xs
xsm
sm
md
lg

การจัดการข่าวสู่ระเบียบการเมืองใหม่?

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้พร้อมใจกันรายงานความเคลื่อนไหวในพรรคไทยรักไทยในทำนองว่าสมาชิกในกองงานโฆษกยังทำงานไม่ค่อยเข้าขากันเท่าไรนัก ฉะนั้นจึงอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของคณะทำงานชุดดังกล่าว

เมื่ออ่านข่าวต่างๆ ที่มีออกมาอย่างมากมายแล้ว ก็ไม่พบว่ามีอะไรใหม่เท่าไรนัก นอกจากว่าต่อไปนี้ กองงานโฆษกของพรรคไทยรักไทยจะทำงานแถลงข่าวสัปดาห์ละครั้ง และในกรณีพิเศษ ก็อาจจะมีการส่งคนออกมา "ตอบโต้" กับฝ่ายต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน เป็นครั้งคราวด้วย

อนึ่ง การตอบโต้กันไปๆ มาๆ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านในแบบที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกันดีนั้น ดูจะเป็นเรื่องไร้สาระมากขึ้นทุกทีเสียแล้ว ฉะนั้น สื่อมวลชนคงจะต้องช่วยกันหาวิธีการกลั่นกรองกันให้แม่นยำขึ้นว่า ในแต่ละกรณีมีประเด็นที่แท้จริงอะไรหรือไม่ หากเป็นเพียงการเล่นลิ้นเล่นคำ แบบที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรมากไปกว่าการหาลูกเล่นมาทำตัวให้เป็นข่าวอย่างฉาบฉวย ก็น่าจะตัดทิ้งไปจากสารบบข่าวไปเลย

พอจะยกเว้นได้บ้างก็อาจจะเป็นบางแหล่งข่าว ที่สามารถผลิตเรื่องโกหกที่เคลือบไปด้วยอารมณ์ขันเข้าขั้นที่พอจะมีประเด็นด้านสาธารณประโยชน์บ้างก็พอ ไม่เช่นนั้น พวกนักการเมืองก็จะฉวยโอกาสสร้างเรื่องไม่เป็นเรื่องขึ้นมาแย่งพื้นที่ข่าวกันแบบไม่ยอมเลิกรา เสียเวลาทุกฝ่ายเปล่าๆ

ในระยะเวลาใกล้ๆ กัน ก็มีข่าวออกมาไม่น้อยอีกเช่นกันว่ารัฐบาลได้เปลี่ยนตัวโฆษกรัฐบาลจาก พล.ต.อ.เฉลิมเดช ชมพูนุท มาเป็น น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งเมื่อดูๆ จากเรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็พอจะจับความได้ว่าโฆษกรัฐบาลคนใหม่ขอเวลา 90 วันเพื่อปฏิรูประบบงานข่าวของรัฐบาลเสียใหม่ โดยจะเน้นการทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าโฆษกรัฐบาลจะไม่ได้ขยายความว่า "เชิงรุก" ในที่นี้แปลว่าอะไร ก็พอสรุปได้ว่าในมิติหนึ่ง คงจะหมายถึงการตั้งอกตั้งใจ "จัดการ" ระบบการผลิตและเผยแพร่ข่าวของรัฐบาลให้สามารถมีลูกล่อลูกชนกับสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น

ในทางอุดมคติ น่าจะมากขึ้นถึงขนาดที่รัฐบาลเป็นฝ่ายที่สามารถกำหนดระเบียบวาระล่วงหน้าได้มากกว่าเดิมว่า ในวันหนึ่งๆ อะไรจะเป็นข่าวในสื่อมวลชน รวมทั้งการตัดหรือลดโอกาสของพวก "ลิงๆ" ทั้งหลายไม่ให้สามารถทำตัวเป็นข่าวจนน่ารำคาญใจให้มากที่สุด ทั้งนี้ คงจะไม่ละเว้นแม้กระทั่งวันเสาร์และอาทิตย์

ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจดีเหมือนกัน แต่จะทำสำเร็จหรือไม่เพียงไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนสำคัญๆ ของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็คือ ว่ากันว่าจะมีการจัดระเบียบการให้สัมภาษณ์ใหม่ทั้งหมด โดยในอนาคตอันใกล้นี้โฆษกรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไร อย่างไร เมื่อไร และในกาลเทศะอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ในระบบใหม่นี้ ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีอาจจะเปิดการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชนเป็นครั้งคราวด้วย

ส่วนโฆษกรัฐบาลคนใหม่ก็ว่ากันว่าจะทำหน้าที่เป็น "ศูนย์กลาง" ของการแถลงข่าวต่างๆ ของรัฐบาลต่อสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีแนวความคิดด้วยว่าจะปรับปรุงเว็บไซต์ข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นมาถึงรัฐบาลได้มากขึ้น และจะมีการวางระบบให้ประชาชนสามารถสื่อสารกับรัฐบาลได้มากยิ่งขึ้น เช่น โดยผ่านทางการส่งข้อความสั้นๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

พูดสั้นๆ แนวความคิดในการปรับเปลี่ยนระบบของโฆษกพรรคและโฆษกรัฐบาลข้างต้นนี้ดูเหมือนว่าเป็นความพยายามที่จะปรับปรุงภาพลักษณ์ของพรรคไทยรักไทยและรัฐบาล ให้ออกมาดีกว่าเดิม ซึ่งก็พอที่จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมจึงอยากจะทำ ทั้งนี้ ก็เพราะแม้จะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในไตรมาสแรกของปีนี้อย่างท่วมท้น จนกระทั่งพรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้นั้น แทนที่จะพบกับความราบรื่นในการทำงานมากกว่าการเป็นรัฐบาลหลายพรรคในรอบแรก ทว่ากลับประสบอุปสรรคใหญ่ๆ ต่อเนื่องมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ

เช่น (1) ข้อกล่าวหาเป็นชุดๆ เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน ทั้งในระดับนโยบาย ระดับโครงการ และระดับตัวบุคคล (2) ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความพยายามที่จะควบคุมราคาน้ำมันเอาไว้โดยฝืนกลไกตลาดในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ (3) หนี้สินของภาคประชาชนและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ (4) ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ อันสืบต่อมาจากความผิดพลาดด้านนโยบายในช่วงที่เป็นรัฐบาลรอบแรก เป็นต้น

รวมความแล้ว กล่าวได้ว่ารัฐบาลของพรรคไทยรักไทยกำลังเผชิญหน้ากับอะไรที่ไม่น้อยไปกว่าวิกฤตศรัทธาเลยทีเดียว ดังปรากฏว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญๆ ของประเทศหลายๆ ท่านไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ ต้องถือเป็นธุระส่วนตัวพากันออกมาตักเตือนรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทว่าก็ไม่ค่อยมีวี่แววว่าได้รับการตอบสนองเท่าไรนัก

การเปลี่ยนแปลงระบบงานของโฆษกทั้งในระดับพรรคและรัฐบาลที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้คงมุ่งที่จะแก้ไขวิกฤตศรัทธาที่ว่านี้เอง

จุดสำคัญของยุทธศาสตร์ใหม่นี้ดูเหมือนว่าจะอยู่ที่ (1) การควบคุมให้นายกรัฐมนตรีพูดให้น้อยลง (2) โฆษกรัฐบาลพูดแทนนายกรัฐมนตรีมากขึ้น และ (3) การสร้างกลไกใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อผลิตข่าวของรัฐบาลเอง โดยอ้างว่ามีที่มาจาก "ประชาชน" มากขึ้น

ปริศนาในที่นี้ก็คือ ยุทธศาสตร์ใหม่เหล่านี้ส่อนัยอะไรบ้าง และก่อให้เกิดผลอะไรต่อไป

ในประการที่หนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมให้นายกรัฐมนตรีพูดน้อยลงนั้น แม้ในเชิงของหลักการ ก็อาจจะดูดี ทั้งนี้ เพราะเป็นที่รู้ๆ กันทั่วไปว่าปัญหาอย่างหนึ่งของนายกรัฐมนตรีก็คือการใช้คำพูดที่เกินกว่าความจำเป็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งในหลายกรณี ดูเหมือนว่าจะเข้าข่ายเป็นการพูดประเภทที่ผิดพลาดทางการเมือง (politically-incorrect) อันบ่อยๆ สามารถสร้างความเสียหายได้ไม่ใช่น้อย จนกล่าวได้หากใครว่างๆ ไม่มีอะไรดีกว่าจะทำ จนต้องถือเป็นธุระเอาคำพูดในทำนองอย่างนี้มาวิเคราะห์ถึงความตื้นลึกหนาบางต่างๆ ก็คงจะเขียนหนังสือได้เป็นเล่มหนาๆ เลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น หากใครขยันพอที่จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า ท่านมีความฝันที่จะเป็นเสมือนท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นั่นก็คือ ในอนาคตจะมีคนมาแสดงการคารวะต่อบทบาทของท่านในการสร้างสันติภาพ ไม่เพียงแต่ในภาคใต้ของไทย ทว่าในทวีปเอเชียด้วย ก็คงจะเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานไม่ใช่น้อยๆ เพราะโจทย์อย่างนี้ต้องอาศัยข้อมูลและทักษะในการวิเคราะห์ไม่ใช่น้อยๆ มาคลี่คลาย

ถึงแม้จะมีความตั้งใจที่ดีมากสักปานใดก็ตาม การที่โฆษกรัฐบาลจะไปกะเกณฑ์ให้นายกรัฐมนตรีพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แบบนั้นแบบนี้ เมื่อนั้นเมื่อนี้ ถึงดูจะเป็นหลักการที่คล้ายๆ กับว่าอาจจะมีประโยชน์ในทางการเมืองอยู่บ้าง ทว่าเอาเข้าจริง คงไม่ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริงในหลายประการเหลือเกิน

ตัวอย่างเช่น ธรรมชาติส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีท่านนี้ก็คือ ท่านเป็นนักทำงานแบบ "ซูเปอร์ซีอีโอ" ซึ่งหมายความว่านโยบายใหญ่ๆ ทุกอย่างล้วนถือกำเนิดขึ้นมาจากตัวท่านเอง ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเป็นคนที่เข้าใจความตื้นลึกหนาบางของนโยบายต่างๆ อย่างลึกซึ้งเพียงคนเดียว เพราะเหตุนี้นั่นเอง เท่าที่ผ่านๆ มา นายกรัฐมนตรีจึงมักจะชอบทำอะไรสารพัดด้วยตนเอง นับตั้งแต่การทำตัวเป็นแบบอย่างของครูสอนคณิตศาสตร์ จนกระทั่งถึงการลงทุนไปตรวจภาวะน้ำท่วมที่เชียงใหม่ด้วยตนเอง ฉะนั้น จึงเป็นที่รู้กันทั่วไปมาโดยตลอดว่า ท่านชอบที่จะทำหน้าที่เป็นโฆษกรัฐบาลเองด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีท่านนี้ยังเป็นคนที่ชอบทำอะไรในลีลาคล้ายๆ กับศิลปินใหญ่คนหนึ่งเลยทีเดียว นั่นก็คือ เมื่อท่านอยู่ในอารมณ์ที่อยากจะพูด ท่านก็จะพูด เมื่อท่านไม่ต้องการจะพูด ท่านก็ย่อมจะไม่พูด จนกระทั่งใครๆ ก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับการพูดอะไรตามจังหวะการเต้นของหัวใจของท่านไปหมดแล้ว แล้วจู่ๆ จะไปเปลี่ยนแปลงกันง่ายๆ ได้อย่างไร

ฉะนั้น ใครจะไปกะเกณฑ์อะไรท่านถึงขนาดนี้ก็ไม่น่าจะทำได้สำเร็จ และอาจจะถือได้ว่าเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับนายกรัฐมนตรีอย่างลึกซึ้งทีเดียว เนื่องจากท่านชอบแสดงออกแบบธรรมชาติ หากจำเป็นต้องอดกลั้นเอาไว้มากๆ นานๆ ตามนโยบายของโฆษกรัฐบาลตนใหม่ ก็อาจจะทำให้ท่านถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อไม่สบายขึ้นมาง่ายๆ ได้เหมือนกัน

มิหนำซ้ำ แม้นว่านายกรัฐมนตรีจะทำตามกฎเกณฑ์ที่เต็มไปด้วยความหวังดีของโฆษกรัฐบาลได้บ้างสักระยะหนึ่ง ลงท้ายแล้ว สำหรับบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีท่านนี้ ท่านก็จะต้องเป็นตัวของตัวเองอยู่ดี

เหนือสิ่งอื่นใด คนทั้งประเทศ (รวมทั้งต่างประเทศในระดับหนึ่งด้วย) ล้วนรู้กันทั่วไปแล้วว่านายกรัฐมนตรีของเมืองไทยท่านนี้มีลีลาการทำงานอย่างไรบ้าง จนกระทั่งการพูดอะไรตรงๆ ของท่าน (ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ได้กลายเป็นเสน่ห์ประจำตัวชนิดหนึ่งไปเสียแล้ว แม้คนที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับท่าน ก็ชอบที่จะรอฟังด้วยความตื่นเต้นอย่างยิ่งว่าท่านจะพูดอะไร

เมื่อใครๆ ก็คุ้นเคยกับธรรมชาติส่วนตัวของท่านกันหมดแล้ว การที่จะมากะเกณฑ์ให้ท่านทำตัวให้เงียบๆ คงจะมีผลกระทบในทางลบไม่ใช่น้อยๆ เพราะทำไปทำมา เมื่อทุกคนชักจะรู้แกวเสียแล้วว่าท่านพูดน้อยลงไปมาก ครั้นเมื่อท่านพูดอะไรต่างๆ ก็เป็นไปตามโผของคนอื่น ก็อาจจะกลายเป็นว่าความไม่ไว้วางใจต่อนายกรัฐมนตรีในหมู่ประชาชนและสื่อมวลชนต่างๆ กลับจะยิ่งมากขึ้นไปอีก เพราะพวกเขาจะสำนึกว่านั่นเป็นการเล่นละครเพื่อหวังผลทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง

การใช้วิชาการตลาดมาช่วยสร้างนโยบายหาเสียงนั้นก็เป็นเรื่องอย่างหนึ่ง แต่ถึงขนาดที่จะใช้วิชานี้มากำหนดว่านายกรัฐมนตรีควรจะพูดอะไรบ้างอย่างไรเมื่อไรแบบวันต่อวันนั้นก็คงเกินไป

ก็ลองนึกดูก็แล้วกัน หากรายการวิทยุนายกฯทักษิณคุยกับประชาชนของท่านเกิดหายไป หรือปรากฏในรูปโฉมใหม่ด้วยการอ่าน "บท" ที่โฆษกรัฐบาลเป็นผู้เขียนให้ จนฟังดูไพเราะเสนาะหูราวกวีนิพนธ์ชั้นดี แฟนๆ ที่เป็นคนฟังผู้ชอบฟังนายกรัฐมนตรีพูดจาโผงๆ ผางๆ ทางวิทยุมานานๆ จะรู้สึกว่าเป็นของปลอมๆ สักเพียงใด

ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ว นายกรัฐมนตรีอาจจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสามารถสัมภาษณ์เพื่อสอบถามรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ได้คราวละราวๆ 30-45 นาทีอะไรอย่างที่ว่า แม้กระทั่งด้วยการถ่ายทอดสดๆ ทางโทรทัศน์ในแบบฉบับที่ประธานาธิบดีอเมริกันทำๆ กันอยู่ ก็ไม่น่าจะ "ทดแทน" การสัมภาษณ์ในสถานการณ์ต่างๆ ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับนักข่าวแบบสดๆ ร้อนๆ ได้

เว้นเสียแต่ว่าการสัมภาษณ์แนวใหม่นี้เป็น "ของแถม" จากวิธีการปฏิบัติเดิมๆ เท่านั้น ในกรณีนี้ก็ต้องถือว่าเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งอาจจะช่วยให้นายกรัฐมนตรีสามารถแย่งพื้นที่ข่าวได้มากขึ้นอีกหน่อย ทว่าการสัมภาษณ์สดๆ ทางโทรทัศน์ โดยมีนักข่าวมาชุมนุมกันหน้าจอโทรทัศน์มากมาย ก็อาจจะมีข้อเสียได้บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่นายกรัฐมนตรีอารมณ์ไม่ค่อยดี

แต่หากจะถือเสียว่า การพูดพลั้งเผลอไปบ้างเพราะอารมณ์ไม่ค่อยดีนั้นก็คือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีมีคุณค่าด้านข่าวเพิ่มขึ้น ก็อาจจะไม่เสียหายอะไรนัก เพราะนักทฤษฎีบางสำนักก็เชื่อกันว่าการมีโอกาสได้เป็นข่าวยิ่งมากก็ยิ่งดี ทั้งๆ ที่ข่าวที่ออกไปอาจจะไม่ค่อยดีนักนี่แหละ

ที่สำคัญ วัฒนธรรมการเมืองไทยไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองอเมริกัน นายกรัฐมนตรีจะทำตัวเหินห่างจากประชาชนด้วยการทำตัวชาเย็นกับสื่อมวลชนคงจะไม่ได้ ทั้งนี้ ก็เพราะว่าสื่อมวลชนไทยมีความคุ้นเคยกับการใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด

การสัมภาษณ์ที่นายกรัฐมนตรีมีนักข่าวจำนวนนับได้เท่ากับกองทัพขนาดย่อมๆ โดยถือไมโครโฟนบ้าง เครื่องบันทึกเสียงบ้าง กล้องถ่ายรูปบ้าง และกล้องโทรทัศน์บ้าง ล้อมหน้าล้อมหลังคราวละห้าสิบคนร้อยคนนั้น จริงๆ แล้ว เป็นภาพที่น่ารักมาก เพราะทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่านายกรัฐมนตรีมีความใกล้ชิดและเป็นกันเองกับนักข่าวมาก ซึ่งสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีมาก อันหาดูได้ยากยิ่งในประเทศอื่นๆ พวกนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อุตส่าห์เดินทางมาท่องเที่ยว คงจะพ้องต้องกันว่า นี่เป็นเสน่ห์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเมืองไทย

ข้อที่ควรจะระมัดระวังเช่นเดียวกันก็คือ หากนายกรัฐมนตรีเกิดพาซื่อ ไม่ยอมพูดไม่ยอมจากับสื่อมวลชนตามนโยบายของโฆษกรัฐบาลคนใหม่บ่อยๆ เข้า ในที่สุด สื่อมวลชนไทยก็ไม่มีทางเลือก จำเป็นจะต้องแสดง "อัจฉริยภาพ" ของตนด้วยการคาดเดาต่างๆ นานาตามวิสัยของคนไทยที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีใครทำนายได้ว่าเสียงลือเสียงเล่าอ้างแบบซุบซิบๆ ที่จะปรากฏในสื่อมวลชนมากมายขึ้นอย่างแน่นอนนั้น ก็ก่อให้เกิดผลเสียใหม่ๆ อย่างไรบ้าง

ในประการที่สอง การที่อยู่ๆ โฆษกรัฐบาลจะตั้งวงให้สื่อมวลชนมาฟังการแถลงข่าวของตนเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาลอย่างเป็นทางการนั้น ก็คงจะไม่มีอะไรเสียหาย สื่อมวลชนก็คงจะชอบกันดี เพราะสามารถได้รับข้อมูลบางอย่างโดยสะดวกและครบถ้วนขึ้น และถือได้ว่ามี "แหล่งข่าว" ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกแหล่งหนึ่ง

ทว่าการที่จะให้สื่อมวลชนไทยพึงพอใจกับคำสัมภาษณ์ของโฆษกรัฐบาลโดดๆ โดยไม่ต้องไปไล่เบี้ยถามเอากับนายกรัฐมนตรี (หรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ) เพิ่มเติมนั้นเห็นทีจะยาก เพราะสื่อมวลชนไทยนั้นก็ไม่ใช่ธรรมดา ล้วนแล้วแต่เฉลียวฉลาด รู้กันเป็นอย่างดีว่าใครเป็นใคร จึงย่อมไม่เชื่อว่าใครสามารถพูดแทนนายกรัฐมนตรีผู้เป็น "ซูเปอร์ซีอีโอ" หรือแม้กระทั่งการพูดแทนรัฐมนตรีคนอื่นๆ ได้

นอกจากแนวทางนี้จะไม่ได้ผลแล้ว ยังน่าจะก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมาอีกมาก ความที่สื่อมวลชนอยากรู้ว่าจริงๆ แล้วนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ คิดอย่างไรในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะช่วยกันพยายามป้อนคำถามต่างๆนานาให้โฆษกรัฐบาลเข้ามุมอับจนหาทางออกไม่ได้ต้องรีบๆ ปิดการแถลงข่าวและการให้สัมภาษณ์ในแทบจะทุกวันนั่นแหละ

ถึงแม้ความพยายามในอันที่จะเคลื่อนย้าย "ความร้อน" มาอยู่ที่โฆษกรัฐบาล อาจจะเป็นแนวความคิดที่แยบยล ทว่าความหวังที่ว่า "ความร้อน" จะไปไม่ถึงนายกรัฐมนตรีนั้นไม่น่าจะบรรลุผล เพราะระบบการเมืองไทยมีขนาดเล็กเกินไปที่นักการเมืองระดับนายกรัฐมนตรีจะสามารถวางตัว "ห่างเหิน" กับสื่อมวลชนโดยไม่ต้องจ่าย "ราคา" ที่มองไม่เห็นได้

และ (3) การสร้างกลไกให้ประชาชนสามารถสื่อสารกับรัฐบาลได้มากขึ้น โดยหลักการแล้วต้องถือว่าเป็นความคิดที่ดี เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยควรจะปรารถนาที่จะทราบว่าประชาชนต้องการหรือไม่ต้องการอะไร ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับความจริงมากยิ่งขึ้น

ทว่าในทางปฏิบัติ โฆษกรัฐบาลคนใหม่อาจจะคิดถึงประโยชน์ของข่าวสารที่จะเกิดขึ้นจากกลไกที่จะวางระบบขึ้นใหม่นี้ในรูปแบบอย่างอื่นมากกว่า นั่นก็คือ การนำข่าวสารแบบนี้มาใช้เป็น "กรอบแห่งการอ้างอิงใหม่" ว่าจริงๆ แล้วประชาชนคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างที่ฝ่ายค้านหรือสื่อมวลชน หรือใครอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลว่าๆ กันดอก เป็นต้น

จุดที่น่าสังเกตก็คือกลไกใหม่ในการรับข่าวสารจากประชาชนเท่าที่เอ่ยถึงในที่นี้ดูเหมือนจะเน้นกลไกทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การสื่อสารออนไลน์ หรือการส่งเอสเอ็มเอส ที่ใครๆ ก็สามารถ "สร้าง" หรือ "ตกแต่ง" ได้อย่างเป็นระบบ โดยการสืบค้นหาแหล่งที่มาอันแท้จริงกระทำได้โดยยากทั้งสิ้น ฉะนั้น ความน่าเชื่อถือจึงแทบจะมีค่าเป็นศูนย์

หากเป็นเช่นนี้จริง จากมุมมองของผู้บริโภค ข่าวสารจากระบบการสื่อสารจากประชาชนสู่รัฐบาลอะไรอย่างที่ว่านี้ก็แทบจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย สู้ฟังเอาจากสื่อมวลชนและสำนักสำรวจประชามติต่างๆ ที่มีความเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลไม่ได้

ว่ากันตามจริง งานสำคัญอย่างหนึ่งของฝ่ายโฆษกของรัฐบาลน่าจะเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวสารที่เป็นอิสระเหล่านี้อย่างรอบรู้ ซื่อตรง และด้วยท่าทีที่มองโลกในแง่ดี ตลอดทั้งคำวิจารณ์ ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะสารพัดของบุคคลผู้ล้วนหวังดีมากมายที่อยู่ภายนอกรัฐบาลด้วย ไม่ใช่การด่วนสรุปแบบผ่านๆ เอาง่ายๆ ว่าใครๆ ก็ล้วนเป็นปรปักษ์กับตน ก็จะเป็นประโยชน์กับการทำงานของรัฐบาลไม่ใช่น้อย เพราะบ่อยๆ นี่คือ "เสียงสวรรค์" ขนานแท้และดั้งเดิม อันเป็นลายแทงสู่ขุมทรัพย์ทางปัญญาที่จะช่วยบ่งชี้ว่าอะไรผิดอะไรถูกได้จริงๆ

กล่าวอย่างสั้นๆ เค้าลางของแนวทางในการจัดระเบียบข่าวของโฆษกรัฐบาลคนใหม่เริ่มที่โผล่ๆ ออกมาให้เห็นบ้างแล้วนี้ หากจะว่ากันโดยหลักการล้วนๆ แล้ว อาจจะดูดีจนเสมือนว่าน่าจะมีศักยภาพที่จะช่วยสร้างระเบียบการเมืองใหม่ให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น

ทว่าการนำไปปฏิบัติจริงๆ น่าจะประสบกับอุปสรรคที่ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะนอกจากจะไม่กลมกลืนกับบุคลิกภาพของนายกรัฐมนตรีท่านนี้แล้ว ยังขัดแย้งกับระบบการเมืองไทยมีขนาดเล็กมาก อีกทั้งยังท้าทายวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่สื่อมวลชนและประชาชนล้วนต้องการเข้าถึงผู้นำโดยตรง ไม่ใช่โดยอ้อม

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ คนไทยเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ธรรมดาที่ใครๆ จะมาคอยปั้นแต่งนิทานให้เคลิบเคลิ้มง่ายๆ เพราะเขาแยกออกกันมานานแล้วว่า การประชาสัมพันธ์ หรืออะไรอื่นที่คล้ายๆ กันนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับผลงานที่แท้จริงของรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น