ในยามที่เข้าสู่ปฐมฌานนั้นจิตจะมีลักษณะหรือทำหน้าที่อยู่สามประการ คือ การทำหน้าที่เป็นสติตั้งมั่นมีอารมณ์หนึ่งเดียวประการหนึ่ง ทำหน้าที่กำหนดอารมณ์และอ่านอารมณ์ประการหนึ่ง และทำหน้าที่เสวยอารมณ์อันได้แก่ปิติและสุขอีกประการหนึ่ง
ในภาวะนั้นอุปสรรคขัดขวางอย่างหยาบในขั้นที่หนึ่งได้ถูกขจัดไปแล้ว กามและอกุศลธรรมได้สงบสงัดลงด้วยอำนาจกำลังและความสงบของจิต ในขณะที่กิเลสหลักคือโลภะ โทสะ โมหะ ก็สงบสงัดลงตามไปด้วย แต่ยังไม่ถูกขุดรากถอนโคน การขุดรากถอนโคนกาม อกุศลธรรม และกิเลสหลักที่เปรียบดั่งฝุ่นตะกอนและโคลนก้นโอ่งยังต้องดำเนินไปในท่ามกลางการฝึกฝนอบรมและพัฒนาจิตจนกว่าจะถึงที่สุด ที่ทำให้สิ่งเหล่านี้หมดสิ้นไป ไม่กำเริบได้อีก
กระบวนการฝึกฝนอบรมจิตนับแต่ปฐมฌานไปจึงเป็นกระบวนการเพื่อขุดรากถอนโคนกาม อกุศลธรรม และโลภะ โทสะ โมหะ นั่นเอง โดยมีความตั้งมั่น ความบริสุทธิ์ ความแกล้วกล้า ความสงบนิ่ง และปัญญาเห็นความจริงตามความเป็นจริงเข้ามาทดแทนโดยลำดับไป จนถึงความหลุดพ้นสิ้นเชิง หรือถึงแดนแห่งวิมุตตะมิตินั่นเอง
การทำหน้าที่ของจิตในฐานะที่เป็นสติตั้งมั่นมีอารมณ์หนึ่งเดียว และการทำหน้าที่กำหนดและอ่านอารมณ์ ได้แก่วิตกและวิจารได้พรรณนาถึงกระบวนการฝึกฝนอบรมมาแล้ว เพียงพอแก่การแล้ว จึงไม่กล่าวซ้ำอีก ดังนั้นจึงคงกล่าวเฉพาะเรื่องปิติและสุข รวมทั้งการละวิตก วิจาร การกำจัดปิติและสุขเพื่อยกระดับภูมิธรรมของจิตให้สูงขึ้นเป็นลำดับ ๆ ไป
ปิติเป็นความอิ่มเอิบร่าเริงฉ่ำเย็นที่เกิดกับจิต มีแหล่งเกิดหรือมีปัจจัยที่ทำให้เกิดปิติ 6 อย่างตามลำดับหยาบไปถึงประณีตคือ
อย่างแรก เมื่อเกิดความสมใจอยาก สมใจชอบ สมใจปรารถนา สมใจหวังแล้วก็เกิดปิติ ปิติอย่างนี้เรียกว่าปิติที่เกิดจากราคะ
อย่างที่สอง เมื่อได้พบเห็น สัมผัสด้วยประการใดๆ กับผู้ที่มีความศรัทธาเชื่อมั่น ก็เกิดปิติขึ้น มีความอิ่มอกอิ่มใจ ร่าเริง เบิกบาน ปิติอย่างนี้เรียกว่าปิติที่เกิดจากศรัทธา
อย่างที่สาม เมื่อคนหรือสิ่งอันเป็นที่หวังที่ผูกพันมีอันเป็นไปหรือกระทำการใดตามที่ตั้งความหวังความประสงค์หรือประสบความสำเร็จอันเป็นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองก็เกิดปิติยินดี ปิติอย่างนี้เรียกว่าปิติที่เกิดจากความไม่ดื้อด้าน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือปิติที่เกิดจากความยินดี
อย่างที่สี่ ปิติที่เป็นความรู้สึกอิ่มใจ ร่าเริงใจ โปร่งว่างในใจในขณะที่เข้าปฐมฌาน ปิติอย่างนี้เรียกว่าปิติที่เกิดจากวิเวก
อย่างที่ห้า ปิติที่เป็นความเบิกบานผ่องใส ร่าเริงใจอย่างโล่งและประณีต ปิติอย่างนี้เรียกว่าปิติที่เกิดจากสมาธิ เป็นปิติที่เกิดขึ้นในการเข้าทุติยฌาน
อย่างที่หก ปิติที่มีลักษณะฉ่ำเย็น โล่งสว่าง ร่าเริงอย่างละเอียดอ่อนประณีตถึงที่สุด ปิติอย่างนี้เรียกว่าปิติที่เกิดจากสัมโพชฌงค์คือปิติสัมโพชฌงค์
ลักษณะความอ่อนไหวนุ่มนวลรุนแรงหรือแรงกระเพื่อมที่เกิดกับจิตของปิตินั้นมีอยู่ 5 ลักษณะ คือ ลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างบางเบาอย่างหนึ่ง ลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นชั่วขณะ ๆ อย่างหนึ่ง ลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นระลอก ๆ เหมือนคลื่นในทะเลอย่างหนึ่ง ลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงรุนแรงอย่างหนึ่ง และลักษณะที่เกิดแบบซาบซ่านไปทั่วทั้งกายใจอีกอย่างหนึ่ง
ปิติที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ และที่มีลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งรบกวนกลุ้มรุมจิต ทำให้จิตมีความติดยึดลุ่มหลง จัดเป็นอุปสรรคอย่างละเอียดอ่อนที่ขวางกั้นการยกระดับภูมิธรรมของจิตให้สูงขึ้นไป และยังมีความเกื้อกูลอย่างประณีตในการทำให้กาม อกุศลธรรม และกิเลสหลักดำรงอยู่ ดังนั้นนับแต่ขั้นปฐมฌานเป็นต้นไปจึงต้องกำจัดปิติเป็นลำดับเป็นขั้นตอนต่อไป
สุขก็เช่นเดียวกัน มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข 5 ประการคือ สุขที่เกิดจากการกระทำความดีหรือการทำการกุศล สุขที่เกิดจากความดีหรืออานิสงส์ที่ผู้อื่นกระทำให้ สุขที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาจิตใจไม่ว่าในระดับปฐมฌาน ทุติยฌาน ที่ได้ขจัดอุปกิเลสและกิเลสเป็นลำดับไปแล้ว ซึ่งเรียกสุขชนิดนี้ว่าวิเวกสุข สุขที่อยู่ตรงกันข้ามกับภาวะที่จิตหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสสิ้นเชิงแล้ว คือสุขที่เกิดจากนิพพาน ดังที่มีมาในพระบาลีว่านิพพานัง ปรมังสุขขัง และสุขที่เกิดจากการเสวยอารมณ์ที่เรียกว่าสุขวิหาร
ความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างปิติและสุขก็คือ ปิติทำให้จิตมีความร่าเริง เกิดขึ้นจากความตั้งมั่นแห่งจิต เป็นธรรมชาติอย่างหยาบและจัดอยู่ในจำพวกสังขารขันธ์ ส่วนสุขทำให้จิตมีความสบายฉ่ำเย็น เกิดจากความสงบของจิต เป็นธรรมชาติที่ละเอียด จัดอยู่ในเวทนาขันธ์ ดังนั้นเมื่อเกิดปิติขึ้นแล้วก็ย่อมเกิดสุขตามมาด้วย แต่ในภาวะที่จิตเป็นสุขนั้นอาจจะไม่มีปิติก็ได้ เพราะเมื่อได้ละปิติแล้วภาวะที่เรียกว่าสุขก็จะสุขุม ประณีต ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น
ทั้งปิติและสุขจึงคงเป็นสิ่งที่รบกวนจิตและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาจิตไม่ให้ถึงซึ่งวิมุตติมิติ ดังนั้นทั้งปิติและสุขจึงเป็นเรื่องที่ต้องขจัดเป็นลำดับไป ยกเว้นก็แต่สุขสองชนิดเท่านั้นคือสุขที่เป็นภาวะที่ดับทุกข์สิ้นเชิงแล้วคือสุขเกิดจากนิพพาน และการเสวยสุขที่เกิดจากนิพพานนั้นเท่านั้น
ในท่ามกลางกระบวนการขจัดปิติและสุข ความตั้งมั่นของจิต ความบริสุทธิ์ของจิตและความแกล้วกล้าเข้มแข็งของจิต ตลอดจนพลังของจิตก็จะเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับไป ข่มอำนาจแห่งกามและกุศลธรรมหนักหน่วงเป็นลำดับไปจนสิ้นสลายในที่สุด ในขณะที่ปัญญาก็ได้พัฒนาก่อตัวเป็นลำดับตามไปด้วย และในที่สุดกำลังและปัญญาจะขจัดกิเลสและตัณหาซึ่งเป็นต้นตอของกิเลสให้ดับสูญ เป็นอันหลุดพ้นจากกิเลสและ อาสวะทั้งหลาย
ในภาวะที่จิตเข้าสู่ปฐมฌานนี้อาจจัดกระบวนการพัฒนาจิตเป็นสามขั้นตอน คือเบื้องต้นของปฐมฌาน กลางของปฐมฌาน และที่สุดแห่งปฐมฌาน ซึ่งการฝึกฝนอบรมและเพ่งพิจารณาของจิตทำให้จิตมีความตั้งมั่น มีความบริสุทธิ์ และมีกำลังแกล้วกล้าเกิดขึ้นอย่างอ่อน อย่างกลาง และอย่างเข้ม ตามลำดับทั้งสามขั้นตอนเช่นเดียวกัน
ในขณะที่เข้าถึงปฐมฌานนั้นองค์ทั้งห้าได้แก่วิตก วิจาร ปิติ สุข โดยมีเอกคตารมณ์เป็นหลักได้บังเกิดขึ้นพร้อมกัน บริบูรณ์พร้อมกัน แต่การที่จิตยังคงวุ่นวายอยู่กับการพิจารณาอ่านตรึกอารมณ์คือยังทำหน้าที่วิตก วิจาร อยู่นั้น จิตก็ยังคงต้องมีความวุ่นวาย เหนื่อยล้า และไม่อาจสงบตั้งมั่นถึงที่สุดได้ ดังนั้นปฐมฌานซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการเข้าสู่ทุติยฌานจึงต้องทำให้จิตปลอดจากความวุ่นวาย เหนื่อยล้า และมีความสงบตั้งมั่นมากขึ้นเสียก่อน นั่นคือจะต้องขจัดวิตกและวิจารเสียก่อน
เมื่อขจัดวิตก วิจารได้แล้วจิตก็จะเข้าสู่ทุติยฌาน ดังที่พระตถาคตเจ้าได้ตรัสว่า วิตักกะวิจารานัง วูปะสะมา อัชฌัดตัง สัมปะสาทะนัง เจตะโส เอโกทิพาวัง อะวิตักกัง อะวิชารัง สมาธิฌัง ปิติสุขขัง ทุติยัง ฌานัง อุปสัมปัชชะ วิหะรัตติ ซึ่งแปลว่าเมื่อระงับวิตก วิจารแล้วจึงเข้าสู่ทุติยฌาน จิตมีความผ่องใสในภายใน เด่นเป็นดวงเดียว ไม่มีวิตก วิจาร มีแต่ปิติและสุขที่เกิดจากสมาธิอยู่
การฝึกฝนอบรมจิตในขณะบรรลุถึงปฐมฌานแล้ว เพื่อยกระดับฌานขึ้นสู่ทุติยฌานจึงเป็นการละวางหน้าที่อ่านอารมณ์ของจิตคือสละละวางวิตกและวิจารให้เด็ดขาดสิ้นเชิง จิตจะทำหน้าที่ที่เหลือสองอย่างคือความตั้งมั่นในอารมณ์เดียวหรือเอกคตารมณ์ และหน้าที่ในการเสวยอารมณ์คือปิติและสุขเท่านั้น
ในกระบวนการเคลื่อนตัวพัฒนาไปนั้นจิตก็จะอยู่ในอัปปนาสมาธิที่แน่วแน่มากขึ้น กำลังฌานแห่งปฐมฌานที่เริ่มต้นขึ้นอย่างบางเบาก็จะพัฒนาไปสู่ขั้นกลางและเข้มข้นถึงที่สุดของระดับปฐมฌาน ในขณะที่กาม อกุศลธรรม โลภะ โทสะ โมหะก็จะถูกบดข่มแน่นหนาขึ้น จนมีความสงบรำงับมากขึ้น
สัมผัสของจิตจากการเสวยปิติและสุขเป็นสัมผัสใหม่ที่เกิดขึ้นจากปฐมฌาน เป็นความดื่มด่ำในความสงบแห่งวิเวกของกายและจิต จิตจะค่อย ๆ ผละหรือละความสนใจจากวิตกและวิจาร ไปมุ่งสนใจพิจารณาและเสวยอารมณ์ที่เป็นปิติและสุขนั้นมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ ๆ ไป
ยิ่งเสวยปิติและสุขมากขึ้น เพ่งพิจารณาอารมณ์ปิติและสุขด้วยกำลังอำนาจสมาธิที่สูงขึ้น การเสวยอารมณ์ก็ยิ่งประณีตละเอียดอ่อนมากขึ้น จิตก็จะละออกจากหน้าที่การอ่านอารมณ์คือวิตกและวิจารได้อย่างสิ้นเชิง แล้วรวมศูนย์กำลังอำนาจสมาธิในการเสวยอารมณ์ปิติและสุขอยู่เท่านั้น
จิตก็จะค่อย ๆ ละถอนออกจากวิตกและวิจารเป็นลำดับ ๆ ไป จนกระทั่งละถอนทิ้งวิตก วิจาร คือจิตหยุดหรือเลิกการทำหน้าที่ในการอ่านตรึกอารมณ์ที่เกิดจากนิมิตแห่งกัมมัฏฐานวิธีต่าง ๆ แล้วเพ่งพิจารณารวมอยู่ที่อารมณ์ที่เสวยปิติและสุขอยู่เท่านั้น ในภาวะเช่นนั้นปิติและสุขที่หยาบก็จะแปรสภาพเป็นปิติและสุขที่ประณีต เพราะเป็นปิติและสุขที่เกิดแต่สมาธิแล้ว
ภาวะที่จิตละวางหรือขจัดวิตกและวิจารได้อย่างสนิทสิ้นเชิง เพ่งพิจารณาและเสวยอยู่ที่ปิติและสุขในอัปปนาสมาธิ และทำให้ปิติและสุขกลายเป็นปิติและสุขที่เกิดจากสมาธิเช่นนี้จะทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น มีความผ่องใสเด่นจรัสแจ่มจ้ามากขึ้น ณ ยามนั้นจิตก็จะยกระดับจากปฐมฌานเข้าสู่ทุติยฌาน
นั่นคือเป็นภาวะที่จิตได้ขจัดหรือระงับวิตก วิจารแล้ว ปิติและสุขที่เกิดจากวิเวกในขั้นปฐมฌานได้ยกระดับละเอียดประณีตขึ้นเป็นปิติและสุขที่เกิดจากสมาธิแล้ว จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว เจิดจรัสผ่องใสแจ่มจ้าอยู่ภายใน ภาวะนี้นี่แหละคือภาวะที่จิตได้เข้าสู่ทุติยฌานแล้ว
ในภาวะเช่นนั้นกำลังศรัทธา กำลังความเพียรไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่น สมาธิที่แน่วแน่มั่นคง และปัญญาที่เห็นอุปสรรคเห็นโทษของวิตกและวิจารมีความแจ่มแจ้ง เห็นถึงคุณของการที่จิตไม่ต้องวุ่นวายเหนื่อยล้าจากการทำหน้าที่วิตกและวิจาร กระทั่งเห็นถึงภาวะที่สรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป นั่นคือนามกายก็ได้พัฒนาก่อตัวเข้มแข็งมีพลังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ภาวะที่นามกายเข้มแข็งขึ้นในขั้นยกระดับจากปฐมฌานสู่ทุติยฌานนั้น นามกายหรือนัยหนึ่งก็คือกายของจิตก็จะมีความแก่กล้าขึ้น อุปมาเหมือนดั่งปูที่เข้าสู่ระยะเตรียมการลอกคราบ นั่นคือส่วนกระดองคือร่างกายกับส่วนที่เป็นเนื้อตัวของปูเริ่มจะจำแนกแยกเป็นสองส่วนได้ชัดขึ้นโดยลำดับ ในภาวะนั้นแม้ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของร่างกายจะอยู่ในภาวะสงบนิ่ง แต่ตา หู จมูก ลิ้น กายของจิตได้ก่อตัวเป็นอีกกายหนึ่งชัดเจนขึ้นแล้ว หรือเรียกว่าอยู่ในระยะเตรียมลอกคราบแล้ว ขีดความสามารถในการเห็น ในการได้ยิน ในการรู้รส ในการสัมผัส และรับรู้ความรู้สึกทั้งหลายของนามกายจะค่อย ๆ มีสมรรถนะและขีดความสามารถที่สูงขึ้นเป็นลำดับไปด้วย
ภาวะที่จิตอยู่ในปฐมฌานและเพ่งพิจารณาขจัดละวิตก วิจาร แปรเปลี่ยนปิติและสุขที่เกิดจากวิเวก เป็นปิติและสุขที่เกิดจากสมาธิ ในขณะที่อัปปนาสมาธิก็แน่วแน่หนักแน่นมากขึ้น และนามกายก่อตัวเข้มแข็งมากขึ้นนั้น เป็นภาวะที่เรียกว่าจิตอยู่ในฌานและเจริญฌาน
การเผาผลาญพลังงานทางกายภาพจะลดน้อยลงโดยลำดับ ลมหายใจเข้าออกจะแผ่วเบาไปโดยลำดับ ละเอียดประณีตขึ้นเป็นลำดับ สติตั้งมั่นขึ้นเป็นลำดับ การกำหนดอารมณ์ที่เพ่งพิจารณาและเสวยอยู่กับปิติและสุขเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ความเพียรเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปิติและสุขก็ประณีตมากขึ้นโดยลำดับ สมาธิก็จะแน่วแน่มากขึ้นโดยลำดับ นั่นก็คือองค์แห่งโพชฌงค์ก็ได้ก่อตัวเกิดขึ้นและพัฒนาไปโดยลำดับเช่นเดียวกัน คงเหลือก็แต่การสลัดละวางอารมณ์ความรู้สึกและกิเลสอาสวะทั้งปวง และความวางเฉยหรือความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์เท่านั้นที่ยังไม่ปรากฏขึ้น
ภาวะเช่นนั้นการเจริญฌานก็จะก้าวรุดหน้าไปเป็นลำดับ ๆ