xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อภาพยนตร์ไทย "โก อินเตอร์"

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ในขณะที่ "ต้มยำกุ้ง" กำลังกอบโกยรายได้จากตลาดภาพยนตร์ของเมืองไทยได้มากจนน่าอัศจรรย์ใจนี้เอง คุณสุรศักดิ์ สรรพิทักษ์ รองเลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ก็ได้นำเสนอข้อมูลว่าในช่วงครึ่งปี 2005 นี้เอง บริษัทภาพยนตร์ไทยจำนวน 12 แห่งได้นำภาพยนตร์ไทยจำนวน 55 เรื่องไปออกบูธ ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ในฝรั่งเศส เพื่อจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในตลาดต่างประเทศ

คุณสุรศักดิ์เปิดเผยด้วยว่าในช่วงเดียวกันนี้เอง ภาพยนตร์ไทยสามารถจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในตลาดต่างประเทศได้มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยรายได้สำคัญที่สุดเกิดขึ้นจากการจำหน่ายลิขสิทธิ์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ซึ่งผลลัพธ์จากการจำหน่ายมีมูลค่าราว 960 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่จำหน่ายลิขสิทธิ์ได้เพียงประมาณ 160 ล้านบาท ว่ากันว่า ตัวเลขชนิดนี้ทำให้เมืองไทยขึ้นชั้นเทียบรุ่นในฐานะ "ผู้ส่งออก" คู่เคียงกับฮ่องกงและเกาหลีแล้ว

รองเลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติบอกด้วยว่า ตลาดหลักที่ให้ความสนใจซื้อลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ไทยอย่างต่อเนื่องมาจากยุโรปร้อยละ 70 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 มาจากสหรัฐอเมริกาและเอเชีย ในปัจจุบัน มูลค่าตลาดของภาพยนตร์โลกมีมากกว่า 4,000 ล้านเหรียญอเมริกัน หรือประมาณ 1.6 แสนล้านบาท รวมความแล้ว เมืองไทยมีส่วนแบ่งในตลาดดังกล่าวไม่ถึงร้อยละหนึ่ง

กระนั้นก็ตาม การจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์นั้นก็เรื่องหนึ่ง การนำไปฉายจริงในต่างประเทศจะเกิดขึ้นจริงมากน้อยเพียงใด และได้รับการต้อนรับจากตลาดนั้นๆ สักเพียงใด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งล้วนมีนัยอันลึกซึ้งต่อโอกาสของการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยในตลาดต่างประเทศในอนาคตทั้งสิ้น

ในอีกด้านหนึ่ง ในช่วงครึ่งปีนี้ มีภาพยนตร์ออกฉายในตลาดไทยจำนวน 168 เรื่อง ทำรายได้ทั้งสิ้นประมาณ 2.6 พันล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นภาพยนตร์ไทยเพียง 18 เรื่อง ซึ่งทำรายได้ราวๆ 250 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 9 ของมูลค่าตลาดทั้งหมดเท่านั้น
แม้ว่าตัวเลขข้างต้นนั้นจะเป็นเพียงส่วนย่อยๆ ซึ่งไม่สามารถแสดงภาพรวมของมูลค่าทางการเงินทั้งหมดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย ส่วนแบ่งตลาดของภาพยนตร์ไทยในตลาดของตนเอง รวมทั้งในตลาดต่างประเทศอย่างสมบูรณ์นัก ทว่ามันก็เป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงโครงสร้างของธุรกิจภาพยนตร์ของเมืองไทยได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งคู่ควรแก่การทำความเข้าใจให้แม่นยำชึ้นว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น

ปรากฏการณ์ที่เห็นกันชัดเจนด้วยตาเปล่า โดยไม่ต้องวิเคราะห์ในรายละเอียดมากไปกว่าในที่นี้ก็คือ ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดเล็กๆ ภายในบ้านของตนเองไม่ถึงร้อยละ 10 ส่วนแบ่งของภาพยนตร์ไทยในตลาดโลกกำลังขยายตัวขึ้นอย่างเชื่องช้า ซึ่งการคำนวณมูลต่าที่ถูกต้องและแม่นยำยังไม่ใช่ว่าจะกระทำได้ง่ายๆ

เพราะเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยธุรกิจภาพยนตร์โลกนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างลี้ลับมาโดยตลอด ตัวเลขต่างๆ ที่เราได้รู้ได้เห็นกันเป็นส่วนมากนั้นมักจะถูกซอยออกเป็นส่วนย่อยๆ ยากแก่การนำไปปะติดปะต่อให้ภาพที่แท้จริง อีกทั้งเป็นตัวเลขที่มักจะได้มาจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างๆ เองเป็นสำคัญ ไม่ใช่ตัวเลขที่ได้รับการยืนยันจากสถาบันที่มีข้อมูลครบถ้วนและเป็นกลาง

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ข้อมูลที่ว่าภาพยนตร์ไทยสามารถจำหน่ายลิขสิทธิ์สู่ตลาดต่างประเทศได้มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนั้นยังเป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่มีคำอธิบายสมบูรณ์ว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่นี้ นักธุรกิจในวงการภาพยนตร์ไทยก็พากันหันไปให้ความสนใจกับการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ของตนในตลาดต่างประเทศกันยกใหญ่ จนกระทั่งกลายเป็นกระแสแล้ว ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้ไม่ยาก นั่นก็คือ มูลค่าของการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ของตนในต่างประเทศนั้นดูเหมือนว่าจะสูงกว่าส่วนแบ่งรายได้ที่ตนอาจจะได้รับจากตลาดภาพยนตร์ภายในประเทศนั่นเอง

หากว่าข้อสรุปดังกล่าวนี้ไม่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงมากมายนัก นี่ก็หมายความว่านับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ผู้ผลิตภาพยนตร์ในเมืองไทยจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานใหม่กันอย่างเกือบสิ้นเชิงเลยทีเดียว

พูดให้สุดโต่ง จุดเน้นใหม่ที่อาจจะบังเกิดขึ้นก็คือ จากนี้ไป แทนที่จะทำภาพยนตร์สำหรับตลาดในประเทศล้วนๆ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม แล้วก็ถือว่าการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ของตนในตลาดต่างประเทศนั้นเป็น "ของแถม" ที่เกิดขึ้นตามมาเองในภายหลัง กระบวนการในการตัดสินใจทำภาพยนตร์ต่อไปนี้อาจจะต้องกลับหัวกลับหางใหม่เสียแล้ว นั่นก็คือ การใช้อุปสงค์ในต่างประเทศเป็นหลักในการตัดสินใจ โดยถือว่าตลาดภายในประเทศเป็น "ของแถม" เนื่องจากเป็น "ตลาดรอง" ก็ได้!

นัยที่แฝงมากับการกลับหัวกลับหางดังกล่าวนี้คงจะมีมากมายหลายด้านด้วยกัน

ประการที่หนึ่ง หากจะเน้นการผลิตเพื่อตลาดในต่างประเทศเป็นอันดับแรก รูปแบบและเนื้อหาของภาพยนตร์ (ไทย) จะต้องสอดคล้องกับความคาดหมายของตลาดในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง "รสนิยมพื้นฐาน" ได้ถูกกำหนดไว้โดยฮอลลีวูดนานมาแล้ว

เช่น จะต้องเน้นการเคลื่อนไหว (action) ซึ่งเป็น "ภาษาสากล" ประเภทที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี โดยไม่คำนึง "ความรู้" และ "ประสบการณ์" ใดๆ ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เน้นคำพูด (words) อันเป็นวัฒนธรรมเฉพาะ (culture-specific) ข้อสังเกตนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นคำอธิบายสำหรับ "ความสำเร็จ" ในหลายสิบประเทศของ "ต้มยำกุ้ง"

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อสรุปแบบกว้างๆ เท่านั้น ในความเป็นจริง กระแสความสนใจในภาพยนตร์ของต่างประเทศในระยะหลังๆ มานี้อาจจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ ก็ได้ เช่น (1) ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งผ่านการศึกษาจากโลกตะวันตกมาพอสมควร จนสามารถทำภาพยนตร์ที่เข้ากับรสนิยมของประเทศต่างๆ ในกลุ่มนั้นได้ดีขึ้น (2) มาตรฐานทางเทคนิคของภาพยนตร์ไทยจำนวนมากสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน (3) บางมิติของวัฒนธรรมไทยอย่างอาหารได้รับความสนใจในต่างประเทศมากขึ้น จึงทำให้เกิดความสนใจในภาพยนตร์ไทยมากขึ่นตามมาด้วย (4) ในระยะที่ผ่านๆ มา เมืองไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านไปๆ มาๆ มากขึ้น จนกระทั่งเกิดความผูกพันกับเมืองไทยในบางระดับ จนกระทั่งกลายเป็น "ตลาดใหม่" สำหรับภาพยนตร์ไทยในประเทศของตน และ (5) ราคาค่าลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ไทยอาจจะค่อนข้างต่ำ สามารถนำไปฉายในหมู่คนจำนวนน้อยได้โดยไม่ค่อยมีความเสี่ยงทางธุรกิจเท่าไรนัก

ประการที่สอง การวางระบบทางธุรกิจของภาพยนตร์ไทยที่มุ่งตลาดต่างประเทศจำเป็นต้องมีความรู้ในประเด็นต่างๆ ที่ยกมาข้างต้นนั้นอย่างแม่นยำ มิฉะนั้น นักธุรกิจที่จะส่งภาพยนตร์ของตนไปจัดจำหน่ายในต่างประเทศก็จะเสียเปรียบ ไม่สามารถกำหนดราคาลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับศักยภาพที่แท้จริงในการผลิตรายได้ในแต่ละประเทศได้อย่างถูกต้อง

นอกจากข้อมูลชนิดนี้แล้ว ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยสำหรับตลาดโลกยังจะต้องแสวงหาและผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลก ทวีป ภูมิภาค กลุ่มวัฒนธรรมและภาษาต่างๆ รวมทั้งข้อกฎหมายที่กำกับธุรกิจภาพยนตร์ในแต่ละตลาดเป็นอย่างดีด้วย

องค์ความรู้ประเภทนี้คือ "กรอบแห่งการอ้างอิง" สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะทำหน้าที่เป็นข้อพิจารณาสำคัญในการวางแผนการผลิตและการตลาดภาพยนตร์ของตนได้ตรงกับเป้าหมายทางการตลาด รวมทั้งการคำนวณราคาต่างๆ ได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางธุรกิจมากขึ้น แทนที่จะเป็นการขายๆ ไปเพราะสักแต่ว่าได้เงินที่เป็น "ของแถม" ที่ไม่เคยได้กันมาก่อนเท่านั้น

ข้อสังเกตก็คือ ภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่ออกจะแปลก ค่าใช้จ่ายที่สำคัญที่สุดจะตกอยู่ที่การผลิต "ก๊อบปี้แรก" หลังจากนั้น แต่ละก้อปปี้ก็จะมีราคาเพียงเล็กน้อยๆ เพราะฉะนั้น การขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไปสู่ตลาดใหม่ๆ อื่นๆ ภายนอกประเทศ จึงถือว่าเป็นกำไรเกือบล้วนๆ อยู่แล้ว

ด้วยเหตุผลทางการเงินข้อนี้เอง ภาพยนตร์จึงเป็นธุรกิจกิจข้ามชาติประเภทแรกๆ ของโลก และสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันที่เรียกรวมๆ ว่าฮอลลีวูด จึงมีการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองปกป้องผลประโยชน์ของตนในโลกอย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งฮอลลีวูดกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในกลุ่ม Fortune 500 มาโดยตลอด และเป็นหนึ่งในบรรดาอุตสาหกรรมที่สามารถผลิต "ส่วนเกินทางการค้า" (trade surplus) มากที่สุดของสหรัฐอเมริกา จะเป็นรองก็อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินเท่านั้น

ประการที่สาม ถึงแม้ว่ารายได้จากการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ในต่างประเทศจะมีมากกว่ารายได้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากรายได้ในตลาดของไทยเองอย่างไรก็ตาม รายได้ภายในประเทศก็ยังคงสำคัญมากอยู่ดี การตัดสินใจทำภาพยนตร์แต่ละเรื่องจึงคงจะไม่สามารถมุ่งตลาดต่างประเทศล้วนๆ ได้ และนั่นอาจจะเป็นแนวทางที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงก็ได้ เพราะลงท้ายแล้ว การจงใจผลิตภาพยนตร์แบบ "ไร้สัญชาติ" เช่นนี้คงจะสู้ฮอลลีวูดไม่ได้อยู่ดี

จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็ในบางกรณีที่พิเศษจริงๆ เช่น "องค์บาก" และ "ต้มยำกุ้ง" ที่เน้นศิลปะการต่อสู้ของจา พนมยีรัมภ์เท่านั้น

แน่ละ ทางออกอีกอย่างหนึ่งก็คือการผลิตจา พนม ยีรัมภ์เพิ่มขึ้น ภาพยนตร์ไทยจะได้มีดาราที่มี "ยี่ห้อ" เป็นทางเลือกสำหรับการทำตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคนๆ เดียว ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูง

เอาเข้าจริง ภาพยนตร์ก็คือสินค้าทางวัฒนธรรม ที่ "คุณค่า" ของมันย่อมต้องผูกติดกับประเทศนั้นๆ ไม่มากก็น้อย การที่จะทิ้ง "ความเป็นไทย" ไปเลยน่าจะเป็นแนวทางที่จะชักนำให้หลงทางกันใหญ่ "จุดสมดุล" น่าจะเป็นการนำเสนออะไรๆ แบบไทยๆ ที่ทำให้โลกตะลึงกับความพิลึกกึกกือมาแล้ว ในรูปแบบที่ค่อนไปทางฝรั่งเสียมากกว่า

ประการที่สี่ ในเมื่อจะให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว องค์กรทางธูรกิจของภาพยนตร์ไทยที่จะทำหน้าที่ในต่างประเทศก็คงจะต้องเข้มแข็งยิ่งขึ้น ต้องมีการลงทุนร่วมกันให้องค์กรกลางทำหน้าที่กลางๆ ทุกประการที่จะทำให้ผู้เป็นสมาชิกได้รับผลประโยชน์ร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยลดการแข่งขันกันเองลงให้มากที่สุด เช่น ในการตั้งราคา เป็นต้น ในที่สุดแล้ว เมื่อตลาดในต่างประเทศพัฒนาไปไกลกว่านี้ หน้าที่อีกส่วนหนึ่งขององค์กรกลางนี้อาจจะรวมไปถึงการจัดตั้งบริษัทตัวแทนขนาดเล็กๆ ในตลาดต่างประเทศที่สามารถทำการค้าได้แบบถึงลูกถึงคนมากขึ้น เช่น การจัดจำหน่ายภาพยนตร์หลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ ด้วยการวางระบบแบ่งรายได้จากการฉายจริงๆ แทนที่จะรับค่าลิขสิทธิ์แบบเหมาจ่ายแบบง่ายๆ เป็นต้น

ประการที่ห้า ข้อพิจารณาที่สำคัญก็คือการทำภาพยนตร์แต่ละเรื่องคงจะต้องมียอดลงทุนต่อหน่วยมากขึ้น จากประสบการณ์ของฮอลลีวูด การทุ่มลงทุนในภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องจะก่อให้เกิดภาพยนตร์ที่มี "ศักยภาพ" ที่จะทำเงินได้สูงกว่าการกระจายการลงทุนในภาพยนตร์เล็กๆ หลายๆ เรื่องแบบเบี้ยหัวแตก

หลักการใหญ่ก็คือ ยิ่งมีภาพยนตร์ดีๆ น้อยเรื่องเท่าไร การบริหารบัญชีก็จะง่ายขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ฮอลลีวูดผลิตภาพยนตร์หลายร้อยเรื่องต่อปี ทว่าในปัจจุบัน กลับผลิตเพียงไม่ถึงร้อยเรื่องต่อปี ทว่ารายได้ในเชิงเปรียบเทียบกลับมากกว่าเดิม และในขณะเดียวกันเป็นการ "เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน" ด้วย เพราะภาพยนตร์ที่ลงทุนมากๆ อย่างชาญฉลาดนั้นจะมีเสน่ห์ในฐานะที่เป็นสินค้าสูงมากจนกระทั่งภาพยนตร์ที่ทำขึ้นมาอย่างง่ายๆ ถูกๆ ไม่สามารถแข่งขันได้ในทางการตลาด

ประการที่หก ความสำเร็จใดๆ ของภาพยนตร์ไทยเท่าที่ผ่านมาคงถือได้ว่าเป็นความสามารถของผู้กำกับและทีมงานภาพยนตร์เก่งๆ ของเมืองไทยที่มีกันไม่กี่คน ด้วยการสนับสนุนของนายทุนที่มองการณ์ไกลเกือบล้วนๆ โดยที่รัฐแทบจะไม่ได้มีบทบาทในทางสร้างสารรค์เท่าไรนัก ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ ตัวแทนของวงการภาพยนตร์ก็คงจะต้องมีความรู้เท่าทันมากขึ้นว่าตนต้องการการสนับสนุนชนิดใดจากรัฐบ้าง เพื่อให้การทำธุรกิจของตนสามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น แล้วก็จัดการร้องขออย่างจริงจังและชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้กลไกของรัฐเก็บภาษีเพียงอย่างเดียวโดยแทบไม่ทำอะไรในทางสร้างสรรค์

ตัวอย่างเช่น หลักเกณฑ์การตรวจสอบภาพยนตร์ไทยแบบอึมๆ ครึมๆ ที่กล่าวถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศแบบที่ตีความกันแคบๆ กันในหมู่คนไม่กี่คนนั้น ควรจะสังคายนากันด้วยการตีความกันใหม่ทั้งหมด เพราะหลักเกณฑ์ที่เกิดจากยุคอาณานิคมเก่าแบบนั้น ได้ตกสมัยไปอย่างสมบูรณ์แล้วในยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันนี้

และประการที่เจ็ด ในส่วนของภาคประชาชน ในฐานะผู้บริโภคภาพยนตร์ไทย ก็คงต้องคอยจับตาดูพัฒนาการต่างๆ ของภาพยนตร์ไทยนับตั้งแต่นี้ไปว่าจะผลิตผลงานชนิดใดออกมาบ้าง มีคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรมมากน้อยสักเพียงใด และวางระบบที่จะกดดันให้วงการภาพยนตร์ไทยผลิตผลงานบางประเภทที่มีคุณค่าสูงบางด้านมากขึ้นด้วย ไม่ใช่ยอมรับสภาพง่ายๆ ด้วยการสมยอมดูๆ ภาพยนตร์อะไรๆ อย่างที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยไม่มีการตั้งคำถามใดๆ เป็นต้น

เรื่องที่ออกจะประหลาดก็คือ เท่าที่ผ่านมา ผู้บริโภคภาพยนตร์ไทยคือกลุ่มที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียง จนบางครั้งมีภาพยนตร์ที่มุ่งขายกามารมณ์แบบเถื่อนๆ หรือความรุนแรงที่ไร้เหตุผลต่างๆ ทว่าก็ไม่เคยมีใครออกมาต่อว่าอะไร เสมือนว่าเป็นเขตอาณาธิปไตยอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย

เช่นเดียวกับวงการอื่นๆ ที่ถูกชักจูงเข้าไปวนเวียนในวงจรของโลกาภิวัตน์มากยิ่งขึ้นทุกที วงการภาพยนตร์ไทยดูเหมือนว่ายังต้องทำอะไรใหม่ๆ กันอีกมากพอสมควร กว่าที่จะเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างรู้เท่าทันโลก ทั้งนี้ เป้าหมายรวมๆ คงจะอยู่ที่ความสามารถที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายได้จนถึงขั้นที่มีผลกำไร ซึ่งไม่เฉพาะแต่ในด้านการเงินเท่านั้น ทว่าในด้านศิลปะ วัฒนธรรม และเกียรติภูมิด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น