xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกม็อบต้านแปรรูป กฟผ.จองหุ้นคึกคัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวกฟผ.ดี้ด๊าเตรียมจองหุ้นราคาพาร์เก็งกำไรหลังถอดใจต้านแปรรูปไม่สำเร็จ ด้าน 50 องค์กรพันธมิตร มุ่งมั่นเดินหน้ารณรงค์คัดค้าน 15 ก.ย.นี้ ลุยสีลมหยั่งกระแสก่อนม็อบใหญ่ ปลุกคนไทยตื่นเผชิญความจริง “ทักษิณ”หักหลังคนทั้งชาติ ลืมคำมั่นไม่แปรรูปหลังใช้หนี้ไอเอ็มเอฟหมด ฝ่ายค้าน ขอให้รัฐฯชะลอนำกฟผ.เข้าตลาดหุ้น เอ็นจีโอติงโครงสร้างระบบไฟฟ้ารวมศูนย์ผูกขาด ปั่นตัวเลขความต้องการใช้ไฟพุ่งไม่หยุด ทุ่มลงทุนสูงเกินจริง เอื้อ ปตท.-กฟผ.รวมหัวกินรวบ สร้างปัญหาให้ประชาชนรับเคราะห์ค่าไฟแพง

การนำบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน)เข้าตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งใกล้เข้ามา บรรยากาศภายในการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)ยิ่งคึกคัก พนักงาน กฟผ.ซึ่งเคยคัดค้านการแปรรูปหัวชนฝา เวลานี้ต่างเตรียมทุนรอนซื้อหุ้นราคาพาร์เก็งกำไรเกือบถ้วนทั่ว จะมีเพียงส่วนน้อยที่ปฏิเสธไม่ขอรับหุ้น หรือผลประโยชน์ใดๆ

พนักงานของ กฟผ.รายหนึ่ง กล่าวยอมรับว่า เคยเป็นหนึ่งในพนักงานผู้ต่อต้านการแปรรูป แต่วันนี้ต้องถอดใจเพราะถูกสกัดจากทั้งผู้บริหารกฟผ.และรัฐบาลไร้หนทางที่จะต่อสู้ตามลำพังได้ ส่วนการซื้อหุ้นนั้นก็จะมีพนักงานบางคนเลือกไม่รับหุ้นแต่ส่วนใหญ่ คือมากกว่า 2.3 หมื่นคน ก็เลือกที่จะรับเพราะเป็นผลประโยชน์ที่ควรจะได้ เหมือนกับคนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่ได้เช่นกัน โดยยอมรับว่าพนักงานส่วนใหญ่เลือกซื้อหุ้นในราคาพาร์ (10 บาท)

"พนักงานปตท.ก็ได้ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ อ.ส.ม.ท.ก็ได้ ถ้ารัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่แปรไปแล้วไม่ได้ แต่เราได้นี่สิแปลก สังคมควรยุติธรรมด้วย คนกฟผ.พอต่อต้านก็ว่า พอไม่ต่อต้านก็ว่า " พนักงาน กฟผ.กล่าว

ตามมติครม.กำหนดให้กฟผ.เพิ่มทุนจดทะเบียน 2 หมื่นล้านบาท จากทุนเดิม 6 หมื่นล้านบาท โดยให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 2,000 ล้านหุ้น จัดสรรให้พนักงาน กฟผ. 460 ล้านหุ้น ในราคาพาร์ 10 บาทต่อหุ้น ส่วนที่เหลือเสนอขายให้ประชาชนทั่วไป โดยมี 2 ทางเลือกให้คนกฟผ.เลือก คือ 1 เป็นการให้หุ้นเปล่าหรือให้ฟรี ส่วนทางเลือกที่ 2 ให้พนักงานซื้อหุ้นในราคาพาร์(10 บาท) ซึ่งทั้ง 2 ทางเลือกพนักงานจะได้ประโยชน์เท่ากัน คือ จะได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 8 เท่าของเงินเดือน

*** 50 องค์กรมุ่งมั่นค้านถึงที่สุด

ทางด้าน น.พ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย เปิดเผยว่า วันที่ 15 ก.ย.นี้ เครือข่ายพันธมิตรกว่า 50 องค์กร จะเปิดปราศรัยรณรงค์และแจกเอกสารคัดค้านการนำบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) เข้าตลาดหุ้น และเดินสายไปยัง 4 มุมเมืองเพื่อหยั่งกระแสก่อนตัดสินใจเคลื่อนไหวใหญ่

สำหรับเนื้อหาสำคัญที่ต้องการสื่อให้ประชาชนรับทราบคือ หากนำ กฟผ.เข้าตลาดฯ คนไทยจะเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดตอบแทนผู้ถือหุ้น แม้จะมีเอกชนเข้ามาถือหุ้นเพียง 25% แต่ผลประโยชน์ส่วนนี้ควรเป็นของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีกลไกดูแลตรวจสอบ รัฐฯ ไม่สามารถดูแลไม่ให้ค่าไฟปรับขึ้นหรือตรึงราคาเหมือนอดีต ซึ่งผลกระทบมหาศาลขนาดนี้รัฐฯ ควรให้คนไทยทั้งชาติลงประชามติ

“รัฐบาลเคยประกาศผ่านสื่อทั้งไทยและเทศว่า เมื่อใช้หนี้ไอเอ็มเอฟหมดก็ไม่จำเป็นต้องแปรรูป กฟผ.พร้อมจะยกเลิกพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และจะยกร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจขึ้นมาแทน เพื่อจัดรูปแบบรัฐวิสาหกิจที่จำเป็นที่รัฐจะถือหุ้นไว้ 100% ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น วันนี้จึงถือว่า นายกฯผิดสัญญา และหักหลังคนไทยทั้งประเทศที่ได้นำกฟผ.ไปแปรรูป ” น.พ.เหวง กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลยังผิดสัญญาเมื่อคราวแปรรูป ปตท.ที่จะแยกท่อส่งก๊าซฯ แต่ทำตรงกันข้ามกลับสร้างท่อเส้นที่ 3 พร้อมประกันการทำกำไรของปตท.สูงถึง 16 % การลงทุนท่อเส้นดังกล่าวแล้วผลักภาระราคาก๊าซที่สูงขึ้นมายังกฟผ.และให้คนไทยทั้งหมดร่วมรับภาระค่าไฟแพง การแปรรูป กฟผ. ที่จะแยกสายส่ง และเขื่อน จะมั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลจะดูแลได้ตามสัญญา ทั้งนี้ตนจะยื่นหนังสือไปยังสถานฑูตประเทศที่ไทยจะไปโรดโชว์ เพื่อให้รู้ว่าคนไทยไม่เห็นด้วยกับการขายหุ้น

*** ฝ่ายค้านจี้ทบทวนค่าเอฟทีใหม่

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงหลังการประชุมว่า การนำกฟผ. เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนพ.ย.นี้ และจะปรับสูตรค่าไฟฟ้า (ค่าเอฟที) ฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่า การขึ้นค่าเอฟทีไม่เป็นธรรมและมีผลกระทบต่อผู้บริโภคมาก เนื่องจากวันนี้ประชาชนประสบปัญหาราคาสินค้าและราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ดังนั้น การจะขึ้นค่าเอฟทีถือเป็นการผลักภาระให้ประชาชน มีข้อสังเกตว่า การขึ้นค่าเอฟทีเป็นการเพิ่มกำไรเพื่อลดความเสี่ยงของ กฟผ. เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปก่อน ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ทบทวนการขึ้นค่าเอฟที ฝ่ายค้านจะยื่นเป็นกระทู้ถามสดรัฐบาลในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 ก.ย.นี้

*** กฟผ.ขยายลงทุนสูงเกินจริง

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูธรรมชาติฯ อดีตสมาชิกที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ กลุ่มศึกษาด้านพลังงาน กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนขายหุ้น กฟผ. ที่เผยแพร่ผ่านทางทางเวปไซต์ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ในเบื้องต้นพบว่า การวางแผนลงทุนของกฟผ.ตามแผนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (พีดีพี 2004 ระหว่างปี 47-59) สูงเกินจริง เนื่องจากยึดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 6.5 % ซึ่งผิดไปมากจากตัวเลขการเติบโตฯ จริงที่เฉลี่ย 3-4 % เท่านั้น และการลงทุนเกินจริงนี้จะถูกผลักภาระมายังผู้ใช้ไฟในที่สุด

ทั้งนี้เพราะหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าไฟ จะกระทำในลักษณะที่ให้หลักประกันว่า กฟผ.จะมีรายได้เพียงพอต่อการขยายระบบตามแผนลงทุน นั่นคือ รายได้ของกฟผ. หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะต้องไม่ต่ำกว่า 25% ของงบลงทุน (Self – financeing ratio ไม่ต่ำกว่า 25%) ยิ่งงบลงทุนสูง ส่วนของ 25% ของงบลงทุนที่ถูกนำมารวมเป็นต้นทุนอยู่ในค่าไฟฟ้าก็จะสูงตามไปด้วย

"ต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์การกำหนดค่าฟ้าและค่าผ่านท่อก๊าซฯ จากที่ยึดถือผลตอบแทนการลงทุนหรือกำหนดกำไรจากการขยายระบบและชำระหนี้เป็นหลัก มาเป็นระบบที่อิงต้นทุนและประสิทธิภาพการดำเนินงานแทน"เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูฯ กล่าว

นายวิฑูรย์ ชี้ว่า ที่ผ่านมาวงจรการพยากรณ์ การวางแผนลงทุนและการกำหนดค่าไฟในระบบผูกขาด รวมศูนย์ และขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและอิสระ ก่อให้เกิดการขยายการลงทุนอย่างไม่สิ้นสุดและกลายเป็นภาระต้นทุนจากการลงทุนที่เกินความจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อคราวที่นายกรัฐมนตรี ไปเยี่ยม กฟผ.เมื่อเดือนมี.ค.46 ก็ยอมรับว่า ภาระต้นทุนจากการลงทุนเกินจำเป็นคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 400,000 ล้านบาท แต่สิ่งนี้กลับไม่ได้นำมาศึกษาเป็นบทเรียน

*** โครงสร้างรวมศูนย์ ผูกขาด ตัวปัญหา

นายวิฑูรย์ ยังวิเคราะห์ว่า โครงสร้างระบบไฟฟ้าตั้งแต่ "ต้นน้ำ"จนถึง "ปลายน้ำ"ที่มีก๊าซเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสำคัญ มีลักษณะเป็นธุรกิจผูกขาด และรวมศูนย์ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก โดย ปตท.และ กฟผ. มีการตั้งบริษัทลูกผูกขาดกันเป็นทอดๆ และแต่ละบริษัทก็ล้วนต้องทำกำไรทั้งสิ้น กรณีของก๊าซฯ นั้นหากปลดล็อกมิให้มีการผูกขาดธุรกิจท่อส่งก๊าซ สามารถเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้ามาใช้ท่อโดยจ่ายค่าผ่านท่อแทน จะทำให้กำไรของบริษัทท่อส่งก๊าซลดลง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่รวมค่าผ่านท่อจะลดลง ประชาชนก็จะจ่ายค่าไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย

"สิทธิในการผูกขาดเหล่านี้ทำให้ทิศทางอนาคตธุรกิจไฟฟ้ายึดเอาผลประโยชน์ของ ปตท.และกฟผ. เป็นตัวตั้ง และจะทำให้การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้ายากขึ้นและประชาชนจะแบกรับภาระมากยิ่งขึ้น" นายวิฑูรย์ กล่ว

นายวิฑูรย์ ยังชี้สาเหตุที่ทำให้ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้นและส่งผ่านมายังค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นว่า นอกเหนือจากราคาก๊าซที่ผกผันตามราคาน้ำมันแล้ว ยังเป็นเพราะต้นทุนเชื้อเพลิงคือ ก๊าซที่กฟผ.ซื้อจากปตท. มีการเกลี่ยราคาค่าก๊าซจากแหล่งก๊าซอ่าวไทย ซึ่งถูกกว่าและก๊าซจากพม่าที่แพงกว่าให้เป็นราคาเดียว เพื่อให้ราคาจากพม่าเป็นที่ยอมรับได้ ทำให้โรงไฟฟ้าทั้งของ กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) มีต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้นไปจากความเป็นจริง และส่งผ่านต้นทุนเหล่านั้นมายังค่าไฟให้ประชาชนทั้งประเทศจ่าย ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วก๊าซจากพม่า (แหล่งยานาดา,เยตากุน)จะป้อนให้กับโรงไฟฟ้าราชบุรี เป็นหลักเท่านั้น

"นี่ยังไม่รวมค่าผ่านท่อในอนาคตที่จะแพงขึ้นจากการเกลี่ยราคาค่าผ่านท่อเส้นที่ 1 และ 2 รวมถึง เส้นที่ 3 และแหล่งก๊าซใหม่ที่มีราคาสูงขึ้น ทั้งหมดจะถูกผลักภาระมายังค่าไฟทั้งสิ้น"นายวิฑูรย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น