www.dhiravegin.com
e-mail: likhit@dhiravegin.com
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหลายคนคิดว่าคือระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ตราบเท่าที่มีการเลือกตั้งก็จะเป็นประชาธิปไตย อันเป็นข้อสรุปโดยทั่วๆ ไป กล่าวอีกนัยหนึ่งได้มีการตั้งสมการทำนองว่า ประชาธิปไตย = การเลือกตั้ง หรือ การเลือกตั้ง = ประชาธิปไตย คำถามที่สำคัญคือ มีอะไรประกันว่าการเลือกตั้งจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม และสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ถึงแม้จะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งหมายถึงประชาธิปไตย อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ได้อำนาจทางการเมืองมาจากการเลือกตั้ง มิได้มีการปฏิวัติรัฐประหารหรือใช้อำนาจเข้ายึดอำนาจแต่อย่างใด แต่อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ กลับกลายเป็นจอมเผด็จการที่นำไปสู่สงครามและการสังหารหมู่ชาวยิวประมาณ 6 ล้านคน ยังไม่ได้กล่าวถึงการสังหารชาวยิปซีและคนเผ่าพันธุ์อื่นจากการกระทำสงครามข่มเหงบีฑากรรมประชาชนผู้บริสุทธิ์ ประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างโหดเหี้ยมและทารุณ
ระบบประชาธิปไตยจึงมิได้ขึ้นอยู่กับการมีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่โดยทั่วๆ ไปจะต้องมีคุณลักษณะเด่นๆ ที่สำคัญ 4 ประการ ดังต่อไปนี้คือ
1.รัฐบาลนั้นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน (elected government) กล่าวคือ การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารของนักการเมืองกลุ่มที่รับผิดชอบต่อการบริหารประเทศ จะต้องได้รับอาณัติจากประชาชน มีความชอบธรรมทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ซึ่งต้องมีการรณรงค์หาเสียง มีการเสนอนโยบาย มีการต่อสู้กับพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค การเลือกตั้งที่ผู้สมัครมาจากพรรคเดียวไม่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นระบบประชาธิปไตย
แต่การเลือกตั้งที่จะสะท้อนถึงอาณัติของประชาชน โดยประชาชนมอบอำนาจให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งสังกัดพรรคการเมืองขึ้นบริหารประเทศนั้นต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ไม่มีอามิสสินจ้าง หรือการปลุกระดมให้ไปใช้สิทธิใช้เสียงด้วยวิธีการต่างๆ หรือมีการโกงการเลือกตั้งด้วยการทำบัตรปลอม และการนับคะแนนแบบฉ้อโกงด้วยการใช้บัตรที่มีมากกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ใส่เข้าไปในกล่องเลือกตั้ง หรือมีการเปลี่ยนหีบบัตร ฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง จึงจะถือว่าได้อาณัติจากประชาชนให้บริหารประเทศ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงมีความหมายในลักษณะนี้
สิทธิเสรีภาพของประชาชน (rights and freedom) หัวใจสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็คือการที่ต้องมีรัฐธรรมนูญประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งต้องมีการบังคับกฎหมายด้วยหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่กระบวนการจับกุม สืบสวนสอบสวน การฟ้องร้อง การมีสิทธิแต่งตั้งทนาย และการพิจารณาโดยตุลาการที่มีใจเที่ยงธรรม สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ไม่สามารถจะละเมิดได้โดยผู้ใดทั้งสิ้น เนื่องจากประชาชนมีความเสมอภาคในทางการเมือง หนึ่งคนหนึ่งเสียง (one man one vote) และมีความเสมอภาคในทางกฎหมาย (equality before the law) สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ครอบคลุมชีวิตประจำวัน การทำมาหากิน การแสดงออก ตัวอย่างเช่น เสรีภาพในการเลือกอาชีพ มีสิทธิในการทำการค้าในระบบการค้าเสรี มีสิทธิแสดงความคิดเห็น สิทธิในการรวมกลุ่มเป็นชมรม สมาคม สหภาพ ฯลฯ มีสิทธิในการเลือกที่อยู่อาศัยในเคหะสถาน มีสิทธิในการเดินทาง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียงของส่วนตัว ครอบครัว วงศ์ตระกูล และมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ฯลฯ
สิทธิที่กล่าวมานั้นเป็นสิทธิที่ใครจะละเมิดมิได้ และเมื่อถูกละเมิดย่อมสามารถที่จะฟ้องร้องได้ตั้งแต่การหาความยุติธรรมจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลอาญา ศาลแพ่ง การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชน ฯลฯ สังคมใดก็ตามที่ไม่มีรัฐธรรมนูญพิทักษ์ปกปักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น ย่อมจะไม่สามารถจะกล่าวได้ว่ามีการปกครองแบบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันจะต้องมีกระบวนการบังคับกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิดังกล่าว และต้องมีวิถีทางที่จะร้องทุกข์หาทางเยียวยาเมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวถูกละเมิดไม่ว่าโดยเอกชนหรือโดยรัฐ
3 .การมีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation) ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองที่ทำให้ประชาชนเปลี่ยนสถานะและบทบาทจากผู้ซึ่งเป็นประชาชนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง มาเป็นประชาชนที่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตน โดยมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะต่างๆ ซึ่งได้แก่ การมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อจะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับชาติ หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่น ทำหน้าที่แทนตนในการบริหารประเทศ อันได้แก่ การออกกฎหมาย การใช้กฎหมาย การกำหนดนโยบาย การใช้ทรัพยากร การสร้างกลไกหาข้อยุติในข้อขัดแย้ง นอกจากนั้นผู้ซึ่งมีความสนใจและมีคุณสมบัติครบถ้วนก็มีสิทธิมีส่วนร่วมโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา
ในส่วนการมีส่วนร่วมนั้น การใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการใช้สิทธิทางการเมือง จากนั้นประชาชนมีสิทธิติดตามการทำงานของผู้ซึ่งตนเลือกมาเป็นตัวแทนได้ตลอดวาระที่ดำรงตำแหน่ง และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง คัดค้าน รวมทั้งการประท้วงนโยบายที่ไม่ถูกต้องอันเป็นสิทธิการมีส่วนร่วมโดยชอบธรรม นอกเหนือจากนั้น ในนโยบายอันใดก็ตามที่จะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตน และมีเหตุผลมากเพียงพอที่จะแสดงความคิดเห็น ก็ย่อมมีสิทธิแสดงประชาพิจารณ์ รวมทั้งแสดงประชามติได้ซึ่งจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายในเรื่องดังกล่าว
นอกเหนือจากสิทธิดังกล่าวมาเบื้องต้น ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศก็ยังให้สิทธิกับประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย หรือเข้าชื่อกันเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีของประเทศไทยนั้น ประชาชน 5 หมื่นคนก็มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยหมวด 3 และหมวด 5 ซึ่งได้แก่สิทธิเสรีภาพของประชาชนและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นอกจากนั้นยังมีสิทธิเข้าชื่อกันเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนผู้บริหารระดับสูง ในขณะเดียวกันในระดับท้องถิ่นก็มีการเปิดช่องให้กระทำการทำนองเดียวกัน
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือการมีสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อเรียกร้องทางการเมือง เป็นสิ่งซึ่งฝ่ายรัฐต้องยินยอมให้เกิดขึ้น เพราะนี่คือพื้นฐานสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือมีส่วนร่วมโดยการจัดตั้งตามคำสั่งของรัฐ ก็จะขาดคุณลักษณะสำคัญยิ่งของระบบประชาธิปไตย
4.หลักนิติธรรม (the rule of law) หลักนิติธรรมคือหลักการออกกฎหมายตามกระบวนการนิติบัญญัติที่มีตัวแทนของประชาชนมีส่วนในการพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ และที่สำคัญที่สุดจะต้องไม่ขัดต่อหลักการและเนื้อหาที่สำคัญเกี่ยวกับหลักสิทธิเสรีภาพ หลักนิติธรรมเป็นเสาหลักของการเกิดนิติรัฐ ซึ่งมีกฎหมายเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองบริหาร ที่สำคัญคือ กฎหมายที่ออกมานั้นต้องผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง มีหลักการที่ไม่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ และหลักการของระบบประชาธิปไตย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นกฎหมายที่ออกโดยผู้มีอำนาจ และใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือของการปกครองบริหารแบบเผด็จการได้ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า the rule by law ซึ่งต่างจาก the rule of law และยิ่งถ้าเป็นระบบการเมืองที่อาศัยตัวบุคคลผู้มีอำนาจ กล่าววาจาเด็ดขาดเป็นกฎหมาย ก็จะกลายเป็น the rule by men อันเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่ง เพราะจะไม่มีหลักกฎเกณฑ์อันใด การดำเนินนโยบายและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งอำนาจเท่านั้น
ระบบการเมืองใดก็ตามที่ขาดคุณลักษณะข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น จะไม่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ส่วนใหญ่มักจะมีรูปแบบของคุณลักษณะใน 4 ข้อเบื้องต้น แต่จะบกพร่องในเนื้อหาและบางครั้งจะเกิดความบกพร่องในสาระและหลักการ จึงมีการปกครองแบบประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศที่มีหน้าฉาก (facade) หรือรูปแบบ (form) ของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เนื้อหา (substance) เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่บกพร่อง ขาดความสมบูรณ์
และในบางกรณีเป็นระบบการปกครองแบบเผด็จการที่อ้างคำว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องประดับ
e-mail: likhit@dhiravegin.com
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหลายคนคิดว่าคือระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ตราบเท่าที่มีการเลือกตั้งก็จะเป็นประชาธิปไตย อันเป็นข้อสรุปโดยทั่วๆ ไป กล่าวอีกนัยหนึ่งได้มีการตั้งสมการทำนองว่า ประชาธิปไตย = การเลือกตั้ง หรือ การเลือกตั้ง = ประชาธิปไตย คำถามที่สำคัญคือ มีอะไรประกันว่าการเลือกตั้งจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม และสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ถึงแม้จะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งหมายถึงประชาธิปไตย อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ได้อำนาจทางการเมืองมาจากการเลือกตั้ง มิได้มีการปฏิวัติรัฐประหารหรือใช้อำนาจเข้ายึดอำนาจแต่อย่างใด แต่อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ กลับกลายเป็นจอมเผด็จการที่นำไปสู่สงครามและการสังหารหมู่ชาวยิวประมาณ 6 ล้านคน ยังไม่ได้กล่าวถึงการสังหารชาวยิปซีและคนเผ่าพันธุ์อื่นจากการกระทำสงครามข่มเหงบีฑากรรมประชาชนผู้บริสุทธิ์ ประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างโหดเหี้ยมและทารุณ
ระบบประชาธิปไตยจึงมิได้ขึ้นอยู่กับการมีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่โดยทั่วๆ ไปจะต้องมีคุณลักษณะเด่นๆ ที่สำคัญ 4 ประการ ดังต่อไปนี้คือ
1.รัฐบาลนั้นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน (elected government) กล่าวคือ การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารของนักการเมืองกลุ่มที่รับผิดชอบต่อการบริหารประเทศ จะต้องได้รับอาณัติจากประชาชน มีความชอบธรรมทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ซึ่งต้องมีการรณรงค์หาเสียง มีการเสนอนโยบาย มีการต่อสู้กับพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค การเลือกตั้งที่ผู้สมัครมาจากพรรคเดียวไม่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นระบบประชาธิปไตย
แต่การเลือกตั้งที่จะสะท้อนถึงอาณัติของประชาชน โดยประชาชนมอบอำนาจให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งสังกัดพรรคการเมืองขึ้นบริหารประเทศนั้นต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ไม่มีอามิสสินจ้าง หรือการปลุกระดมให้ไปใช้สิทธิใช้เสียงด้วยวิธีการต่างๆ หรือมีการโกงการเลือกตั้งด้วยการทำบัตรปลอม และการนับคะแนนแบบฉ้อโกงด้วยการใช้บัตรที่มีมากกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ใส่เข้าไปในกล่องเลือกตั้ง หรือมีการเปลี่ยนหีบบัตร ฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง จึงจะถือว่าได้อาณัติจากประชาชนให้บริหารประเทศ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงมีความหมายในลักษณะนี้
สิทธิเสรีภาพของประชาชน (rights and freedom) หัวใจสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็คือการที่ต้องมีรัฐธรรมนูญประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งต้องมีการบังคับกฎหมายด้วยหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่กระบวนการจับกุม สืบสวนสอบสวน การฟ้องร้อง การมีสิทธิแต่งตั้งทนาย และการพิจารณาโดยตุลาการที่มีใจเที่ยงธรรม สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ไม่สามารถจะละเมิดได้โดยผู้ใดทั้งสิ้น เนื่องจากประชาชนมีความเสมอภาคในทางการเมือง หนึ่งคนหนึ่งเสียง (one man one vote) และมีความเสมอภาคในทางกฎหมาย (equality before the law) สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ครอบคลุมชีวิตประจำวัน การทำมาหากิน การแสดงออก ตัวอย่างเช่น เสรีภาพในการเลือกอาชีพ มีสิทธิในการทำการค้าในระบบการค้าเสรี มีสิทธิแสดงความคิดเห็น สิทธิในการรวมกลุ่มเป็นชมรม สมาคม สหภาพ ฯลฯ มีสิทธิในการเลือกที่อยู่อาศัยในเคหะสถาน มีสิทธิในการเดินทาง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียงของส่วนตัว ครอบครัว วงศ์ตระกูล และมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ฯลฯ
สิทธิที่กล่าวมานั้นเป็นสิทธิที่ใครจะละเมิดมิได้ และเมื่อถูกละเมิดย่อมสามารถที่จะฟ้องร้องได้ตั้งแต่การหาความยุติธรรมจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลอาญา ศาลแพ่ง การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชน ฯลฯ สังคมใดก็ตามที่ไม่มีรัฐธรรมนูญพิทักษ์ปกปักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น ย่อมจะไม่สามารถจะกล่าวได้ว่ามีการปกครองแบบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันจะต้องมีกระบวนการบังคับกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิดังกล่าว และต้องมีวิถีทางที่จะร้องทุกข์หาทางเยียวยาเมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวถูกละเมิดไม่ว่าโดยเอกชนหรือโดยรัฐ
3 .การมีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation) ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองที่ทำให้ประชาชนเปลี่ยนสถานะและบทบาทจากผู้ซึ่งเป็นประชาชนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง มาเป็นประชาชนที่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตน โดยมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะต่างๆ ซึ่งได้แก่ การมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อจะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับชาติ หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่น ทำหน้าที่แทนตนในการบริหารประเทศ อันได้แก่ การออกกฎหมาย การใช้กฎหมาย การกำหนดนโยบาย การใช้ทรัพยากร การสร้างกลไกหาข้อยุติในข้อขัดแย้ง นอกจากนั้นผู้ซึ่งมีความสนใจและมีคุณสมบัติครบถ้วนก็มีสิทธิมีส่วนร่วมโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา
ในส่วนการมีส่วนร่วมนั้น การใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการใช้สิทธิทางการเมือง จากนั้นประชาชนมีสิทธิติดตามการทำงานของผู้ซึ่งตนเลือกมาเป็นตัวแทนได้ตลอดวาระที่ดำรงตำแหน่ง และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง คัดค้าน รวมทั้งการประท้วงนโยบายที่ไม่ถูกต้องอันเป็นสิทธิการมีส่วนร่วมโดยชอบธรรม นอกเหนือจากนั้น ในนโยบายอันใดก็ตามที่จะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตน และมีเหตุผลมากเพียงพอที่จะแสดงความคิดเห็น ก็ย่อมมีสิทธิแสดงประชาพิจารณ์ รวมทั้งแสดงประชามติได้ซึ่งจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายในเรื่องดังกล่าว
นอกเหนือจากสิทธิดังกล่าวมาเบื้องต้น ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศก็ยังให้สิทธิกับประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย หรือเข้าชื่อกันเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีของประเทศไทยนั้น ประชาชน 5 หมื่นคนก็มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยหมวด 3 และหมวด 5 ซึ่งได้แก่สิทธิเสรีภาพของประชาชนและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นอกจากนั้นยังมีสิทธิเข้าชื่อกันเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนผู้บริหารระดับสูง ในขณะเดียวกันในระดับท้องถิ่นก็มีการเปิดช่องให้กระทำการทำนองเดียวกัน
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือการมีสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อเรียกร้องทางการเมือง เป็นสิ่งซึ่งฝ่ายรัฐต้องยินยอมให้เกิดขึ้น เพราะนี่คือพื้นฐานสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือมีส่วนร่วมโดยการจัดตั้งตามคำสั่งของรัฐ ก็จะขาดคุณลักษณะสำคัญยิ่งของระบบประชาธิปไตย
4.หลักนิติธรรม (the rule of law) หลักนิติธรรมคือหลักการออกกฎหมายตามกระบวนการนิติบัญญัติที่มีตัวแทนของประชาชนมีส่วนในการพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ และที่สำคัญที่สุดจะต้องไม่ขัดต่อหลักการและเนื้อหาที่สำคัญเกี่ยวกับหลักสิทธิเสรีภาพ หลักนิติธรรมเป็นเสาหลักของการเกิดนิติรัฐ ซึ่งมีกฎหมายเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองบริหาร ที่สำคัญคือ กฎหมายที่ออกมานั้นต้องผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง มีหลักการที่ไม่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ และหลักการของระบบประชาธิปไตย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นกฎหมายที่ออกโดยผู้มีอำนาจ และใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือของการปกครองบริหารแบบเผด็จการได้ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า the rule by law ซึ่งต่างจาก the rule of law และยิ่งถ้าเป็นระบบการเมืองที่อาศัยตัวบุคคลผู้มีอำนาจ กล่าววาจาเด็ดขาดเป็นกฎหมาย ก็จะกลายเป็น the rule by men อันเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่ง เพราะจะไม่มีหลักกฎเกณฑ์อันใด การดำเนินนโยบายและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งอำนาจเท่านั้น
ระบบการเมืองใดก็ตามที่ขาดคุณลักษณะข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น จะไม่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ส่วนใหญ่มักจะมีรูปแบบของคุณลักษณะใน 4 ข้อเบื้องต้น แต่จะบกพร่องในเนื้อหาและบางครั้งจะเกิดความบกพร่องในสาระและหลักการ จึงมีการปกครองแบบประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศที่มีหน้าฉาก (facade) หรือรูปแบบ (form) ของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เนื้อหา (substance) เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่บกพร่อง ขาดความสมบูรณ์
และในบางกรณีเป็นระบบการปกครองแบบเผด็จการที่อ้างคำว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องประดับ