xs
xsm
sm
md
lg

อภิรักษ์ถูกรัฐบาลล้วงลูก?

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

เห็นข่าวคุณรัตนา สัจจเทพ พร้อมทั้งลูกชายลูกสาวและหลานพากันมาปักหลักประท้วงที่ลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รู้สึกเห็นใจและสลดใจ

เห็นใจที่ถูกเจ้าของหมู่บ้านหลอกขายบ้านที่ปลูกในลักษณะซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย แต่มีการออกโฉนดโดยกรมที่ดิน และการได้รับอนุญาตถูกต้องจากเขต

เห็นใจที่ได้ต่อสู้อย่างทรหดมายาวนานถึง 11 ปี ต้องผจญกับการกลั่นแกล้ง การใช้กฎหมายดำเนินคดีจนเดือดร้อนกันทั้งครอบครัว

สลดใจที่การร้องเรียนผ่านผู้ว่าฯกทม.หลายยุค และมีหน่วยราชการหลายแห่งรับรู้ แต่ก็ไม่มีใครช่วยครอบครัวคุณรัตนาได้

แม้ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พิจารณาคำร้องเรียนและได้แถลงผลการตรวจสอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 อย่างชัดเจนโดยสรุปว่า

"บริษัทไทยเอราวัณ แลนด์ แอนเฮ้าท์ จำกัด จึงเป็นตัวการแท้จริง ที่กระทำการโดยไม่สุจริต ฝ่าฝืนกฎหมายและเอาเปรียบผู้บริโภค และเป็นต้นเหตุให้นางสาวรัตนาฯ ตกอยู่ในฐานะผู้รับเคราะห์กรรม บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งปวงที่นางสาวรัตนาฯ ได้รับ.."

"ดังนั้น การที่กรุงเทพมหานครเห็นว่า บ้านเลขที่ 19/556 ของนางสาวรัตนาฯ ปลูกสร้างโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2533
และมีคำสั่งให้รื้อถอนภายใน 30 วันนั้น ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมแก่นางสาวรัตนาฯ เป็นอย่างยิ่ง เพราะสาเหตุแท้จริงของปัญหาเกิดจากความบกพร่องของข้าราชการที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เพียงแต่ลงโทษข้าราชการชั้นผู้น้อยตามคำสั่งลงโทษที่ 4099/2544 และ 4011/2544 โดยไม่มีการดำเนินการทางวินัยต่อผู้บังคับบัญชาในระดับบริหารของสำนักงานเขตบึงกุ่ม ทั้งๆ ที่ต้องมีส่วนร่วมในความรับผิดดังกล่าวด้วย..."

"ผลของการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และนางสาวรัตนาฯ
พร้อมครอบครัวในฐานะผู้บริโภค เนื่องจากเมื่อปล่อยเวลาให้เนิ่นช้าออกไปจนไม่อาจดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดได้เพราะคดีขาดอายุความ..."

"การที่กรุงเทพมหานครไม่ตรวจสอบเรื่องราวเพื่อค้นหาความจริงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่นางสาวรัตนาฯ แต่กลับดำเนินคดีกับนางสาวรัตนาฯ
ทั้งในทางอาญาและสั่งให้รื้อถอนบ้านเป็นการซ้ำเติมให้นางสาวรัตนาฯ ได้รับความเดือดร้อนยิ่งขึ้นโดยกลไกของกฎหมาย..."

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้ระบุว่า

"จากการตรวจสอบพบว่า กรุงเทพมหานครบังคับใช้กฎหมายอย่างตายตัว ไม่พิจารณาถึงที่มาของปัญหา ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ พบว่ามีสาเหตุจากความไม่สุจริตของบริษัทฯ เจ้าของโครงการบ้านจัดสรรหมู่บ้านชื่นสุขและผู้ขาย และเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการกรุงเทพมหานครและกรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาโดยมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเลขที่ 19/556 ของนางสาวรัตนาฯ โดยไม่แสวงหามาตรการแก้ไขปัญหาที่เป็นการเยียวยาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่นางสาวรัตนาฯ ผู้สุจริต"

ก็ขนาดผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญน่าจะสิ้นสงสัยว่า ใครผิดและไม่น่าปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อ

จนต้องประท้วงด้วยการทาบ้านทั้งหลังด้วยสีดำให้เป็นข่าว ทำให้สังคมหันมาสนใจเรื่องนี้อีกครั้ง และพากันสงสัยว่าทำไมเรื่องไม่จบเสียที

คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันก็เดินทางไปดูและรับปากว่าจะเร่งแก้ปัญหากรณีบ้านเจ้าปัญหาหลังนี้

ช่วงนั้นผมเชื่อว่าทุกคนคงเบาใจ หวังว่าคุณอภิรักษ์ซึ่งเป็นหนุ่มนักบริหารจะจัดการปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างลุล่วง

จะได้ช่วยเหลือคลายทุกข์ผู้ที่รับผลกรรมจากการดำเนินงานของกลไกราชการกทม.เอง และจะตามมาด้วยคะแนนนิยมทางการเมืองว่าเรื่องนี้ปลดทุกข์ได้ โดยผู้ว่ากทม.ของพรรคประชาธิปัตย์

แต่ดูแล้วการแก้ปัญหายังถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบราชการ และการอิงกับระเบียบ ยิ่งกลุ่มคนที่เป็นต้นตอของปัญหาเมื่อ 11 ปีก่อน ปัจจุบันก็เติบโตทางอำนาจหน้าที่

ถ้าจะสอบเอาคนผิดให้ได้ ฝ่ายกฎหมายของกทม.ปัจจุบันจะทำได้แค่ไหน

ส่วนความเห็นใจจากผู้ว่าอภิรักษ์ หรือกระทั่งหมู่บ้านหลายแห่งจะหาบ้านให้อยู่ มันก็เหมือนการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์

คุณรัตนาจึงไม่ยอมรับการช่วยเหลือลักษณะนี้ ไม่ว่าจะใช้เงินจากงบราชการหรือรับบริจาคจากผู้มีใจเมตตาก็ตาม

เพราะสถานะของบ้านที่ถูกประทับตราว่าสร้างผิดกฎหมายและจะต้องถูกบังคับรื้อทิ้งนั้น เกิดขึ้นเพราะเจ้าของหมู่บ้านฉ้อฉลหลอกขาย โดยมีข้าราชการสมรู้ปล่อยปละละเลยหรืออาจได้ผลประโยชน์ด้วย

การเรียกร้องของคุณรัตนาขณะนี้จึงอยู่ที่่การให้ทางกทม.ยอมรับว่า เกิดความผิดพลาดในการออกโฉนดและการอนุญาตให้ก่อสร้างบ้าน เพื่อปลดล็อกการเอาผิดแก่เธอ

มิฉะนั้นแม้จะมีการช่วยเหลือหาบ้านหลังใหม่ชดเชยให้ แต่ความผิดเก่าที่ยังคาอยู่จะทำอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปล่อยเรื่องยืดเยื้อจนมีการตั้งคณะกรรมการร่วม โดยมีรองนายกรัฐมนตรีพินิจ จารุสมบัติในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตัวแทนจากรัฐบาล กทม. คณะกรรมการสิทธิฯ และสภาทนายความ มาตรวจเรื่องนี้

ก็คล้ายการเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทั้งๆ ที่มีผลสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ พร้อมอยู่แล้วตั้งแต่กรกฎาคม 2546

เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรที่จะต้องมาเสียเวลาบุคลากรหลายฝ่ายให้ยุ่งยากไปทำไม

ผู้ว่าฯ อภิรักษ์น่าจะจัดการให้จบ โดยไม่น่าจะต้องถึงขั้นให้รัฐบาลลงมาช่วยแก้ปัญหา ชิงโอกาสสร้างคะแนนนิยมได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น