xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม"แกรมมี่"ถอย

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

กรณีสื่อมวลชนคุณภาพถูกคุกคาม เพิ่งจะเห็นปรากฏการณ์ชัดเจนช่วงนี้เอง

เมื่อกลุ่มแกรมมี่โดย บริษัทจีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือก.ล.ต.ว่าได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ได้ถึง 32.23% ขณะเดียวกันก็ได้ซื้อหุ้นบริษัทโพสต์ พับลิชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ 23.60%

ข่าวใหญ่ในเวลาใกล้เคียง เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วก็คือ การที่คณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีมติถอดรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" โดยให้มีผลทันที

จึงเป็นการสั่งยุติรายการที่ให้ภูมิรู้และความคิดทางปัญญาทุกคืนวันศุกร์ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ชมทั่วประเทศให้ได้ฟังการวิเคราะห์วิจารณ์ปรากฏการณ์ที่เด่นๆ ในรอบสัปดาห์ โดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่สนทนากับคุณสโรชา พรอุดมศักดิ์

ข้ออ้างที่ว่า มีการวิจารณ์พาดพึงถึงบุคคลอื่นโดยไม่ให้โอกาสมาชี้แจงนั้น เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะรายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ซึ่งวิจารณ์พาดพิงฝ่ายที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาลก็ยังดำเนินอยู่ได้

การที่คุณสนธิพูดถึงพระราชอำนาจและนำข้อเขียนเรื่อง "พ่อของแผ่นดิน-ลูกแกะหลงทาง" ก็เป็นเหมือนนิทานสอนใจที่ให้ข้อคิดและข้อเตือนใจให้ใฝ่ดีทำดี ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำริและพระบรมราโชวาทที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าสมควรน้อมนำมาเผยแพร่ได้

ปฏิกิริยาจากองค์กรต่างๆ ทั้งนักวิชาการ และภาคประชาชนที่แสดงออกในการให้กำลังใจ และหนุนให้สู้ต่อไปนั้นเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

จนในที่สุดรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ก็จะสนองตอบการเรียกร้องด้วยการจัดในลักษณะสัญจรนอกสถานที่ ในวันศุกร์ที่ 23 และ 30 เดือนนี้ โดยการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ก็จะใช้ผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเชียทีีวี(ASTV)

ส่วนกรณีกลุ่มแกรมมี่ทุ่มเงินซื้อหุ้นบริษัทมติชนนั้น สังคมพากันไม่เชื่อว่าเป็นการตัดสินใจเชิงธุรกิจการลงทุนเพียงอย่างเดียว และสงสัยว่าน่าจะมีเบื้องหลังทางการเมือง

ก็ด้วยข้ออ้างที่ว่าจะไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงแนวการเสนอข่าวหรือการบริหาร คนจึงไม่เชื่อว่าการใช้เงินงบประมาณ 1,700 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นมติชน และนักวิเคราะห์หุ้นหลายสถาบันต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า ไม่น่าจะคุ้ม"

โบรกเกอร์บางรายถึงขนาดแนะนำคนที่ถือหุ้นแกรมมี่ให้ "ขายออก"

เพราะถ้าหวังเงินปันผลจากมติชนอย่างเดียว เมื่อดูจากข้อมูลปีล่าสุด ถ้าจ่ายปันผลในอัตราเดิมก็จะได้หุ้นละ 30 สตางค์ จากเงินที่ใช้กว้านซื้อหุ้นมติชนช่วงแรก เป็นเงิน 733 ล้านบาท เพื่อให้ได้หุ้น 32.23% ก็มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอัตรา MLR ปีละ 43.98 ล้านบาท ถ้าต้องมีการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั่วไปในราคาหุ้นละ 11.10 บาท เพื่อหวังถือครองหุ้นมากถึง 75% ก็ต้องใช้เงินอีก 973 ล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกปีละ 85 ล้านบาท

แค่คิดเป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย กรณีกู้มาซื้อหุ้นส่วน 32% แรกเมื่อเทียบกับเงินปันผลก็ถือว่าขาดทุนปีละ 24 ล้านแล้ว

นักวิเคราะห์ของ บล.ไทยพาณิชย์ จึงบอกว่าไม่สมเหตุผลในการลงทุน

เมื่อบวกกับปฏิกิริยาเชิงลบที่ "อากู๋" ผู้นำค่ายแกรมมี่ซึ่งสั่งสมชื่อเสียงทางธุรกิจมามากมายการ "ถอยตั้งหลัก"จึงเกิดขึ้น

เป็นอันว่าการเผชิญหน้ายุติลง (อาจชั่วคราว) โดย "แกรมมี่ ยอมถือหุ้นมติชนเพียง 20% แล้วขายคน 12% ให้กับคุณขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ก่อตั้งค่ายมติชน

แล้วค่ายมติชนก็ต้องเตรียมเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากรายย่อยตามกติกา เนื่องจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นเปลี่ยนไปแตะระดับ 25%

เราก็ได้เห็นการยิ้มแย้มจับมือหลังแถลงข่าวอย่างรัดกุมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ของตัวแทน 2 ค่าย ท่ามกลางการถอนหายใจของแรงหนุนที่เอาใจช่วยหนังสือพิมพ์คุณภาพอย่างมติชน

อย่างไรก็ตาม "ข้อดี" ของการเกิดเหตุการณ์นี้สำหรับสังคมก็คือ

ในแง่สื่อมวลชน การยึดมั่นในพันธกิจของวิชาชีพ ทำหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏด้วยการรายงานข่าวสาร ข้อมูล ความรู้

ทำหน้าที่ชี้นำความคิดที่ดีด้วยการยกย่องสิ่งดี ชี้แนะทางแก้ปัญหา และวิจารณ์ตำหนิสิ่งที่บกพร่องไม่ดี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางพัฒนา

เมื่อทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี ก็นับเป็นการสั่งสมทุนทางสังคมที่สังคมจะชื่นชมและปกป้อง

ในแง่ทุน ไม่ว่าทุนทางธุรกิจหรือธุรกิจการเมือง การจะใช้อำนาจเงินและอำนาจทางการเมือง "ซื้อ"หรือ"สั่ง"ให้สื่อมวลชนที่ดีมีคุณภาพทำในสิ่งที่ผิดวิสัยนั้น คนในวิชาชีพสื่อตัวจริงย่อมไม่ยอม

เพราะแม้ว่าการดำเนินการกิจการสื่อมวลชนจะเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะพิเศษที่จะต้องมีจิตวิญญาณที่คำนึงถึงสังคมควบคู่กับบริหารเชิงธุรกิจด้วย

การซื้อกิจการสื่อถ้าขาดคนที่มีจิตวิญญาณก็จะได้แต่เพียงตัวตึกและเครื่องจักร

ซึ่งองค์กรทางสังคมที่ผ่านกระบวนการพัฒนามาให้ตระหนักในสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสาร จึงมีการแสดงปฏิกิริยาคัดค้านอำนาจและทุนที่จะครอบงำสื่อ

เราได้เห็นผลการแสดงพลังของสังคมกันระดับหนึ่งแล้ว ณ วันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น