xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งยึดมั่นของธุรกิจจีน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

บางที ในการนำเสนอเรื่องราวของจีนของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจการเมืองซึ่งค่อนข้างไกลตัวผู้อ่าน หรือกระทั่งเรื่องบริษัทธุรกิจที่ใกล้ตัวเข้ามาสักหน่อย ผู้เขียนรู้สึกอึดอัดแบบค้างคาใจอยู่เนืองๆ เนื่องจากพบว่า ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยยังไม่อาจเข้าใจใน "ธรรมชาติ" หรือความเป็นจริงของจีนได้มากนัก

อาจเป็นเพราะเรื่องจีนเข้าใจยาก เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ โบราณ มีความซับซ้อน เกินกว่าที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ แม้แต่นักศึกษาเรื่องจีนเองก็เข้าใจไปในทางที่แตกต่างกัน ไม่ตรงกัน มีการถกเถียงกันอยู่เสมอ เช่น จีนเป็นทุนนิยมหรือสังคมนิยมกันแน่

แต่ผู้เขียนเชื่อว่า เพราะเรื่องจีนเป็น "เรื่องใหม่" มากกว่าอย่างอื่นใด เช่น การปกครองที่เรียกว่า "ระบอบสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน" มีความแตกต่างจากระบอบทุนนิยมในหลายๆ ด้าน แต่ก็ไม่ค่อยมีการศึกษาอย่างแท้จริงในประเทศไทย ตรงข้าม กลับมีเสียงสรุปกลายๆ ว่า จีนเป็นทุนนิยมแล้วอยู่เสมอๆ

พอเข้าใจภาพใหญ่หรือ "ธรรมชาติ" ของสังคมจีนผิดไป ก็ยากที่จะเข้าใจในเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ อย่างถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่คอยจูงใจให้ผู้เขียนต้องนำเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศจีน อธิบายไปพร้อมๆกับการฉายภาพ "แบ็กกราวนด์" ความเป็นสังคมนิยมเอกลักษณ์จีนอยู่เสมอ จนกระทั่งบางทีรู้สึกว่าเป็นการ "ฉายซ้ำ"

เพราะต้องการให้สังคมไทยเข้าใจจีนอย่างถูกต้อง ตรงตามความจริง

ปรากฏการณ์ใหม่บนเวทีโลก

บริษัทธุรกิจจีนเติบใหญ่อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ได้กลายเป็น "ปรากฏการณ์เฉพาะ" เป็นที่สนใจใคร่ศึกษาในแวดวงบริหารธุรกิจระดับโลก เมื่อเศรษฐกิจจีนยิ่งก้าวไกล กลุ่มบริษัทจีนยิ่งเติบใหญ่ ปรัชญาการบริหารธุรกิจแบบ "จีนๆ" ก็จะยิ่งได้รับความสนใจตามไปด้วย

ก่อนหน้านี้ ในปี 2545 ผู้เขียนเคยนำเรื่องราวของบริษัทไฮเออร์และเหลียนเสี่ยง (เลโนโว) เสนอต่อสังคมไทย ผ่านทางหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (ต่อมารวมเป็นเล่มออกวางตลาดในชื่อ "เมดอินไชน่า-ไฮเออร์/เหลียนเสี่ยง แบรนด์ดังมังกรพันธุ์แท้" โดยสำนักพิมพ์มติชน) เป็นการบอกกล่าวแก่สังคมไทยว่า "จีนมาแล้ว"

เมื่อถึงวันนี้ คงไม่ต้องบอกแล้วนะว่า ได้มีบริษัทจีนเข้ามาตั้งฐานทำธุรกิจในประเทศไทยหนาตามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งไฮเออร์และเหลียนเสี่ยงมากันแล้ว แม้จะยังค่อนข้าง "โลว์โปรไฟล์" ไม่ค่อยมีข่าวปรากฏในสื่อ ที่ดังเปรี้ยงปร้างก็คือหัวเหวย ยักษ์ใหญ่ทางด้านระบบการสื่อสาร คู่แข่งซิสโก้ และอีกบริษัทหนึ่งที่ดังไม่แพ้กันในประเทศจีนและในหลายๆ ประเทศก็คือ "จงซิง" หรือ แซดทีอี ก็ได้เข้ามาประกบเป็นคู่แข่งชั้นนำในวงการธุรกิจสื่อสารในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนกันแล้ว

การปรากฏตัวของกลุ่มบริษัทจีนบนเวทีโลก รวมทั้งประเทศไทยที่มีทำเลเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศอาเซียน นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และโดดเด่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นี่คือแนวโน้มที่ "แน่นอน"

"ธรรมชาติ" ของบริษัทธุรกิจจีน

ทั้งจากเรื่องราวของไฮเออร์-เหลียนเสี่ยง และกลุ่มบริษัทธุรกิจจีนอื่นๆ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มบริษัทธุรกิจโลกทุนนิยมตะวันตก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เราจะพบเห็นความแตกต่างสำคัญตรง "ที่มา" หรือภูมิหลังการก่อกำเนิดของกลุ่มธุรกิจต่างๆ

กลุ่มบริษัทธุรกิจในโลกทุนนิยมก่อกำเนิดและเติบใหญ่ขึ้นมา ตามการพัฒนาขยายตัวของระบอบทุนนิยม โดยเฉพาะจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็กินเวลากว่าสองร้อยปี

พิจารณาตามคลื่นพัฒนาการของเศรษฐกิจการผลิตแบบอุตสาหกรรม ในบริบทของระบอบทุนนิยมโลก กลุ่มบริษัทของประเทศยุโรปเป็นกลุ่มแรกที่ก้าวขึ้นสู่เวทีโลก ต่อมาเมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคลื่อนตัวไปยังทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกทุนนิยม กลุ่มบริษัทธุรกิจอเมริกันก็ก้าวขึ้นมาแทนที่ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ดูจากการจัดอันดับกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก อันดับต้นๆ ล้วนแต่เป็นกลุ่มบริษัทอเมริกัน แม้กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ยุโรปและญี่ปุ่นจะเบียดแซงเข้ามาได้บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย

ส่วนบริษัทจีน มีเพียงไม่กี่ราย และล้วนแต่เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ก่อตั้งภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี ค.ศ. 1949) เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพทางธุรกิจอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีความน่าเกรงขามอยู่มาก เช่นบริษัทพลังงานใหญ่ๆ ของจีน ที่กำลังพยายามซื้อควบรวมกิจการในต่างประเทศไม่เว้นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อเมริกัน สร้างความตกอกตกใจให้แก่นักการเมืองเมืองลุงแซม ด้วยกลัวอิทธิพลจีนจะเข้าไปครอบงำในประเทศตน

โดยภาพรวม กลุ่มบริษัทจีนก็คือผู้มาที่หลัง เป็น "น้องเล็ก" บนเวทีธุรกิจโลก ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มบริษัทธุรกิจเอกชน ที่เริ่มต้นด้วย "สองมือเปล่า" ก็ยัง "ละอ่อน" มาก เพราะส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเริ่มต้นกิจการหลังปี ค.ศ. 1980 คือไม่เกิน 25 ปี

กลุ่มบริษัทธุรกิจเอกชนจีนเหล่านี้ เมื่อเทียบกับกลุ่มบริษัทโลกตะวันตกที่พัฒนาเติบใหญ่มานานนับศตวรรษแล้ว ก็ไม่มีทางเทียบได้ และเทียบไม่ได้กับกลุ่มบริษัทไอทีและอินเทอร์เน็ต ที่เติบโตบนเนื้อดินของวิทยาการยุคใหม่ เช่นไมโครซอฟท์ ยาฮู กูเกิ้ล เป็นต้น ซึ่งเป็นผลพวงของการพัฒนาขยายตัวของเศรษฐกิจไอทีในหุบเขาซิลิคอนของสหรัฐฯ สืบทอดวัฒนธรรมธุรกิจแบบอเมริกัน แสดงบทบาทร่วมกับกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิม ขับเคลื่อนคลื่นความเจริญของสหรัฐฯ นำหน้าสังคมโลกต่อไป

กระนั้นก็ตาม ด้วยแนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจีนที่ค่อนข้างได้ผลดีของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีผลให้กลุ่มบริษัทจีน ทั้งที่อยู่ในสังกัดของรัฐ ของรวมหมู่ และของเอกชน มีโอกาสพัฒนาเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว

อีกนัยหนึ่ง ภาครัฐเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบ กลไก กฎหมาย เป็นต้น สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเติบใหญ่ของกลุ่มบริษัทธุรกิจจีนอย่างเต็มที่และอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดำเนินการทูตนำร่องการก้าวออกไปสู่โลกกว้างของกลุ่มบริษัทจีนอย่างทั่วด้าน คือ "เหตุปัจจัยใหญ่" ของการเติบใหญ่ของกลุ่มบริษัทจีน

บนฐานใหญ่นี้ กลุ่มบริษัทจีนประเภทต่างๆ จึงได้ก่อเกิดและพัฒนาเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว และปรากฏเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนหนึ่ง โลดแล่นอยู่บนเวทีโลก ในฐานะ "ผู้มาทีหลัง"

กระนั้น ด้วยความเป็นกลุ่มบริษัท "จีน" ที่เติบใหญ่ขึ้นมาพร้อมกับความเข้มแข็งของประเทศจีน ที่มีแววว่าจะกลายเป็นคลื่นใหญ่ของความเจริญทางเศรษฐกิจโลกต่อจากสหรัฐฯ ใน "ศตวรรษเอเชีย" ตามการวนของคลื่นความเจริญของเศรษฐกิจตลาดจากยุโรป ไปยังอเมริกาเหนือ และ (คาดว่าจะเป็น) เอเชีย ตามลำดับ กลุ่มบริษัทธุรกิจจีนจึงมีความน่าเกรงขามยิ่งนัก แม้ว่าจะเป็นผู้มาทีหลัง ยังเล็กกว่า และยังไม่เจนเวที

เรื่องราวของกลุ่มบริษัทธุรกิจจีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัฒนธรรมจีนยุคใหม่ ในบริบทที่สังคมโลกเชื่อมโยงเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเป็นเรื่องราวที่ชวนติดตามอย่างยิ่ง ตั้งแต่เนิ่นๆ

"ประตู" สู่วัฒนธรรมยุคใหม่จีน

เมื่อวิเคราะห์ความเป็นมาและ "ธรรมชาติ" ของกลุ่มบริษัทธุรกิจจีนแล้ว การทำความเข้าใจในกลุ่มบริษัทธุรกิจที่เป็นของเอกชน จึงน่าจะได้เนื้อหาสาระและเข้าถึงความจริงมากที่สุด ที่จะสามารถนำเราเข้าถึง "หัวใจ" ของกลุ่มบริษัทธุรกิจจีน ปรัชญาและหลักการบริหารจัดการของพวกเขาได้มากที่สุด

ด้วยเหตุผลเชิงตรรกะทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนสนใจเรื่องราวของเต๋อลี่ซีมากเป็นพิเศษ

ยิ่งกว่านั้น การที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพบปะพูดคุยกับหูเฉิงจงโดยตรง ได้สัมผัสกับบรรยากาศของเต๋อลี่ซีถึงถิ่น ได้งานเขียนของหูเฉิงจง ผู้ก่อตั้งกิจการ และนำการบริหารมาโดยตลอด ที่ประมวลแนวคิดและปรัชญาการบริหารธุรกิจของเขาไว้อย่างสมบูรณ์ ก็ยิ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงเอาแก่นแท้และวิญญาณทางธุรกิจของเขาออกมาได้

หากท่านผู้อ่านติดตามการนำเสนอของผู้เขียนไปเรื่อยๆ ก็ย่อม (น่าจะ) ได้เข้าถึงความจริงในธรรมชาติของกลุ่มบริษัทธุรกิจจีน โดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจเอกชนจีน ที่ค่อนข้างสมบูรณ์รอบด้าน เป็นครั้งแรกในชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านจงติดตามเรื่องราวของพวกเขาไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า นักธุรกิจจีนทำธุรกิจแบบไหนอย่างไรแบบตายตัว (มีบางท่านสรุปแบบกำปั้นทุบดินว่า คนจีนทำธุรกิจไม่มีอะไร นอกจากการทำ มาร์จิ้น หรือทำกำไรเท่านั้น)

ผู้เขียนขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านกำหนดท่าที "อุเบกขา" ต่อเรื่องต่างๆ ของจีน นั่นคือ ใช้ท่าทีความเป็นนักศึกษา พยายามทำความเข้าใจจีนอย่างรอบด้าน โดยไม่ทึกทักล่วงหน้าว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้ติดตามการนำเสนอของผู้เขียนไปเรื่อยๆ จนจบ แล้วค่อยมาสรุปความเข้าใจบนพื้นฐานของการใช้ปัญญา มองเห็นจีนในระดับองค์รวม ในบริบทของสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ ที่จีนได้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับระบบโลก และแสดงบทบาทอย่างเอาจริงเอาจังในการขับเคลื่อนไปสู่อนาคตของชาวโลกโดยรวม

นั่นคือ ขอให้มองลึกถึง "วัฒนธรรมจีนยุคใหม่" ที่กำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งกลุ่มบริษัทธุรกิจจีน และการบริหารธุรกิจแบบจีน ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบวัฒนธรรมยุคใหม่ของจีนนี้

อีกนัยหนึ่ง จากเรื่องราวของกลุ่มบริษัทธุรกิจจีน จะสามารถนำไปสู่ความเข้าใจในวัฒนธรรมจีนยุคใหม่ได้ เป็นการเข้าถึงจีนในอีกมิติหนึ่ง

"เต๋อลี่ซี" คือกรณีศึกษาแรกที่จะเป็น "ประตู" ผ่านเข้าสู่มิติดังกล่าว

"สิ่งยึดมั่น" ของเต๋อลี่ซี

ฉบับที่แล้ว ได้นำเสนอเรื่องประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ ที่ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 4 อย่าง คือ 1. การใช้เงินทุน G1 อย่างมีประสิทธิภาพ ไปในการซื้อ สินค้า W1 2. การใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การทำงานของเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. การใช้วัตถุอย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง W2 ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่ G2 มูลค่าสูง ในห้วงเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

จากนี้ หูเฉิงจงสรุปว่า ประสิทธิภาพคือตัวกำหนดประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ อีกนัยหนึ่ง ประสิทธิผลทางเศรษฐกิจของการดำเนินธุรกิจจะมีมากหรือน้อย ขึ้นตรงต่อประสิทธิภาพของการดำเนินการในทุกๆ ด้าน

ตามการอธิบายของ "มติการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ" ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ว่า "ใช้ทรัพยากร (in put) น้อยที่สุด เพื่อให้ได้ผล (out put) มากที่สุด ในห้วงเวลาสั้นที่สุด"

นั่นคือ การทำทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปในแนวทางดังกล่าว จะนำไปสู่การมีประสิทธิสูง และย่อมนำไปสู่ประสิทธิผลสูง

เขียนเป็นสูตรได้ว่า "ความเอาการเอางานสูง-ประสิทธิภาพสูง-ประสิทธิผลสูง-ทำรายได้สูง-ความเอาการเอางานสูง"

หูเฉิงจงบอกว่า สิ่งที่เขายึดมั่นมาโดยตลอดก็คือ "เวลาคือเงินทอง" "ประสิทธิภาพคือชีวิต"
กำลังโหลดความคิดเห็น