xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสัมพันธภาพไทย-อินเดีย:ช่องทางธุรกิจมีมาก

เผยแพร่:   โดย: พิชิต เดชนีรนาท

อินเดียมีความสัมพันธ์กับไทยมานานทั้งในด้านศาสนา วัฒนธรรม สังคม แต่ด้านเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมายังถือว่ามีน้อย ทั้งที่อยู่ไม่ไกลกันมาก อาจเนื่องมาจากความไม่รู้จักกันมากเท่าที่ควร จนกระทั่งทั้งสองประเทศได้เปิดการค้าเสรีขึ้นซึ่งจะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการขยายตัวทางด้านการค้าการลงทุนในอนาคต การมีโอกาสเข้าไปสำรวจประเทศอินเดียก็พบว่ายังมีหลายสาขาธุรกิจที่เปิดช่องให้สามารถร่วมมือกันได้

อินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก การเติบโตในอัตราร้อยละ 7 ประชากรมีกว่าพันล้านคน การเมืองมีเสถียรภาพ มีการสนับสนุนเอกชนให้มีส่วนในการลงทุน ต่างชาติสามารถลงทุนได้100%ในอุตสาหกรรมการผลิตและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอินเดียเป็นแหล่งที่น่าสนใจในการลงทุนอันดับ 3 ของโลก

ด้านความสัมพันธ์กับไทย เมื่อกันยายน 2547 อินเดียเปิดการค้าเสรี(FTA)กับไทย ทำให้เสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ในปี 2547 มีการค้าอินเดีย-ไทยประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ

การสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าเป็นกลยุทธ์สำคัญของการสร้างยอดขายในอินเดีย การมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และยึดถือความพอใจของลูกค้าเป็นอันดับแรก จะช่วยให้ธรุกิจประสบความสำเร็จ

อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากในอินเดีย ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน แปรรูปอาหาร มีนักธุรกิจไทยร่วมลงทุนกับนักธุรกิจอินเดียผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รถบรรทุกขนาดเล็ก สาขาความร่วมมืออื่น ๆ ระหว่างไทย-อินเดียที่น่าสนใจได้แก่ IT, Software, ยาและเวชภัณฑ์ แพทย์ทางเลือก สุขภาพบำบัด เส้นใย การตัดเย็บเสื้อผ้า

การแปรรูปอาหาร เช่น ขนมปังกรอบ(biscuit) การผลิตน้ำผลไม้ อาหารว่าง เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ตลาดขนมปังในอินเดียยังขยายตัวได้อีกปีละ 10% ในขณะที่น้ำส้มขยายตัวปีละ 50 % โดยนักลงทุนอินเดียมีความสนใจตั้งโรงงานผลิตขนมปังกรอบในไทย และหาผู้ร่วมทุนไทยผลิตน้ำผลไม้ในอินเดีย เนื่องจากประเทศไทยมีน้ำตาลราคาถูกกว่าของอินเดีย นอกจากนี้คนอินเดียชอบทานผลไม้สดจากไทย เช่น เงาะ มังคุด สับปะรด อีกด้วย จึงอาจเป็นโอกาสที่จะร่วมธุรกิจกับนักธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมเกษตร และเกษตรแปรรูป เนื่องจากไทยมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้สูง

ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียมีแนวคิดที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาหารโดยเฉพาะ เนื่องจาก อินเดียมีการผลิตสินค้าเกษตรจำนวนมากที่ผลิตเกินความต้องการ ได้แก่ ข้าว กล้วย มันฝรั่ง มะเขือเทศ องุ่น และกุ้ง ผลิตผลเหล่านี้สามารถนำมาแปรรูปได้ โดยนิคมจะประกอบด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม มีระบบ One Window System ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่เกษตรกร เช่น Contract Farming ตั้งแต่การจัดการในระดับไร่นา การขนถ่ายสินค้า การเก็บรักษา ห้องเย็น การแปรรูป ตลอดจนการบรรจุหีบห่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อินเดียยังต้องการการพัฒนาอีกมาก ในขณะที่ไทยมีประสบการณ์ในด้านนี้อย่างมาก จึงน่าจะสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ของอินเดียเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2513 ในระยะนั้นรถยนต์ถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ต้องนำเข้าในอัตราภาษีสูง และมีการผูกขาดโดยบริษัทไม่กี่บริษัท แต่อีก 25 ปีต่อมาอุตสาหกรรมนี้เริ่มเข้าสู่ยุคการแข่งขันสูง ตลาดกลายเป็นของผู้ซื้อ หลังจากนั้นปี 2543 จึง เริ่มมีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

มูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการส่งออกประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อินเดียเป็นผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์เป็นอันดับ 2 ของโลก (ประมาณ 6.5 ล้านคัน) รองจากจีน(ประมาณ 12 ล้านคัน) ที่เหลือผลิตรถยนต์และรถบรรทุก 2 ล้านคัน ยอดขายภายในประเทศของรถยนต์ส่วนบุคคลใสช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด ผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท Maruti Udyog, Tata Motor, Hero Honda ในปีการผลิต 2548 - 2549 คาดว่ายอดขายรวมส่งออกจะโตประมาณ 10-15% เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และวิถีชีวิตของชาวอินเดียทีเปลี่ยนแปลงไปโดยมีรายได้มากขึ้น จึงหันมาสนใจความสะดวกสบายมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดีอัตราการใช้รถยนต์ของชาวอินเดียยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ 7 คัน/พันคน ยังมีช่องทางอีกมาก ในการเข้าไปทำตลาดรถยนต์ในอินเดีย

ในด้านการค้าอินเดีย-ไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด ในปี 2546 - 2547 มีมูลค่าประมาณ 1,440 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอินเดียส่งสินค้าออกมาไทยประมาณ 831 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่มีการนำเข้าจากไทยมูลค่า 609 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนจากประเทศไทยในอินเดียที่ได้รับการอนุมัติจากปี 2534 -2547 มีมูลค่า 69.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อาทิ การสื่อสาร โรงแรมและการท่องเที่ยว แปรรูปอาหาร อาหารทะเล ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี อุปกรณ์ไฟฟ้า การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม การก่อสร้างถนน ปัจจุบันไทยติดอยู่เป็นอันดับที่ 24 ของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากมาเลเซียและสิงคโปร์

การลงทุนของอินเดียในไทย ที่ได้รับการอนุมัติจากปี 2534 - 2547 มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสาขาผลิตภัณฑ์เคมี ลวดเหล็ก เส้นไยสังเคราะห์ เภสัชและผลิตภัณฑ์ยา เป็นต้น บริษัทอินเดียที่ดำเนินการในไทย ได้แก่ Aditya Birla Group, Ballarpur Industries, Baroda Rayon Group, Usha Martin Industries, Ranbaxy Laboratories, Lupin Laboratories, Bharat Overseas Bank, Indo-Rama Group etc.

การบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ(IT Services) ก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่อินเดียมีความชำนาญมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดีย ได้แก่ TATA, Infosys, Wipro และ Satyam ซึ่งดำเนินธุรกิจ ให้คำปรึกษา การออกแบบ การพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อการปรับองค์กร การบำรุงรักษา ระบบเชื่อมโยง การปฏิบัติการและการประเมิลผล และการบริการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนั้นยังบริการซอฟท์แวร์ในสาขาการธนาคาร การจัดการด้านความสัมพันธ์กับลูกค้า การบัญชีและการเงิน การจัดการด้านการสั่งซื้อ-ขาย โดยตลาดหลักด้านซอฟท์แวร์ของอินเดียอยู่ในอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย-แปซิฟิค มีสาขาทั้งในและต่างประเทศ

บังกาลอร์นับว่าเป็นเมืองศูนย์กลางใหญ่ของอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แบบครบวงจรของอินเดีย โดยมีการจัดตั้งเป็น City/Campus ในพื้นที่ขนาดใหญ่ มีที่พัก ห้องไว้รับรองลูกค้า ห้องสัมมนาฝึกอบรม ห้องอาหาร ห้องสุขภาพ ร้านค้า ห้องสมุด ที่ทันสมัย ทั้งนี้ บริษัทรายรายใหญ่ของอินเดียก็มีแผนที่จะขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่นักลงทุนอินเดียให้ความสนใจ โดยไทยจะได้ประโยชน์อย่างสูงในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม IT ซึ่งอินเดียมีความชำนาญเป็นอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น