xs
xsm
sm
md
lg

พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ผมคิดว่าถึงเวลาที่ผมจะเขียนอะไรสักเล็กน้อย ในฐานะที่ผมเป็นนักเรียนและผู้สอนวิชารัฐธรรมนูญ และครั้งหนึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ

ผมอยากจะพูดแต่เพียงสั้นๆว่า การกระทำของทุกๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่สนับสนุนคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา หรือฝ่ายที่สนับสนุนนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ที่ต่างก็ออกมาอ้างเหตุผลและหลักการต่างๆนานา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำทั้งสิ้น

การที่สื่อนำมาเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์โดยอ้างตำราหรือหลักวิชาทางกฏหมายรัฐธรรมนูญของผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ หรือนักวิชาการออกมาวิจารณ์เสียเองในสื่อก็ไม่สมควรเช่นกัน

แม้แต่การที่วุฒิสภาหยิบยกเรื่องมาวิตกวิจารณ์กำหนดเวลา 90 ที่ในหลวงจะทรงลงหรือไม่ลงพระปรมาภิไธย การที่ประธานวุฒิสภาไม่สามารถทนความกดดัน ต้องนำเรื่องมาชี้แจงในวุฒิสภา หรือการที่วุฒิสมาชิกอีกกลุ่มจะเคลื่อนไหวหาความกระจ่างจากราชเลขาธิการ หรือการสร้างมาตรการกดดันหาตัวผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นประธานวุฒิสภาหรือวุฒิสภาต่างก็ไม่สมควรทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผู้นำของรัฐบาลแสดงอาการกินปูนร้อนท้องบ้าง หรือประกาศปัดความรับผิดชอบว่าเรื่องนี้มิใช่กงการของรัฐบาลบ้าง ก็ยิ่งเป็นเรื่องมิชอบหนักเข้าไปอีก

ที่พอน่าจะอนุโลมได้ ก็คือการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ที่จะศึกษาวิจัยหรือสัมมนากันในห้องเรียนวิชากฎหมาย วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ วิชาการเมือง หรือวิชาทฤษฎีการเมือง
สิ่งนี้น่าจะมีได้ แต่ ผมเชื่อว่ากลับไม่มี

ผมถูกพ้นจากการดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญโดยมิได้ตาย ลาออก ถูกให้ออกเพราะกระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนด ครบอายุตามวาระ เกษียณอายุ หรือมีพระบรมราชโองการให้ออก ผมถูกให้ออกโดยการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ และละเมิดหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นก็คือการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือการปฏิวัติ ผมไม่ได้อ่านกฎหมายเรื่องการตรวจเงินแผ่นดิน การมีพระบรมราชโองการให้ออกนั้นผมเชื่อว่าไม่น่าจะมี ผมเคยเห็นมีแต่การถอดถอนรัฐมนตรีเท่านั้น

ในวันอังคารที่ 6 กันยายนนี้ ผมคงอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ไม่มีโอกาสได้ฟังการเสวนาทางวิชาการและเหตุการณ์ปัจจุบันในหัวข้อ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นรายชื่อผู้พูดล้วนแล้วแต่ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประมวล รุจนเสรี แก้วสรร อติโพธิ สนธิ ลิ้มทองกุล และดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดูชื่อแล้วผมก็ออกจะเป็นห่วง แต่ห่วงเรื่องที่ท่านใดจะพูดว่าอย่างไร น้อยกว่าห่วงที่คนดูจะสรุปเอาเองว่าคนพูดเป็นใคร คือเป็นผู้ใกล้ชิดยุคลบาทบ้าง เป็นนักการเมืองอกหักบ้าง เป็นขาประจำนายกฯทักษิณบ้าง การเชื่อและอ้างอิงดังกล่าวน่าจะทำให้สับสนวุ่นวายยิ่งขึ้น

ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ (มีความเชื่อว่า) รัฐธรรมนูญปัจจุบันลอกมาจากทั้งระบบประธานาธิบดีเป็นประมุขของอเมริกา และระบบรัฐสภาของอังกฤษ ที่เราลอกเขามานั้น บางทีเราก็ลอกมาแต่เพียงสัญลักษณ์ อันได้แก่สมญานาม และโครงสร้างที่เป็นกฎหมายหรือตัวหนังสือ แต่เราไม่สามารถนำแก่นคือมาตรฐานขององค์บุคคลที่เรียกว่าส่วนประกอบ และมาตรฐานทางพฤติกรรมมาได้ บางทีเราก็หาคนหรือองค์ประกอบที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆไม่ได้ เพราะต้องรับมรดกคนมาจากระบบเก่า และตัวหนังสือที่เขียนไว้ก็มีช่องว่างให้หลบหลีกหรือเล็ดลอดได้ จึงได้พฤติกรรมที่บูดเบี้ยวเข้าไม่ถึงมาตรฐานและขัดกับหลักประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ

ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อ วุฒิสภาเป็นผู้รับรอง เป็นการเสนอชื่อเดี่ยวๆ และก็มีมาตรฐานทั้งในด้านเงื่อนไขและเงื่อนเวลา ประธานาธิบดีต้องหน้าแตกบ่อยๆ เพราะวุฒิสภาสมามารถถ่วงเวลาและซักถามคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด บ้างก็ผ่านได้ง่าย บ้างก็เลือดตาแทบกระเด็น บ้างก็รู้ว่าแพ้แน่ๆ บ้างก็เดาได้ว่านานแหงๆ ในสองกรณีหลังนี้ก็ขึ้นอยู่กับหิริโอตัปปะของประธานาธิบดีและผู้ถูกเสนอชื่อที่จะถอนหรือถอนตัวไปเสียแต่โดยดี มาตรฐานพฤติกรรมดังกล่าวจะปรับใช้กับกรณีเมืองไทยได้หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบและยังไม่เคยมีตัวอย่าง

สำหรับระบบรัฐสภาของอังกฤษ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราลอกเลียนของเขามานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการออกกฎหมาย ว่าพระมหากษัตริย์จะลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ เมื่อใด ซึ่งเกือบจะไม่ปรากฏเลยว่าเกิดปัญหา ของไทยก็เช่นเดียวกัน ยกเว้นก็แต่รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งมีเสียงข้างมาก แต่ขาดความสามารถ และความระมัดระวัง เรื่องนี้สมควรถูกตำหนิ เพราะเป็นการนำสถาบันกษัตริย์ไปเสี่ยงกับความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากับรัฐสภา ในกรณีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเรายังไม่เคยมีตัวอย่างหรือประสบการณ์

แต่เราก็มีหลักให้ยึดนั่นก็คือหลักประชาธิปไตยและหลักพระราชอำนาจซึ่งต้องไปด้วยกัน

สำหรับประเทศไทยนับเป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ นอกจากเราจะต้องดำเนินตามมาตรฐานของระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ (เช่น อังกฤษ เดนมาร์ค เนเธอรแลนด์ นอร์เวย สวีเดน เป็นต้น) เรายังมีสถาบันกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม และบรมราชประเพณีที่ทรงปฏิญาณกับบุรพกษัตริย์ เทพยดา ฟ้าดินและมวลพสกนิกร ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” นี่แหละคือระบอบประชาธิปไตยทีมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง

มีผู้อรรถาธิบายกันมามากแล้วถึงเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยนำคำศัพท์และตัวอย่างของระบบรัฐสภาในตะวันตกมาเป็นบริบท เช่น the right to warn; to be consulted, to encourage, to recommend ฯลฯ ผมขออนุญาตไม่แปลและไม่อธิบาย

มีเรื่องหนึ่งที่เราตกหล่นอย่างฉกรรจ์ ไม่ค่อยจะนำมาใช้เป็นแนวทางทั้งๆที่เป็นแก่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐ คือหลักพระราชอำนาจที่เป็น Royal Prerogative

ผู้ทีต่อสู้กันเรื่องตำแหน่งผู้ว่าการสนักงานตรวจเงินแผ่นดินอยู่ขณะนี้ มีทั้งผู้บริสุทธิ์ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีทั้งผู้ที่มีเจตนาแอบแฝงต้องการโค่นล้างฝ่ายตรงกันข้ามหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง อยู่ในทั้งสองฝ่าย ประเภทหลังนี้แหละที่น่าเป็นห่วงว่าเห็นแก่ตัวโดยไม่คำนึงว่าบ้านเมืองจะเสียหาย หรือจะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

การแอบอ้างในหลวง หรือการนำในหลวงมาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองอย่างนี้เป็นความชั่วร้ายเลวทรามอย่างที่สุด

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลายต่อหลายคราวที่เผด็จการทำลายประชาธิปไตยลอยนวลอยู่ได้นานๆ โดยไม่มีผู้ใดท้วงติงว่าการทำลายประชาธิปไตยเป็นการจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์

ผมยังไม่มีโอกาสอ่านพระราชอำนาจของประมวล รุจนเสรี แต่ได้ทราบว่าเป็นผลงานที่ดี สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานทางวิชาการและการเมืองภาคปฏิบัติของไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับองค์พระประมุขกับการพัฒนาประชาธิปไตย

เรื่องที่ผมอยากนำเสนอเป็นบทสรุปสั้นๆเพื่อระงับความยืดเยื้อของการต่อสู้ทางการเมืองเกี่ยวกับการพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณ แต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งนายวิสุทธิ์ มนตรีวัต ฯลฯ

ทางออกเรื่องนี้ที่ถูกต้องตามความรู้ที่ต่ำต้อยของผม ก็คือดุษณีภาพและความสงบนิ่งของทุกฝ่าย ด้วยความเข้าใจและการยึดถือหลักพระบรมเดชานุภาพตามโบราณราชประเพณี ผสมกับหลักรัฐธรรมนูญของระบบรัฐสภาในประเทศตะวันตกที่สอดคล้องและไม่มีอะไรขัดแย้งกับหลักไทยเลย นั่นก็คือหลัก Sovereign Prerogative ที่เลือกลงให้แคบเข้าเฉพาะเรื่อง Royal Prerogative ผมไม่ทราบจะแปลเป็นไทยให้ตรงตัวอย่างไร นอกจากเทียบเคียงเป็นอรรถาธิบายว่า เป็นพระราชอำนาจพิเศษหรือพระราชอำนาจที่ล่วงละเมิดมิได้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชอัธยาศัยหรือพระบรมราชโองการก็ตาม


ผมขอลอกหลักรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ Royal Prerogative เป็นข้อความสั้นๆดังนี้ "The Royal Prerogative remains a significant source of constitutional law which is largely immune from scrutiny by the courts." (พระราชอำนาจยังดำรงความเป็นรากฐานต้นตอสำคัญของกฎหมายหรือระบบรัฐธรรมนูญที่อยู่นอกเหนือการตีความของศาลใดๆ) ผมเสนอว่าเราควรขยายความให้ครอบคลุมไปถึงรัฐสภาด้วย

เมื่อนำหลักดังกล่าวมาประยุกต์ ก็จะต้องพิจารณาว่า พระบรมราชโองการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ อันใดเกิดก่อนอันใดเกิดทีหลัง
หากพระบรมราชโองการเกิดก่อน ก็มิบังควรที่ฝ่ายใดจะนำเรื่องไปสู่ศาล และศาลก็มิบังควรจะต้องรับพิจารณา นอกจากจะเป็นรัฐบาล รัฐสภา หรือศาลทีไร้มาตรฐานและด้อยพัฒนาในทางประชาธิปไตยและหลักรัฐธรรมนูญเท่านั้น เรื่องที่มิบังควรจึงเกิดขึ้นได้

การณ์เป็นดั่งนี้ และ ณ เวลานี้ ยกเว้นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการที่แท้จริงและรับผิดชอบแล้ว ทุกฝ่ายควรหุบปากสงบนิ่ง หยุดการเคลื่อนไหว วิตกทุกข์ร้อน ปล่อยให้พระบรมเดชานุภาพปกแผ่ เรื่องที่คิดว่าเป็นปัญหาก็จะไม่เป็นปัญหา จบไปเองโดยดี

บุญญาธิการของในหลวงองค์ปัจจุบันอยู่เหนือความสงสัยและท้าทายใดๆ ด้วยได้พิสูจน์มาครั้งแล้วครั้งเล่า ปีแล้วปีเล่า เหตุการณ์แล้วเหตุการณ์เล่าว่า ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนอย่างแท้จริง

ขอเดชะ พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า
กำลังโหลดความคิดเห็น