neuroscience) ภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunology) และจุลชีววิทยา (Microbiology) โดยจุดเด่นที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตและมีขนาดใหญ่ คือ มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีบรรยากาศที่ดีในด้าน Clinical Trial

หลายประเทศพยายามส่งเสริมความร่วมมือกับสวีเดนในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้นว่า Karolinska Institutet ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในด้านแพทย์ศาสตร์ของสวีเดนที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของโลก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2353 และเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านตัดสินผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ก็ได้เข้ามาตั้งสำนักงานนอกประเทศสวีเดนแห่งแรกขึ้นภายในมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์เมื่อเดือนตุลาคม 2547 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา 2 แห่ง โดยเฉพาะโครงการวิจัยและหลักสูตรการศึกษาที่ร่วมมือกัน สำหรับสถาบันวิจัยด้านการแพทย์ Institute of Medical Research ของมาเลเซีย ก็ได้มีโครงการร่วมมือกับ Karolinska Institutet ของสวีเดนเช่นเดียวกัน

สำหรับในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสวีเดนอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสวีเดนอยู่ในระดับก้าวหน้าอย่างมาก คือ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของสวีเดนก็นับว่าสำคัญมาก โดยมีการจ้างงาน 185,000 คน คิดเป็น 1 ใน 10 ของการจ้างงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ยอดส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนของสวีเดนคิดเป็นสัดส่วน 15% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของประเทศ

สำหรับบริษัททำธุรกิจรถยนต์รายใหญ่ 4 รายของสวีเดน มีปริมาณการประกอบรถยนต์ปีละประมาณ 800,000 คัน จำแนกเป็นรถยนต์นั่ง 550,000 คัน และรถบรรทุกหนัก 250,000 คัน โดยฐานการผลิตกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้นว่า ฐานการผลิตรถยนต์ Saab จะอยู่ที่เมือง Trollhattan ขณะที่ฐานการผลิตรถยนต์นั่งยี่ห้อวอลโวจะอยู่ที่เมือง Göteborg

มีข้อสังเกตว่าปัจจุบันบริษัทต่างชาติมีบทบาทในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ของสวีเดนค่อนข้างมาก โดยในจำนวนบริษัทประกอบรถยนต์ 4 บริษัท มี 2 บริษัทที่บริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการไปแล้ว กล่าวคือ บริษัทฟอร์ดของสหรัฐฯ ได้ซื้อกิจการบริษัท Volvo Cars ซึ่งผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อวอลโว่เมื่อปี 2542 ส่วนบริษัท GM ซึ่งเดิมถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท Saab Automobile แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็นถือหุ้นเต็ม 100%

ส่วนบริษัทสวีเดนอีก 2 บริษัท แม้จะยังคงเป็นบริษัทอิสระ แต่ก็มีบริษัทต่างชาติก็เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนค่อนข้างสูง กล่าวคือ บริษัท Scania มีบริษัท Volkswagen ของเยอรมนีเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ส่วนบริษัท Volvo Trucks ซึ่งผลิตรถบรรทุกหนักยี่ห้อวอลโว่ก็มีบริษัท Renault ของฝรั่งเศส เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม บริษัทรถยนต์สวีเดนก็เข้าไปซื้อกิจการบริษัทรถยนต์ของต่างชาติเช่นเดียวกัน โดยบริษัท Volvo Trucks ได้เข้าไปซื้อกิจการรถบรรทุกหนักของบริษัท Mack และบริษัท Renault V.I. เมื่อเดือนมกราคม 2544

สวีเดนยังมีบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่ คือ Autoliv, Atlas Copco, Haldex, Sandvik, SKF ฯลฯ โดยเฉพาะบริษัท Autoliv นับว่าเป็นผู้นำของโลกในด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับชิ้นส่วนความปลอดภัยสำหรับรถยนต์

จุดเด่นของบริษัทรถยนต์ของสวีเดน คือ เทคโนโลยีในด้านความปลอดภัย โดยศูนย์ทดสอบในด้านการชนของรถยนต์ที่ก้าวหน้ามากที่สุดในโลกตั้งอยู่ที่นคร Göteborg ของสวีเดน

ในระยะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์ของสวีเดนได้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมมากมาย เป็นต้นว่า บริษัท Volvo ได้ประดิษฐ์เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดแบบแรกของโลกจดสิทธิบัตรเอาไว้เมื่อปี 2501, บริษัท Volvo และบริษัท Autoliv ได้ร่วมกันประดิษฐ์ถุงลมนิรภัยด้านข้างแบบแรกของโลกเมื่อปี 2538 ต่อมาในปี 2541 ทั้ง 2 บริษัทยังได้ร่วมกันประดิษฐ์ม่านแบบพองตัวขึ้นมาได้ (Inflatable curtain) สำหรับป้องกันการกระแทกของศีรษะ

สวีเดนยังนับเป็นศูนย์ทดสอบสำคัญของโลกสำหรับรถยนต์ที่จะจำหน่ายในประเทศที่มีภูมิอากาศหนาว เนื่องจากประเทศมีอากาศหนาวเย็นมากโดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศ เช่นเดียวกับในปัจจุบันซึ่งมีบางบริษัทได้กำหนดให้ไทยเป็นศูนย์ทดสอบสำหรับรถยนต์และชิ้นส่วน เช่น ยางรถยนต์ ฯลฯ ที่จะจำหน่ายในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น

อย่างไรก็ตาม กรณีของประเทศไทยยังติดปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากจะต้องนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนที่ผลิตจากทั่วโลกเข้ามาทดสอบในประเทศไทย แต่อากรขาเข้าของไทยสูงมาก ซึ่งบีโอไอพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่จะต้องได้รับการตอบสนองจากหน่วยราชการอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ กรณีของปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือ เรามีแค่ Vision หรือวิสัยทัศน์ที่จะเป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนา แต่กลับไม่ค่อยมี Action ที่จะเร่งแก้ไขปัญหานักลงทุน

สุดท้ายนี้ แม้อุตสาหกรรมรถยนต์ของสวีเดนจะเด่นมากโดยเฉพาะในส่วนรถบรรทุกหนัก โดยบริษัทสวีเดน 2 บริษัท คือ บริษัท Volvo Trucks และบริษัท Scania มีส่วนแบ่งตลาดโลกรวมกันมากถึง 20% อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดรถบรรทุกหนักในประเทศไทยกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากค่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าตลาดในประเทศไทย โดยเฉพาะรถบรรทุกยี่ห้อฮีโน่ของค่ายโตโยต้า

จากการที่มีการแข่งขันในระดับสูง ทำให้ราคาจำหน่ายรถบรรทุกของสวีเดนในประเทศไทยต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายในสวีเดนซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดเป็นสัดส่วนมากถึงประมาณ 40% ทั้งนี้ แม้ลดราคาขายลงมากแล้ว แต่ก็ยังมีราคาแพงกว่ารถบรรทุกหนักของค่ายญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ดังนั้น ลูกค้าเป้าหมายจึงเป็นบริษัทที่ต้องการมั่นใจในด้านความปลอดภัยอย่างเต็มที่ เช่น บริษัทน้ำมัน ขณะที่บริษัทให้บริการขนส่งสินค้าราคาต่ำ เช่น ซีเมนต์ หิน ดิน ทราย ฯลฯ ก็จะเน้นใช้รถบรรทุกญี่ปุ่นเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น