xs
xsm
sm
md
lg

โทษใคร "สื่อ-คนดู-รัฐ"

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

มีคนถามว่าทุกวันนี้ สื่อสารมวลชนผลิตเรื่องตามใจสังคม หรือสังคมถูกสื่อชี้นำกันแน่?

คงมีข้อถกเถียงกันพอดู

หรือคุณผู้อ่านมีความเห็นด้านใด

ก็ดูอย่างรายการอภิปรายที่จัดเมื่อต้นเดือนนี้ที่ตั้งชื่อเรื่องว่า

"คนดีท้อ สื่อผ่านจอไม่สร้างสรรค์"

เพื่อหวังให้กำลังใจผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์สังคมให้มีคุณธรรม และวัฒนธรรมที่ดี

ทำนองว่าเห็นใจรายการดีๆ ที่มีคุณค่าส่งเสริมจริยธรรมสำหรับเยาวชนและสังคม มักอยู่ไม่รอด และไม่ได้รับโอกาสเท่ากับรายการประเภทมอมเมา

แต่ก็มีความเห็นแย้งจากที่ประชุมว่า น่าจะตั้งชื่อการอภิปรายใหม่ว่า

"สื่อดีท้อ คนหน้าจอไม่สร้างสรรค์"

เพราะเห็นว่าธุรกิจสื่อก็ต้องดำเนินการเพื่อให้อยู่รอด เมื่อรายการประเภทที่ถูกหาว่า "น้ำเน่า" หรือไม่สร้างสรรค์แต่เรตติ้งหรือคะแนนนิยมดี สถานีก็พอใจ สปอนเซอร์โฆษณาก็ชอบใจ รายการก็อยู่ได้

เป็นอันว่าผู้แสดงความเห็นนี้โทษว่าเป็นเพราะผู้ชมต้องการแนวนี้ ก็เลยชักนำให้ผู้ผลิตโน้มเอียงไปเพื่อเอาใจคนหน้าจอ

รายการด้านศาสนา วัฒนธรรมหรือรายการเพื่อคุณภาพเด็ก ซึ่งมีสาระแต่มักนำเสนอไม่สนุกก็เลยไม่เป็นที่นิยม และถูกเมินจากสปอนเซอร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทมุ่งขายของก็กดดันให้ผังรายการต้องปรับไปด้วย

เรื่องแบบนี้ต้องยอมรับกันว่า ธรรมชาติปกติของความเป็นมนุษย์ ย่อมอยากเสพข่าวสารด้วยความสะดวก และเป็นความบันเทิงเริงรมย์ และได้รับผลดีในเชิงธุรกิจ

รูปแบบความบันเทิงที่มากับสาระ จึงเป็นที่ยอมรับง่ายกว่า

ดังนั้น ตราบใดที่คลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ยังไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง สภาพที่ควรจะเป็นก็ยังไม่เกิด

แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 40 จะระบุไว้ตั้งแต่ปี 2540 ว่า

"คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การดำเนินตามวรรคสอง ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม"

ขณะนี้การจัดตั้งองค์กรอิสระดังที่ว่า ก็ยังแค่อยู่ในระดับสรรหาตัวบุคคล แต่คาดว่าอีกไม่นานน่าจะลงตัวได้แล้ว และกำลังถูกจับตามองจากสังคมว่าจะทำได้สัมฤทธิผลตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้แค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ดูเหมือนกลไกรัฐจะมีเจตนาเห็นความสำคัญในการส่งเสริมด้านสาระคุณภาพอยู่เหมือนกัน ดังที่ "คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร" จัดรายการสัมมนาข้างต้นพร้อมกับมีพิธีมอบโล่เกียรติยศให้แก่ผู้ผลิตรายการภาพยนตร์ โทรทัศน์ และสารคดีที่มีคุณค่าต่อสังคม

ภาพยนตร์เรื่อง "หลวงพี่เท่ง" และ "มหาลัยเหมืองแร่" เป็นเรื่องที่ได้โล่เป็นกำลังใจ

หนัง "หลวงพี่เท่ง" นั้น โกยเงินไปกว่า 100 ล้านบาท เพราะคนดูพอใจในมุกตลกที่บอกต่อ ขณะที่ "มหา'ลัยเหมืองแร่" หนังเชิงสารคดีชีวิตที่ให้หลักคิดที่ดี กลับได้เงินไม่ถึง 30 ล้านบาท พร้อมการขาดทุนของผู้สร้าง แม้สรรพพันธมิตรไมตรีจะลุ้นช่วยกันเสริมส่งแล้วก็ตาม

ส่วนละคร "ธรรมติดปีก" และ "อยู่กับก๋ง" ก็เป็นที่ชื่นชมสมกับที่ได้รับเกียรติหลายรายการได้แก่ "คุณพระช่วย" "คนค้นคน" "เสียงธรรมเสียงทิพย์" "วิถีพุทธ" "ชีวิตไม่สิ้นหวัง" และ "จดหมายเหตุกรุงศรี" ก็ได้โล่เกียรติยศคราวนี้ด้วย

สัจธรรมจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า "เกียรติ" กับ "รายได้" อาจมาด้วยกัน หรือแยกมาเพียงอย่างเดียวก็ได้

รายการเพื่อเด็ก เมื่อถูกกำหนดด้านการบังคับตามสัดส่วนบางสถานี ก็ใช้วิธีดันไปอยู่เวลาเช้าตรู่ ตอนที่เด็กอาจยังไม่ตื่น เพื่อให้โอกาสรายการที่มีโฆษณาดีมาอยู่ในช่วงเวลาดีกว่า

อยากจะบอกว่ารายการสัมมนาครั้งนี้ เนื่องมาจากข้อคิดเห็นของผู้อภิปราย และผู้ร่วมประชุมนั้น ให้ประโยชน์ดีมาก

แต่ทำอย่างไรจะไม่ให้เสียงจากการประชุมไม่ใช่แค่ "บ่น" เพราะอุตส่าห์ลงทุนจัดในอาคารรัฐสภาในยุคที่มีรัฐบาลพรรคเดียวที่มีเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล

รัฐบาลจึงควรเอาจริงเอาจังกับนโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิต

ขณะที่สื่อภาคเอกชนภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรี ท่ามกลางวิถีของวัตถุนิยม และบริโภคนิยมที่ขาดกรอบจริยธรรม และวิถีไทยกำกับเท่าที่ควร

ปรากฏการณ์ความเหลวแหลกของสังคมที่สะท้อนจากข่าวที่เกิดขึ้น ด้านการผิดศีลธรรม และวัฒนธรรมไทยมีตัวอย่างเกิดกับเด็กที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ

กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการดำเนินการเชิงรุกเพิ่มขึ้น จากที่ได้เริ่มมีให้รับรู้

โจทย์ใหญ่คือ การรักษาคุณค่าวิถีไทยที่มีภูมิปัญญา ความรู้จักประมาณ ("พอเพียง") และมีคุณธรรมให้อยู่ได้อย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์บริโภคนิยม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

การเสริมสร้างความเข้มแข็งของคุณค่าความเป็นไทย เป็นเรื่องที่รัฐต้องดำเนินการเชิงรุกใน 2 มิติ

มาตรการบังคับ การเฝ้าระวังและออกกฎกติกาเพื่อจัดระเบียบ

มาตรการส่งเสริม ควรมีทั้งมาตรการทางภาษี (ลดภาษี หักภาษี เว้นภาษี) สำหรับโครงการที่เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณา ไม่ว่าจะในรูปแบบสื่อสาระ บันเทิงประเภทใดก็ตาม

มาตรการทางการเงินที่สนับสนุนสินเชื่อ หรือการร่วมลงทุนผลิตสื่อทั้งความบันเทิง และสาระที่สนองเป้าหมายการสร้างค่านิยม ทัศนคติ การสร้างคนไทยพันธุ์ดี

นอกจากนี้ ควรเป็นนโยบายในการให้สื่อในเครือข่ายของรัฐส่งเสริมราชการ ส่งเสริมคนดี ความดีด้วยการจัดสรรเวลา และผ่อนปรนค่าเวลาเช่าดำเนินการ

การสร้างคุณค่าที่ดีต่อสังคมเช่นนี้ ต้องอาศัยพลังจากภาครัฐ และจะเกิดขึ้นได้หากรัฐบาลจะให้น้ำหนักกับการพัฒนาภาคสังคมอย่างถูกทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น