xs
xsm
sm
md
lg

ผมอดเป็นป.ป.ช.และตัวอย่างจากโอไฮโอ

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

แสนเสียดาย ในที่สุดผมก็อดเป็นป.ป.ช. เพราะ ไม่มีผู้สรรหาท่านใดเสนอชื่อผม

ไม่มีชื่อผมในผู้สมัคร ทั้งๆที่มีผู้กรอกใบสมัคร พร้อมหลักฐาน นำมาให้ผมเซ็นถึงบ้าน เพื่อนำไปยื่น

ผมรู้สึกขำและเห็นใจที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเตรียมใบสมัครมาให้ผม ผมไม่รู้อีโหน่อีเหน่ว่าเขาจะสมัครและคัดเลือกกันเมื่อใด และไม่อยากตอบว่า ผมอยากเป็นหรือไม่ ผมลองถามบุคคลต่างๆ 3 คนดู ดังนี้

คนแรกที่ถามคือที่บ้าน เธอตอบสั้นๆว่านึกยังไง คนที่สองคืออาจารย์เสน่ห์ ประธานสิทธิมนุษยชน ผมเรียนอาจารย์เสน่ห์ว่าจะกรุณาเสนอชื่อผมได้หรือไม่ อาจารย์บอกว่า ได้ประกาศไปแล้วว่าจะไม่เสนอชื่อใคร แต่อยากขอร้องอย่างจริงจังให้ผมไปยื่นใบสมัคร คนที่สามเป็นกรรมการสรรหาเหมือนกัน สุธรรม แสงประทุมบอกว่าพี่อย่าดีกว่า คนอย่างพี่อยู่ข้างนอกมีน้ำหนักและมีประโยชน์มากกว่า

ตกลงผมไม่ได้ไปสมัคร แต่เจ้าหน้าที่จะเอาใบสมัครไปยื่นก็ไม่เป็นไร เขาอุตส่าห์เตรียมมา และผมก็ลงนามให้ ผมรู้ระเบียบอยู่แล้วว่า ผู้สมัครต้องไปยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ระเบียบนี้ด้อยพัฒนา แต่ออกด้วยคณะบุคคลที่พัฒนาแล้ว

ผมไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการไม่รับใบสมัครของผมเพราะระเบียบดังกล่าว หรือว่าอนุโลมรับใบสมัครแล้ว ตรวจสอบดูปรากฏว่า ผมขาดคุณสมบัติ ผมจบปริญญาเอก เคยผ่านงานต่างๆมาพอสมควร รวมทั้งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าคนอย่างผมขาดคุณสมบัติก็แสดงว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบว่าด้วยป.ป.ช.นี้จำกัดอยู่เฉพาะอภิสิทธิชนที่ใหญ่โตอยู่ในระบบราชการ ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องด้อยพัฒนาและขาดความเป็นประชาธิปไตยอีกนะแหละ และขัดกับสปิริตรัฐธรรมนูญตามที่ผมได้ศึกษามา ผมเคยเป็นอาจารย์สอนวิชารัฐธรรมนูญและเป็นหนึ่งในผู้ร่างรธน.ฉบับ 2517 ด้วย

การเลือกคณะกรรมการป.ป.ช.ใหม่นี้ก็มีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญตกหล่ม เพราะศาลตัดสินจำคุกคณะกรรมการชุดเก่าทั้งหมด ทำให้เกิดช่องว่างเสียนาน จนรัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ ซึ่งต้องนับว่าเป็นเรื่องตลกสิ้นดี ผมสงสารทั้งกรรมการชุดเก่า สงสารทั้งรัฐบาล สงสารทั้งประเทศชาติและประชาชนที่ต้องเป็นเหยื่อระบบการเมืองและระบบรัฐธรรมนูญที่ด้อยพัฒนาสุดๆอย่างนี้

แต่ถึงอย่างไร ผมก็จะไม่อุทธรณ์ หรือฟ้องศาลใดว่าผมถูกละเมิดสิทธิ เพราะผมไม่เคยคิดฝันว่าผมจะสมัครอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ผมยังเชื่อด้วยหลักวิชาและด้วยความจริงใจว่า ป.ป.ช. เช่นเดียวกับองค์กรอิสระส่วนใหญ่เป็นสิ่งไม่จำเป็น ไม่คุ้มค่า น่าเสียดายงบประมาณ ไม่สมควรจะมี

ผมเริ่มเขียนบทความเรื่องคอร์รัปชันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 และ 2 – 3 ปีที่ผ่านมาก็ยังเขียนอยู่อีกบ่อยๆ รู้สึกว่าคอร์รัปชันในบ้านเมืองของเรามันช่างพัฒนาใหญ่โตขึ้นกว่าเก่าทุกวัน และยังมองไม่เห็นทางว่าจะลดน้อยลง ถึงจะมีหรือไม่มีป.ป.ช.ก้ไม่มีความหมาย

สิ่งที่ผมว่ามีความหมายและสามารถจะเผชิญคอร์รัปชันได้กลับเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องจำเป็น แต่เราพากันทอดทิ้งไม่เห็นความสำคัญ ผมจะยกตัวอย่างรวมๆกันว่า เครื่องมือต่อไปนี้เรามีอยู่แล้ว ควรจะลับให้แหลมคมแล้วนำมาใช้เป็นอาวุธประจำปราบคอรัปชั่น

1. ประมวลกฎหมายอาญาและเจ้าพนักงานซึ่งจะต้องปฎิบัติตามกฎหมายอาญา

2. อัยการ ซึ่งสมควรสร้างบุคลากรและสำนักงาน(อัยการนั่นแหละ)ที่มีกำลังและเขี้ยวเล็บเป็นพิเศษที่จะดูแลเรื่องคอร์รัปชัน

3. ศาล ไม่จำเป็นจะต้องมีศาลพิเศษ แต่มีองค์คณะผู้พิพากษาและผู้ชำนัญพิเศษที่สามารถพิจารณาตัดสินคดีคอรัปชั่น

4. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะต้องเป็นมืออาชีพ มีเขี้ยวเล็บปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง

5. กรรมาธิการของรัฐสภาและกระบวนการงบประมาณที่พัฒนามิใช่อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

6. สื่อและภาคประชาชนที่มีความชำนาญพิเศษเรื่องต่อสู้คอร์รัปชัน (muckraking)

7. นักวิชาการที่สามารถทำการวิจัยและติดตามการคอร์รัปชัน

ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องขององค์กรรูปนัยหรือโครงสร้างที่เป็นทางการ ซึ่งยังไม่เพียงพอ จะต้องเสริมสร้างด้วยจริยธรรมและมโนธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองและข้าราชการ ตามนัยที่ประธานองคมนตรีพล.อ.เปรมได้แสดงไว้ในปาฐกถาเร็วๆนี้

ผมเคยยกตัวอย่างเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้นำและนักการเมืองของตะวันตกบ่อยๆ ปฏิกิริยาของสังคมไทยก็คือ นั่นมันฝรั่ง ครั้นผมยกเรื่องญี่ปุ่น ก็พากันโต้ว่า นั่นมันไม่ใช่ไทย สังคมของเราเป็นสังคมสับปลับชอบสรรหาข้อแก้ตัวมาปกป้องการกระทำผิด ขาดหิริโอตตัปปะ ทั้งในเบื้องต้น เบื้องกลางและเบื้องปลาย เมื่อทำผิดแล้วก็ไม่รู้สำนึก อาศัยการปกป้องของอำนาจอยู่ร่ำไป

ยังหาตัวอย่างดีๆจากเมืองไทยไม่ได้ ผมก็ขอยกตัวอย่างสดร้อนๆจากเมืองฝรั่ง นั่นก็คือ ข่าวผู้ว่าการมลรัฐโอไฮโอสารภาพน้ำตานองหน้าในศาล และกล่าวขอโทษประชาชนด้วยความสำนึกผิด ว่าตนได้ฝ่าฝืนกฎหมายจริยธรรม ด้วยการละเว้นไม่ได้รายงานการได้รับของขวัญมีมูลค่ารวมกัน สองแสนสี่หมื่นบาท!

ผมขอแปลบางตอนลวกๆจากนสพ.นิวยอร์กไทม์ 19 ส.ค. 2548 ดังนี้

"ผู้ว่าฯบอบ ทัฟท์ กลั้นน้ำตา ขอโทษกลางศาล ว่าตนยอมรับผิดที่ละเลยไม่รายงานของขวัญรวมเกือบ $ 6,000 ศาลมีคำสั่งปรับ $4,000 และให้เขียนขอโทษประชาชนที่ได้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยจริยธรรม"

"กระผมมาที่นี่วันนี้เพื่อกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อประชาชนชาวโอไฮโอว่ากระผมได้ละเว้นมิได้ส่งรายงานทรัพยสินให้ครบถ้วนต่อคณะกรรมาธิการจริยธรรมตามบัญญัติของกฎหมาย" ต่อหน้าผ้พิพากษา Mark S. Froehlich of Franklin County Municipal Court. นายทัฟท์ประกาศว่า "กระผมยอมรับผิดโดยสิ้นเชิงกระผมกระทำผิดครั้งนี้ กระผมเสียใจและขอโทษ"

มร.ทัฟท์มิได้ต่อสู้ข้อกล่าวหาทั้ง 4 ข้อ เนื่องมาจากการละเลยรายงานทรัพย์สินบางรายการระหว่างปี 1998-2004 มร.ทัฟท์เป็นผู้นำเรื่องนี้ไปรายงานต่อคณะกรรมาธิการเอง ภายหลังที่มีการเปิดเผยารกระทำผิดของสต๊าฟของเขาคนหนึ่ง เขาจึงรีบตรวจสอบหลักฐานและค้นพบความบกพร่องของตนเอง

มร.ทัฟท์ประคองแขนภริยา ยืนฟังอย่างสงบเมื่อผู้พิพากษา Froehlich ประกาศว่า "นี่คือสัญญาณอันแน่วแน่และชัดเจนว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายในรัฐโอไฮโอ ไม่มีแม้กระทั่งผู้ว่าการมลรัฐ" "และอีกไม่นานศาล(มติ)ประชาชนก็จะตามไปพิพากษาท่านเช่นกัน"

ความผิดของมร.ทัฟท์อยู่ในข่ายที่จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี มร.ทัฟท์สารภาพว่าเขาละเลยมิได้รายงานของขวัญทั้งสิ้น 52 รายการ ประกอบด้วยการรับเชิญไปเล่นกอล์ฟ การรับเลี้ยงอาหาร การรับตั๋วไปดูการแข่งขันฮอกกี้ กฎหมายโอไฮโอบัญญัติว่านักการเมืองจะต้องรายงานของขวัญทุกชนิดที่มีมูลค่าเกิน $ 75 หรือประมาณ 3 พันบาท!

เมื่อเข้ารับตำแหน่งมร.ทัฟท์เป็นผู้ประกาศมาตรฐานทางจริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยตนเอง เขากล่าวปิดท้ายว่า "กระผมเองทำลายมาตรฐานที่ตั้งไว้ และทำลายความคาดหมายของประชาชน กระผมผิดหวังในตัวกระผมเอง" ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอก้มศีรษะลงต่ำและกล่าวขอขมา ด้วยเสียงอันสั่นเครือ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ โปรดอย่าหาว่าผมตอแยหรือบ่อนทำลายเลย ถ้าหากผมจะบอกว่าอเมริกันมีรายชื่อคณะผู้ไปดูงานซีทีเอ็กซ์ของไทยทั้ง 2 คณะ มีรายการเลี้ยงอาหารและให้ของกำนัล รวมทั้งมีบัญชีกำหนดมาตรฐานไว้ด้วยว่าอะไรนับได้ว่าเป็นของขวัญ อะไรเป็นการติดสินบน

ท่านผู้อ่าน ครับ ผมไม่เสียดายสักนิดที่ผมอดเป็นป.ป.ช. แต่ผมเสียดายที่เรายังไม่มีนักการเมืองอย่างผู้ว่าฯโอไฮโอ
กำลังโหลดความคิดเห็น