xs
xsm
sm
md
lg

มติชนกับทุนนิยมดิบ

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

หลังจากพรรคไทยรักไทยประสบชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดในไตรมาสแรกของปีนี้ จนกระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อุณหภูมิทางการเมืองดูจะเร่าร้อนขึ้นทุกที

ในขณะที่ความขัดแย้งสำคัญๆ หลายเรื่อง ในบรรยากาศที่หลายปัญหายังไม่มีทีท่าว่าจะลงเอยอย่างไรนี้เอง คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่าแกรมมี่ ก็ออกมาแถลงข่าวว่า ตนได้ใช้เงินเกือบๆ สามพันล้านบาทเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทโพสต์ พับบลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ โดยมีเงินสำรองไว้สำหรับซื้อหุ้นเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ คุณไพบูลย์ยังบอกด้วยว่าแกรมมี่มีเป้าหมายที่จะเข้าไปเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์สักแห่งหนึ่งด้วย

ในกรณีบางกอกโพสต์ แกรมมี่ได้ซื้อหุ้นไว้จำนวน 118 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.6 ของทั้งหมด โดยหุ้นเหล่านี้ซื้อมาจากสมาชิกบางคนในตระกูลจิราธิวัฒน์และตระกูลกรรณสูต อันยังผลให้เขาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทนี้ โดยติดตามมาด้วยบริษัท เซ้าท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ร้อยละ 20.28 และคุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารของบริษัท ร้อยละ 11.67 นอกนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายเล็กและย่อย

บางกอกโพสต์เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันสำคัญสองฉบับคือ "The Bangkok Post" ซึ่งเป็นผู้นำตลาดหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมานานหลายสิบปี และ "โพสต์ ทูเดย์" หนังสือพิมพ์ภาษาไทยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

ในกรณีของมติชน แกรมมี่ระบุว่าได้ซื้อหุ้นไว้แล้วจำนวน 66.77 ล้านหุ้น เป็นสัดส่วนร้อยละ 32.23 ของทั้งหมด ยังผลให้เขาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด รองลงมาคือคุณขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริหารของบริษัท ร้อยละ 24.35 นอกนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายเล็กและย่อย

ในกรณีมติชนนั้น ข่าวระบุว่าแกรมมี่ซื้อหุ้นมาจากนักลงทุนสถาบันอย่าง State Teachers Retirement System of Ohio, First State Asia Pacific Fund และ Scottish Oriental Smaller Companies Trust

หนังสือพิมพ์สำคัญในเครือมติชนคือ "มติชนรายวัน" "มติชนสุดสัปดาห์" "ประชาชาติราย 3 วัน" ทุกฉบับล้วนมีส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ มติชนยังเป็นเจ้าของนิตยสารและหนังสือประเภทอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

รวมความแล้ว หากบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แกรมมี่ก็จะกลายเป็น "ยักษ์ใหญ่" ในวงการสิ่งพิมพ์เมืองไทยแบบโตข้ามคืนโดยไม่ต้องผ่านฤดูกาลต่างๆ ตามปกติวิสัยขององค์กรทางธุรกิจสื่ออื่นๆ ทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะมีเงินมากกว่า และยินดีที่จะใช้การจู่โจมแบบการก่อการร้าย นั่นก็คือ บุกเข้ากระทำการเมื่อฝ่ายตรงข้ามเผลอ เพราะถือหุ้นไว้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของหุ้นทั้งหมด มิหนำซ้ำ ปล่อยให้หุ้นจำนวนมากตกไปอยู่ในมือของนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ ที่ไม่มีความสนใจอะไรมากไปกว่าการเก็บเกี่ยวเงินปันผลและราคาหุ้นที่อาจจะปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาดเท่านั้น

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ไทยบางท่านยังได้ตั้งข้อสังเกตว่ามูลค่าหุ้นของมติชนและบางกอกโพสต์ในตลาดได้เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา กล่าวคือ เริ่มต้นในวันที่ 20 สิงหาคม และ 31 สิงหาคมตามลำดับ ข้อสรุปนี้บ่งชี้ว่านี่อาจจะเป็นอาการของปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า "อินไซเดอร์ เทรด" อันเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย นั่นก็คือ ผู้รู้ข้อมูลภายในบางรายได้ฉวยโอกาสเข้าซื้อหุ้นในตลาดโดยรู้ล่วงหน้าว่า แกรมมี่จะซื้อหุ้นเพื่อเข้าครอบงำกิจกรรมของสองบริษัทนั้น อันจะเป็นเหตุให้มูลค่าหุ้นของทั้งสองบริษัทสูงขึ้น

ในขณะที่แกรมมี่กำลังดำเนินการอื่นๆ เพื่อขอซื้อหุ้นเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์นี้ การเผชิญหน้าระหว่างแกรมมี่กับบริษัทที่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกยึดครองยังไม่สิ้นสุด ในกรณีของบางกอกโพสต์ เนื่องจากเป็นการยึดครองที่เข้าข่ายเป็นมิตร (friendly takeover) นั่นก็คือ เจ้าของหุ้นรายใหญ่ดั้งเดิมบางรายสมยอมขายหุ้นให้เอง ความขัดแย้งใดๆ ที่จะตามมาคงจะมีไม่มากนักในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จะมีบ้างก็แต่ความไม่ไว้วางใจในระดับพนักงานของบริษัทเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังๆ ที่พนักงานของ "The Bangkok Post" ถูกเชิญให้ออกเพราะการรายงานข่าวที่สร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาล

ทว่าในกรณีของมติชนนั้น เนื่องจากแกรมมี่ได้ไปขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นในต่างประเทศโดยผู้บริหารของมติชนไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว การเข้าไปยึดครองจึงเข้าข่ายที่ไม่เป็นมิตร (hostile takeover) ฉะนั้น ความไม่พอใจของเครือมติชนจึงมีสูงเป็นพิเศษ

เหตุผลส่วนหนึ่งของความไม่พอใจอย่างรุนแรงก็คือการกระทำเช่นนี้ขัดกับวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมที่นิยมการอยู่ร่วมกันแบบพี่แบบน้อง ตัวอย่างเช่น แม้กระทั่ง ดร.ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเองก็อดที่จะตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า "การเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตรไม่เหมาะกับวัฒนธรรมเอเชีย" และเท่าที่ผ่านมายังไม่มีกรณีที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเลย เป็นต้น

ด้วยประการฉะนี้ ทั้งๆ ที่คุณไพบูลย์จะออกปากเรียกทั้งคุณสุทธิเกียรติ และคุณขรรค์ชัยว่า "พี่" เกือบทุกคำ ทว่าในความเป็นจริงการกระทำของคุณไพบูลย์นั้นดูจะห่างไกลจากความเป็นพี่เป็นน้องไม่ใช่น้อยๆ

ในขณะที่เรายังไม่ทราบว่าคุณสุทธิเกียรติจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เนื่องจากอยู่ในระหว่างการเดินทางในต่างประเทศ ในส่วนของคุณขรรค์ชัยนั้น มีข่าวเผยแพร่ออกมาว่าได้ออกปากขอซื้อหุ้นคืนจากคุณไพบูลย์ ทว่าฝ่ายหลังกลับไม่ให้ความใส่ใจแม้แต่น้อย

พูดสั้นๆ ก็คือคุณขรรค์ชัยได้ทดลองตรวจสอบดูแล้วว่าวัฒนธรรมแบบพี่ๆ น้องๆ ยังมีอยู่หรือไม่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองแล้วก็ค้นพบว่ามันคงจะไม่มีอะไรอย่างนั้นเสียแล้ว

หากเป็นเช่นนั้น นี่ก็หมายความว่าระบบทุนนิยมไทยได้เดินหน้ามาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ที่ไม่มีความเป็นพี่เป็นน้องอะไรอีกแล้ว ต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าใครจะมีเงิน สายสัมพันธ์กับแหล่งทุนขนาดใหญ่ๆ และความอหังการมากกว่ากันเท่านั้น

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ยุคที่ใครเรียกๆ กันว่า "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" และ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ก็ได้ทอดสมอเรียบร้อยอย่างครบวงจรแล้ว นั่นก็คือ การที่ทุนเอกชนมีความก้าวร้าวระดับใหม่ที่ถึงกับช่วงชิงกิจการของผู้อื่นอย่างซึ่งๆ หน้าและลับหลัง อันอาจจะถือได้ว่าเป็น "ความก้าวหน้า" อีกขั้นหนึ่งหลังจากนโยบาย "แปรรูป" รัฐวิสาหกิจสำคัญๆ ของประเทศ อันจะทำให้ทุนเอกชนขนาดใหญ่ได้เข้ามาถือหุ้นในธุรกิจผูกขาดได้ด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ

โดยหลักการแล้ว ทางเลือกของมติชนมีอะไรบ้าง?

แน่นอน ทางเลือกง่ายๆ ทางแรกก็คือการพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับ "ความจริง" ใหม่ที่เพิ่งค้นพบว่าแกรมมี่ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของมติชนไปเสียแล้ว ทั้งนี้ โดยหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเข้ามายึดครองกิจการของแกรมมี่ในแบบฉบับที่ผู้แทนของมติชนท่านหนึ่งเรียกว่าเป็นการแทงข้างหลัง เนื่องจากข้อสรุปดังกล่าว มติชนจึงบอกให้นักเขียนในค่ายของตนรายหนึ่ง ที่รู้กันทั่วไปว่าใกล้ชิดกับฝ่ายแกรมมี่ยกเลิกการส่งต้นฉบับใดๆ ในอนาคต ความที่เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ฉะนั้น แนวทางอย่างนี้จึงไม่ใช่ "ทางเลือก" สำหรับมติชนอย่างแน่นอน

ทางเลือกที่สองก็คือ มติชนพยายามที่จะเจรจากับแกรมมี่เพื่อที่จะหาทางรักษา "พื้นที่" ของตนเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ทั้งในแง่ของสัดส่วนหุ้นและอิสรภาพในการบริหารธุรกิจในเครือ โดยมีเป้าหมายให้ทุกสิ่งทุกอย่างคล้ายคลึงกับภาวะดั้งเดิมมากที่สุด แต่ก็คงจะยากเพราะแกรมมี่คงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นที่ต้องการแค่เงินปันผลแบบนักลงทุนสถาบันที่ขายหุ้นของตนให้แก่แกรมมี่แบบง่ายๆ

ทั้งๆ ที่ในวันแถลงข่าวคุณไพบูลย์กล่าวว่าตนจะไม่แทรกแซงการบริหารกิจการ ทว่าหากจะอ่านนัยที่แฝงอยู่ในคำแถลงการณ์ แกรมมี่เป็นผู้ถือหุ้นที่ต้องการอำนาจทางการบริหารอย่างไม่มีข้อสงสัย

ทางเลือกที่สาม พิจารณาจากความเคลื่อนไหวล่าสุด ทางเลือกที่สองคงจะไม่เกิดขึ้นอีกเช่นกัน เพราะตอนนี้มติชนได้ประกาศชนแกรมมี่เต็มรูปแบบแล้ว เป้าหมายหลักคือการระดมเงินมาแย่งหุ้นส่วนที่อยู่ในมือของนักลงทุนรายย่อยทั้งหลาย ทั้งนี้ เพื่อให้ได้หุ้นมาถือไว้มากกว่าแกรมมี่ ผู้เชี่ยวชาญกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ระดับมืออาชีพบางรายสรุปว่า มติชนจะอยู่ในฐานะได้เปรียบหากสามารถเคลื่อนไหวได้เร็ว

ทว่าหลังจากได้หุ้นมาถือครองมากกว่าสำเร็จแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องรอดูกันต่อไป ที่น่าสนใจเหมือนกันก็คือราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวอย่างไรบ้างระหว่าง และหลังสงครามย่อยๆ คราวนี้จบสิ้นลง

และทางเลือกที่สี่ หากการปะทะกันเกิดฝ่ายมติชนพลาดท่าขึ้นมาเพราะเหตุใดก็ตาม ทางเลือกอีกทางหนึ่งก็ยังเปิดอยู่เสมอ นั่นก็คือ การเดินหน้าไปก่อตั้งหนังสือพิมพ์ค่ายใหม่ โดยคอยเล็งหาจุดที่จะขายหุ้นของตนทิ้ง ณ เวลาที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

ข้อพิจารณาว่าด้วย "ทางเลือก" ข้างต้นนั้นกระทำโดยไม่ได้พิจารณาปัจจัยด้านบริบทอื่นๆ ซึ่งในกรณีความขัดแย้งครั้งนี้คงจะเป็น "จุดตัดสิน" ว่าใครจะออกหัวออกก้อยอย่างไรกันแน่

ปัจจัยที่หนึ่ง ความที่คุณไพบูลย์มีภาพลักษณ์ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร อย่างน้อยในโอกาสหนึ่งก็ออกมารับหน้าเสื่อจัดการกรณีลิเวอร์พูลให้พ้นหูพ้นตาไปโดยใครบางคนไม่ต้องเสียหน้า ฉะนั้น สื่อ นักวิชาการอิสระ องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มสังคมอื่นๆ เป็นจำนวนมากต่างก็เชื่อว่าคุณไพบูลย์กำลังทำหน้าที่เป็นนักรบใน "สงครามตัวแทน" ให้แก่บุคคลอื่นอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ความข้อนี้น่าคิดเป็นพิเศษเพราะในระยะเดียวกันนี้เอง คุณไพบูลย์ถึงกับถือเป็นธุระออกมาระบุว่าการดำเนินการเข้ายึดครองบางกอกโพสต์และมติชนของตนเป็นไปตาม "ลิขิตของพระเจ้า" ปริศนาก็คือ "พระเจ้า" ที่ว่านี้คือใคร อยู่บนดิน หรือบนสวรรค์

จุดที่น่าสังเกตเช่นเดียวกันก็คือ ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายท่านได้นำเสนอบทวิเคราะห์ว่าการลงทุนของแกรมมี่ครั้งนี้จัดได้ว่าไม่น่าจะคุ้มค่าในทางการเงิน หากข้อสรุปนี้เป็นจริง ก็หมายความว่าวัตถุประสงค์อื่นๆ สำคัญกว่าผลกำไร

ไม่ว่าวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่ว่านั้นจะคืออะไรก็ตาม มันจะต้องรวมโอกาสแห่งการครอบงำทางความคิดของผู้บริโภคสื่อไว้ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

จากมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าระดับการลงทุนในสื่ออย่างหนังสือพิมพ์นั้น จัดได้ว่าค่อนข้างจะใช้เงินไม่มากนัก ทว่าอิทธิพลของหนังสือพิมพ์นั้นสามารถมีได้มากจนกระทั่งไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้

อิทธิพลดังกล่าวนี้อาจจะหมายถึงการเน้นเผยแพร่ "ความจริง" บางชนิด โดยละเลย "ความจริง" อีกบางชนิด จนกระทั่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า "ความจริง" ที่ครบถ้วนคืออะไร อันย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บางฝ่าย และความเสียหายแก่อีกบางฝ่ายได้

ฉะนั้น ส่วนสำคัญของ "ผลกำไร" ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการ "จงใจ" ใช้หนังสือพิมพ์เพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งนั้น อาจจะนำไปสู่ผลตอบแทนอันมหาศาล สักแต่ว่า ผลตอบแทนนั้นจะไม่ปรากฏในตัวเลขรายรับรายจ่ายของหนังสือพิมพ์อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ วิชาชีพหนังสือพิมพ์จึงต้องมีหลักการแห่งจริยธรรมทางวิชาชีพที่เข้มแข็งคอยกำกับอยู่อย่างชัดเจน ไม่ใช่ใครนึกจะทำอะไรก็ทำได้

ความที่ในระยะหลายๆ เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลตกเป็นฝ่ายรับเนื่องจากไม่สามารถให้คำตอบที่ดีเพียงพอแก่คำถามสำคัญๆ แก่สังคมได้ ฉะนั้น คำถามใหม่ว่าด้วย "สงครามตัวแทน" คงทำให้มติชนอยู่ในฐานะได้เปรียบ โดยจะมีพันธมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอน พันธมิตรสำคัญที่สุดของมติชนก็คือบรรดาหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการเข้ายึดครองกิจการหนังสือพิมพ์ในลักษณะก้าวร้าวแบบนี้ ไม่น่าจะมีนักหนังสือพิมพ์อาชีพคนใดมองเห็นข้อดีไปได้ เพราะลงท้ายแล้ว เสรีภาพในการเสาะแสวงหา และนำเสนอข่าวสารแก่สังคมจะต้องได้รับความเสียหายไม่มากก็น้อย

ในการประเมินครั้งสุดท้าย ความเสียหายน่าจะถือได้ว่ามากจนกระทั่งไม่สามารถรับได้ ทั้งนี้ ก็เพราะว่า "วัฒนธรรม" การทำงานของหนังสือพิมพ์ที่แข็งตัวแล้วอย่างมติชนนั้นจะเดินหน้าไปไม่ได้อย่างราบรื่นหากถูกเจ้าของทุนมาสร้างกฎเกณฑ์บังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกฎเกณฑ์นั้นคือการเน้นการนำเสนอ "ข่าวดี" เกี่ยวกับรัฐบาลที่หนังสือพิมพ์ไม่ไว้วางใจนักเช่นรัฐบาลปัจจุบัน

ยิ่งหากนายทุนคนใหม่เชื่อมั่นว่าตนเองเป็นผู้สามารถกำหนดไว้ว่าอะไรคือ "ความจริง" ด้วยแล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะนักหนังสือพิมพ์ขนานแท้ และดั้งเดิมนั้นเขาล้วนมีวัฒนธรรมองค์กรของเขา ซึ่งให้ความสำคัญแก่ประวัติและเกียรติภูมิของบุคคลต่างๆ ว่าเป็นใครมาจากไหน ไม่ใช่ว่าจะยอมรับใครง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มาตั้งตัวเป็นเจ้านาย

ดังที่คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการอำนวยการของมติชน กล่าวไว้ในแบบฉบับที่คงสะท้อนความรู้สึกของนักหนังสือพิมพ์ได้มากว่า "ผมคิดว่าคนที่ทำหนังสือพิมพ์ต้องมีจิตวิญญาณ และมีสำนึกสาธารณะ แค่มีเงินและไม่มีหัวนอนปลายเท้า จะมาทำหนังสือพิมพ์ไม่ได้"

ถึงแม้ว่าในแง่หนึ่ง การเข้ายึดครองมติชนแบบไม่เป็นมิตรอาจจะดูเหมือนว่าเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งของทุน ทว่าในวัฒนธรรมการเมืองไทย การดำเนินการแบบช่วงชิงอย่างก้าวร้าวเช่นนี้คงจะขัดกับความรู้สึกของคนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการอยู่ร่วมกันอย่างมีมิตรไมตรีนั้นยังเป็น "ค่านิยม" ที่สำคัญอยู่ ไม่ใช่อะไรที่สามารถกระทำง่ายๆ ได้เพียงเพราะว่าฝ่ายหนึ่งมีเงินมากกว่าที่จะกระทำได้ เพราะอะไรที่กระทำได้กับอะไรที่ควรกระทำนั้นเป็นคนละอย่างกัน

เนื่องจากค่านิยมดังกล่าวนี้ ผลกระทบในทางลบต่อแกรมมี่น่าจะมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแกรมมี่มีภาพลักษณ์ออกไปในทางทำธุรกิจเพื่อผลกำไรเป็นสำคัญ ในขณะที่คู่กรณีอย่างมติชนนั้นมีเกียรติประวัติด้านการสร้างและรักษาสาธารณประโยชน์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน

ปัจจัยด้านบริบทที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ความเชื่อที่ลงตัวในสังคมไทยพอสมควรแล้วที่ว่า "เสรีภาพของหนังสือพิมพ์คือเสรีภาพของประชาชน" ดังนั้น การที่เจ้าของทุนเอกชนที่มีกิตติศัพท์ว่ามีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับฝ่ายรัฐบาลอย่างแกรมมี่ ได้พยายามเข้าไปยึดครองกิจการโดยวิธีการที่ไม่เป็นมิตร จึงจะได้รับการตีความเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเข้าไปเพื่อควบคุมทิศทางของข่าวเพื่อก่อให้เกิด "ข่าวดี" กับรัฐบาลมากขึ้น

ในเงื่อนไขที่ว่าค่ายมติชนมีประวัติในการนำเสนอ "ข่าวร้าย" ต่างๆ ที่เปิดเผยความจริงสำคัญๆ เกี่ยวกับรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาพของแกรมมี่จึงจะออกมาในทางลบมากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ก็เพราะคนไทยยุคปัจจุบันไม่ได้กินแกลบ สามารถแยกแยะได้เป็นอย่างดีว่าอะไรเป็นจริงอะไรเป็นเท็จ ที่สำคัญ เขาต้องการทั้ง "ข่าวดี" และ "ข่าวร้าย" เพื่อเป็นหลักในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้ได้ดีที่สุดว่าควรจะทำอะไรอย่างไรหรือไม่เพียงใด

พูดสั้นๆ ด้วยเหตุผลด้านบริบทที่กล่าวแล้วข้างต้น โอกาสที่แกรมมี่จะบรรลุถึงเป้าหมายของตนในกรณีของมติชนน่าจะประสบกับอุปสรรคหลายขั้นตอน หรือแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในแง่ของจำนวนหุ้นที่ถือครองได้มากกว่าทั้งในปัจจุบันและอนาคต อุปสรรคอื่นๆ ก็จะตามมาอีกได้อย่างไม่รู้จบ เพราะหนังสือพิมพ์อย่างมติชนนั้นคงจะไม่ใช่เป็นอะไรที่เสมือนอีกค่ายเพลงหนึ่งที่แกรมมี่อาจจะเข้าไปยึดครองได้โดยไม่ยากนักเท่านั้น

ทว่ามติชนเป็นสถาบันที่มีพัฒนาการย้อนหลังไปไกลเกือบสามทศวรรษ ประสบการณ์อันเข้มข้นของมติชนในการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยนั้น ทำให้มติชนมีความภาคภูมิในเกียรติภูมิที่ตนสะสมไว้มาก มติชนจึงไม่สามารถจะปล่อยให้บ้านของตนโดนยึดครองง่ายๆ

และหากมติชนตัดสินใจสู้จนนาทีสุดท้าย พันธมิตรของมติชนในวงการหนังสือพิมพ์ก็ย่อมไม่มีทางเลือก จำเป็นจะต้องออกมาให้ความช่วยเหลือจนนาทีสุดท้ายเหมือนกัน บางทีนี่อาจจะแปรสภาพเป็น "จุดหักเห" ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทยก็ได้

หากเป็นเช่นนั้นจริง มันก็อาจจะเป็น "จุดหักเห" สำหรับการเมืองไทยด้วยก็ได้ เพราะในวัฒนธรรมการเมืองไทยสมัยใหม่นั้น (หลังยุคสงครามเวียดนามเป็นต้นมา) หนังสือพิมพ์กับการเมืองเปรียบเสมือนลิ้นกับฟัน หากลิ้นกับฟันเกิดไม่เคารพหน้าที่ของกันและกันขึ้นมาเมื่อใดละก็มักจะยุ่งกันใหญ่เมื่อนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น