xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึง Robin Cook (1946-2005) : รัฐบุรุษผู้ต้านสงครามอิรัก

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ


ผมขอร่วมไว้อาลัยรอบิน คุก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ที่หัวใจวายขณะเดินพักผ่อนบนภูเขา เมื่อวานนี้ (6 ส.ค.2548) เป็นการจากไปอย่างไม่คาดคิดของบุรุษผู้ที่จะเป็นตำนานของการเมืองอังกฤษไปอีกนานเท่านาน เขาตายไปพร้อมกับความยิ่งใหญ่และอุดมคติที่ไม่เคยเจือจาง

ผมโชคไม่ดีที่อยู่กรุงเทพฯ นานไปหน่อย จึงหนีข่าวร้ายไปไม่พ้น แต่ก็ดีที่จะได้มีโอกาสเขียนถึงเขา เราเป็นเพื่อนกันแต่ไม่ถึงกลับคบหาใกล้ชิด ตลอดเวลา 5 ปีที่ผมกลับไปอยู่ลอนดอนไม่ได้พบปะกันเลย แต่ก่อนหน้านั้นสักเกือบ 20 ปี เราเคยร่วมประชุมกันทุกปี เพราะเขากับผมเป็นสมาชิกสมาคมเดียวกัน คือ Socialist International เพื่อนสนิทของรอบินหลายคนเป็นเพื่อนสนิทของผม ครั้งสุดท้ายที่เราอยู่ด้วยกัน 2-3 วันก็นานโขมาแล้ว ในการประชุมที่กรุงเบอร์ลิน ก่อนที่วิลลี่ บรั้นด์ เพื่อนอาวุโสของเราจะเสียชีวิต

ที่ผมพูดเรื่องนี้ก็เพราะผมอยากจะพูดถึงรอบินในแง่ที่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้จัก แม้ในความโด่งดังของเขา นั่นก็คือรอบินเป็นนักสังคมนิยมขนานแท้และดั้งเดิม เป็นนักมนุษยธรรม และเป็นสากลนิยมด้วยจิตวิญญาณ หากเขาไม่ใช่พลเมืองอังกฤษที่เติบโตมาในระบบการเมืองที่พัฒนา เขาอาจจะเป็นแชมเปี้ยนของผู้ที่ถูกกดขี่ของโลกอีกคนหนึ่ง

นี่กระมังที่ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศไม่นาน เขาถูกปรับออกไปเป็นหัวหน้าผู้แทนเลเบอร์ในสภาคอมมอน ซึ่งเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน ถึงเขาจะมีความสุขกับงานนี้มากที่สุดและได้ฝากฝีมือไว้อย่างสุดยอดไร้เทียมทาน ในที่สุดเขาก็ทนไม่ไหว ลาออกจากตำแหน่งคัดค้านการที่นายกฯ แบลร์นำอังกฤษตามบุชเข้าไปในอิรัก

ว่ากันว่าคำประกาศลาออกในสภาของเขาเป็นเอกสารทางการเมืองที่ไพเราะที่สุดแห่งยุค จนกระทั่งบัดนี้ยังถูกนำไปคัดลอกและกล่าวถึงไม่หยุดหย่อน

ผมว่าคุกเป็นนักการเมืองระดับโลกที่พูดเก่งมีวาทศิลป์เป็นเลิศคนหนึ่ง เทียบกับแบลร์ ถ้าหากไม่เหนือกว่าก็ไม่ด้อยกว่า คำปราศรัยของเขาทั้งๆ ที่ออกจากตำแหน่งไปก็ยังมีความหมาย และสามารถกอบกู้ฐานะของแบลร์และของพรรคในการเลือกตั้งได้ไม่น้อย แต่เขาเป็นคนง่ายๆ แต่งตัวยู่ยี่เชยๆ เขาเองก็รู้ตัวว่าตนโหงวเฮ้งไม่ดี ไม่เข้าจอทีวีเหมือนแบลร์ เขาจึงไม่เคยทะเยอทะยานที่จะขึ้นไปเป็นหัวหน้าพรรค ทั้งๆ ที่ความรู้ความสามารถของเขาเป็นได้อย่างสบายๆ

ผมอยากให้ครูสอนภาษาอังกฤษและรัฐศาสตร์ กับสื่อ พากันแปลคำประกาศลาออกของเขา เพื่อจะได้เจริญสติและประเทืองปัญญาแก่พวกเรา ผมจะลองแปลบางส่วน เพราะเนื้อจำกัด

“ทำไมข้าพเจ้าไม่สามารถรับสงครามแตกแยกครั้งนี้ได้”

“นี่เป็นครั้งแรกใน 20 ปีที่ข้าพเจ้าลงมาพูดกับสภา ข้าพเจ้าต้องสารภาพว่าข้าพเจ้าลืมไปเสียสนิทว่าทัศนวิสัยจากข้างล่างนี้สวยงามกว่ามาก

ข้าพเจ้าเลือกพูดกับสภานี้ก่อนที่อื่นว่า เหตุใดข้าพเจ้าจึงไม่สามารถสนับสนุนสงคราม ซึ่งปราศจากการการสนับสนุนของนานาชาติ และแม้กระทั่งในบ้านของเราเอง

นายกรัฐมนตรีปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเลเบอร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในชั่วชีวิตของข้าพเจ้า เราปรบมือให้วีรกรรมของนายกรัฐมนตรีที่สหประชาชาติ ข้าพเจ้าไม่คิดว่ามีผู้ใดที่ทำได้ดีกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของเราที่พยายามนำมติที่ 2 ให้ผ่านคณะมนตรีความมั่นคง

ความพยายามอย่างหนักหน่วงย่อมแสดงว่าการผ่านมติให้ได้นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เมื่อความพยายามนั้นล้มเหลว เราจะเสแสร้งว่ามติดังกล่าวไม่สำคัญเลยได้อย่างไร

ความจริงก็คืออังกฤษได้ถูกดึงเข้าสู่สงครามโดยไม่มีองค์การระหว่างประเทศใดๆเห็นด้วย โดยเฉพาะองค์การที่เรามีบทบาทนำ ได้แก่ นาโต้ ประชาคมยุโรป และคณะมนตรีความมั่นคง

เวลาผ่านไปเพียงขวบปี อังกฤษกับอเมริกาเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรต้านก่อการร้ายที่กว้างขวางและหลากหลาย เกินกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นไปได้ ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกการตัดสินใจทางการทูตที่ผิดพลาดอย่างน่าอัศจรรย์ ที่ทำให้พันธมิตรที่เข้มแข็งนั้นต้องแตกสลายไปอย่างรวดเร็ว

การกระทำฝ่ายเดียวแต่ลำพังไม่สามารถพิทักษ์ผลประโยชน์ของเราได้ดีเท่าข้อตกลงพหุภาคี หรือโดยองค์การโลกที่ควบคุมด้วยกติกา แต่ในคืนวันนี้ พันธมิตรที่สำคัญที่สุดต่อเรากลับอ่อนแอลงในบัดดล นั่นก็คือประชาคมยุโรปที่แบ่งแยกและมนตรีความมั่นคงที่ไม่สามารถตกลงกันได้ นี่คือเหยื่ออันโอชะของสงคราม โดยที่ยังไม่ต้องลั่นกระสุนแม้แต่นัดเดียว

ข้าพเจ้าได้ยินความแตกต่างของการใช้กำลังทหารครั้งนี้กับครั้งที่เราร่วมในโคโซโว กรณีโคโซโวนั้นไม่มีความเคลือบแคลงใดๆ แม้แต่น้อยในความสนับสนุนของทุกๆ ฝ่าย นาโต้สนับสนุน ประชาคมยุโรปก็สนับสนุน ทุกประเทศในกลุ่มภูมิภาคทั้งเจ็ดของเรา รวมทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนีต่างก็สนับสนุนอย่างแข็งขัน เพราะเราขาดการสนับสนุนดังกล่าวในครั้งนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่เราจะต้องได้มติสนับสนุนของคณะมนตรีความมั่นคง นั่นเป็นความหวังชิ้นสุดท้ายที่จะแสดงว่านานาชาติสนับสนุนเรา

ความยากลำบากในครั้งนี้เป็นเพราะไม่ว่าจะเป็นประชาคมนานาชาติหรือประชาชนอังกฤษก็ตาม ต่างก็ไม่เชื่อว่ามีเหตุอันจำเป็นและเร่งด่วนที่จะใช้กำลังจัดการอิรัก

เราไม่สามารถจะทำนายว่าประชาชนพลเมืองจะต้องล้มตายไปเท่าไรในห่าระเบิด ที่อเมริกันขู่ว่าจะต้อง “ช็อกและสะเทือนขวัญ” แต่เชื่อว่าผู้บริสุทธิ์จะต้องตายเป็นหมื่น

เวลา 4 ปีที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ข้าพเจ้ามีส่วนร่วมรับผิดชอบในยุทธศาสตร์สกัดกั้นของฝ่ายตะวันตก ในทศวรรษที่แล้ว เราได้ทำลายอาวุธในอิรักมากกว่าในสงครามกัลฟ์ทั้งหมด เราได้ทำลายโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และระงับโครงการจรวดขีปนวถีและมัธยวิถีของซัดดัมโดยสิ้นเชิง

กำลังของอิรักในวันนี้เหลืออยู่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังในสงครามกัลฟ์ ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้กำลังอ้างว่ากองทัพของซัดดัมอ่อนแอ ขาดกำลังใจและไร้อาวุธ บุกเข้าโจมตีไม่กี่วันก็จะราบคาบ

ยุทธศาสตร์ของเราไม่สามารถตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าซัดดัมอ่อนแอ แต่ในขณะเดียวกันก็อ้างเหตุผลว่าทำสงครามกำราบมีความจำเป็นเพราะว่าเขาคือตัวคุกคาม
น่าจะเชื่อได้ว่าอิรักไม่มีอาวุธทำลายล้าง (WMD) แบบที่เราเข้าใจกัน ที่จะสามารถตั้งเป้ายิงไปถึงเมืองของประเทศศัตรูได้ ดังนั้นด้วยเหตุไฉนเล่าเราจึงจะต้องก่อสงครามเพื่อปลดอาวุธกำลังทหารที่หยุดอยู่กับที่มาแล้วถึง 20 ปี แท้ที่จริงเรานี่แหละที่เป็นผู้ช่วยสร้างมันขึ้นมา

มีการกล่าวขวัญกันจนเป็นธรรมดาเสียแล้วว่า สภาแห่งนี้ไม่มีความหมายในการเมืองของอังกฤษมานานหนักหนาแล้ว

ไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์ว่านั่นเป็นคำพูดที่ผิดได้ดีกว่าการที่สภานี้จะต้องหยุดยั้งการส่งทหารอังกฤษเข้าสู่สงครามที่ปราศจากมติของนานาชาติ หรือแม้แต่การสนับสนุนในประเทศของเราเอง

ในคืนวันพรุ่งนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจจะเข้าร่วมกับผู้ที่จะลงมติคัดค้านสงครามในสภานี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว เหตุผลเดียวเท่านั้น และด้วยหัวใจอันรันทด ข้าพเจ้าจึงขอลาออกจากคณะรัฐบาล”

ข้างบนนี้เป็นบางส่วนของคำอภิปรายเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2546 ที่สื่อหรือผู้ฟังบอกว่าเหมือนกระแสไฟฟ้า และจะต้องถูกจารึกว่าเป็นคำอภิปรายที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์รัฐสภาอังกฤษ ของ Robin Cook (1946-2005) : รัฐบุรุษผู้ต้านสงครามอิรัก
กำลังโหลดความคิดเห็น