รายงาน
ศูนย์ข่าวภูเก็ต
“เขตปลอดอากร” หรือ “ฟรีโซน” รวมทั้ง “ร้านค้าปลอดอากร” หรือ “ดิวตี้ฟรีชอป” ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่เลยสำหรับภูเก็ต ที่กระทรวงการคลัง และกรมศุลกากร กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน เป็นพื้นที่นำร่อง ภายหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
แต่การผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่าปลอดอากร เป็นสิ่งที่พูดถึงและศึกษากันมาหลายยุคหลายรัฐบาลแล้ว นับเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่ก็ไม่สำเร็จจนถึงขณะนี้ จากที่ติดปัญหากฎระเบียบของกรมศุลกากร การป้องกันการลักลอบสินค้าหนีภาษีดำเนินการได้ค่อนข้างที่จะลำบาก เพราะภูเก็ตมีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ สินค้าสามารถที่จะถูกลักลอบออกได้หลายทาง ทั้งทางบกและทางเรือ
ทำให้ความฝันที่จะให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่าปลอดอากร จำเป็นต้องพับใส่ตู้เก็บไว้ เหลือไว้แต่การเปิดเป็นร้านค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรีชอป ที่เปิดให้บริการอยู่ในขณะนี้ 3 รายเท่านั้น และที่เปิดให้บริการ นักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้า รับสินค้ามาใช้เลยไม่ได้ จะต้องไปรับสินค้าที่สนามบินในช่วงที่จะเดินทางกลับประเทศ ตามกฎระเบียบของกรมศุลกากร ทำให้การลงทุนด้านดิวตี้ฟรีชอปในภูเก็ตมีน้อยมาก เพราะไม่มีการจูงใจให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายซื้อสินค้า
หมดสิทธิ์เมืองท่าปลอดภาษี
จนกระทั่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศุลกากร ไปศึกษาหาลู่ทางที่จะทำให้ภูเก็ตทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน จะได้เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน โดยได้ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดตั้งเมืองท่าปลอดภาษี ไปดูงานดูรูปแบบจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ที่เกาะลังกาวี มาเลเซีย เกาะบาตั้ม อินโดนีเซีย และร้านค้าปลอดอากร ที่สิงคโปร์
ในที่สุดก็ได้ผลสรุป กำหนดแผนงานในการทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่าปลอดภาษีไว้ 2 ระยะ คือ แผนระยะสั้นจัดตั้งเป็น เขตปลอดอากร (FREE ZONE COMPLEX) และแผนงานระยะยาวคือ การกำหนดเป็น เมืองท่าปลอดภาษี (FREE PORT) เต็มรูปแบบ
จากผลการศึกษาดังกล่าว เบื้องต้นกรมศุลกากรจึงได้จัดทำตามแผนระยะสั้น คือ ตั้งเป็นเขตปลอดภาษีอากร (FREE ZONE COMPLEX) เป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การค้า การประชุม การกีฬา สปา กิจการโรงแรม หรือ กิจกรรมอื่นๆ สนับสนุนการท่องเที่ยว ไม่จำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศเท่านั้น แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวไทยถ้าเข้ามาพัก เกิน 48 ชั่วโมงก็ใช้สิทธิซื้อสินค้าปลอดอากรได้
ด้านการลงทุน เป็นเรื่องของเอกชน มีเงื่อนไขว่า จะต้อง เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน ที่มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทขึ้นไป มีคนไทยถือหุ้น 51% หรือจะเป็นรัฐวิสาหกิจก็ได้ ส่วนพื้นที่ต้องเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว และได้รับการอนุมัติจากกรมศุลกากรตามกฎหมาย และเสนอให้ภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่อง
เอกชนไม่สนทำฟรีโซนท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต
ขณะนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตรับไปดำเนินการในรายละเอียด เรื่องการลงทุน และเลือกพื้นที่เสนอให้กรมศุลกากรพิจารณาโดยเร็ว
จังหวัดภูเก็ตรับลูกนโยบายของรัฐบาลมาก ได้กำหนดพื้นที่บริเวณ “ท่าเรือน้ำลึก” เป็นพื้นที่ที่จะทำ (FREE ZONE COMPLEX) เสนอไปยังผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง และเช่นเดียวกับภาคเอกชนก็ตอบรับนโยบายของรับทันทีเช่นกัน
โดยเอกชนกลุ่มหนึ่งในภูเก็ตได้ออกมาเคลื่อนไหว ในนามของหอการค้าจังหวัดภูเก็ต สนใจที่จะเข้าไปลงทุนโครงการในพื้นที่ดังกล่าว โดยจัดทำเป็นเขต FREE ZONE ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ที่มีทั้งโรงแรม พลาซ่าจำหน่ายสินค้า ภัตตาคารหรู สวนสนุก สวนน้ำ เป็นต้น โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐจะต้องจัดหาที่ดินสำหรับลงทุนให้
เมื่อกรมธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต เปิดประมูลที่ดินแปลงที่ท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้าน FREE ZONE หรือลงทุนพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ กลับไม่มีนักลงทุนทั้งในพื้นที่ภูเก็ตและพื้นที่อื่นๆ สนใจยื่นซองประมูลที่ราชพัสดุแปลงท่าเรือน้ำลึกลงทุนทำ FREE ZONE แต่อย่างใด แม้ว่าธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตจะเปิดประมูลมาสองรอบแล้วก็ตาม
ลงทุนเปิดร้านปลอดภาษี3ราย
ที่ผ่านมามีแต่เอกชนเข้ามาลงทุนเปิดเป็นร้านค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรีชอปเท่านั้น แม้ว่ากรมศุลากรจะออกกฎระเบียบให้เปิดในตัวเมืองได้นอกเหนือจากสนามบิน แต่ก็มีผู้สนใจลงทุนน้อยมาก ขณะนี้มีที่เปิดดำเนินการอยู่เพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ บริษัท บี.เอ.ดี.เอฟ จำกัด ที่อ.ถลาง บริษัท วังถลาง จิวเวลรี่ แอนด์ กิฟท์ จำกัด ในเขตเมืองภูเก็ต และ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ที่เปิดให้บริการที่สนามบิน และการซื้อสินค้าดังกล่าวนักท่องเที่ยวไม่สามารถที่จะรับสินค้าได้เลยจะต้องไปรับที่สนามบิน ทำให้ไม่จูงใจในการซื้อสินค้าสักเท่าใด
กรมศุลฯปลดล็อกดิวตี้ฟรีชอป
ล่าสุดทางกระทรวงการคลัง โดยนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแถลงว่า กระทรวงการคลังได้เตรียม ที่จะออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง การลดอากรหรือยกเว้นอากร ให้แก่คนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวใน 6 จังหวัดอันดามัน
ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง ระนอง สตูล สามารถที่จะเข้าไปซื้อสินค้าในร้านดิวตี้ฟรีได้เช่นเดียวกันกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ระหว่างเดือนตุลาคม 2548-มีนาคม 2549 โดยการแสดงเอกสารการเป็นนักท่องเที่ยว รวมทั้งการกำหนดสินค้าและวงเงินในการซื้อสินค้าในร้านดิวตี้ฟรี โดยจะนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ภายในสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ กรมศุลกากรจะออกประกาศกรมศุลกากร เรื่องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระเบียบสถานที่การจำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรี โดยอนุญาตให้ร้านดิวตี้ฟรี สามารถวางจำหน่ายสินค้าทั้งที่ปลอดอากรและไม่ปลอดอากรในร้านเดียวกันได้ และให้นักท่องเที่ยวสามารถรับสินค้าได้ทันที ไม่ต้องไปรับที่สนามบินเหมือนที่ผ่านมา
“สวัสดี ดิวตี้ฟรี” เปิดตัวรับ
การปลดล็อกระเบียบดิวตี้ฟรี
ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2548 คือ “สวัสดี ดิวตี้ฟรี พลาซ่า” ของบริษัท “โรยัล สวัสดี จำกัด” ได้เช่าอาคารห้างลัคกี้คอมเพล็กซ์ ที่บริเวณสะพานหิน จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ทำการปรับปรุงใหม่เพื่อเปิดเป็นศูนย์การค้าปลอดภาษี บนเนื้อที่ 20 ไร่ เป็นอาคารสูง 6 ชั้น พื้นที่ 2.1 หมื่นตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท โดยคาดหวังว่าจะคืนทุนภายใน 5 ปี
โครงการ “สวัสดี ดิวตี้ฟรี พลาซ่า” แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ โซนร้านจำหน่ายสินค้า โซนศูนย์แสดงสินค้าไทยส่งออก กลุ่มโอทอป และโซนพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร ที่ตั้งเป้ายอดขายไว้ 600 ล้านบาทต่อเดือน โดยคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาวันละ 10,000 คน แบ่งเป็นต่างชาติ 60% และนักท่องเที่ยวคนไทย 40%
สำหรับกลุ่มโรยัล สวัสดี เป็นการร่วมลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีก บีซีที จากฝรั่งเศส ถือหุ้น 10% นายรุ่งโรจน์ ภมรสุวรรณ ประธานบริษัท ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์มากว่า 20 ปี ถือหุ้น 40% ทีมผู้บริหารถือหุ้น 30% และที่เหลืออีก 20% เป็นรายย่อย
ขายได้แต่นักท่องเที่ยวเอเชีย
ขณะที่แหล่งข่าวจากร้านวังถลาง จิวเวลรี่ แอนด์ กิฟท์ จำกัด ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรีในเมืองแห่งแรกในภูเก็ต บอกว่า สินค้าที่ขายอยู่ในขายอยู่ในร้านขณะนี้มีเพียง 3-4 รายการเท่านั้น โดยมีเหล้า บุหรี่ ช็อกโกแลต ซึ่งช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สึนามิสินค้าดังกล่าวได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวชาวเอเชียค่อนข้างดี ในทุกประเภทสินค้าที่จำหน่าย โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่จากเอเชียประมาณ 60% ที่เหลือ 40% เป็นนักท่องเที่ยวยุโรป
อย่างไรก็ตาม ทางร้านค้ามีโครงการที่จะเพิ่มประเภทสินค้าให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในประเภทน้ำหอม เครื่องสำอาง เครื่องหนัง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มประเภทสินค้านั้นจะต้องพิจารณาจากสถานการณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ตว่าจะดีขึ้นหรือไม่อย่างไร
“อยากที่จะให้มีร้านดิวตี้ฟรีเปิดในภูเก็ตหลายๆ ร้าน เพื่อให้เป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตจำนวนมากๆ”
เมืองท่าปลอดภาษีต้องเก็บพับไว้ก่อน
สำหรับแผนระยะยาว คือการทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่าปลอดภาษีเต็มรูปแบบ โดยให้ยกเว้นภาษีอากรสินค้านำเข้าครอบคลุมไปทั้งเกาะ คณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดตั้งเมืองท่าปลอดภาษีชุดนี้ ให้เหตุผลว่ายังทำไม่ได้ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ และประชาชนในพื้นที่ หรือจังหวัดใกล้เคียงอาจได้รับผลกระทบเพราะสินค้า รวมทั้งการบริการมีต้นทุนสูงกว่า และรัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีอากรมหาศาล นอกจากนั้นภูเก็ตยังเป็นเกาะ ยากต่อการควบคุม ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่าปลอดภาษีนั้นต้องพับเก็บไว้แล้ว