xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าสีม่วงเพื่อใคร

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการธุรกิจก่อสร้างธุรกิจบ้านจัดสรร และคนค้าที่ดิน ว้าวุ่นใจกันน่าดู

โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวเส้นทางของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางซื่อ-บางใหญ่) และสายสีส้ม (บางกะปิ-บางบำหรุ)

ก็เพราะคุณพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ได้ประกาศทบทวนโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 7 สาย ที่ใช้เงินลงทุนมูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาทเสียใหม่

พร้อมประกาศจะยกเลิกโครงการรถไฟสายสีม่วงและสายสีส้ม โดยอ้างอิงข้อมูลที่จ้างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนศึกษา

ข้อมูลการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนของ 2 เส้นทางที่มีปัญหาถูกระบุว่า ถ้าทำไปก็ให้ผลตอบแทนแค่ 6% และคาดว่าจะขาดทุนปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่เส้นทางสายอื่นพอเลี้ยงตัวได้ ไม่ต้องเป็นภาระก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม

ถ้ายกเลิกโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สายดังกล่าว ก็ช่วยลดวงเงินลงทุนไปประมาณ 2 แสนล้านบาท

แน่นอนละครับเมื่อรัฐบาลจะดำเนินนโยบายและทุ่มเงินลงทุนในโครงการใด ย่อมมีพลังกระเพื่อมไปสู่กิจกรรมและธุรกิจที่ได้รับผลดีจากโครงการนั้นอย่างต่อเนื่อง

ก็ดูอย่างรถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในปัจจุบันและมีผู้โดยสารยุคใหม่ใช้บริการกันอย่างคึกคักทุกวันนี้ ก็มีธุรกิจต่างๆ ตามเส้นทางรถไฟฟ้าก็รับอานิสงส์จากความสะดวก และเป็นทางเลือกให้คนเดินทางหนีรถติดบนถนนได้ดี

ขนาดเส้นทางต่อขยายจากเชิงสะพานสาทรที่จะเชื่อมระบบรางให้รถไฟฟ้าวิ่งข้ามไปถึงถนนเพชรเกษมฝากธนบุรีนั้น ผู้คนก็ยังบ่นกันว่า มีอุปสรรคที่ติดขัดอะไรจึงยังไม่เสร็จ ถ้ารัฐบาลช่วยผลักดันก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการเดินทางข้ามเมืองได้ดีขึ้นในส่วนนี้

แต่สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยเฉพาะสายสีม่วงนั้นผ่านมาจากบางใหญ่-บางบัวทอง-นนทบุรี ซึ่งมีคนกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไรรอกันแล้ว รวมทั้งโครงการบ้านจัดสรรหลายแห่งพากันเดินหน้า และมีการโฆษณาชักชวนให้คนซื้อบ้าน โดยใช้รถไฟฟ้าที่จะผ่านบริเวณนั้นเป็นจุดขายในความสะดวกและความเจริญ

เมื่อมีการปรับเปลี่ยนแผน ก็ย่อมกระทบหลายฝ่าย นับตั้งแต่สำนักงานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ที่มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบโครงการ มีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและที่ดินหลายแปลง เพื่อใช้ทำศูนย์ซ่อมบำรุงสถานีรถไฟฟ้าและอาคารที่จอด

ราคาที่ดินซึ่งเคยขึ้นไป เมื่อโดนข่าวช็อคแบบนี้ก็ย่อมต้องวูบลงแน่นอน ส่วนโครงการบ้านจัดสรรที่เคยชูโครงการรถไฟฟ้าดึงดูดคนซื้อ ไม่ใช่แค่คนที่วางมัดจำไปแล้วจะขอเงินคืนซึ่งคงไม่ได้ แต่คนใหม่ที่จะซื้อก็พากันชะลอดูสถานการณ์

เพราะเสียงโวยจากทั้งผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประชาชนในย่านนั้น และนักการเมืองในพื้นที่ ก็เลยมีผลให้รัฐมนตรีคมนาคมแบ่งรับแบ่งสู้
โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรศึกษาข้อมูลอีกครั้งจะรู้ผลใน 2 สัปดาห์ ว่าจะปรับเปลี่ยนโครงการขนส่งมวลชนเป็นแบบรถไฟฟ้าหรือใช้รถเมล์ด่วน(BRT) มาแก้ขัด

กรณีนี้จึงน่าจะเป็นตัวอย่างในแง่คิดที่ว่า ฝ่ายการเมืองเวลาหาเสียง ไม่ใช่แค่แนวคิดว่า "น่าจะดี" ที่จะมีโครงการที่ช่วยแก้ปัญหา หรือลดภาระหรือได้อะไรฟรีๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล อย่างที่ต้องใช้มูลค่า 5.5 แสนล้าน กรณีรถไฟฟ้า 7 เส้นทาง หรือโครงการที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณต่อเนื่อง จะหาเงินจากไหนพอเพียงหรือไม่

เมื่อรัฐบาลยืนยันว่าที่ปรับเปลี่ยนโครงการไม่ใช่เพราะระดมเงินไม่พอแต่การทบทวนด้วยเหตุผลความคุ้มค่าในการลงทุน ขณะที่มีนักวิชาการทักท้วงมิให้ใช้จ่ายเกินตัวจนเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ

การทบทวนเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณโดยมองปัญหาในภาพรวม ที่ต้องคำนึงถึงลำดับความเร่งด่วนในการจัดการจึงเป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง

เพราะขณะนี้ในระดับชาติก็มีหลายปัญหา เช่น ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง น้ำแล้งในภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม และปัญหาการจราจร ที่ล้วนต้องใช้เงิน

การจัดลำดับและเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาทั้งประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและเงิน ก็ยังเป็นรากเหง้าของปัญหาในประเทศไทย

ในแง่ประชาชนจึงต้องรู้ทันว่า ในทางการเมืองนั้นคือการเสนอนโยบายหาเสียงเพื่อเรียกคะแนนนิยมนั้นคือการสร้าง "ความหวัง" ในการแก้ปัญหา ให้กับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

แต่เมื่อถึงเวลาได้รับตำแหน่งเข้ามาทำงานแล้ว นั่นคือ "ความจริง" ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการบริหารเงิน การตัดสินใจก็น่าจะไม่หนักหนา

เพียงแต่ลงทุนของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่เชิงสังคมก็ไม่ควรมองแค่ตัวเลขความคุ้มค่าแบบเชิงธุรกิจเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น