xs
xsm
sm
md
lg

โผทหาร:ทางเดินที่นายกฯต้องเลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวเชิงวิเคราะห์ โดยทีมข่าวการเมือง

ถ้าจะแบ่งช่วงการบริหารงานราชการแผ่นดิน ของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา จนกระทั่งขึ้นสู่ รอบที่ 2 จนถึงต้นปี 2548 ก็สามารถจะแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง โดยช่วงแรกนั้นเป็นช่วงปี 2544 ซึ่งต้องถือว่าเป็นช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในสภาวะของความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างสูง เนื่องจากกรณีของคดีซุกหุ้น ที่ ปปช. ได้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเพื่อตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด ?

ช่วงแรกนั้นถึงจะมีเวลาสั้นเพียงแค่ปี 2544 แต่ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่บอกอะไรให้คนที่ติดตามเรื่องการเมืองมา ตลอดให้เห็นถึงสัจธรรมของการเป็นนักการเมืองเพราะว่าในปี 2544 นั้น สภาวะที่นายกรัฐมนตรีพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอน ได้ก่อให้เกิดสัญญาประชาคมที่หลุดออกมาจากปากของคนที่มีความไม่แน่ใจในสถานภาพของตนเอง และคำพูดที่หลุดออกมานั้นเป็นคำพูดที่แทบจะหาเนื้อหาสาระใดๆไม่ได้เลยเมื่อมาเทียบกับการกระทำให้ปัจจุบัน

ปี 2544 จึงกล่าวได้ว่า เป็นปีที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติราชการอย่างจริงจัง ตราบจนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำพิพากษาออกมาอย่างเฉียดฉิวว่าคดีซุกหุ้นนั้น นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไม่ผิด เพราะขาดซึ่งเจตนา

ผลพวงของการตัดสินในครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดการกระทำที่ต่อเนื่องกันมาหลายประการ ประการแรกคือ ความคาดหวังของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมชนชั้นกลาง สังคมนักวิชาการ นักธุรกิจ พ่อค้า หรือแม้กระทั่ง
พระสงฆ์องค์เจ้า อย่างเช่น กลุ่มของลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ที่ปรารถนาจะเห็น นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เริ่มทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ส่วนรวม ไม่เห็นแก่พวกพ้องและครอบครัว เพราะว่าคำพูดของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

ในวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 เวลาประมาณ 17.45-18.00 น. ที่นายกรัฐมนตรีคนนี้ได้พูดว่า
"..... วันนี้ผมต้องขอขอบคุณ ผมอยากให้วันนี้ (วันที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่ผิด) เป็นวันที่เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนได้เคลื่อนตัวพ้นประเทศไทยเสียที อยากให้
ประเทศไทยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปมีความหวัง และทุกคนทุ่มเทกัน เพื่อให้ความทุ่มเทเหล่านั้น มาสู่การฟื้นตัวของประเทศ และผมอยากจะเรียกร้องให้คนไทยทุกคนเลิกแบ่งฝ่าย เราแบ่งหน้าที่ แต่ไม่ต้องแบ่งฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองทุกคน อยากให้ตระหนักว่า ท่านทั้งหลายคือคนไทย ท่านทั้งหลายคือสมาชิกของประเทศไทย เราแบ่งหน้าที่แต่อย่าแบ่งฝ่ายเลย ถ้าเราแบ่งฝ่าย เราทะเลาะกัน ในที่สุดเขาหัวเราะเยาะครับ วันนี้เราต้องรวมพลังกันอย่างเดียว เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติ"

"ผมพร้อมที่จะร่วมมือกับ ป.ป.ช. ในการปราบคอร์รัปชันของประเทศ ขอให้สิ่งที่แล้วมาให้ผ่านพ้นไป ให้เป็นเมฆหมอกที่มันผ่านพ้น ประเทศไทย และเราจะร่วมมือร่วมใจกัน ผมใจกว้างพอครับ ใจกว้างพอที่อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน ผมไม่อยากได้เครดิตคนเดียว แต่ผมอยากให้เครดิตทั้งหมดนี้เป็นเครดิตของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อพระเจ้าอยู่หัวของเราครับ ท่านทรงเหนื่อยพระวรกายมามากแล้ว ทรงห่วงพสกนิกรทั้งประเทศ แต่วันนี้พวกเรามาช่วยกันแบ่งเบาพระราชภาระ ช่วยกันทำงาน ตามที่ท่านอยากเห็น มีพระราชประสงค์อยากเห็นคนไทยได้พ้นทุกข์ คนไทยได้หายจน ....."

".....ต่อไปนี้ประเทศไทยจะไม่มีคำว่าปัญหาทางการเมืองอึมครึมอีกต่อไป ต่อไปนี้การตัดสินใจปัญหาทุกเรื่องของรัฐบาลนี้ จะตัดสินใจ

บนพื้นฐานแห่งอนาคตของชาติ ไม่ได้ตัดสินบนพื้นฐานของการเมืองแน่นอน การเมืองจะไม่มีความหมายกับรัฐบาลนี้ รัฐบาลนี้จะทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนน้ำใจและความปรารถนาดีของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ได้ให้กำลังใจผมมาตลอดในช่วงของฝันร้ายใน 5-6 เดือนที่ผ่านมา ....."

ทำให้ทุกฝ่ายที่ให้กำลังใจนายกฯ ในการต่อสู้เรื่องคดีซุกหุ้นมีความสบายใจและมองดูว่าการเมืองจากนี้ไปจะเป็นการเมืองที่มีแต่ความสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเน้นที่ว่า การทำเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อส่วนตัวและพวกพ้องเป็นจุดที่โดนใจคนที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี รวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาที่อยู่ในสายหลวงตามหาบัว ที่ได้รวบรวมกันล่ารายชื่อกว่า 1 ล้านรายชื่อ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ
มาประกอบการพิจารณา

4 ปีกับอีก 15 วัน ให้หลัง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมานี้ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กำลังจะได้รับบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตอีกบทหนึ่ง ต่อกรณีการเคารพในพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2548 คือวันที่รัฐบาลได้ยื่นบัญชีโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการทหารระดับสูง ไปที่สำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำเสนอให้พิจารณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จากวันที่ 18 สิงหาคม 2548 มาจนกระทั่งวันที่ข่าวชิ้นนี้ปรากฏออกมา (29 สิงหาคม 2548) นับเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯลงมา ซึ่งนักวิเคราะห์ทางการเมือง ตลอดจนนักข่าว และคนที่อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน ต่างพากันรู้สึกถึงความผิดปกติในครั้งนี้ ว่าจะต้องมีอะไรที่เป็นอุปสรรคและติดขัด ในบัญชีรายชื่อที่ถูกเสนอขึ้นไป เพราะโดยปกติธรรมดาแล้ว "โผทหาร เมื่อถูกส่งเข้าไปทูลเกล้า ทุกครั้งก็จะออกมาทันที ไม่เคยรอเกินกว่า 48 ชั่วโมง เป็นอย่างมาก ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เล่าให้ฟัง

การไม่มีคำสั่งโปรดเกล้าฯลงมาในครั้งนี้ ประจวบเหมาะกับการที่มีข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้โปรดเกล้ฯาตำแหน่งผู้ว่า สตง. คนใหม่ นายวิสุทธิ์ มนตริวัต ที่ประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ ได้ยอมรับเป็นครั้งแรกต่อหน้าวุฒิสภาว่า ได้ส่งรายชื่อนายวิสุทธิ์ มนตริวัต เข้าไปเป็นเวลา 75 วันแล้ว

แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผย พูดให้ฟังว่า "จริงๆแล้ว เรื่องนี้ท่านราชเลขาฯ (นายอาสา สารสิน) รู้เรื่องนี้แล้ว และได้ไปพบกับนายกรัฐมนตรีฯ เพื่อเล่าให้ฟัง เพื่อให้นายกรัฐมนตรีไปหาทางออกที่ดีต่อกรณีนี้" และนี่คือที่มาของการนัดพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีฯ กับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา

การนัดพบนั้น ได้เริ่มด้วย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นผู้ประสานงานเพื่อให้มีการพบปะกันขึ้นระหว่างคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา กับนายกรัฐมนตรีฯ โดยกำหนดวันที่ 12 สิงหาคม 2548 วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่คุณหญิงจารุวรรณปฏิเสธ เนื่องจาก เป็นวันเฉลิมฯ ก็ได้มีการเลื่อนมาจนกระทั่งเป็นวันที่ 17 สิงหาคม 2548 แต่การพบกันวันนั้น ก็ล้มเลิกไป เพราะคุณหญิงจารุวรรณ ฯ ได้พูดกับนายแพทย์พรหมินทร์ ฯ ถึงข่าวที่ได้รั่วไหลไปถึงหูสื่อมวลชนและเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ในที่สุดก็จบลงด้วย การพูดจากันระหว่างนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงจารุวรรณฯ ทางโทรศัพท์ เนื้อหาของการพูดจานั้น ไม่ได้มีการถ่ายทอดกันเป็นทางการ แต่แหล่งข่าวที่อยู่ภายในอ้างว่า "ท่านนายกฯ บอกคุณหญิงจารุวรรณฯว่า เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้หางานใหม่ให้คุณหญิงจารุวรรณฯ แต่ คุณหญิงจารุวรรณฯ ปฏิเสธ โดยบอกว่า ขออยู่ในตำแหน่งเก่าต่อไป และถ้าจะให้ออกจากตำแหน่งนี้ ขอเพียงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง ก็จะไปทันที"

เนื้อแท้ของการพูดจานั้น จะเป็นอย่างไร เราคงไม่มีวันที่จะรู้ได้ นอกจากเหตุการณ์จะมีการพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ทำให้มีความชัดเจนเกิดขึ้น

วันรุ่งขึ้น วันที่ 18 สิงหาคม ก็เป็นวันที่ บัญชีโยกย้ายแต่งตั้งนายทหารระดับสูงได้ถูกส่งเข้าไปเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย แต่เรื่องนี้ก็เงียบหายไป เหมือนกรณีของการเสนอชื่อ นายวิสุทธิ์ มนตริวัตเช่นกัน

นายทหารนอกราชการที่ไม่ประสงค์จะเอ่ยนาม และเปิดเผยตัว เล่าให้ฟังว่า "ท่านประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการเรียกตัว พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ไปพบที่บ้านสี่เสา เพื่อปรึกษาหารือถึงเรื่องบัญชีรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้าย รายชื่อโผทหารที่ถูกส่งเข้าไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม วันเสาร์ที่ 20 นายกรัฐมนตรี ได้
เชิญว่าที่ ผบ.เหล่าทัพ ที่รัฐบาลได้ส่งรายชื่อเข้าไป เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ไปตีกอล์ฟ เหมือนกับจะยืนยันว่าคนเหล่านี้คือคนที่รัฐบาลเลือกไว้แล้ว

"การที่เชิญว่าที่ผบ.เหล่าทัพ ซึ่งรัฐบาลเป็นคนเลือกมาแสดงตัวต่อสาธารณชน เป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยมารยาทแล้ว นายกฯ หรือว่าที่ ผบ.เหล่าทัพ ไม่ควรจะแสดงออกในลักษณะที่เป็นการละเมิดพระราชอำนาจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยที่พระองค์ท่านยังไม่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งตามที่เสนอขึ้นไป การละเมิดพระราชอำนาจนี้ เคยมีตัวอย่างให้เห็นว่าภรรยา ผบ.เหล่าทัพ บางคน ยังไม่ได้รับพระราชทานให้ดำรงตำแหน่งเป็นคุณหญิง แต่ไปพิมพ์ตำแหน่งตัวเองว่าเป็นคุณหญิงในบัตรที่ตัวเองและสามีเป็นเจ้าภาพงานแต่งงาน และในที่สุดตัวเองก็ไม่ได้เป็นคุณหญิงทั้งๆที่โดยประเพณีแล้ว ภรรยาของ ผบ.เหล่าทัพ มักจะได้พระราชทานตำแหน่งเป็นคุณหญิง" อดีตนายทหารนอกราชการ ที่เคยเป็นระดับผบ.เหล่าทัพ ซึ่งไม่ประสงค์จะออกนามเล่าให้ฟัง

การแสดงตัวโดยการร่วมตีกอล์ฟ ในวันเสาร์ที่ 20 ในครั้งนั้น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ว่าที่ ผบ.ทบ. ไม่ได้ไปร่วมด้วย หากแต่ติดราชการไปดูแลสถานการณ์ทางภาคใต้

การแสดงออกลักษณะนี้ ฝ่ายตรงกันข้ามกับนายกฯ ก็พูดว่า เป็นการกระทำที่เปรียบเสมือน เป็นการกดดันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ

แต่ฝ่ายที่อยู่ข้างเดียวกับนายกฯก็ชี้แจงว่า "ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ก็เป็นการนัดตีกอล์ฟสังสรรค์กันธรรมดา ชอบไปแปลความหมายให้เกินเลย" สมาชิกพรรคไทยรักไทย ระดับอาวุโสคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

จะมองกันอย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องที่จะต้องตีความกันเอาเอง สุดแล้วแต่ปัญญาและความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในเวลาขณะนั้น ก็มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น และทำให้สามารถที่จะเชื่อมโยงกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องของนายวิสุทธิ์ ฯและคุณหญิงจารุวรรณฯ กับเรื่องบัญชีการโยกย้ายแต่งตั้งนายทหารระดับสูงได้อย่างมีตรรกะพอสมควร
นั่นคือ การตีพิมพ์หนังสือ "พระราชอำนาจ" ซึ่งเขียนโดยนายประมวล รุจนเสรี ซึ่งหนังสือเล่มนี้ เคยเป็นข่าวคราวขึ้นมาในหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงการพยายามที่จะไม่ให้มีการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ โดยเดิมทีจะเปิดตัวที่สโมสรราชพฤกษ์ และก็ถูกยกเลิกไปไม่ให้จัด เรื่องนี้ ต่อมา ทางผู้บริหารระดับสูงของสโมสรราชพฤกษ์ ก็ออกมาชี้แจงว่า "ไม่ใช่เป็นเรื่องการเมืองอะไรหรอกครับ เพราะว่าสโมสรนี้ เป็นสโมสรที่เป็นกลาง และเน้นเรื่องการออกกำลังกาย เราไม่อยากให้ภาพลักษณ์ของเราออกมาว่าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆทั้งสิ้น"

แต่อย่างไรก็ตามหนังสือพระราชอำนาจเป็นหนังสือที่นายประมวล รุจนเสรี ผู้ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงราชการได้อธิบายถึงมิติของพระราชอำนาจที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอยู่อย่างชัดเจน และมิติพระราชอำนาจนี้ ที่นายประมวลฯ ได้อธิบายในหนังสือพระราชอำนาจ ก็เผอิญไปมีจุดขัดแย้งกับการประพฤติและการปฏิบัติของรัฐบาลชุดนี้ ที่มีต่อพระราชอำนาจ หนังสือเล่มนี้ได้
รับการกล่าวขวัญกันอย่างมาก และหนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ออกมาในช่วงที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยกับวุฒิสภา ในเรื่องการละเมิดพระราชอำนาจ ในกรณีของคุณหญิงจารุวรรณฯ

ในกรณีคุณหญิงจารุวรรณฯ นั้น โดยระบบแล้วรัฐบาลจะพูดตลอดเวลาว่า เป็นเรื่องของวุฒิสภา รัฐบาลไม่เกี่ยว หากแต่ว่านายกรัฐมนตรี เคยแสดงออกถึงความไม่พอใจที่นายเสนาะ เทียนทองได้รวบรวมรายชื่อ สส.ที่จะยื่นต่อวุฒิสภา ให้ทบทวนพิจารณา กรณีของคุณหญิงจารุวรรณฯ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดพระราชอำนาจ การแสดงความไม่พอใจครั้งนั้น ทำให้สมาชิกพรรคไทยรักไทย
หลายคนไม่กล้าแสดงออก ทั้งๆที่ได้แสดงความเห็นชอบมาแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ก็เลยทำให้มีข้อข้องใจว่านายกรัฐมนตรี ที่แท้จริงแล้ว อยู่เบื้องหลังการขับไล่ไสส่งคุณหญิงจารุวรรณฯหรือไม่ เหตุผลเพราะว่าคุณหญิงจารุวรรณฯ กำลังอยู่ในจุดของการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการใหญ่ ๆ หลายโครงการที่เกี่ยวพันกับรัฐบาลชุดนี้ เช่น โครงการสนามบินหนองงูเห่า โครงการกล้ายาง และอีกหลายๆโครงการ ฯลฯ

สำหรับเรื่องนี้ ก็เป็นเพียงแต่การกล่าวอ้างซึ่งเราไม่มีวันที่จะพิสูจน์ได้เป็นอันขาด ว่าจริงหรือไม่จริง

หนังสือพระราชอำนาจเล่มนี้ ได้ถูกส่งเข้าไปทูลเกล้าถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากแต่ไม่ถึงพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน จนกระทั่งมีการถวายผ่านผู้ที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดจึงถึงพระหัตถ์พระองค์ท่าน

พระองค์ท่านหลังจากทรงได้ทอดพระเนตรแล้ว ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา นำพระกระแสรับสั่งมามอบให้นายประมวล รุจนเสรี และพระกระแสรับสั่งนี้ได้ตีพิมพ์ลงในบทอาเศียรวาท ในหน้าที่ 6 ของหนังสือพระราชอำนาจที่พิมพ์ขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ 2 และพิมพ์เสร็จในวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับ
นายปีย์ฯ "เราอ่านแล้ว เราชอบมาก เขียนได้ดี เขียนได้ถูกต้อง" "เรา" ทรงชี้พระหัตถ์ไปที่พระอุระของพระองค์ "ให้ไปบอกเขาว่าเราชอบมาก"

ในหนังสือพระราชอำนาจนั้น ได้ระบุชัดถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าราชการชั้นสูง ตลอดจนนักการเมือง ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 227 ก็ยังได้ระบุพระราชอำนาจตรงนี้เอาไว้ให้เห็นเด่นชัด

จากวันที่ 18 สิงหาคม มาจนถึงวันนี้ (วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2548) ก็ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯลงพระปรมาภิไธยบัญชีโยกย้ายแต่งตั้งนายทหารระดับสูง

นอกจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เสียงแปร่งๆ ถึงเรื่องการโปรดเกล้าฯว่าคงจะมีการโปรดเกล้าเร็วๆนี้ นายวิษณุ เครืองาม ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ เมื่อถูกถามเรื่องโผทหาร ก็รีบตีกรรเชียงหนีทันที โดยบอกว่าไม่ทราบเรื่องซึ่งผิดวิสัย เพราะนายวิษณุ เครืองาม นั้น มักจะทราบอยู่ทุกเรื่อง และสามารถจะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในทุกกรณีที่รัฐบาลต้องการจะทำอยู่ตลอดเวลา

ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะถูกทำให้สับสนมากขึ้น ในเรื่องพระราชอำนาจ เมื่อแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ออกมาให้สัมภาษณ์ เรื่องการโปรดเกล้าฯโผทหาร โดยพูดว่า ถ้าตัวเองได้เข้าเฝ้าแล้วกราบบังคมทูลเรื่องก็จบไปแล้ว ที่มันล่าช้าเพราะมันผ่านขั้นตอนที่ไม่ควรจะผ่านนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อ

คำพูดเช่นนี้ ก็เลยทำให้บางฝ่ายบางพวกตีความไปว่า "ที่นายกฯพูดแบบนี้ก็แปลได้เหมือนกันว่า ถ้านายกฯ เข้าไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ต้องลงพระปรมาภิไธย และที่พูดว่าไปล่าช้าตรงนั้นตอนนั้น น่าจะหมายถึง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม" นายทหารยศพลเอกนอกราชการคนเดิมเล่าให้ฟังเพิ่มเติม

ผลที่ตามนี้ในเชิงปฏิกิริยาตอบรับจากพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือการปิดบ้านไม่ให้มีการเข้าไปอวยพรวันเกิดวันที่ 26 สิงหาคม 2548 เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา

จะอย่างไรก็ตาม พล.อ. ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้ซึ่งเป็นญาติผู้พี่นายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้ด้วยความมั่นใจว่า "โผทหารไม่มีเปลี่ยน นายกฯ เซ็นแล้ว ใครจะกล้าเปลี่ยน"

คำพูดนี้ตอกย้ำถึงความเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้มองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเพียงตรายางโดยไม่ใส่ใจในพระราชอำนาจ ที่

พระองค์ท่านทรงมีในนิติราชประเพณี ยังไม่รวมถึงการหลงลืมว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงเป็นจอมทัพไทย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา227 ก็ยังให้อำนาจพระองค์ท่านในการแต่งตั้งอยู่เต็มที่

มาจนวันนี้ ข่าวลือต่าง ๆในแวดวงทหารนับวันมีแต่ถูกกระพือเพิ่มขึ้น และไม่เป็นประโยชน์ต่อนายกรัฐมนตรี
และตำแหน่งหนึ่งซึ่งเป็นตำแหน่งซึ่งเป็นปัญหามากที่สุด "การแต่งตั้ง พล.อ.อ. ระเด่น พึ่งพักตร์ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศนั้น เป็นการไม่เคารพองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะว่าพล.อ.อ.ระเด่นฯ นั้น ถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินชี้มูลความผิดจากการตรวจสอบในเรื่องการซ่อมเฮลิคอปเตอร์มูลค่า 90 ล้านบาท และเรื่องได้ถูกส่งต่อมายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ถึงแม้เรื่องยังอยู่ใน ปปช. แต่ต้องถือว่ามีมลทิน จะต้องรอพิสูจน์มลทินก่อนการเสนอชื่อ พล.อ.อ.ระเด่นฯ ที่เสนอโดยพล.อ.อ. คงศักดิ์ วันทนา อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำให้กองทัพอากาศโดยรวม ตลอดจนสังคม มองว่ามีการกระทำกันโดยไม่แยแสกระแสพระราชดำรัสในเรื่อง "อย่าเอาคนชั่วขึ้นมาดำรงตำแหน่ง" พล.อ.นอกราชการกล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ได้เสนอชื่อเพื่อนตัวเองพล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด มาขึ้นแทนตัวเอง อันเป็นการผิดธรรมเนียมประเพณีของการแต่งตั้ง ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

"ความจริงแล้วตอนแรกท่านนายกฯได้ตัดสินใจไม่ผิดในตอนแรกในเรื่องตำแหน่งเหล่านี้ โดยท่านเองเห็นว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น ควรจะเป็นของ พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ซึ่งท่านเองก็บอกว่าเป็นคนทำงานเก่งมีวิสัยทัศน์ สามารถพัฒนากองทัพไทยไปข้างหน้าได้ดี แต่พอพี่ชายท่าน พล.อ. ชัยสิทธิ์ ชินวัตร กลับจากสิงคโปร์ มาพบท่านพูดเรื่องนี้ ก็เลยเปลี่ยนจาก พล.อ.บุญสร้างฯ มาเป็น พล.อ.เรืองโรจน์ฯ เพื่อนพี่ชายท่านแทน ส่วนตำแหน่งของผู้บัญชาการทหารอากาศนั้น ท่านนายกฯ เองก็บอกว่า เสนาธิการทหารอากาศ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณณศรี เป็นคนเก่ง และทำหน้าที่ดูแลจัดการกองทัพอากาศให้เรียบร้อยมาตลอดเวลาควรจะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศได้ เผอิญ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา นั้น มีภรรยาซึ่งเป็นคนสนิทของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ก็เลยมีการเสนอชื่อ พล.อ.อ. ระเด่นขึ้นมาแบบที่เรียกว่าประกบติดตัว ถึงกับมีการเน้นกับพล.อ.ธรรมรักษ์ จากคนบางคนที่อ้างคนในบ้านจันทร์ส่องหล้าว่า โผกองทัพอากาศห้ามเปลี่ยน มันก็เลยกลายเป็นว่า โผทหารปีนี้เป็นโผของครอบครัวและคนใกล้ชิด" นายทหารระดับสูงที่อยู่ในกระบวนการเสนอชื่อและแต่งตั้งเล่าให้ฟัง

ถ้าคำพูดข้างบนเป็นความจริง ก็แสดงว่านายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นั้น ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเลยในการทำงาน ทั้งๆที่ ถ้าพูดถึงแนวความคิดที่เป็นของตนเองนั้นก็เป็นแนวความคิดที่ถูกต้องและทุกฝ่ายยอมรับ

กองทัพอากาศกำลังอยู่ในช่วงของการพิจารณาซื้อเครื่องบินโดยต้องเลือกระหว่างจากประเทศรัสเซีย หรือสวีเดน
คนส่วนใหญ่ในกองทัพอากาศไม่ต้องการเครื่องบินรัสเซีย เพราะมีปัญหาทางเทคนิค และการฝึกอบรม การดูแลรักษามากมายมหาศาล

ว่ากันว่า มีเงินค่าคอมมิชชั่นในการซื้อเครื่องรัสเซีย ซึ่งยอดการซื้ออยู่ในวงเงิน 4 หมื่น 3 พันล้านบาท ค่าคอมมิชชั่น 3 พัน 5 ร้อยล้านบาท ส่วนค่าคอมนี้จะตกอยู่ที่มือใครบ้างก็ไม่สามารถจะทราบได้ ทราบแต่ว่า พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี นั้นในฐานะ เสธ.ทอ. เป็นผู้ที่คัดค้าน
และไม่เห็นด้วย กับการซื้อเครื่องรัสเซีย และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ พล.อ.อ.ธเรศฯ นอกจากจะไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศแล้ว ยังถูกเสนอให้ย้ายออกนอกหน่วยไปเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมอีกต่างหาก

บัญชีรายชื่อโยกย้ายแต่งตั้งครั้งนี้ จึงถูกเสนอขึ้นมาด้วยกระบวนการแสดงออกทุกวิถีทางว่า โผนี้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเมื่อไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งลงมา ซึ่งผิดวิสัยการแต่งตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ที่ระยะเวลาการแต่งตั้ง ที่ล่าช้าแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ การโยกย้ายแต่งตั้งของไทย ก็เลยทำให้นัยของเรื่องนี้มีความลึกซึ้งมากกว่าแค่โผทหารเท่านั้น

แหล่งข่าวจากวงการทหารเล่าให้ฟังว่า ได้มีการปรับโผให้พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรีขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศแทน "แต่ทางฝ่ายนายกฯไม่ยอม เพราะอ้างว่าถ้าปรับ ก็จะถือว่าจะแพ้ทางการเมือง ผมก็ไม่เข้าใจว่าแพ้ทางการเมืองเป็นยังไง กับพระเจ้าอยู่หัว ยังจะมีการแพ้การชนะด้วยหรือ" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

ยิ่งพล.อ.ชัยสิทธิ์ฯมากล่าววจีว่า "...ใครจะกล้าเปลี่ยน" ยิ่งทำให้อุณหภูมิรอบตัวนายกฯร้อนขึ้นมาอย่างกะทันหัน

อาทิตย์นี้ เราคงจะเห็นการออกมาแก้ข่าวกันอุตลุต หรือไม่ก็จะมีความเงียบอย่างผิดสังเกตจากคนทางฝ่ายนายกรัฐมนตรีความกดดันจากการโยกย้ายแต่งตั้งตำแหน่งครั้งนี้ คงทำให้นายกฯอาจจะต้องปรับเปลี่ยนท่าที และในที่สุด อาจจะมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นตัวของตัวเองในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ถ้าหากนายกฯยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีดังกล่าวเหตุการณ์ก็จะถูกพัฒนาไปในทิศทางที่ไม่อาจจะคาดการณ์ได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น