xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนาม: ประเทศคู่แข่งหรือคู่ค้า

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

www.dhiravegin.com
e-mail: likhit@dhiravegin.com

เวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีประวัติการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและเอกราชมายาวนาน โดยดั้งเดิมนั้นเวียดนามถูกปกครองโดยจีนถึงกว่าหนึ่งพันปี แต่ก็สามารถดิ้นหลุดจากแอกของการปกครองจากจีนได้ด้วยการต่อสู้อย่างกล้าหาญ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสอีกกว่า 80 ปี จนนำไปสู่การต่อสู้ที่มีการสร้างเกียรติประวัติทางทหาร และความกล้าหาญและความรักชาติจนเป็นที่เลื่องระบือไปทั่วโลก นั่นก็คือ การที่กองทัพของเวียดนามสามารถเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสที่มีกำลังเหนือกว่าได้ที่เดียนเบียนฟู จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกและเป็นประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงความกล้าหาญและวีรชนผู้รักชาติของชาวเวียดนาม

ขณะเดียวกันก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดด่างของความพ่ายแพ้ทางทหารอย่างยับเยินของมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งมีการฝึกทหารตามหลักวิชาการเป็นอย่างดี และมีความเชื่อมั่นว่าสามารถจะทำลายศัตรูได้โดยง่าย เนื่องจากมีการจัดตั้ง มีอาวุธที่ทันสมัย มีความรู้ทางวิทยาการทางทหารที่เหนือกว่า แต่ประวัติศาสตร์กลับพิสูจน์เป็นตรงกันข้าม เมื่อทหารฝรั่งเศสถอนตัวออกไปสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาแทนที่ โดยมีการตั้งรัฐบาลเวียดนามใต้ซึ่งเป็นรัฐบาลในอาณัติ เวียดนามจึงถูกแบ่งออกเป็นเหนือและใต้ สงครามเวียดนามซึ่งต่อสู้กันยืดเยื้อเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ก็สิ้นสุดลงด้วยการพ่ายแพ้ทั้งทางการเมืองและทางทหารของสหรัฐอเมริกา จนเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วเสมือนหนึ่งแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ วีรกรรมอันกล้าหาญของเวียดกงและประชาชนชาวเวียดนามที่สามารถ “ล้มช้างได้นั้น” เป็นสิ่งซึ่งจะต้องจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมนุษยชาติเพื่อเอกราชและสิทธิเสรีภาพ อันปลอดจากการปกครองของต่างชาติตราบนานเท่านาน

ความภูมิใจของชาวเวียดนามในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่และสมเหตุสมผล เพราะนี่คือข้อเท็จจริง และที่สำคัญก็คือประวัติศาสตร์การต่อสู้กับจีนก็ดี กับฝรั่งเศสก็ดี กับสหรัฐอเมริกาก็ดี จนได้รับชัยชนะนั้น จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความภูมิใจในชาติ เป็นการเตือนสติชาวเวียดนามให้นึกถึงการเสียสละของบรรพบุรุษที่สามารถนำชาติเข้ามาสู่สันติภาพ และทำให้ประชาชนชาวเวียดนามสามารถยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีได้ในครอบครัวนานาชาติ และในการเมืองระหว่างประเทศในทุกวันนี้

ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้น ประเทศไทยและเวียดนามเคยอยู่กันคนละค่าย แต่นั่นเป็นเรื่องของอดีตซึ่งต่างก็มีอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน แต่จุดร่วมระหว่างไทยกับเวียดนามได้ถูกสร้างขึ้นหลังจากเกิดสันติภาพ นั่นคือคำกล่าวของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะนายทหารระดับสูงซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งได้พบปะกับนายทหารระดับสูงของเวียดนาม โดยพลเอกชวลิตได้กล่าวว่า ทั้งเวียดนามและไทยกำลังเผชิญปัญหาร่วมกันและน่าจะร่วมมือกันขจัดปัญหาดังกล่าว นั่นคือ การทำสงครามกับความยากจน ซึ่งทันทีที่มีการกล่าวเช่นนั้นทางฝ่ายเวียดนามก็เห็นพ้องด้วยและเริ่มมีการพูดกันอย่างจริงจังในการร่วมมือที่จะขจัดความยากจนข้นแค้น ความล้าหลัง และความด้อยพัฒนาในด้านต่างๆ ด้วยการบริหารจัดการด้วยหลักวิชาการ ด้วยความจริงจังเอาใจใส่

มาในปัจจุบันเวียดนามกำลังถูกมองว่าเป็นประเทศที่กำลังมีการพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยความจำเริญเติบโตของเวียดนามนั้นอยู่ในอัตราสูง รูปแบบการพัฒนาคล้ายๆ กับของจีนคือการให้สิทธิเสรีภาพส่วนตัว รวมทั้งการประกอบธุรกิจเอกชน แต่ระบบการเมืองยังเป็นสังคมนิยมหรือระบบคอมมิวนิสต์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเมืองเป็นสังคมนิยมแต่เศรษฐกิจเป็นทุนนิยม หรือการใช้กลไกของตลาด นอกจากนี้เวียดนามยังมองดูรูปแบบจากประเทศต่างๆ ในการแก้ปัญหา และหนึ่งในรูปแบบนั้นก็ได้แก่ประเทศไทย

คำถามมีอยู่ว่า เวียดนามจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับประเทศไทย หรือเป็นคู่ค้าที่มีโอกาสจะสร้างความไพบูลย์มั่งคั่งให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายในอนาคต คำตอบก็คือ ประเทศใดก็ตามที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันในทางการเมือง การค้า ก็คงจะประกอบด้วยหลากมิติ ทั้งในส่วนที่เป็นการแข่งขันแย่งตลาดกัน และในส่วนที่เป็นการร่วมมือ เป็นคู่ค้าที่สำคัญ มีการลงทุนโดยนักธุรกิจของทั้งสองประเทศ รวมตลอดทั้งมีการร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า ทั้งเวียดนามและประเทศไทยคงจะเป็นทั้งสองอย่าง แต่จุดสำคัญจะต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ประโยชน์ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ ความสัมพันธ์ก็ย่อมไม่สามารถจีรังยั่งยืนได้

เวียดนามมีศักยภาพอย่างยิ่งที่จะพัฒนาประเทศไปอย่างรวดเร็ว ตัวแปรต่างๆ จะเห็นได้ก็คือ แม้พื้นที่ของประเทศเวียดนามจะเป็นเพียงสามในห้าของประเทศไทย แต่ก็มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านเกษตรซึ่งบางแห่งทำนาได้ถึงปีละสี่ครั้ง เวียดนามมีน้ำมันมากพอเพียงกับการใช้ภายในประเทศและการส่งออก มีถ่านหินลิกไนต์จำนวนมหึมาที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า มีประชากร 82 ล้านคน ซึ่งทำให้เกิดตลาดภายในที่ใหญ่โตเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ในการผลิตทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ได้

ที่สำคัญในจำนวนประชากร 82 ล้านคนนี้ จะกลายเป็นประโยชน์ในการผลิตอย่างมหาศาล ด้วยเหตุผลต่อไปนี้คือ ประชาชนเวีคยดนามเป็นคนที่ขยันขันแข็ง ทำงานได้ตลอดเวลา คนทั่วไปมีระเบียบวินัย ผ่านสงครามมามาก คนทั่วไปมีความรักชาติ สงครามทำให้คนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้มีจิตสำนึกกับผลประโยชน์ของชาติค่อนข้างสูง ที่สำคัญคือมีประวัติการต่อสู้อย่างกล้าหาญของวีรชนทำให้เกิดความภูมิใจ

ในส่วนของความรู้ คนเวียดนามมีวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนโดยเฉพาะจีนตอนใต้ ผสมผสานกับความรู้และวัฒนธรรมจากตะวันตกอันได้แก่ฝรั่งเศส นอกจากนั้น ความต้องการที่จะปลดแอกจากความยากจนและเพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังทำให้เวียดนามมีผู้นำที่มีทิศทางที่แน่นอน โดยมีการชำเลืองมองจีนเป็นรูปแบบและมองประเทศอื่นๆ ในโลกเช่นประเทศอาเซียน ว่ามีอะไรที่จะเสนอให้แก่เวียดนามได้บ้าง ที่สำคัญก็คือ ในกรณีของค่าแรงนั้นยังมีราคาไม่สูงนัก ถ้าคิดเป็นเงินเดือนก็ประมาณ 2,400 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ซึ่งทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก และที่สำคัญผู้นำประเทศกำลังเร่งให้คนศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สมองกล ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน การลงทุนของต่างชาติที่ต้องการลงทุนในประเทศเวียดนามก็เพิ่มพูนขึ้นตามลำดับมาโดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ที่สำคัญ ในทางการเมืองนั้นเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่มีปัญหาความต่อเนื่องของผู้นำและนโยบาย ซึ่งต่างกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งมักจะเกิดความชะงักงันการพัฒนาประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง ในการเมืองระหว่างประเทศนั้นในอดีตเวียดนามเคยถูกมองว่าเป็นศัตรูของอาเซียน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียน ดังนั้น ความมีเสถียรภาพทางการเมืองทั้งภายในและบทบาทในทางการเมืองอันสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของเวียดนาม จึงเป็นที่สังเกตของผู้เฝ้าติดตามการพัฒนาของประเทศเวียดนามโดยทั่วไป

ประเด็นมีอยู่ว่า จากความขยัน จากความมีระเบียบวินัย จากการมีทรัพยากร จากความเอาจริงเอาจัง และจากนโยบายที่มีเหตุมีผลของเวียดนาม จะมีส่วนผลักดันให้เวียดนามพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคู่แข่งที่สามารถคุกคามประเทศไทยได้หรือไม่ คำตอบก็คือ การแข่งขันน่าจะนำไปสู่ความพยายามปรับปรุงตัวเองโดยทำให้ผลิตผลที่ออกมาดีกว่าของเดิม ดังนั้น การปรากฏตัวของเวียดนามน่าจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นตามลำดับ มากกว่าการที่มองดูเวียดนามเป็นตัวคุกคาม

ในส่วนของความร่วมมือของประเทศทั้งสองที่พอจะเห็นได้ชัดคือ Rice Pool ซึ่งหมายถึงการพยุงราคาข้าวไม่ตัดราคากันเอง เวียดนามก็ยอมรับว่าคุณภาพข้าวสารไทยดีกว่าของเวียดนาม แต่เวียดนามก็ยินดีจะปลูกข้าวคุณภาพต่ำกว่าเพื่อขายให้แก่ประเทศยากจน ดังนั้น การร่วมมือกันในส่วนนี้อยู่ในวิสัยที่จะเป็นไปได้

นอกเหนือจากนั้น ประเทศไทยและเวียดนามยังมีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนนักวิชาการร่วมมือกันในเรื่องการศึกษา การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การร่วมมือกันปราบปรามโรคระบาดเช่นไข้หวัดนก เป็นต้น เวียดนามยังสามารถมีจุดยืนร่วมกับไทยในเรื่องต่างๆ ในอาเซียน และสามารถจะร่วมมือร่วมใจกันปูพื้นฐานสำหรับการพัฒนาภูมิภาคร่วมกับประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ได้เป็นอย่างดี

เวียดนามจึงเป็นประเทศที่สำคัญ และต้องสร้างสัมพันธภาพอันดีเอาไว้ ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการความร่วมมือระหว่างประเทศคือ การสร้างมิตรไมตรีและเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกันและกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น