xs
xsm
sm
md
lg

ลามะ : เรือภูเขา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


เทือกเขา Andes ที่สูงจรดฟ้า และตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้คือถิ่นอาศัยของลามะ (llama) สัตว์ชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายกวาง แต่มีคอยาวเหมือนอูฐ มีพบเฉพาะใน Peru Bolivia และ Chile เท่านั้น ชาวอินเดียนเผ่า Inca รู้จักเลี้ยงลามะเป็นสัตว์ขนสัมภาระข้ามภูเขามาช้านาน เพราะประวัติศาสตร์ของชาวอินคาได้บันทึกว่า ทั้งกษัตริย์และขุนนางผู้ใหญ่ต่างนิยมเลี้ยงลามะ ส่วนชาวบ้านธรรมดาก็มักวัดฐานะความร่ำรวยด้วยจำนวนลามะที่มี และเมื่อถึงเทศกาลศาสนาที่สำคัญ ชาวอินคาจะจัดการวิ่งแข่งลามะ และฆ่าลามะที่มีขนสีขาวในพิธีบูชาเทพเจ้า

ในปี พ.ศ. 2171 นายพล Pizzaro แห่งอาณาจักรสเปนได้ยกพลเข้าบุกยึดอาณาจักรอินคา ท่านนายพลได้รู้สึกประหลาดใจมากที่ทวีปอเมริกาใต้ไม่มีม้า วัว หรือควายเลย จะมีก็แต่ลามะซึ่งทำให้นายพลรู้สึกประทับใจในรูปร่างมาก จึงได้นำกลับไปถวายเป็นพระราชกำนัลแด่กษัตริย์ Charlles ที่ 5 แห่งสเปน การศึกษาวิถีชีวิตของชาวอินคาทำให้เรารู้ว่า ชนเผ่านี้จะไม่มีสิ่งก่อสร้างสวยๆ ถ้าไม่มีลามะช่วยขนสัมภาระ ดังนั้น ชาวอินคาพึ่งพาลามะเหมือนชาว Lapp ในยุโรปตอนเหนือพึ่งพากวาง reindeer และชาวอาหรับพึ่งพาอูฐในยามเดินทางข้ามทะเลทราย

ชาวเปรูทั่วไปถึงแม้จะยากจน อ่านหนังสือไม่ออก และเขียนหนังสือก็ไม่ได้ แต่ก็เข้าใจจิตใจตัวลามะดีมากว่าเป็นสัตว์ที่อดทนและสุภาพ ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ใช้ไม้ทุบตีมัน ไม่ตะโกนไล่หรือตวาดว่ามัน แต่จะใช้วิธีพูดเบาๆ แล้วผิวปากเร็วช้า เพื่อควบคุมจังหวะการเดินของมัน และการที่ร่างกายแทบทุกส่วนของมันเป็นประโยชน์ เช่น เนื้อเป็นอาหาร นมใช้ดื่ม หนังใช้ทำเครื่องใช้ ขนอ่อนที่สั้นใช้ถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม ขนแก่ที่ยาวใช้พันเป็นเชือก ไขมันใช้ต่างเทียนไข ปฏิกูลใช้เป็นถ่านเผาให้ความอบอุ่น ส่วนลามะตัวผู้ใช้บรรทุกสินค้าข้ามเทือกเขา เพราะลามะเป็นสัตว์ที่อดทนกว่าม้า และเท้าของมันสามารถยึดติดแผ่นดินได้ดีกว่าม้า ดังนั้น บนเทือกเขาที่สูงชัน ชาวอินคาจึงต้องพึ่งพาลาะมาก อนึ่งเวลาจะบรรทุกสัมภาระ ชาวอินคาจะให้มันคุกเข่าลงก่อน แล้วจึงขนสัมภาระขึ้นหลังมัน และถ้าน้ำหนักสัมภาระมากไป มันก็จะไม่ลุกขึ้นเดิน ไม่ว่าเจ้าของจะทุบตีมันสักปานใด และตามปกติมันไม่ชอบทำงานตัวเดียว คือมันชอบทำงานพร้อมกันหลายตัว ดังนั้น ชาวอินคาจึงนิยมเลี้ยงลามะเป็นฝูงสำหรับขนของ

อาหารหลักของลามะคือหญ้า เพราะมันมีกระเพาะสำรองเหมือนอูฐ ดังนั้น มันจึงสามารถเก็บตุนอาหารสำหรับการเดินทางไกลได้มาก ลามะที่เติบโตเต็มที่สามารถเดินทางไกลได้วันละ 30 กิโลเมตร และเวลามันรู้สึกเหนื่อย มันจะทรุดตัวลงนั่งนิ่งเหมือนแมวคือไม่เคลื่อนไหวอวัยวะส่วนใด ไม่ว่าเจ้าของจะตี หรือกระทั่งมันสักปานใด มันจะลุกขึ้นยืนและเดิน ต่อเมื่อมันหายเหนื่อยแล้วเท่านั้น

ลามะแตกต่างจากอูฐ คือเตี้ยกว่า โดยมีความสูงตั้งแต่ 1-1.3 เมตร เมื่อวัดถึงไหล่มันมีขาที่ค่อนข้างยาว เมื่อเปรียบเทียบกับลำตัว ตัวมีขนปกคลุมเต็ม ขนมีสีแตกต่างกันตั้งแต่ขาว น้ำตาล หรือดำ หัวของลามะมีขนาดเล็ก ตาใหญ่ หูยาวแหลม และมันใช้หูขยับขึ้นลงเพื่อบอกความรู้สึกลึกๆ ของมัน เท้าของมันมีลักษณะคล้ายอูฐ คือมีกีบที่เล็กและคมเพื่อช่วยให้มันยึดหินภูเขาได้ดีอย่างไม่ล้มพลาด เพราะภูเขาในเทือกเขา Andes มีโกรกผาและเหวลึกมากมาย ดังนั้น ขณะเดินทางฝูงคาราวานมักเผชิญลมแรง และอากาศหนาว แต่ลามะก็ทนสภาพลำบากได้ดี เพราะมันสามารถหาอาหารประเภทหญ้าที่ขึ้นตามทางได้เอง โดยเจ้าของไม่ต้องเอาอาหารไปเผื่อมัน นอกจากนั้น เจ้าของก็ไม่ต้องซื้อบังเหียนหรืออานบรรทุกของให้มันด้วย ทำให้มันเป็น เรือข้ามภูเขา ที่ไม่ต้องมีเครื่องประดับราคาแพง ถึงแม้มันจะเดินได้ช้า แต่ก็อาจเดินได้นาน 20 วันติดต่อกัน และเดิน 3-4 วัน โดยไม่ต้องกินน้ำเลย อนึ่งชาวอินคายังได้พบอีกว่า ภูเขายิ่งสูง ลามะก็ยิ่งรู้สึกเป็นสุข และทุกครั้งที่เดินทางลงที่ต่ำซึ่งร้อน ลามะจะรู้สึกไม่ปกติสุขทันที การมีความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้ลามะแตกต่างจากม้า ลา หรือคน ที่เวลาเดินขึ้นเขาสูงจะรู้สึกเวียนศีรษะเหมือนจะเป็นลม ทั้งนี้เพราะอากาศบนภูเขาสูงเจือจางมาก จนทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองไม่พอนั่นเอง

ในการเดินเขา หากเป็นไหล่เขาที่แคบ เจ้าของจะเดินนำหน้าตัวลามะ เพื่อชะโงกดูล่วงหน้าว่า บนถนนที่แคบนั้น มีใครกำลังเดินสวนมาบ้าง หากไม่เห็นใคร เขาก็จะตะโกนบอกเพื่อนให้นำฝูงลามะเดินตามมา แต่ถ้ามีฝูงลามะอีกฝูงเดินสวนมา เพราะการกลับหลังหันเป็นเรื่องที่ลามะทำไม่ได้ ดังนั้น บนเส้นทางที่แคบมากๆ ลามะตัวหนึ่งอาจตกหน้าผาสู่ความตายเบื้องล่างได้

ตามปกติชาวอินเดียนในเปรู โบลิเวีย และชิลี ชอบเลี้ยงลามะ และให้เด็กเล็กๆ เลี้ยง โดยเด็กจะนำฝูงลามะออกไปหาอาหารในตอนเช้าตรู่ จนกระทั่งถึงเวลาบ่าย เด็กเลี้ยงลามะจึงนำสัตว์เลี้ยงของตนกลับคอก แล้วปิดประตูลงกลอน เพื่อไม่ให้สัตว์ป่า เช่น สิงโตภูเขาลอบมาฆ่า นอกจากเหตุผลนี้แล้ว การเลี้ยงในคอกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ก็ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถเก็บปฏิกูลของลามะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทั้งนี้เพราะชาวอินเดียนไม่มีต้นไม้ขึ้นตามภูเขาสูง สำหรับใช้ทำฟืน

ตามปกติชายอินเดียนนิยมห่มผ้าที่มีลายเป็นทางยาว และมีรูเจาะตรงกลางให้สามารถโผล่ศีรษะออกมาได้ และเรียกผ้าผืนที่มีสีสันสวยว่า poncho ที่มักทอจากขนลามะ ส่วนสตรีอินเดียนนั้นก็มีหน้าที่ปั่น ทอ ย้อมสีขนลามะเพื่อนำไปทอเป็นผ้า

ลามะตัวเมียมักคลอดลูกในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นหน้าร้อน ลามะที่เกิดใหม่มักมีขนยาว และเติบโตเร็ว ขณะอายุยังน้อย ศัตรูสำคัญของมันคือเหยี่ยว เมื่อลามะอายุ 2 ปี มันก็จะโตเต็มที่ แต่ชาวอินเดียนจะใช้มันบรรทุกสัมภาระก็ต่อเมื่อมันอายุ 3-5 ปีขึ้นไป ลามะมีอายุยืนประมาณ 20 ปี

สำหรับเรื่องการต่อสู้ป้องกันตัว ถึงแม้ลามะจะมีขนาดใหญ่กว่าแกะ แต่มันก็ต่อสู้ป้องกันตัวได้ดีพอๆ กับแกะ เพราะแทนที่จะใช้ปากกัดหรือใช้เท้าเตะศัตรูแรงๆ มันจะใช้วิธีถ่มน้ำลายที่มีกลิ่นเหม็นมากออกมาใส่ศัตรู หรือบางครั้งมันจะขยอกเศษอาหารออกมาใส่ศัตรูที่ไปตอแยมัน

ผู้คนในสมัยก่อน นิยมใช้เด็กดูแลฝูงแกะไม่ให้เถลไถลและให้ปลอดภัยจากการถูกหมาป่ากัด ต่อมาก็ได้หันไปใช้สุนัข แต่สุนัขในบางเวลาก็เถลไถล ดังนั้น ลามะจึงถูกหมาป่าฆ่าตายบ่อย เมื่อถึงสมัยนี้ คนเลี้ยงแกะในอเมริกาได้หันมาใช้ลามะเลี้ยงแกะแทน ซึ่งมันก็ทำหน้าที่นี้ได้ดี เพราะมันปรับตัวให้เข้ากับแกะได้ดีกว่าสุนัข คือไปไหนมาไหนด้วยได้ และกินอาหารชนิดเดียวกันได้ พอเวลาหมาป่าบุก ลามะซึ่งหนักประมาณ 12 เท่าของหมาป่า จะใช้ขาเตะศัตรูผู้บุกรุกอย่างรุนแรง การทำงานหน้าที่ใหม่นี้ได้ดี ทำให้ ณ วันนี้ คนเลี้ยงแกะในทวีปอเมริกาเหนือ นอกจากจะมีลามะเป็นสัตว์เลี้ยงประมาณ 100,000 ตัวแล้ว ยังเลี้ยงมันเพื่อเอาขนด้วย

ส่วนนักชีววิทยาก็กำลังศึกษาชีวิตของลามะ เพื่อให้เข้าใจว่า เหตุใดลามะจึงสามารถมีชีวิต และทำงานได้ดีบนภูเขาสูงๆ ซึ่งเป็นที่ที่อากาศมีความหนาแน่นน้อย โดยหวังว่าข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อนักไต่เขา และชาวเขา

บ้านเรา ซึ่งมีอากาศร้อนและฝนตกมาก คงไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงลามะ เราเลี้ยงได้ ก็ลาธรรมดาเท่านั้นครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน


กำลังโหลดความคิดเห็น