xs
xsm
sm
md
lg

BISชี้พิษน้ำมันแพงฉุดตลาดการเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ระบุ ตลาดการเงินโลกไม่ยั่นสภาวการณ์ทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ ยกเว้นเรื่องเดียวคือวิกฤตน้ำมันแพง

บีไอเอส องค์การซึ่งเสมือนเป็นธนาคารกลางของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก กล่าวในรายงานประจำไตรมาสฉบับล่าสุดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นนี้ ได้แรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของตลาดหลักทรัพย์และตลาดสินเชื่อในช่วงระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม

พร้อมขยายความต่อว่า แม้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมากมาย แต่เหตุการณ์เหล่านี้กลับส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อความเคลื่อนไหวในตลาดเหล่านี้ อาทิ การก่อเหตุลอบวางระเบิดในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ความมั่นใจของบรรดานักลงทุนลดน้อยลงเลย

หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในที่เกิดขึ้นบราซิลและฟิลิปปินส์ ก็ดูเหมือนจะส่งอิทธิพลต่อตลาดเกิดใหม่เหล่านี้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้ ตลาดยังสามารถตอบรับการปรับขึ้นค่าเงินหยวนของจีนได้อย่างสงบ โดยส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินสำคัญๆ เพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี ความหวั่นวิตกเกี่ยวกับราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้น ดูเหมือนจะมีอิทธิพลฉุดรั้งการขยายตัวของตลาดหลักทรัพย์และตลาดสินเชื่อในท้ายที่สุด

กระนั้นก็ดี บีไอเอสระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ก็ขยายตัวขึ้นได้ ด้วยรายงานผลประกอบการอันแข็งแกร่งของบริษัทในตลาด จนพุ่งสู่ระดับสูงสุดมาเป็นเวลาหลายปีทั้งในญี่ปุ่นและยุโรป

อีกทั้งเสถียรภาพในตลาดสินเชื่อยังช่วยลดอัตราค่าความเสี่ยงภาคบริษัทลง จากที่มีอัตราความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเดือนพฤษภาคม เนื่องจากบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ อัตราค่าความเสี่ยงในเศรษฐกิจชาติกำลังพัฒนาหลายประเทศยังลดลงมาอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงระดับก่อนหน้านี้

รายงานเผยอีกว่า ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ความต้องการตราสารหนี้ระหว่างประเทศยังมีอยู่อย่างแข็งแกร่ง และเมื่อปรับตัวเลขให้เข้ากับความผันผวนตามฤดูกาล นับได้ว่ามีการออกตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น หรือในกรณีที่ไม่ได้มีการปรับค่าตามฤดูกาล ก็ถือได้ว่าเขตยูโรโซนเป็นพื้นที่ที่มีการออกตราสารหนี้ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น