xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจจีนสร้างตัวทั้งภายนอกภายใน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ลีกวนยิว ผู้นำอาวุโสที่ "ปั้น" สิงคโปร์มากับมือด้วยปรัชญาการบริหาร "ซินหรูเจีย" (ลัทธิขงจื๊อใหม่) ได้กล่าวไว้ในหลายต่อหลายโอกาสว่า สาเหตุสำคัญที่จีนพัฒนาตนเองได้ดี ก็เพราะคณะผู้นำมีความคิดริเริ่ม เปิดกว้าง สนใจศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้อื่นเสมอ

คุณสมบัติดังกล่าวได้ตกทอดไปยังนักบุกเบิกธุรกิจจีนด้วย ปัจจุบันชาวโลกจึงพบว่า ผู้ที่ปรับตัวเร็วที่สุดในการดำเนินธุรกิจก็คือนักธุรกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ที่จะดำเนินธุรกิจในขอบเขตทั้งโลก มิใช่จำกัดอยู่แต่ในแผ่นดินจีน

ต้องรู้จักสร้างสภาพแวดล้อมภายนอกที่ดีให้แก่ตนเอง และพัฒนากลไกภายในที่มีประสิทธิภาพ

สร้างความ "กลมกลืน" และ "ปรองดอง" กับปัจจัยภายนอก

หูเฉิงจง ได้นำเสนอแนวคิดการบุกเบิกสร้างธุรกิจ จากประสบการณ์สร้างกลุ่มบริษัทเต๋อลี่ซีไว้ในทำนองเดียวกันว่า การจะสร้างธุรกิจให้ใหญ่โตได้นั้น จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อและเกื้อกูล โดยชี้ว่าสภาพแวดล้อมหรือปัจจัย "ภายนอก" ที่ดี จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การพัฒนาเติบใหญ่ของกิจการ

สภาพแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอก หมายถึงตัวแปรต่างๆที่บริษัทจะต้องเกี่ยวข้องด้วย ครอบคลุมตั้งแต่หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงิน สำนักกฎหมาย ลูกค้า และสื่อ เป็นต้น

เขากล่าวว่า เต๋อลี่ซีพัฒนาเติบใหญ่ไปในบริบทเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมจีน โดยตลาดขับเคลื่อนตนเองไปในบริบทของระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มีแนวนโยบายของรัฐแสดงบทบาทกำกับและกำหนดทิศทางอย่างชัดเจน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของอัตราภาษี อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นต้น การปรับเปลี่ยนแนวนโยบายแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก ดังนั้น ในการดำเนินธุรกิจ ก่อนอื่นจะต้องสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ให้ตัวแปรหรือปัจจัยต่างๆ ในสังคมแสดงบทบาทสนับสนุนกิจการของตน ให้สามารถพัฒนาเติบใหญ่ได้โดยดี อุปมาเหมือนต้นไม้อ่อน เมื่อได้แสงแดดและน้ำแล้ว ย่อมจะเจริญเติบโตได้ดี

ดังนั้น บริษัทธุรกิจจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเงินและภาษี สำนักกฎหมาย สถาบันการเงิน ลูกค้า ซัปพลายเออร์ และสื่อมวลชน เป็นต้น รวมทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วย

ในการนี้ หูเฉิงจงกล่าวว่า บริษัทจะต้องนำเอากลยุทธการสร้างภาพลักษณ์องค์กร (CI หรือ Corperate Image) มาใช้ให้ได้ผล จะต้องให้ความสำคัญในการออกแบบภาพลักษณ์บริษัทที่ดี ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องครอบคลุมไปถึงออกแบบเครื่องหมายการค้า รูปแบบการโฆษณา ตราโรงงานและเครื่องแบบของพนักงาน ให้ภาพลักษณ์องค์กรปรากฏโดดเด่นทั้งในระดับองค์รวมและในระดับปัจเจกบุคคล เป็นที่ประทับใจของสังคมทั่วไป

ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีนั้น หูเฉิงจงเน้นด้วยว่า จำเป็นจะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ถูกทำนองคลองธรรม จะไม่ทำในสิ่งที่เป็นทุจริตเด็ดขาด ทั้งในฐานะผู้รับและผู้ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาซัปพลายเออร์ จะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดี โดยให้ "คุณภาพ ราคา และบริการ" ที่ดีเป็นบรรทัดฐานในการคัดเลือกซัปพลายเออร์ของบริษัท

เพื่อที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเติบใหญ่ของบริษัท ก็จำเป็นต้องมีปรัชญาการบริหารจัดการที่ชัดเจน สำหรับชี้นำการปฏิบัติ

เกี่ยวกับเรื่องนี้หูเฉิงจงกล่าวว่า คนตะวันตกมีปรัชญาของพวกเขา คนตะวันออกก็มีปรัชญาของตนเอง ปัจจุบันปรัชญาการบริหารแบบตะวันออกที่เรียกว่า "ซินหรูเจีย" (ลัทธิขงจื๊อใหม่ หรือ ปรัชญาขงจื๊อประยุกต์) ได้ปรากฏขึ้นแล้วในญี่ปุ่น จีน และเอเชียอาคเนย์

จากประสบการณ์ของเขาเอง มันก็คือ "ความกลมกลืน" และ "ความปรองดอง" สองสิ่งนี้มีความล้ำค่าที่สุดในการบริหารองค์กร ความกลมกลืนและความปรองดองนำไปสู่ความมั่งคั่งได้ ถ้าทำได้ตามหลักปรัชญานี้แล้ว จะทำให้ความสัมพันธ์ขององค์กรกับตัวแปรรอบด้านเป็นไปด้วยดี เกิดมีสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับองค์กร

จะต้องสร้างกลไกภายในที่ทรงประสิทธิภาพ

หูเฉิงจงกล่าวว่า การสร้างกลไกภายในที่ทรงประสิทธิภาพขึ้นภายในองค์กร จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

กลไกภายในที่ทรงประสิทธิภาพ คือหัวใจขององค์กร หมายถึงกลไกที่สามารถควบคุมและกระตุ้นการทำงานของพนักงานบริษัทในระดับต่างๆ

กลไกภายในนี้แยกเป็นสองส่วน คือกลไกหรือระบบการนำ และกลไกหรือระบบการบริหารจัดการ

กลไกการนำที่มีลักษณะสากล จะต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์ในตัว อธิบายได้ในตัว มีความเป็นสากลในตัว

ในกรณีของเต๋อลี่ซีกลไกการนำก็คือคณะกรรมการบริษัท เป็นตัวแทนองค์กรตามกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นกลไกตัดสินใจสูงสุด พิจารณาทิศทางและแนวนโยบายสำคัญๆ

ภายใต้คณะกรรมการบริษัท มีคณะกรรมการบริหาร โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบในด้านการบริหารจัดการ

นอกจากนั้น เต๋อลี่ซียังได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้การบริหารจัดการขององค์กรดำเนินไปอย่างเป็นประชาธิปไตย โปร่งใส เป็นที่พอใจของพนักงานบริษัทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ขององค์กร ในกรณีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบจะมีตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัทด้วย

ระบบและกลไกลักษณะดังกล่าว สำหรับเต๋อลี่ซีแล้ว ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดปัญหาเดิมๆ เช่นที่เคยเป็นอยู่ในวิสาหกิจของรัฐ ป้องกันมิให้อำนาจรัฐเข้าก้าวก่ายงานบริหารจัดการของธุรกิจเอกชนได้โดยตรง

ทั้งหมดเหล่านี้ ก็คือความเป็นกลไกที่เป็น "วิทยาศาสตร์" ที่จะต้องมีในองค์กรธุรกิจสมัยใหม่อย่างเต๋อลี่ซี

กระนั้นก็ดี กว่าทุกอย่างจะเข้าที่ กว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ในองค์กรจะเกิดความเข้าใจร่วมกัน สามารถทำงานร่วมกันได้ดี กว่าองค์กรจะเกิดความกลมกลืนและปรองดองกับปัจจัยภายนอกอย่างแท้จริง ก็ยังต้องใช้เวลา อุปมาเหมือนเครื่องจักรผลิตใหม่ กว่ากลไกในแต่ละด้านจะทำงานประสานกันได้อย่างกลมกลืนก็ต้องเดินเครื่องไปสักระยะหนึ่ง เขาจึงแนะนำว่า ในการใช้รถใหม่ จะต้องไม่วิ่งเร็วเกินไปในระยะแรกๆ

จัดความสัมพันธ์ระหว่าง "ความรับผิดชอบ อำนาจ และผลประโยชน์" ให้ถูกต้อง

หูเฉิงจงกล่าวว่า ในการบริหารจัดการนั้น จะต้องสนใจไม่ให้แนวคิดและวิธีคิดแบบเก่าๆ เข้ามารบกวน เข้าทำนอง "ใส่รองเท้าใหม่ เดินไปบนทางเก่า" โดยคำนึงว่า จีนเพิ่งหลุดพ้นออกจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางมาหมาดๆ ยังมีแนวคิดและความเคยชินเก่าๆ ติดอยู่ในหัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ของเต๋อลี่ซี จำเป็นต้องระมัดระวังมิให้แนวคิดและความเคยชินเก่าๆ แสดงบทบาทชี้นำในการทำงาน คือต่างคิดว่าบริษัทเป็นองค์กรสาธารณะ ทำดีไม่ดีไม่แตกต่างกันนักในเรื่องรายได้และค่าตอบแทน

เขากล่าวว่า ในระหว่างความรับผิดชอบ อำนาจ และผลประโยชน์นั้น "ความรับผิดชอบ" คือหัวใจ บริษัทของเขาจึงกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน กระจายอำนาจอย่างชัดเจน โดยให้เชื่อมโยงถึงรายได้ค่าตอบแทนอย่างชัดเจน ทั้งในการบริหารระดับสูง และระดับกลาง

นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการ จะต้องจัดการเรื่อง "ความรับผิดชอบชายขอบ" ให้ดี

ความรับผิดชอบชายขอบ หมายถึงความรับผิดชอบที่เหลื่อมกันระหว่างสองส่วนงาน โดยทั่วไปแล้วผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนจะเกี่ยงกัน จึงต้องกำหนดชัดเลยว่า ส่วนที่เหลื่อมกันนั้นเป็นความรับผิดชอบของใคร จะต้องไม่ให้เกิดการ "ลอยตัว" (ไม่มีใครรับผิดชอบ) หรือ "แย่งตัว" (แย่งกันรับผิดชอบ)เด็ดขาด เนื่องจากจะเกิดผลเสียต่อการบริหารจัดการมาก

สำหรับขอบข่ายอำนาจบริหาร โดยเนื้อแท้ก็คือ ผู้รับผิดชอบในระดับใดระดับหนึ่ง จะต้องมีอำนาจจริงที่สอดคล้องกับภารกิจที่จะต้องทำให้สำเร็จในด้านหนึ่งๆในช่วงเวลาหนึ่งๆ เสมอ หมายความว่า จะต้องมีอำนาจเต็มสำหรับการบรรลุภารกิจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ หูเฉิงจงมุ่งป้องกันปัญหาที่มีในอดีตของจีน คือ "มีอำนาจไม่มีความรับผิดชอบ" หรือ "มีความรับผิดชอบ แต่ไม่มีอำนาจ" ซึ่งอำนาจกับความรับผิดชอบแยกกัน เป็นคนละเรื่อง ทำให้ผู้ใช้อำนาจไม่ต้องรับผิดชอบ ขณะที่ผู้รับผิดชอบกลับไม่มีอำนาจ

เต๋อลี่ซีจึงขับเคลื่อนตัวเองได้ด้วยระบบ "อำนาจเป็นหนึ่งเดียวกับความรับผิดชอบ" สองสิ่งนี้เชื่อมโยงเป็นเอกภาพกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ทั้งนี้ การใช้อำนาจจะต้องเป็นไปเพื่อบรรลุภารกิจเท่านั้น รวมทั้งกำหนดมาตรการตีกรอบมิให้อำนาจพองตัวเกินขีดกำหนดความรับผิดชอบ

อีกนัยหนึ่ง อำนาจกับความรับผิดชอบต้องแสดงบทบาทอย่างสมดุลในตัว สนับสนุนกันและเหนี่ยวรั้งกันในตัว

เงินเดือนเป็น เงินเดือนตาย

ในเรื่องการเชื่อมโยงการทำงานหรือความรับผิดชอบเข้ากับผลประโยชน์ตอบแทนนั้น หูเฉิงจงกล่าวว่า จะต้องสะท้อนหลักการ "ทำมากได้มาก ผลงานดีได้รับค่าตอบแทนงาม" อย่างเคร่งครัด

ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการประเมินผลงาน ที่เป็นผลงานประเภทใช้แรง จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะคำนวณออกมาเป็นปริมาณได้ แต่ผลงานที่ใช้สมองจำเป็นต้องมีระบบที่แน่นอนมาประเมิน ซึ่งจะต้องทำให้ดี มิเช่นนั้นจะเป็นปัญหาใหญ่ของบริษัท

เขาเห็นว่า การจ่ายค่าตอบแทนโดยอิงตามตำแหน่งงานอย่างเดียวจะไม่ได้ผลดี จะทำให้เกิดความเฉื่อยชา ทำงานไปวันๆ พอถึงสิ้นเดือนก็ได้เงินเดือน ไม่ต้องขวนขวายอะไรก็ได้

เขานำเสนอระบบค่าตอบแทนแบบยืดหยุ่น แบ่งเป็นสองส่วนเท่าๆกัน ส่วนแรกเป็นเงินเดือนตายตัว อีกส่วนเป็นเงินค่าตอบแทนตามผลงานประเมิน เรียกกันง่ายๆว่า "เงินเดือนตาย" กับ "เงินเดือนเป็น" ด้วยระบบนี้ จะกระตุ้นให้การทำงานดำเนินไปได้ดีกว่า มีชีวิตชีวากว่า เป็นผลดีในการพัฒนาคุณภาพการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งคนงานทั่วไป

เพราะเมื่อใครต้องการได้ค่าตอบแทนสูง ก็ต้องมุ่งมั่นเอาใจใส่ คิดค้นหาวิธีการทำงานที่ดีกว่าเสมอ เพื่อสร้างผลงาน แลกกับ "เงินเดือนเป็น" เพิ่มขึ้นจาก "เงินเดือนตาย"

อีกวิธีหนึ่ง ที่หูเฉิงจงนำมาใช้ในเต๋อลี่ซี คือการสนับสนุนและเปิดทางให้คนเต๋อลี่ซีเข้าถือหุ้นของบริษัท โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าถือหุ้นบริษัทไว้อย่างกว้างๆ เพื่อจูงใจให้พนักงานเจ้าหน้าที่เกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน เพื่อจะได้เข้าเป็น "เจ้าของบริษัท"

ระบบการทำงานที่เชื่อมโยงกับผลตอบแทนอย่างยืดหยุ่นแต่มีความชัดเจนเช่นนี้ จะเป็นตัวหล่อเลี้ยงกระบวนการขับเคลื่อนของบริษัทได้เป็นอย่างดี

นำไปสู่การพัฒนาเติบใหญ่ของกิจการ ดังกรณีของเต๋อลี่ซี
กำลังโหลดความคิดเห็น