xs
xsm
sm
md
lg

รอบิน คุก : อังกฤษ อิรัก ไทย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ผมเขียนไว้อาลัยคุกไปเมื่อวาน ความจริงผมรู้ว่ายังไม่หมด เพราะคุกเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในทัศนะของผม ความตายของเขา เมื่ออายุเพียง 59 ปีเท่านั้น ตอกย้ำ พุทธวัจนะว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน คนที่อายุน้อยกว่านิดๆหรือมากกว่าก็ตามไม่พึงประมาทจนเหลิง เพราะนึกว่ายังมีเวลาอยู่ถมไป นอกจากความตายซึ่งไม่มีใครคอยจัดคิวแล้ว พึงเข้าใจอีกว่า เวลากับการเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เวลากับเรื่องอื่นๆไม่เหมือนกัน หากปล่อยให้การเมืองผิดพลาดหรือทอดทิ้งไว้ให้เกิดช่องว่าง นอกจากจะไม่เป็นคุณต่อส่วนรวมแล้ว ยังจะเป็นภัยต่อตนเองด้วย

ลอร์ดวิลซันอดีตนายกฯอังกฤษพรรคเดียวกับคุกและแบลร์ ได้ฝากวาทะไว้เป็นคติให้นักการเมืองรุ่นหลังจดจำว่า “หนึ่งสัปดาห์ในการเมืองนั้นเป็นเวลายาวนาน” อะไรๆก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความพ่ายแพ้ และแม้กระทั่งความตาย

ชีวิตและความตายของคุกน่าจะเป็นตัวอย่างและกำลังใจ ให้กับคน(ไทย)ที่มีศรัทธาและยึดมั่นในอุดมการณ์ ว่า ความมีหรือความเสื่อมของลาภยศสรรเสริญสุข ก็ไม่อาจทำให้คนดีหวั่นไหวหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้ คุกสามารถสละตำแหน่งรัฐมนตรีได้อย่างไม่ใยดี แทนที่จะเกาะติดเก้าอี้และยอมทนอยู่กับสิ่งที่เขาเชื่อว่าไม่ถูกต้อง ผมได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งไทยคงจะมีนักการเมืองอุดมคติเช่นเดียวกับคุก แต่ปัจจุบันนี้ของเราเป็นอย่างไร ผมจำได้ว่าในประวัติการเมืองไทย มีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กับร.ท.สัมพันธ์ ขันธชวนะ ลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรประท้วงการขึ้นเงินเดือนตัวเอง นั่นก็ดึกดำบรรพ์มาแล้ว ในสมัยที่ไทยยังไม่มีถนนคอนกรีตหรือยางรถยนต์หนาๆเหมือนทุกวันนี้

เมื่อคุกพ้นจากค.ร.ม. แล้วเขายังปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ต่อไปด้วยความซื่อสัตย์ต่อพรรค และรับผิดชอบต่อหน้าที่ พรรคเองก็ให้เกียรติและมิได้บีบบังคับ ว่าเขาและเพื่อนสมาชิกอีกนับร้อยที่พากันคัดค้านพรรคและรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับการที่อังกฤษตามก้นอเมริกันเข้าทำสงครามอิรัก กระทำผิดวินัยหรือฝ่าฝืนมติพรรคแต่อย่างใด เพราะส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระไม่ตกอยู่ใต้ผลประโยชน์หรืออาณัติมอบหมายของผู้ใด

สังคมอังกฤษ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคุก ต่างก็เข้าใจและชื่นชมว่าเขาเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่เคยมีการเสียดสีหรือกล่าวหาว่าเขาเอาใจออกห่างไปบูชาอาหรับหรือเข้าข้างอิสลาม หากจะเปรียบเทียบกันแล้วดูคล้ายๆกับอังกฤษจะไม่มีคนรักชาติศาสนาอย่างเข้มข้นเท่ากับคนของเรา คุกจึงสามารถยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกต้องได้อย่างทรนง และนับวันผู้ที่เชื่อถืออย่างเขาก็นับแต่จะมากขึ้นทุกที

สำหรับของเรา ภาษิตที่ว่า “พูดไป สองไพเบี้ย นิ่งเสีย ตำลึงทอง” ก็ยังมีมนต์ขลังอยู่ หากจะมีใครเป็นห่วงหยิบยกขึ้นมา ก็จะต้องทนการก่นด่าของพวก “นายว่า ขี้ข้าพลอย”ให้ได้

ผมไม่มีเจตนาจะเปรียบเทียบพรรคเลเบอร์ของอังกฤษกับพรรคไทยรักไทย ผมพูดมานานแล้ว พรรคการเมืองของเรา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ยังมีองค์การที่เข้มแข็งไม่เท่ากับสมาคมชาวนาของอังกฤษ ส่วนหนึ่งเห็นจะเป็นเพราะความครอบงำของหัวหน้า ทำให้ใครๆก็ไม่กล้าหือ หรือไม่กล้าทำอะไรที่หัวหน้าไม่ได้สั่ง เหตุนี้พรรคจึงทำอะไรไม่ค่อยได้นัก ต้องคอยแต่หัวหน้าซึ่งไม่ใช่พระนารายณ์ 4 กร ทำนองเดียวกัน ผมไม่สามารถเปรียบเทียบประมวล รุจนเสรีกับคุกในเรื่องใดๆได้ แม้แต่ในเรื่องการเขียนหนังสือ การเขียนของ ประมวล นั้นทำให้เกิดความฮือฮาตาเขียวหรือไม่ก็ค่อนขอด ผมอยากจะพูดแต่ก็ไม่มีโอกาสพูดว่า การเขียนของประมวลมีประโยชน์ เป็นการพัฒนายกระดับตัวเองของผู้เขียน และก็เป็นเครื่องประจานให้เห็นความด้อยพัฒนาของพรรคและผู้อ่าน สำหรับ คุก เมื่อออกจากตำแหน่งเขายังคงเป็นบุคคลอีกคนหนึ่งที่ดำรงสัญลักษณ์ของพรรค ไม่มีผู้ใดสงสัยในความภักดีต่อพรรคของเขาเลย ทั้งๆที่เขาระดมเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์โจมตีนโยบายและปฎิบัติการอิรักอย่างต่อเนื่องและรุนแรง

หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ลอนดอนจะถูกวางระเบิด คอลัมน์ของคุกได้ประจานความผิดพลาดของบุชกับ แบลร์ อย่างเผ็ดร้อน ดังเช่นตัวอย่างข้างล่างนี้

“ความบัดซบอันแรกก็คือเขาพากันเชื่อว่า เขาจะชนะศึกถ้าเขาสังหารทุกคน จับทุกคน หรือฝังทุกคนที่ต่อต้านไว้ใต้ซากถล่มทลาย หลังจากทำอย่างนี้มาอย่างไม่ลดละได้ 2 ปี กองทัพสหรัฐฯกลับอ่อนแอลงกว่าเมื่อตอนเริ่มต้น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จำนวนทหารอิรักและพันธมิตรที่บาดเจ็บล้มตายกลับมีมากกว่าในเดือนมิถุนายนปีก่อน -ก่อนที่เราจะส่งมอบอำนาจปกครอง ซึ่งเราให้คำมั่นว่าจะเป็นการนำไปสู่ความมั่นคงปลอดภัย เราจะต้องสูญเสียอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าอเมริกันจะเข้าใจว่า เขาเองเป็นผู้สร้างผู้ก่อการร้ายให้เพิ่มทวีจำนวนขึ้น โดยการยิงกราดไม่เลือกหน้า และโดยการให้ความสำคัญกับการเข่นฆ่าผู้ก่อการร้าย มากกว่าที่จะพิทักษ์ปกป้องประชาชน

ความมัวเมาอย่างที่สองก็คือ ความเชื่อมั่นผิดว่าการยึดครองอิรักคือวิธีที่จะระงับ
การต่อสู้โหดร้าย แทนที่จะเข้าใจว่านั่นแหละคือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้มันเกิดขึ้น ไม่มียุทธศาสตร์เพื่อยุติความรุนแรงใดๆจะประสบความสำเร็จได้ ถ้าหากมิได้ผนวกแผนการถอนกำลังต่างชาติออกไปด้วย

สัปดาห์นี้ ทั้งจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช และ โทนี แบลร์ พากันปลุกขวัญระดมกำลังใจให้ใครต่อใครทุกคนกล้าแข็งขึ้น เขาเองต่างหากต้องรับผิดชอบ สันติสุขในอิรักจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อ เขาทั้งคู่กล้าพอที่จะสำนึกถึงความผิดพลาดในอดีต และกล้ายอมรับว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่ใน ปัจจุบันนี้ ใช้ไม่ได้”

ผมไม่อยากพูดอะไรมาก แต่อยากให้พวกเราคิดถึงเรื่องสามจังหวัดภาคใต้
เราจะต้องตั้งคำถามกับตนเองอย่างซื่อสัตย์ว่า เราอยากจะให้มีคนพูดอย่างคุกหรือไม่ หรือว่าถ้าหากจะมีคนพูดเหมือนกับคุก เราจะทนฟังได้หรือไม่

รอบิน คุก กับ อานันท์ ปันยารชุน ต่างกันอย่างไร ปัญหาของอังกฤษ อิรัก กับสามจังหวัดภาคใต้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีความเกี่ยวพันกันบ้างหรือไม่

มีใครคิดผิด ทำผิดเรื่องภาคใต้หรือไม่ เมื่อใดจะยอมรับหรือแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น