xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณฝันเดินตามรอยปรีดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-"ทักษิณ"ฝันเดินตามรอย"ปรีดี พนมยงค์"ทิ้งความดีให้ชนรุ่นหลังกล่าวขาน เชื่อสันติภาพเกิดได้หากผู้นำไม่เห็นแก่ตัว หรือสั่งฆ่าลูกเดียว "อานันท์"ชี้สันติภาพเกิดจากความยุติธรรม และเคารพในสิทธิมนุษยชนในประเทศ แนะ ประชาชนต้องกล้าออกมาทวงถามความเสมอภาค

เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.) ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายของรัฐบาลในการสร้างสันติภาพ" เนื่องในงานฉลอง 60 ปีวันสันติภาพไทย ว่า ความจริงคำว่าสันติภาพมันมีอยู่ในใจคนไทยทุกคน ถือว่าในวันนี้เราได้รำลึกถึงขบวนการเสรีภาพ ทำให้ไทยไม่ถูกประกาศว่าเป็นผู้แพ้สงคราม

หากย้อนไปในอดีตเรามีความสัมพันธ์เป็นมิตรโดยเกิดจากวิสัยของผู้นำ และคิดว่า สันติภาพและความมั่นคงเป็นหลักในคำว่าเสรีภาพ

นอกจากนั้นทุกศาสนาสอนให้ทุกคนรักสันติ โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่สอนให้คนมีเมตตาธรรม และมีพื้นฐานที่รักสันติ ไม่เบียดเบียน โดยเฉพาะประเทศไทยเราต้องการสันติทั้งภายในและภายนอก

ในอดีตปัญหาความขัดแย้งจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะความระแวงได้หมดไป หลังจากที่ตนได้หารือกับผู้นำประเทศว่า ถ้าประเทศไหนยังมีการสู้รบ ประชาชนก็จะเกิดความยากจน ดังนั้นเราควรหันหน้าเข้าหากัน อย่างไรก็ตามความระแวงระหว่างกันขณะนี้ไม่มีแล้ว ที่ผ่านมา ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่เคยเฟื่องฟูในอดีต แต่เมื่อยิ่งพัฒนากลับยิ่งยากจน เพราะเกิดจากความขัดแย้งในอดีต รวมถึงผลจาการล่าอาณานิคมและการทำสงครามเย็น

ดังนั้นตนจึงเริ่มจัดตั้ง"เอซีดี"ขึ้นโดยเป็นกลไกเพื่อเคลื่อนไปยังประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชีย ซึ่งหลายประเทศสนใจและมีความเห็นตรงกันว่า จะต้องมีสันติภาพในเอเชีย นอกจากนั้นเราจึงมองว่าจะเป็นปัจจัยเบื้องต้นไปสู่ความมั่งคั่งในอนาคต

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสเสนอสูตรแนวคิดกับผู้บริหารหนังสือรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ในเรื่อง็Politic =Economy โดยพูดถึงความเป็นพันธมิตร องค์กรธุรกิจ ที่มีความคล้ายคลึงกัน และรวมกันเพื่อใหญ่ และมีความคล่องตัวทุกอย่างเพื่อให้เกิดความผาสุกและมั่งคั่งแก่ประชาชน ดังนั้นความขัดแย้งจึงเป็นการได้เปรียบ เสียเปรียบเป็นหลัก ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดสันติภาพในอนาคต จะขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้นำแต่ละประเทศ ถ้าผู้นำมีจิตใจอยากสร้างมิตร มีเมตตาธรรมความขัดแย้งจนถึงขั้นสงครามก็ไม่น่าจะมี ประเทศใดจะมีสันติภาพหรือไม่ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับความเห็นแก่ตัวหรือความไม่เห็นแก่ตัวของผู้นำ

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ตนชอบยกประโยค Social Contact เนื่องจากคนที่จะมาทำหน้าที่แทนประชาชน และบริหารประเทศเพราะอำนาจอธิปไตยเลือกมาทำงานให้และบางประเทศก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ความรู้สึกก็อาจจะยังไม่มีแต่หากผู้นำประเทศมีความรู้สึกว่า ต้องฆ่าเท่านั้นประเทศจึงจะรอด ถือว่าเป็นความเห็นแก่ตัว และที่สุดความขัดแย้งในประเทศ ก็จะมีมาเรื่อยๆความน่าเชื่อถือก็จะไม่มีน้ำหนัก และไม่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

ดังนั้น ผู้นำประเทศและคณะผู้บริหารประเทศจะต้องมีจิตสำนึกที่ชัดเจนโดยเริ่มสร้างสันติภาพในประเทศของตนเองก่อน ดังนั้นสิ่งที่ต้องซีเรียส และต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ คือปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ผมมั่นใจว่าไม่เหนือบ่ากว่าแรง และวันนี้ก็มีแนวโน้ม และผมก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด พยายามรักษากฎหมาย พร้อมกับการยึดถือสันติภาพและความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก ไม่ใช้ความรุนแรง แต่แน่นอนการบังคับใช้กฎหมายจะยังคงทำอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนที่ถูกละเมิดหรือถูกทำร้ายเกิดความเจ็บแค้น เพราะภาครัฐไม่สามารถจับคนที่ละเมิดมาลงโทษได้ ถ้าเมื่อไร ประเทศมีความสงบและมีสันติภาพ ผมก็จะสง่างามมากขึ้นในเวทีโลก เมื่อผมมีความสง่ามากในเวทีโลก ผมก็จะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยมากขึ้นในการเจรจา หรือทำหน้าที่ด้านสันติภาพ และการสร้างความมั่งคั่งของประเทศ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังว่า เป็นความในใจที่มาพูดในวันนี้และสิ่งที่สำคัญคือ ความเสียสละของผู้นำ โดยเฉพาะในอดีตในเรื่องเสรีไทยก็ดี ในเรื่องของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการในวันนั้น ผมคิดว่า ผมก็เช่นกัน รัฐบาลผมก็เช่นกัน อยากจะทิ้งประวัติศาสตร์ และหวังว่าอีก 60 ปีข้างหน้า จะมีคนรุ่นหลังมาพูดว่า เราได้ทำประโยชน์อะไรไปบ้าง โดยเฉพาะเรื่องสันติภาพ ความรัก ความสามัคคีให้กับคนในชาติ นั่นคือ สิ่งที่ผมหวัง เพราะในชีวิตนี้ผมไม่หวังอะไรอีกแล้ว ก็หวังว่าจะได้มีสิ่งดีงามทิ้งไว้ในแผ่นดินให้เป็นประโยชน์ เหมือนกับที่ท่านทั้งหลายมานั่งรำลึกถึงผู้มีพระคุณต่อประเทศไทยในการรักษาประเทศให้พ้นจากภาวะสงคราม” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้านนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "สันติภาพและความปรองดองในสังคมไทย" ว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นในประเทศใดหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้นำและรัฐบาลของประเทศนั้นๆ การกล่าวถึงสันติภาพในลักษณะหนึ่ง เหมือนคนในศาสนาใดศาสนาหนึ่งที่กล่าวถึงคัมภีร์คำสั่งสอน แต่ในทางปฏิบัติยังใช้ความรุนแรง ซึ่งอยู่ในอุปนิสัยของคนทั่วไป โอกาสที่จะได้สันติภาพอย่างแท้จริงจึงมีไม่มากนัก นอกจากรัฐบาลทั้งหลายและประชาชนในสังคมจะเปลี่ยนทัศนคติ ตราบใดที่ขาดความเมตตากรุณา และขาดธรรมะ ตราบนั้นประเทศ รัฐบาล และประชาชนก็ต้องต่อสู้กันต่อไป

นายอานันท์ กล่าวว่า สันติภาพระหว่างประเทศขณะนี้อาจจะดีขึ้น แต่ปัญหาของสันติภาพภายในแต่ละประเทศไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดเนื่องจากความคลั่งชาติ ความบ้าชาตินิยม การสร้างวัฒนธรรมให้มีความเกลียดชัง และมีความเคียดแค้นประหัตประหารกันจนไม่รู้ว่าต้นเหตุของปัญหา ทำให้ผู้นำและรัฐบาลนั้นเดินทางที่ผิด สิ่งที่ตนกล่าวเป็นสิ่งที่ปรากฏในใจของรัฐบาลหลายประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีปัญหาต่างกัน ประเทศไทยก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยนั้น ยังน้อยกว่าที่อื่นมาก อาทิ ตะวันออกกลางที่เป็น สงครามแย่งพื้นที่ มีเหตุมาจากศาสนาและวิถีชีวิตที่ต่อสู้กันมากว่า 50 ปีระหว่างปาเลสไตน์ กับอิสราเอล ทำให้ทหารเสียชีวิตจำนวนมากแต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะสู้กันมานานเท่าใด สุดท้ายจะจบลงด้วยการเจรจาเสมอ

คำว่าสันติภาพ หมายถึง สภาวะของประเทศ พื้นที่ที่ไม่มีสงครามหรือสู้รบ คำนี้สวยงาม และสื่อความหมาย แต่ในใจขอคิดว่า คำนี้ควรสื่อความหมายให้มากกว่านิยามข้างต้น เพราะคำว่าสันติภาพมีชีวิตด้วยตัวเอง เคลื่อนไหวได้ และจุดหมายปลายทางของสันติภาพเป็นบันไดนำไปสู่สภาวะสันติสุข ซึ่งทุกคนต้องขวนขวาย

อย่างไรก็ดี เมื่อมองความเปลี่ยนแปลงของโลกส่วนใหญ่มักเป็นไปในทางกายภาพ แต่ถามว่าจิตใจของผู้ปกครองเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ต้องยอมรับว่าดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ทิศทางของสงครามในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจและนิสัยของการใช้กำลังความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา แม้ว่าจะผ่อนคลายไปบ้าง แต่ยังไม่ถึงระดับที่ประชาคมโลกจะรู้สึกปลอดภัย

ประธานาธิบดีรูสเวล แห่งสหรัฐอเมริกา เคยพูดไว้ว่า โลกมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาสภาวะปราศจากความกลัว ความหิวโหย สภาวะที่อำนวยต่อการแสดงความคิดเห็น และอำนวยต่อการชุมนุม ทั้ง 4 ประการ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในสังคมนั้น ไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขหรือสถิติของการเป็นชาติอุตสาหกรรม เช่นอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหรือการส่งออก แต่ลืมปรัชญาใหม่คือ เศรษฐกิจพอเพียงที่พึ่งตนเอง ดูแลตนเอง เรียกว่า พออยู่ พอกิน และพอใจ

นายอานันท์ กล่าวว่า ในยามที่ประเทศหรือสังคมหลายประเทศมีการก่อการร้าย รัฐบาลก็มีสิทธิที่จะออกกฎหมายหรือมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งอาจกระทบบั่นทอนสิทธิการแสดงความคิดเห็นและสิทธิอื่นๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายก็ต้องระวัง รอบคอบ มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และให้กระทบสิทธิมนุษยชนน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ หลายประเทศแม้แต่อเมริกา หรืออังกฤษ การออกกฎหมายหรือมาตรการเพิ่มเติมนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนมีสิทธิควบคุมและวิจารณ์ ซึ่งการถกเถียงและการวิจารณ์ เป็นการนำไปสู่ฉันทามติและจะเป็นการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคมนั้นๆ และสิ่งที่ควบคู่กับการแสดงความคิดเห็นคือสิทธิการชุมนุม โดยตราบใดที่มีการชุมนุมโดยสันติวิธี ปราศจากอาวุธและความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงยกย่อง ให้ความเคารพ

“ประเทศจะมีความมั่นคงไม่ได้ ถ้าไม่มีการพัฒนา หรือจะมีการพัฒนาไม่ได้ถ้าไม่มีความปลอดภัย ที่สำคัญจะไม่มีทั้ง 2 ประการนี้ หากไม่มีการเคารพสิทธิมนุษยชน แม้รัฐของประเทศต่างๆในโลกจะเปิดโอกาสการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม การแก้ปัญหาความหิวโหย หรือความปลอดภัย สุดท้าย หากสังคมใดไม่มีความยุติธรรม สังคมนั้นก็หาความสันติสุขไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องทวงถามคือการให้ความเสมอภาคอย่างทั่วหน้า ไม่เลือกตัวบุคคล ตำแหน่ง ยศ ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ”

ความยุติธรรมเกิดมาจากตัวบทกฎหมาย ซึ่งนักกฎหมายรู้ดีว่า กฎหมายหลายฉบับไม่เอื้อต่อความยุติธรรม แต่ก็ยังใช้กันอยู่เพราะฉะนั้น การเคารพสิทธิมนุษยชน จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานกฎหมายเท่านั้น แต่ที่คนต้องการคือ ความยุติธรรมควบคู่กับความเป็นธรรมโดยความเป็นธรรมเกิดจากการอบรมสั่งสอน บางคนสอนเท่าไร ก็ไม่รู้จักจำ บางคนสอนมาเป็นปีก็ไม่รู้ว่าความเป็นธรรมคืออะไรดังนั้นต้องดูที่พื้นฐานการเจริญเติบโต ตั้งแต่การเลี้ยงดูจากครอบครัว โรงเรียน และในสังคม ว่ารู้จักธรรมะแค่ไหน

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์ท่านมีปฐมบรมราชองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวสยาม” จึงอยากให้ทุกคนน้อมรับ และนำไปปฏิบัติเพื่อความสันติสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น