xs
xsm
sm
md
lg

รง.น้ำตาลโวยรัฐคุมโมลาสช่วยโรงเหล้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงงานน้ำตาลมึนหลังรัฐส่งสัญญาณจะห้ามส่งออกโมลาสโดยอ้างช่วยโรงงานผลิตเอทานอล โต้ลั่นผลประโยชน์แท้จริงกลับตกโรงเหล้าเหตุใช้โมลาสกว่า 50% หรือกว่า 1 ล้านตัน ขณะที่เอทานอลใช้แค่ 3 แสนตัน แจงห้ามส่งออกไร้ปัญหาหากให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ผวายิ่งถูกกดราคาหลังส่งออกไม่ได้ วงการอ้อยชี้แนวโน้มอ้อยปีนี้ลดต่ำอีกหลังเจอภัยแล้ง

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงน้ำตาล 46 แห่งได้ทยอยส่งตัวเลขเกี่ยวกับการส่งออกโมลาส(กากน้ำตาล) ให้กับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) แล้วหลังจากที่พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีระบุว่าต้องการจะห้ามการส่งออกเพื่อไม่ให้โมลาสในประเทศขาดแคลนเพื่อช่วยเหลือการผลิตเอทานอลในการนำมาผสมกับเบนซิน 10% เป็นแก๊สโซฮอล์ ซึ่งหากรัฐบาลห้ามส่งออกจริงทางโรงงานน้ำตาลไม่ได้มีปัญหาแต่หากควบคุมแล้วกดราคาให้การรับซื้อโมลาสต่ำกว่าราคารับซื้อที่จะเป็นไปตามกลไกตลาดผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจะตกเป็นผู้ผลิตเหล้า

ทั้งนี้หากพิจารณาปริมาณโมลาสจะได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณของอ้อยซึ่งปีที่ผ่านมาปริมาณอ้อยที่ได้ตกต่ำเหลือเพียง 45 ล้านตันเพราะประสบกับภัยแล้งจากที่เคยได้ในระดับ 65 ล้านตันส่งผลให้โมลาสผลิตได้รวมทั้งประเทศเพียง 2.2 ล้านตันในระยะที่ผ่านมาโมลาสจะนำไปผลิตแอลกอฮอล์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล้ากว่า 50% ที่เหลือมีการนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตผงชูรส ปุ๋ยเคมี ฯลฯ และมีการส่งออกประมาณ 30% โดยเฉลี่ย แต่ฤดูการผลิตที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของโมลาสที่ความต้องการสูงขึ้นจากการส่งเสริมนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล

" โรงงานเอทานอลที่ใช้โมลาสเป็นวัตถุดิบหลักมี 3 แห่งได้แก่ พรวิไลอินเตอร์เนชั่นแนล ไทยอะโกรเอ็นเนอร์ยี่ และไทยแอลกอฮอลล์ หากรวมกันแล้วจะใช้โมลาสเพียงกว่า 3 แสนตันเท่านั้น ดังนั้นหากดึงโมลาสด้วยการห้ามส่งออกก็เท่ากับเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตเหล้าแต่กลับไม่เป็นธรรมกับโรงงานน้ำตาล"แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ผู้ผลิตเหล้ารายใหญ่ของไทยก็คือกลุ่มของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีโรงงานน้ำตาลทราย 4 แห่งได้แก่ โรงงานน้ำตาลลำปาง อุตรดิตถ์ สุพรรณบุรี ชลบุรี กำลังการผลิตเฉลี่ยโรงละ 1,500 ตันต่อปี แต่มีใบอนุญาตที่สามารถจะขยายการผลิตได้สุงถึง 15,000 ตันต่อปี นอกจากนี้กลุ่มของนายเจริญยังมีโรงงานผลิตเอทานอลคือไทยแอลกอฮอล์ขนาดกำลังผลิต 100,000 ลิตรต่อวันโดยความต้องการโมลาสเฉลี่ยสูงประมาณ 1 ล้านตันต่อปีเพื่อนำไปผลิตเหล้า โดยโรงงานน้ำตาลที่ผลิตได้ยังไม่สามารถป้อนโมลาสที่เพียงพอโดยเฉลี่ยได้โมลาสเพียง 5-6 หมื่นตันเท่านั้น ส่งผลให้บริษัทในเครือมีแผนกรับซื้อโมลาสขึ้นมาทำหน้าที่ตรง

ปัจจุบันน้ำตาลทรายดิบจะอิงราคาที่ตลาดนิวยอร์ค น้ำตาลทรายขาวจะอิงราคาตลาดลอนดอน ส่วนโมลาสจะไม่มีตลาดอ้างอิงแต่จะเป็นการเจรจาซื้อขายหรือการตกลงตามภาวะตลาดโลก โดยปัญหาภัยแล้งได้เกิดขึ้นหลายแห่งส่งผลให้โมลาสมีความต้องการสูงขึ้นโดยเฉพาะจากจีน และอินเดียที่เข้ามาซื้อยังตลาดเอเชีย ทำให้โรงงานน้ำตาลส่วนหนึ่งเลือกการส่งออกเพราะได้รับราคาที่ดี อย่างไรก็ตามหากโรงงานเอทานอลให้ราคารับซื้อต่ำกว่าส่งออกเล็กน้อยทางโรงงานน้ำตาลก็พร้อมจะขายให้เพราะไม่ต้องบวกค่าขนส่งแต่การมาใช้วิธีเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นการค้าที่ไม่เสรีตามที่รัฐบาลประกาศว่าจะสนับสนุนแต่อย่างใด

" ปัญหาของเอทานอลคือ รัฐบาลไม่ปรับราคาจำหน่ายตามต้นทุนที่แท้จริงเพราะโมลาสได้ขยับสูงถึง 90 เหรียญต่อตัน เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ค้าน้ำมันขายแก๊สโซฮอล์ได้ต่ำกว่าเบนซิน 95 ลิตรละ 1.50 บาทต่อลิตร วิธีที่ควรจะทำคือพิจารณาให้เอทานอลราคาตามต้นทุนจริงแต่กลับไปอุ้มบริษัทน้ำมันแล้วมาซ้ำเติมโรงงานน้ำตาลที่ก็มีปัญหาภาระหนี้สูงอยู่แล้วตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ"แหล่งข่าวกล่าว

***ประเมินอ้อยปีนี้แค่ 40 ล้านตัน

แหล่งข่าวจากสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าปริมาณอ้อยน่าจะอยู่ที่ระดับ 40 ล้านตันเนื่องจากอ้อยตอได้เจอปัญหาภัยแล้งทำให้ตายไปจำนวนมาก แต่ล่าสุดฝนตกลงมาบ้างทำให้อ้อยที่ปลูกใหม่มีแนวโน้มที่จะอยู่รอดสูง แต่ภาพรวมก็คงจะไม่ได้สูงมากนักดังนั้นในปีนี้ฤดูเปิดหีบช่วงต.ค.ไปแล้วปริมาณอ้อยที่เข้าหีบคงเฉลี่ยต่ำสุด 40 ล้านตัน และสูงสุดคงจะอยู่ในระดับ 45 ล้านตันซึ่งจะส่งผลให้โมลาสอาจลดปริมาณลงได้อีก

" แม้ว่าปริมาณโมลาสลดแต่บ้างครั้งราคาอาจจะไม่ได้สูงมากก็ได้เพราะขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลว่าจะมีปริมาณผลิตเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดด้วย หากส่งออกมากโอกาสราคาสูงกว่า 90 เหรียญต่อตันก็คงจะไม่ถึงแน่ "แหล่งข่าวกล่าว

***รง.เอทานอลโยนรัฐตัดสิน

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตเอทานอลกล่าวว่า กรณีโรงงานที่ใช้โมลาสผลิตจะทำสัญญาซื้อขายโมลาสแค่ปีต่อปีเท่านั้นเพราะการไปตกลงระยะยาวก็จะไม่แน่ใจว่าราคาจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่เพราะมีความเสี่ยงสูงเพราะโมลาสจะมีการขึ้นลงตลอดทุกปีแล้วแต่ปริมาณอ้อยของทั้งโลกรวมถึงไทยด้วย ดังนั้นการที่รัฐจะห้ามส่งออกโมลาสก็คงต้องแล้วแต่นโยบายของภาครัฐเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น