xs
xsm
sm
md
lg

อารยธรรมซิ่งได้?

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

คงรู้กันดีว่า คำว่า “อารยธรรม” ที่เราใช้ๆ กันอยู่นั้นเป็นคำที่ไทยเรายืมมาจากฟากฝั่งอินเดีย คือเป็นภาษาฮินดี ดังนั้น หากจะทำความเข้าใจคำคำนี้ให้ดีแล้ว จึงน่าจะลองดูว่าทางอินเดียเขาอธิบายถึงคำคำนี้ว่าอย่างไร น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย

ที่เลือกมานี้เป็นคำอธิบายของ ยวาหระลาล เนห์รู อดีตรัฐบุรุษของอินเดียผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านอธิบายคำว่า “อารยธรรม” ได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย คำอธิบายของท่านปรากฏอยู่ในหนังสือ “พบถิ่นอินเดีย” (2537) ที่ อ.กรุณา กุศลาสัย ได้แปลมาจาก “The Discovery of India” อีกชั้นหนึ่ง

ท่านเนห์รู อธิบายว่า โดยรากศัพท์หรือธาตุของคำว่า “อารย” นั้นแปลว่า “ไถ”

คำว่า “ไถ” ในที่นี้ไม่ใช่รีดไถ แต่คือการไถดินเพื่อการเกษตร ทั้งนี้เพราะชาวอารยันที่เข้ามายังแผ่นดินตอนเหนือของอินเดียเมื่อหลายพันปีก่อนนั้นส่วนใหญ่เป็นกสิกร และถือกันว่าอาชีพกสิกรรมเป็นอาชีพอันประเสริฐ

เกี่ยวกับประเด็นนี้ทำให้ผมคิดไปถึงว่า การที่ชาวอารยันมีอาชีพเป็นกสิกรนี้ยังไม่สู้เท่าไรนัก เพราะโลกเมื่อหลายพันปีก่อนอาชีพกสิกรรมเริ่มปรากฏอยู่ในหลายที่หลายมุมในโลกนี้แล้ว แต่ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ การไถอันเป็นที่มาของคำว่า “อารย” เพราะแม้มนุษย์รู้จักการปลูกพืชกินแทนการล่าสัตว์กินนั้น การปลูกพืชที่ว่าก็ยังคงทำกันภายใต้ความรู้และวิธีการที่จำกัดอย่างยิ่ง

ผิดกับการรู้จักการไถซึ่งให้ผลผลิตมากกว่า ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ก็ด้วยการไถนี้เองที่ทำให้มนุษย์อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ไม่ต้องระเหเร่ร่อนอีกต่อไป การอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งนี้มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้มนุษย์มีเวลามาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่เจริญก้าวหน้าและกลายเป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ท่านเนรูห์ อธิบายอีกว่า พอเวลาผ่านไปนานๆ เข้า คำว่า “อารย” ที่ใช้เรียกชาวอารยันที่ถือตนว่าเจริญก็ค่อยๆ หมดความหมายในทางเชื้อชาติไป แต่กลับกลายมาเป็นอีกความหมายหนึ่งที่สื่อแทนความเจริญทั้งหลาย นั่นคือหมายถึง “ประเสริฐ”

และในทางตรงข้ามก็มีคำว่า “อนารย” ซึ่งแปลว่า ต่ำช้า ที่มักจะใช้กับพวกคนเร่ร่อนพเนจรหรืออยู่ตามป่าเขาขึ้นมาเคียงคู่ให้เปรียบเทียบด้วย

ส่วนคำว่า “ธรรม” นั้น ท่านเนรูห์ ก็อธิบายได้น่าสนใจเช่นกัน ท่านบอกว่า คำโบราณที่ใช้เรียกศาสนาในความหมายกว้างนั้นคือคำว่า “อารยธรรม” แต่จริงๆ แล้วคำว่า “ธรรม” กินความหมายกว้างกว่าคำว่า “ศาสนา” โดยท่านอธิบายว่า รากศัพท์ของคำว่า “ธรรม” นี้มีความหมายว่า “การทรงไว้” ซึ่งหมายถึงการทรงไว้อันสูงสุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกฎแห่งการเป็นอยู่ของสิ่งนั้น ฉะนั้น “ธรรม” จึงเป็นมโนภาพทางจริยธรรมอันรวมไว้ซึ่งหลักแห่งศีลธรรม ความถูกต้อง ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหลายทั้งปวงของมนุษยชาติ

จากคำอธิบายของ ท่านเนรูห์ ข้างต้น เมื่อนำคำว่า “อารย” และ “ธรรม” มารวมเป็นคำว่า “อารยธรรม” แล้ว ก็จะแปลได้ว่า การทรงไว้ซึ่งสิ่งอันประเสริฐ นั่นเอง

ดังนั้น สิ่งใดที่เป็นอารยธรรม สิ่งนั้นย่อมมีที่มาที่ตั้งอยู่บนความถูกต้องโดยมีพื้นฐานทางศาสนามารองรับ ที่สำคัญคือ อารยธรรมบนพื้นฐานที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้ในด้านหนึ่งจึงต้องขึ้นอยู่กับหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคคลด้วย ว่าตระหนักถึงความถูกต้องชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน

อารยธรรมจากหลายพันปีที่ผ่านมาจึงมีภูมิหลังเช่นที่ว่ามา และภูมิหลังนี้ได้ทำให้อารยธรรมสามารถดำรงตนอยู่มาได้อย่างมั่นคง โดยมนุษย์ได้คัดสรรสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่ดีไม่เหมาะทิ้งไป และคงไว้แต่สิ่งที่ดีให้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลังต่อมา

อย่างเช่นสนามกีฬาโคลอสเซี่ยมเป็นต้น ที่ชนรุ่นหลังยอมยกให้เป็นตัวอย่างหนึ่งของอารยธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ยอมรับว่า การให้พวกนักสู้ (Gladiator) ทั้งหลายสู้กับสิงโตหรือสัตว์ดุร้ายต่างๆ หรือสู้กับมนุษย์ด้วยกันเองจนตายกันไปข้างในสนามแห่งนั้นเป็นอารยธรรมไปด้วย เพราะเห็นว่าเป็นกีฬาที่โหดร้ายป่าเถื่อน ถึงแม้ว่ากีฬาที่ว่านี้จะเป็นที่ยอมรับของคนโรมันในสมัยนั้นก็ตาม

จากนี้ไปจะเห็นได้ว่า การที่คนในปัจจุบันจะเลือกหรือไม่เลือกให้สิ่งไหนเป็นอารยธรรมนั้น คนในปัจจุบันไม่ได้ดูที่เสียงยอมรับของผู้คนในสมัยนั้นด้วย ถึงแม้ให้เสียงนั้นจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ก็ตาม หากแต่เลือกอย่างคัดสรรบนพื้นฐานดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง

ที่สำคัญก็คือว่า การคัดสรรดังกล่าวไม่ใช่จะเกิดขึ้นในทันทีทันใด หากแต่เกิดขึ้นเมื่อโลกทั้งโลกต่างมีศาสนาขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานสำหรับเป็นหลักยึดถือแก่สังคมแล้ว

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประเด็นที่พึงทำความเข้าใจด้วยว่า ศาสนาต่างๆ ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้นั้น ตอนที่เกิดขึ้นมาบนโลกใหม่ๆ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันของสังคมก็จริง แต่ก็มิได้หมายความว่าชนชั้นปกครองเวลานั้นจะยอมรับไปด้วยไม่ ต่อจนเวลาผ่านไปอีกหลายร้อยปีไปแล้วจึงได้ยอมรับกัน

ตัวอย่างเช่นศาสนาพุทธในอินเดียหรือลัทธิขงจื๊อในจีนนั้น ตอนที่เกิดขึ้นมาศาสดาของทั้งสองความเชื่อนี้ต่างมีผู้คนให้การยอมรับกันมาก ไม่เว้นแม้แต่ชนชั้นปกครองบางคนบางรัฐในขณะนั้น แต่ที่จะให้ถึงขั้นนำมาเป็นหลักยึดในการปกครองนั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน

ตราบจนเวลาผ่านไปประมาณสองสามร้อยปี การยอมรับในแง่ที่ว่าจึงเกิดขึ้น กรณีของอินเดียเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ส่วนในจีนเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น

เมื่อเกิดการยอมรับแล้ว สังคมทั้งสองจึงมีเกณฑ์ในเชิงจริยธรรมมาคัดสรรว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดีขึ้นมา พอเวลาผ่านไปนานๆ เข้า สิ่งที่ถูกคัดสรรเหล่านี้ก็ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นมาเป็นอารยธรรมจนเป็นที่รู้กันเห็นกันในปัจจุบัน ฉะนั้น หลักศาสนาจึงเป็นหลักหมายที่สำคัญในการบ่งชี้ว่า อะไรเป็นหรือไม่เป็นอารยธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ อารยธรรมจึงไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาง่ายๆ เพียงเวลาชั่วแล่น หากต้องใช้เวลายาวนานไม่น้อย

ด้วยความเข้าใจ (ของผม) ตามที่กล่าวมา พอมาได้ยินกลุ่มวัยรุ่นไทยบอกว่า การซิ่งรถจักรยานยนตร์ยามดึกที่พวกเขาทำสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นเป็น “อารยธรรม” ผมจึงอดถามตัวเองไม่ได้ว่า การซิ่งรถของพวกเขาเป็นอารยธรรมได้หรือไม่?

แน่ละว่า หากใช้เกณฑ์ตามที่ผมว่ามาก็คงตอบว่า เป็นไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ควรกล่าวด้วยว่าไม่ใช่แต่การซิ่งรถเท่านั้นที่เป็นไม่ได้ หากยังมีอะไรอื่นอีกมากมายที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเราที่เป็นไม่ได้ ไม่ว่าจะการเล่นหวย การพนัน การเปิดบ่อนคาสิโน ซ่องโสเภณี ยาเสพติด การฉ้อราษฎร์บังหลวง ฯลฯ เป็นอยู่แต่ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครกล้าและหน้าทนพอที่จะบอกว่ามันเป็นอารยธรรม

แต่ในทางตรงข้ามเราก็เห็นกันมิใช่หรือว่า ได้มีความพยายามทำสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยหลักจริยธรรมโดยผ่านการทำให้มันถูกกฎหมายเสีย ไม่ว่าจะเป็นหวย เป็นบ่อนพนัน การขัดขวางทำลายข้าราชการตงฉินและส่งเสริมกังฉิน หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงเชิงนโยบาย เป็นต้น

และล่าสุดก็คือ การเปิด “ซ่อง” ในรูปของสถานอาบอบนวดตรงข้ามกับโรงเรียนโดยบอกว่า ไม่ใกล้โรงเรียนเพราะมีถนนกั้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่โทษวัยรุ่นที่บอกว่า การซิ่งรถเป็นอารยธรรม เพราะเกณฑ์การมองว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นอารยธรรมของวัยรุ่นกับรัฐบาลไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก

ผมไม่รู้ว่า ในอนาคตสิ่งเหล่านี้จะถูกยกระดับขึ้นมาให้เป็นอารยธรรมหรือไม่ ผมรู้แต่เพียงว่า ก่อนที่อารยธรรมของโลกจะเกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกวิพากษ์ทำลายจนถึงที่สุด และถูกแยกให้ดำรงอยู่ในฐานะตัวแทนของความเสื่อมแห่งชีวิตและสังคมมาโดยตลอด ตราบจนทุกวันนี้....

....วันที่มันกำลังจะกลายเป็นอารยธรรมขึ้นมาจริงๆ....?
กำลังโหลดความคิดเห็น