xs
xsm
sm
md
lg

เตือนศัตรูแอบแฝงในวัสดุไม้ก่อปัญหาการค้าเพื่อส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชูศักดิ์ ว่องวิชชกร หัวหน้ากลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องจากวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้โดยเฉพาะลังไม้ซึ่งทั่วโลกนิยมใช้บรรจุสินค้าเพื่อส่งออก
เป็นพาหะที่สามารถนำศัตรูพืชจากแหล่งหนึ่งไประบาดยังแหล่งอื่นได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อการค้าระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ อนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Convention, IPPC) จึงได้จัดทำมาตรฐานสำหรับมาตรการสุขอนามัยพืชว่าด้วย แนวทางการควบคุมวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ในการค้าระหว่างประเทศ(ISPM No.15)ขึ้น โดยประเทศภาคีสมาชิก 137 ประเทศ ต้องยึดเป็นหลักปฏิบัติในทิศทางเดียวกันซึ่งรวมประเทศไทยด้วย
นั้น ผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออกจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยก่อนส่งออกต้องกำจัดศัตรูพืชตามกฎระเบียบที่กำหนดซึ่งมี 2 วิธี คือ
รมด้วยสารเมทิลโบรไมด์ ความเข้มข้น 48 กรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 16-24 ชั่วโมง หรืออาจจะอบด้วยความร้อนที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที ที่แกนกลางไม้ ซึ่งวิธีนี้ IPPC รับรองว่า
สามารถกำจัดศัตรูพืชที่สำคัญของไม้ได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
นายชูศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตรในฐานะองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ รวมทั้งบริษัทรับบรรจุ(packing)สินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนและออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนให้ผู้ประกอบการแล้ว จำนวน 219 ราย โดยทะเบียนจะมีอายุ 1 ปี ในกรณีที่สินค้ามีปัญหาจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้
อนาคตถ้ากรมวิชาการเกษตรได้รับการร้องเรียนจากประเทศปลายทางว่า ตรวจพบศัตรูพืชที่วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ผลิตไม่ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด เบื้องต้นอาจจะทำการตักเตือน พักใช้ หรือถึงขั้นเพิกถอนใบสำคัญการขึ้นทะเบียน
"สำหรับไม้ที่ผู้ประกอบการนิยมนำมาผลิตเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา และไม้เบญจพรรณ เช่น ไม้มะม่วง ไม้ทุเรียน แต่ขณะนี้วัตถุดิบมีปริมาณลดลง ทำให้ไทยต้องนำเข้าไม้สนจากต่างประเทศ เช่น
นิวซีแลนด์ แคนาดา เพื่อนำมาผลิตเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ค่อนข้างมาก เนื่องจากเนื้อไม้สนมีลักษณะแห้ง ศัตรูพืชไม่ชอบเจาะ ไม่เหมือนไม้ยางพาราที่มีปัญหาแมลงเจาะเนื้อไม้ โดยเฉพาะมอดรูเข็ม และปลวก" นายชูศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น