xs
xsm
sm
md
lg

ดูว่าบริษัทธุรกิจจีน เติบใหญ่อย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

บริษัทจีนกำลัง "บาน" เป็นดอกเห็ดหลังฝนทั้งในแผ่นดินจีน และในต่างประเทศ ชาวโลกจะไม่เพียงแต่เจอะเจอกับสินค้าที่ "เมดอินไชน่า" เท่านั้น แต่ยังจะเจอะเจอกับบริษัทจีนหรือ "จงกั๋วฉี่เยี่ย" มากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันก็มีบริษัทจีนเข้ามาตั้งฐานในกรุงเทพฯมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร เพราะพวกเขาถือว่า กรุงเทพฯ คือศูนย์กลางของอาเซียน สามารถดำเนินกิจการครอบคลุมไปยังประเทศต่างๆ ในย่านเอเชียอาคเนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เป็นผลพวงของการปฏิรูป

ภายหลังการดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้าง (เริ่มต้น ค.ศ. 1978) ในแผ่นดินจีน มีบริษัทจีนเกิดขึ้นหลายแบบ ที่เด่นมากๆ ก็เช่น "แบบเวินโจว" ที่ "สร้างตัวมือเปล่า" เริ่มจากธุรกิจขนาดย่อยระดับรากหญ้า มาเป็นขนาดใหญ่ระดับท้องถิ่น และขนาดยักษ์ระดับชาติและระดับโลก ดังกรณีของเต๋อลี่ซี (ท่านที่สนใจ กรุณาเข้าไปดูเรื่องราวของเต๋อลี่ซีได้ในเว็บไซต์ผู้จัดการ คอลัมน์ "ทัศนะ" หรือคอลัมน์ "บริษัทจีน" ใน "มุมจีน") ด้วยระยะเวลาเพียง 10 กว่าปี

ซึ่งปัจจุบันนี้ มีบริษัทยักษ์ใหญ่จีนจำนวนหนึ่ง ได้ "ก้าวออกไป" สู่โลกกว้าง ในฐานะบริษัทข้ามชาติ ดำเนินธุรกิจครบวงจรแข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของฝรั่ง ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ที่ดังมากๆ ก็เช่นไฮเออร์ เลโนโว หัวเหวย เป็นต้น

พวกเขาเติบใหญ่ขึ้นมาอย่างไร? แต่ละบริษัทมีเส้นทางเฉพาะของตนเอง แต่ก็อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน คือระบอบสังคมนิยมแบบจีน ที่นำเอาระบบเศรษฐกิจตลาดเข้ามาใช้ มุ่งพัฒนาประเทศให้เจริญด้วยการสร้างเสริมระบบเศรษฐกิจตลาดให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ

ในสภาพแวดล้อมหรือ "ระบบนิเวศวิทยาทางสังคม" ของจีนนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนคือผู้กำหนดทิศทางและวางแบบแผนการพัฒนา เป็นผู้กำหนดในระดับ "องค์รวม" หรือมหภาคของการพัฒนาประเทศจีน ขณะที่บริษัทธุรกิจ ทั้งที่เป็นของรัฐและของประชาชนเป็นองค์ประกอบทางจุลภาค ขับเคลื่อนตัวเองให้เติบใหญ่ในบริบทขององค์รวมเดียวกัน

อุปมาพรรคและรัฐบาลจีน ทำหน้าที่สร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีสำหรับการฟูมฟักบริษัทธุรกิจจีนให้เติบใหญ่ เข้มแข็ง ด้วยการปฏิรูประบบการบริหารจัดการของรัฐ (ทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ) และพัฒนากลไกตลาด ให้เกิดการแข่งขันอย่างยุติธรรม รวมทั้งการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ "WTO" เพื่อให้ตลาดจีนเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลก เป็นเวทีพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการก้าวไปสู่ความเป็นสากลของบริษัทจีน หรือกระทั่งเป็นบริษัทระดับโลกตั้งแต่อยู่ในประเทศจีน ส่วนบริษัทธุรกิจจีนก็มุ่งพัฒนาตนเองให้เติบใหญ่ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ซึ่งเมื่อเติบใหญ่ได้ที่แล้ว ก็โบยบินสู่โลกภายนอก ไปพัฒนาเติบใหญ่ในสภาพแวดล้อมของการแข่งขันระดับโลก

ความเจริญก้าวหน้าและเข้มแข็งของประเทศจีนโดยรวม กับการพัฒนาเติบใหญ่ของธุรกิจจีนจึงเกื้อกูลกัน เสริมซึ่งกันและกัน ยิ่งประเทศจีนเจริญมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น บริษัทจีนก็ยิ่งมีลู่ทางพัฒนาขยายตัวมากขึ้น ในทำนองเดียวกัน ความเติบใหญ่ของบริษัทจีน ก็เสริมความเข้มแข็งให้แก่ประเทศจีนในระดับองค์รวม มีความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกมากขึ้น

ในประเทศจีนทุกวันนี้ จึงปรากฏเห็นการ "แบ่งงานกันทำ" ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนอย่างชัดเจน นั่นคือ พรรคฯและรัฐบาล ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น มุ่งพัฒนาแนวทางนโยบายที่สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของภาคประชาชน ดำเนินการปฏิรูประบบ โครงสร้าง กลไก ในด้านต่างๆ เพื่อเปิดทางให้แก่การพัฒนาขยายตัวของภาคประชาชน ขณะที่ภาคประชาชนเร่งพัฒนา เสริมความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง

โดยทั่วไป บริษัทจีนจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาทำความเข้าใจในแนวนโยบายของรัฐอยู่เสมอ ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐในทุกขั้นตอน ขณะที่ภาครัฐก็เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนทดลองทำในสิ่งใหม่ๆ ตามสภาวะตลาดหรือความเรียกร้องต้องการที่เป็นจริงของสังคม แล้วดำเนินการปฏิรูปแนวนโยบาย ปรับเปลี่ยนกฎกติกาต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

จึงไม่แปลกที่ ปัจจุบันนี้ในประเทศจีน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนจึงขับเคลื่อนตัวเองไปในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมจีน ในบริบทสังคมโลกที่เชื่อมโยงเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างเป็นพลวัต คือดำเนินไปอย่างไม่หยุดหย่อน อย่างต่อเนื่อง และอย่างรวดเร็ว

สำหรับคนนอก เช่นคนไทยเรา จึงไม่เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่พรรคฯ และรัฐบาลจีนกำลังทำอยู่ แต่จำเป็นต้องเจาะลึกลงไปด้วยว่า ภาคเอกชนของจีนเขาทำอะไรกันบ้าง ในการขับเคลื่อนตัวเอง ทั้งนี้ ถ้าสามารถทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องทั้งสองส่วน ก็จะทำให้เรา "เข้าถึง" ประเทศจีนอย่างแท้จริง

ความเข้าใจจีนอย่างถูกต้อง คือปัจจัยเบื้องต้นในการทำอะไรๆกับประเทศจีน ที่จะทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุดในการไปมาหาสู่กับประเทศจีน ทั้งในระดับรัฐบาลและระดับประชาชน

จริงๆ แล้ว หน่วยงานวิจัยจีนของไทยเรา ซึ่งมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย น่าจะประสานกัน (โดยหน่วยงานรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ) กำหนดยุทธศาสตร์การเข้าถึงความจริงจีนกันอย่างจริงๆ จังๆ เสียที เพื่อจะได้ใช้โอกาสต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในระหว่างการขับเคลื่อนตัวเองของประเทศจีน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนให้เป็นประโยชน์แก่เราเอง มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

อย่างน้อยเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ในบริบทที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนกำลังโผบินสู่ฟ้ากว้าง ประเทศไทยเราก็สามารถขยับปีกบิน "ตีคู่" ไปได้ด้วย เฉกเช่นในสองร้อยปีก่อน เมื่อครั้งยุโรปกำลังก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ประเทศต่างๆ ในยุโรปต่างพากันบินติดลมบนกันทั้งกลุ่ม นำหน้าทวีปอื่นใดในโลก

เข้าถึง "เต๋อลี่ซี" ผ่านหูเฉิงจง

สภาพแวดล้อมที่ดี โดยพรรคฯ และรัฐบาลจีนเป็นผู้ "ถักทอ" สร้างขึ้นมา คือเหตุปัจจัยเบื้องต้นของการพัฒนาเติบใหญ่ในภาคธุรกิจจีน แต่การที่บริษัทหนึ่งๆ จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ จำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมี "นักบุกเบิกธุรกิจ" ที่เก่งกาจจริงๆ มาทำหน้าที่ในตำแหน่ง "ซีอีโอ"

มิเช่นนั้น ธุรกิจก็จะไปไม่รอด ดังที่มีธุรกิจจีนจำนวนมากมาย ต้องล้มหายตายจากไปในระหว่างทาง

ปัจจุบันนี้ มีเรื่องราวการพัฒนาเติบใหญ่ของบริษัทธุรกิจจีนเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งหนังสือเล่มที่เรียบเรียงขึ้นโดยบุคคลอื่นหรือจากการเขียนและเรียบเรียงโดยผู้บุกเบิกธุรกิจเอง ในนั้น เราจะพบเห็นแนวคิด วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการดำเนินธุรกิจของพวกเขาอย่างชัดเจน รวมทั้งการปรากฏขึ้นรางๆ ของ "การบริหารแบบจีน" ที่โลกกำลังให้ความสนใจ อาทิเช่น วิธีการบริหารไฮเออร์ของจังรุ่ยหมิ่น ซีอีโออันดับหนึ่งของจีน ได้ถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรเอ็มบีเอของฮาร์วาร์ดตั้งแต่ปี 1998

ในกรณีของเต๋อลี่ซีกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่จีน (โปรดเข้าไปดูเรื่องราวของเต๋อลี่ซีได้ในเว็บไซต์ผู้จัดการ) เราสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านงานเขียนของ หูเฉิงจง ผู้ก่อตั้งและบุกเบิกเส้นทางการพัฒนา นำเต๋อลี่ซีก้าวขึ้นสู่ความเป็นกลุ่มบริษัทแนวหน้าของจีน โดยเขาได้ประมวลเรื่องราวการพัฒนาเติบใหญ่ของเต๋อลี่ซีไว้อย่างครบถ้วนในหนังสือสามเล่ม ประกอบด้วย 1. ว่าด้วยการบุกเบิกสร้าง "กลุ่มธุรกิจ" (ฉี่เยี่ยจี๋ถวนช่วงซินลุ่น) 2. ยุทธศาสตร์แบรนด์เนมกับวัฒนธรรมองค์กร (ฉี่เยี่ยเหวินฮั่วอวี๋ผิ่นไผจั้นเลวี่ย) และ 3. ความมั่งคั่งกับความรับผิดชอบ (ไฉฟู่อวี๋เจ๋อเริ่น)

ผู้เขียนจะขออาสาประมวลปรัชญา แนวคิด วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์การบริหารของเขา จากหนังสือทั้งสามเล่มนี้ ทยอยนำลงตีพิมพ์ในคอลัมน์นี้ไปเรื่อยๆ สำหรับให้ท่านผู้อ่านได้เคี้ยวและย่อยเป็นอาหารหล่อเลี้ยงทางปัญญา (ตามสัญญาที่ผู้เขียนเคยให้ไว้เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ว่าจะเจาะในรายละเอียดของบริษัทจีน โดยเริ่มจากเต๋อลี่ซี)

เป็นธุรกิจที่ทรงประสิทธิผล

หูเฉิงจง ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจเต๋อลี่ซี แถมมีดีกรีปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยพรินซตันพ่วงท้ายอีกต่างหาก ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไว้ในหนังสือเล่มแรก "ฉี่เยี่ยจี๋ถวนช่วงซินลุ่น" (ว่าด้วยการบุกเบิกสร้าง "กลุ่มบริษัทธุรกิจ")ว่า ก่อนอื่นใด จะต้องทำให้ธุรกิจเป็นกิจการที่ทรงประสิทธิผล คือสร้างผลพวงทางธุรกิจได้ดีเยี่ยม

ธุรกิจจะมีประสิทธิผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระบบ กลไก และการบริหารจัดการ

หูเฉิงจงกล่าวว่า หากกลไกและการบริหารไม่เข้าที่ แม้ในระยะแรกๆ จะยังถูไถไปได้ แต่ในที่สุดก็จะเกยตื้น

อีกนัยหนึ่ง ระบบ กลไก และการบริหารที่ดี จะนำไปสู่ความเป็นธุรกิจที่ทรงประสิทธิผล

อะไรคือประสิทธิผลทางธุรกิจ?

หูเฉิงจงใช้หลักวิเคราะห์ของคาร์ล มาร์กซ์ มาอธิบาย เป็นสูตร ดังนี้

G1(เงินทุน)-W1(สินค้า=แรงงาน+ เครื่องจักร+วัตถุดิบ)-W2 (สินค้าผลิตภัณฑ์)-G2 (เงินทุน)

นั่นคือ ผู้ลงทุนนำเงินทุน G1 ไปลงทุนซื้อสินค้า W1 แล้วดำเนินการผลิตสินค้า W2 ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการทำงานของผู้ใช้แรงงาน เครื่องจักรกับวัตถุดิบ เมื่อนำผลิตภัณฑ์ออกไปขาย มีรายได้เป็นเงินทุน G2

ในกรณีที่ G2 มากกว่า G1 เมื่อนำ G2-G1=มูลค่าส่วนเกิน

ในระบอบทุนนิยม มูลค่าส่วนเกินนี้นายทุนเป็นผู้เอาไป แต่ในระบอบสังคมนิยมรัฐเป็นผู้ได้ไป และเรียกใหม่ว่า "ประสิทธิพลทางเศรษฐกิจ"

อีกนัยหนึ่ง ถ้าไม่พิจารณาในมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่พิจารณาในเชิงธุรกิจอย่างเดียว "มูลค่าส่วนเกิน" กับ "ประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ" ก็เป็นเรื่องเดียวกัน

ตรงนี้ G1 ก็คือ in put ส่วน G2 ก็คือ out put

ความสัมพันธ์ระหว่าง G1 กับ G2 ก็คือ ในห้วงเวลาหนึ่งๆ นับตั้งแต่เริ่มการลงทุน G1จนถึงการได้มาซึ่งเงินทุน G2 ถ้าการใช้แรงงาน การทำงานของเครื่องจักรกับวัตถุดิบ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ค่าของ G2 ก็จะโต ยิ่งมีประสิทธิภาพก็ยิ่งโต

เราเรียกห้วงเวลาตั้งแต่ G1 ถึง G2 ว่า "จำนวนวันการหมุนเวียนของเงินทุน" ซึ่งก็คือระยะเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างประสิทธิผลทางเศรษฐกิจในแต่ละรอบ

G1 -------------------- t -------------------------G2

ดังนั้น "จำนวนวันการหมุนเวียนของเงินทุน" ยิ่งสั้น ก็จะยิ่งดี

อย่างเช่น ในรอบหนึ่งเราสามารถสร้างประสิทธิพลทางเศรษฐกิจได้ 1 แสนบาท ถ้าปีหนึ่งทำได้ 6 รอบ ก็จะได้เป็น 6 แสนบาท ยิ่งมากรอบเท่าไร ค่าของประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ (G2-G1) ก็จะยิ่งโตเท่านั้น

เห็นได้ชัดว่า ตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่การเกิดประสิทธิผลทางเศรษฐกิจสูงสุด มีอยู่ 4 ตัวด้วยกัน เริ่มจาก 1. การใช้เงินทุน G1 อย่างมีประสิทธิภาพ ไปในการซื้อ สินค้า W1 2. การใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การทำงานของเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง W2 ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่ G2 มูลค่าสูง ในห้วงเวลาอันสั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น