xs
xsm
sm
md
lg

แฉแก๊งรีดเงินแลกบล็อกโหวต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.ปกครองวุฒิฯ แฉ มีไอ้โม่งเรียกเงินหลักล้านเพื่อบล็อกโหวตให้เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงาน เปิด กระบวนการมีการอ้างเบื้องสูงมาหากิน แถมมีแทรกซึมในการเลือกสภาพัฒน์ ระบุมีหลุดไปเป็นผู้พิพากษากว่าครึ่ง

วานนี้ (19 ก.ย.) พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ส.ว.เชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปกครอง วุฒิสภา แถลงกรณีการดำเนินการกล่าวโทษข้าราชการการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ขบวนการซื้อตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานครั้งใหญ่ ภายหลังจากการที่ได้มีผู้พิพากษาสมทบและอดีตผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลางได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ ว่า มีการทุจริตในการเลือกตั้งผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง โดยมีการเรียกรับเงินเป็นจำนวน 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท และมีการบล็อกโหวต เพื่อให้บุคคลที่ยินยอมจ่ายเงินได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง

"โดยกลุ่มบุคคลที่เรียกรับเงินนั้นไม่ได้สนใจถึงประวัติของบุคคลบุคคลที่จ่ายเงินให้นั้นจะมีประวัติค้ายา ค้าของหนีภาษี หรือ มีคดีติดตัวมาหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องนี้ได้พบความผิด ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานสูงรวมถึงประธานสหภาพแรงงานบางแห่งเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้ง นิติกรรมอำพรางขึ้นเพื่อแสวงหาประโยชน์ รวมทั้งยังได้นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาอ้างเพื่อหาประโยชน์โดยผ่ายการนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มาหลอกให้บุคคลที่อยากดำรงตำแหน่ง อีกทั้งยังได้นำการทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นผู้พิพากษาสมทบ แล้วมาใช้อวดอ้างเพื่อหาประโยชน์"ส.ว.เชียงใหม่ กล่าว

พล.ต.อินทรัตน์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการได้สรุปผลการตรวจสอบเสนอไปยังคณะกรรมาธิการปกครอง วุฒิสภา และ คณะกรรมาธิการมีมติส่งเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน อาทิ นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาส่งเรื่องให้กองปราบปรามดำเนินเร่งรัดติดตามหาผู้ทำความผิด แต่หลังจากที่ส่งไปแล้วพบว่าทั้ง 10 หน่วยงาน กลับมีการดำเนินการที่ล่าช้า

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กองปราบได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการฯ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานบุคคลที่ถูกหลอกและเรียกรับเงินเพื่อออกหมายจับบุคคลที่ร่วมกันเป็นขบวนการในทุจริต ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดอาญาต่อแผ่นดินโดยการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน"

นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวได้ก้าวเข้าไปสู่การเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีการบล็อกโหวต เหมือนกับการเลือกตั้งผู้พิพากษาสมทบ และเรื่องนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.)ได้สอบสวนด้วยโดยเขียนผังกระบวนการเป็นเครือข่ายใยแมงมุมว่า มีใครเกี่ยวข้องบ้างและมีการจัดตั้งเป็นขบวนการที่ไหน

นายจรูญ ยังประภากร ส.ว.สมุทรปราการ รองประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง กล่าวว่า ขบวนการดังกล่าวดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 เริ่มจากการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมนายจ้าง โดยเป็นการใช้ที่พักอาศัยที่เดียวกันกระทำการจัดตั้งเป็นสมาคมหลายสมาคม ซึ่งเป็นการจดทะเบียนไขว้กันระหว่างสมาคม โดยการจดในลักษณะนี้จะทำให้ได้รับสิทธิ์โควต้าในการลงคะแนนเลือกตั้งผู้พิพากษาสมทบมากขึ้น ทางกรรมาธิการฯทราบมาว่า บางตระกูลเข้ามาถึง 12 คน แยกเป็นนามสกุลเดียว 8 คน และต่างนามสกุล 4 ซึ่งกระบวนการนี้มีแกนนำไม่ต่ำกว่า 10 คน และมีการแบ่งหน้าที่กันทำจนสร้างรายได้ครั้งละหลายสิบล้านบาท

นายสมชาย เอี่ยมแสนอุดม ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการปกครอง วุฒิสภา กล่าวว่า การซื้อขายตำแหน่งดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวเข้าไปเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานอยู่ถึง 50 % ซึ่งปกติศาลแรงงาน จะมีผู้พิพากษาสมทบประมาณ 200 คน เรื่องนี้ นายเขมพล กิจรัตน์ อดีตรองอธิบดีศาลแรงงาน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ประชุมกรรมาธิการ โดยระบุชื่อ คนที่รับเงิน และผู้พิพากษาสมทบที่จ่ายเงิน นอกจากนี้ยังมีผู้พิพากษาศาลสมทบที่จ่ายเงิน หลายคนยอมรับเป็นทั้งปากคำ และลายลักษณ์อักษรต่อกรรมาธิการว่าเสียเงินเข้ามา แต่ไม่ขอเปิดเผยตัว

"กระบวนการนี้มีกลุ่มบุคคลที่ถูกไล่ออกจากข้าราชการเป็นทั้งตำรวจ ทหาร ทนาย ความ ซึ่งได้ร่วมกันจดทะเบียนไขว้บริษัท บางครั้งจดในนามบริษัทยามก็มี ซึ่งขณะนี้กำลังจะมีการเตรียมเลือกตั้งผู้พิพากษาสมทบฯ รุ่นที่ 23 และพวกนี้ก็ได้จัดการบล็อกและเรียกรับเงินเอาไว้เรียบร้อยแล้ว"นายสมชาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น