xs
xsm
sm
md
lg

ใครไปอเมริกาเจอแน่

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

คนทั่วไปที่เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ ต้องเจอกับการตรวจร่างกายและสิ่งของอย่างเข้มงวดในยุคที่ปฏิบัติการก่อการร้ายเกิดขึ้นให้รับรู้อยู่แทบทุกวัน

ผมเพิ่งเจอมากับตัวเองพร้อมเพื่อนพ้องคณะสื่อมวลชนที่เพิ่งเดินทางกลับจากการเชิญของแอมเวย์ประเทศไทยไปดูสถาบันวิจัยและโรงงานผลิตเครื่องสำอางอาร์ทิสทรี
และสถาบันสุขภาพนิวทริไลท์เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมานี่เอง

การเข้มงวดเริ่มมาตั้งแต่ขั้นตอนของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในการอนุมัติวีซ่าให้เข้าประเทศ จากที่เคยได้อนุมัติระยะยาวระดับ 10 ปี ตอนนี้แค่ 6 เดือน

พอไปถึงสนามบินชิคาโกและทุกแห่งในสหรัฐฯ ก็ให้รับรู้ว่าต้องถอดรองเท้า เข็มขัด เสื้อคลุม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อนอกหรือเสื้อแจกเกต และอุปกรณ์สื่อสารหรือกล้องถ่ายรูป ล้วนต้องใส่ในกระบะพลาสติก เพื่อผ่านเข้าเครื่องเอกซเรย์ตรวจหาวัตถุระเบิดหรือสิ่งต้องสงสัย

ส่วนกระเป๋าหิ้วหรือกระเป๋าใบเล็กที่จะถือติดตัวขึ้นไปบนเครื่องบินนั้นของมีคมทุกชนิดเช่นมีดพับ หรือแม้แต่กรรไกรตัดเล็บจะต้องถูกห้าม

คนที่เป็นคอบุหรี่มีไฟแช็กหรือไม้ขีดก็ต้องเอาทิ้งไว้นอกด่านตรวจนั่นแหละ เพราะเขาไม่ยอมให้ผ่าน

ขนาดกระเป๋าเดินทางใส่เสื้อผ้าสิ่งของใบใหญ่ที่ผ่านเครื่องตรวจจากเมืองไทยจนขึ้นเครื่องบินลงมาได้ ก็ต้องพร้อมถูกเปิดตรวจ

เจ้าหน้าที่บริษัททัวร์จึงย้ำเตือนไว้แต่ต้นแล้วว่าห้ามล็อคกุญแจ ไม่เช่นนั้นอาจถูกงัดเพื่อเช็กกระเป๋าตรวจ

กระนั้นก็ตามระหว่างเข็นกระเป๋าผ่านด่านตรวจบางคนก็ถูกสุ่มเรียกตัวไปสอบถาม และอาจถูกตรวจกระเป๋าอีก

นี่คือสถานการณ์ของความไม่ไว้วางใจที่ผู้คนต่างๆที่จะเข้าไปทำกิจธุระใดหรือท่องเที่ยวต้องเจอในยุคหวาดกลัวการก่อการร้าย นับแต่เกิดกรณีถล่มตึกด้วยเครื่องบินและการวางระเบิดหลายจุดในหลายเมืองของโลก เราจึงได้เห็นความเข้มงวด ขึงขังจนถึงขั้นดุเดือด จากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งชายและหญิง

ขั้นตอนการตรวจเหล่านี้ย่อมทำให้สนามบินชิคาโกที่มีความถี่ของเครื่องบินขึ้นลงทุกครึ่งชั่วโมง ยิ่งต้องใช้เวลาการตรวจมากกว่าเดิม ยังดีที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูสถานการณ์การเข้าแถวที่พร้อมจะปรับสภาพหรือตั้งแถวใหม่เพื่อความรวดเร็วขึ้น นับเป็นการแสดงความฉับไวโดยไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อเพราะการ "เถรตรง" ซึ่งช่วยบรรเทาภาระการรอคิวได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม สภาพเช่นนี้ผู้โดยสารจากสายการบินประเทศต่างๆ ที่จะเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาย่อมไม่ชอบการเพิ่มภาระความไม่สะดวกเช่นนี้

แต่เมื่อเจอกฎเหล็กเพื่อแลกกับเหตุผลเพื่อสกัดกั้นผู้ต้องสงสัยจะเข้าไปก่อการร้ายในสหรัฐฯ หรือก่อเหตุร้ายบนเครื่องบิน

ทุกคนก็ต้องยอม

ในเมื่อเกมการต่อสู้ดำเนินมาถึงขั้นมีการก่อเหตุร้าย เพื่อให้เกิดเรื่องเป็นข่าวการต่อต้านฝ่ายสหรัฐฯ

ผมคุยกับคนที่นั่นแม้เขาจะรู้สึกว่ามาตรการตรวจอย่างเข้มงวด จะเป็นวิธีการหนึ่งในการสกัดกั้นและรู้สึกปลอดภัยขึ้น

แต่ก็รู้อยู่ว่าเกมการต่อสู้กับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯที่มีพันธมิตรมากมาย การใช้วิธีแบบจรยุทธ์ในสถานการณ์สงครามรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้น

"การก่อการร้าย"จึงเป็นกลยุทธ์ซึ่งไม่จำกัดรูปแบบวิธีการ

จึงมีคนเชื่อว่า เหตุร้ายยังมีโอกาสเกิดในสหรัฐฯ อีก เพียงแต่ไม่รู้ว่า "เมื่อไหร่" เท่านั้น และที่น่าห่วงคือรถไฟใต้ดินหากเกิดเหมือนอย่างในอังกฤษ ก็จะระวังยากและปั่นป่วนแน่

แต่ก็ดูเหมือนความเข้มแข็งของระบบการตรวจสอบที่จุดผ่านเข้าออกประเทศเป็นไปอย่างเข้มแข็งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายในประเทศ ย่านธุรกิจต่างๆ จึงยังดำเนินไปอย่างคึกคักเป็นปกติ

นี่ยังเคราะห์ดีที่การดำเนิินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยยังไม่ถึงกับถลำตัวเต็มที่จนเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าของการก่อการร้ายสากล

ไม่เช่นนั้นระบบการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและการรับมือกับสถานการณ์คงจะต้องเหนื่อยกว่านี้แน่

เพราะลำพังเหตุการณ์ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เหตุการณ์ระเบิดและการก่อความไม่สงบเป็นจุดๆ ที่จำกัดวงเฉพาะ 3 จังหวัด ก็ยังจัดการให้เกิดความสงบไม่ได้

ทั้งๆที่กรณีสหรัฐอเมริกาถูกต่อต้านและปฏิบัติการโต้จากขบวนการก่อการร้ายนั้นเป็นเรื่องของการตอบโต้ประเทศยักษ์ใหญ่ที่รุกรานต่างประเทศ

แต่กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นปัญหาภายในที่มีช่องว่างทางวัฒนธรรมและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากกลไกของรัฐบางส่วนในอดีตที่สั่งสมมายาวนาน แม้มีกลุ่มที่มีความคิดอยากแบ่งแยกดินแดนบ้างก็เป็นส่วนน้อย

มาตรการล่าสุดของรัฐบาลที่จะใช้นโยบายการเงินและการคลังเข้าช่วยเหลือในระดับคล้ายกลุ่มจังหวัดที่โดนผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ เพื่อช่วยฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจนั้นก็นับว่าดีอยู่

แต่ที่สำคัญยังอยู่ที่ "ความมั่นใจ"ในความปลอดภัยทั้งจากคนในท้องถิ่นและคนนอกท้องถิ่นที่จะเข้าไปติดต่อเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ

การจัดดารานักแสดงไปเพิ่มสีสัน รวมทั้งการจะจัดโปรแกรมให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นตัวแทนลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นเพียงฉากชั่วคราวที่อาจจะดูคึกคักหน้าจอสื่อมวลชน

ที่สำคัญกว่าคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ประจำในท้องถิ่นจะต้องแสดงให้เห็นความจริงใจที่มอบให้และการสัมผัสความจริงเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมอย่างตรงจุดเพื่อลดความตึงเครียด

พร้อมทั้งการสื่อสารความเข้าใจกับผู้คนในท้องถิ่น โดยมีนโยบายและมาตรการความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นสิ่งยืนยันความจริงใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น