xs
xsm
sm
md
lg

นักบุกเบิกธุรกิจกับ "ควายทองคำ"

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ระหว่างตระเวนมณฑลเจ้อเจียงในเดือนพฤษภาคม 2005 ผู้เขียนมีโอกาสกระทบไหล่สองนักธุรกิจใหญ่ของมณฑล แต่ก็มีชื่อเสียงกระฉ่อนระดับชาติ คือ หูเฉิงจงและสวีเหวินหรง

หูเฉิงจง ผู้ก่อตั้งเต๋อลี่ซี ปัจจุบันเป็นซีอีโอกลุ่มบริษัทเต๋อลี่ซี ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าป้อนตลาดจีน และตลาดโลก เป็นผู้สนองอุปกรณ์ไฟฟ้าโวลต์ต่ำแก่ศูนย์อวกาศจิ่วเฉวียน ผู้ส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์อวกาศจีนขึ้นสู่วงโคจร

สวีเหวินหรง ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทเหิงเตี้ยน ที่ดำเนินธุรกิจฉีกจากอุตสาหกรรมพื้นฐานไปสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เจ้าของสถานที่ (โลเกชัน) ถ่ายทำภาพยนตร์ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ภาพยนตร์กำลังภายในฟอร์มใหญ่เช่น ฮีโร่ และอีกหลายๆ เรื่อง ก็ใช้สถานที่ถ่ายทำที่เหิงเตี้ยน บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น และบริษัทภาพยนตร์จากฮอลลีวูด ก็ได้เข้าไปใช้สถานที่ถ่ายทำเหล่านั้นกันบ้างแล้ว

จากการเปิดเผยของสวีเหวินหลง เขามีแผนสร้างเมืองภาพยนตร์เหิงเตี้ยนเป็นฮอลลีวูดแห่งประเทศจีน

ที่สำคัญ ปัจจุบัน เมืองภาพยนตร์เหิงเตี้ยน ที่ประกอบด้วยโลเกชั่นขนาดใหญ่ ทั้งพระราชวังเดิมเท่าของจริง และสถานที่สำคัญๆ ของจีนและของโลก ที่ลงทุนมหาศาลสร้างขึ้นมาแล้ว 12 แห่ง และมีแผนสร้างเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง กำลังพลิกตนเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนจีนและคนต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็น "อุตสาหกรรม" อีกแขนงหนึ่ง ที่สนับสนุนธุรกิจของกลุ่มบริษัทเหิงเตี้ยน

โดยภาพรวม ทั้งกลุ่มเต๋อลี่ซีและกลุ่มเหิงเตี้ยน ได้ก้าวจากการดำเนินธุรกิจเฉพาะด้าน มาเป็นการดำเนินธุรกิจแบบผสมผสาน ไม่จำกัดประเภทกันแล้ว

กล่าวคือ พร้อมพัฒนาขยายตัวไปยังธุรกิจประเภทต่างๆ ที่ให้โอกาสทำกำไร

มีผลงานหนังสือเล่มที่เขียนด้วยตนเอง

ที่น่าสนใจคือ คนทั้งสองเป็นนักเขียนด้วย หูเฉิงจงแม้จะเรียนจบเพียงชั้นมัธยมต้น แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เขาพยายามเรียนไปด้วยทำการค้าไปด้วยจนจบหลักสูตรมหาวิทยาลัยของจีน แล้วเรียนต่อระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ และสุดท้าย สามารถคว้าปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปรินซตันของสหรัฐฯ ได้สำเร็จ ขณะอายุได้ 43 ปี (ค.ศ.2004)

เขาเป็นนักบุกเบิกธุรกิจชั้นนำของจีนเพียงไม่กี่คน ที่เขียนสรุปความเป็นมาและแสดงแนวคิดในด้านการบริหารจัดการด้วยมือของตนเอง

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000-2004 เขาเขียนหนังสือ ประมวลแนวคิดประสบการณ์การบุกเบิกธุรกิจ และบริหารธุรกิจ รวม 3 เล่ม ประกอบด้วย 1. ว่าด้วยการบุกเบิกธุรกิจ (ฉี่เยี่ยจี๋ถวนช่วงซินลุ่น) 2. ยุทธศาสตร์แบรนด์เนมกับวัฒนธรรมองค์กร (ฉี่เยี่ยเหวินฮั่วอวี๋ผิ่นไผจั้นเลวี่ย) และ 3. ความมั่งคั่งกับความรับผิดชอบ (ไฉฟู่อวี๋เจ๋อเริ่น) ซึ่งมีวางขายในตลาด และเป็นหนังสือขายดีด้วย

ทั้งสามเล่มอยู่ในมือของผู้เขียนเรียบร้อยแล้ว (มีเรื่องเล่าแทรกเล็กน้อย คือ ในคราวที่ผู้เขียนพร้อมคณะนักเขียนนานาชาติเข้าเยี่ยมกิจการเต๋อลี่ซีและพบปะพูดคุยกับหูเฉิงจง เราได้รับหนังสือแจกเพียงเล่มที่ 3 คือ ความมั่งคั่งกับความรับผิดชอบ โดยที่ผู้เขียนเองไม่รู้ว่า ก่อนหน้าเขาได้เขียนออกมาแล้วสองเล่ม เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ จึงได้อีเมลไปขอให้ส่งมาอีกสองเล่ม ปรากฏว่าเขาจัดการให้สมความปรารถนา ต้องขอขอบใจและแสดงความประทับใจในความมีประสิทธิภาพของเขา มา ณ ที่นี้ อีกครั้งด้วย)

เช่นเดียวกัน สวีเหวินหรง ซึ่งจบเพียงชั้นประถมปลาย แต่อาศัยที่บิดาทำอาชีพค้าขายย่อยในระบอบสังคมนิยมจีน พัฒนาทักษะทางการค้าในท่ามกลางการผันเปลี่ยนของสังคมจีน นำพาชาวบ้านสร้างทำกินสร้างรายได้ กลายเป็นผู้นำชุมชนที่โดดเด่น เมื่อจีนก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูปและพัฒนา จึงได้ขยายกิจการในรูปทุน กระจายโอกาสการสร้างชีวิตมั่งคั่งสู่ชาวบ้านละแวกเมืองเหิงเตี้ยนกันถ้วนหน้า

ปัจจุบันสวีเหวินหรงอายุเลย 70 แล้ว มีบุตรชายสวีหย่งอันเป็นผู้รับช่วงงานบริหาร แต่บารมีของสวีเหวินหรงยังโดดเด่นมาก

ในระยะหลังๆ เขาลงมือเขียนเล่าและสรุปประสบการณ์การสร้างตัวและสร้างธุรกิจชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นชุดๆ แล้วรวบรวมเป็นรวมงานเขียนชุดใหญ่ รวม 3 เล่ม (สวีเหวินหรงเหวินจี๋) ถ่ายทอดประสบการณ์ของตนให้เป็นสมบัติทางปัญญาร่วมกันในสังคมจีน

เช่นเดียวกับหูเฉิงจง ทั้งหมดเป็นผลงานด้วยฝีมือเขียนของเขาจริงๆ และมีอยู่ในมือของผู้เขียนเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน

เขียนถึงตรงนี้ อดไม่ได้ที่จะสะท้อนใจกับ "ชะตากรรม" ของนักบุกเบิกธุรกิจชุมชนของประเทศไทย เห็นมีเรื่องราวมากมายถึงปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชนที่มีหัวธุรกิจการค้า แต่ไม่ปรากฏสักรายว่า สามารถพัฒนาก้าวเข้าสู่ครรลองของความเป็นบริษัทธุรกิจระดับชาติ ทั้งนี้ เป็นเพราะระบอบสังคม ระบบเศรษฐกิจของเราไม่เอื้อ ไม่เป็นใจหรืออย่างไรไม่รู้

แต่ที่ประเทศจีน ด้วยนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้าง ธุรกิจชาวบ้านจำนวนมากเหลือเกินที่ก้าวไปไกลถึงขั้นพัฒนากันขึ้นมาเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดยักษ์ระดับชาติ และหลายรายเลยที่ก้าวไปสู่ระดับโลก

โดยทุกกิจกรรมใช้เวลาสร้างตัวเพียงสิบกว่าปีเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับระยะเวลาของการดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้างของจีน ที่เริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นทศวรรษ ค.ศ. 1980

นั่นหมายความว่า สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจจีน คือเหตุปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาก้าวสู่ความเป็นบริษัทขนาดยักษ์ของธุรกิจชุมชนจีน

จึงปรากฏอยู่ทั่วไปว่า บรรดาซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน มี "กำพืด" มาจากชนบทจีนกันทั้งนั้น

อีกนัยหนึ่ง คนบ้านนอกก็เป็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศได้

(หมายเหตุ : เพราะจีนเริ่มนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้างในชนบทก่อน ชาวชนบทมีโอกาสรวยก่อน)

เรื่องราวของ "ควายทองคำ"

เกี่ยวกับหูเฉิงจง ผู้เขียนได้นำเสนอมาบ้างแล้วในตอนก่อนๆ (ปัจจุบันมีเสนออยู่ในคอลัมน์ "บริษัทจีน" ใน "มุมจีน" ของเว็บไซต์ผู้จัดการ สนใจเข้าไปดูได้ครับ) ตอนนี้ขอนำเรื่องราวของสวีเหวินหรงมาเสนอแด่ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะเรื่องพลังศรัทธาที่เขามีต่อเติ้งเสี่ยวผิง ที่เปรียบได้กับผู้จูงเอา "ควายทองคำ" มามอบให้แก่ชาวเหิงเตี้ยน

เหิงเตี้ยนเป็นเมืองเล็กๆ ในชนบทห่างไกลชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแหล่งกระจุกความเจริญของมณฑลเจ้อเจียง ปัจจุบันมีถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชื่อมกับเมืองหังโจว ระยะทางหนึ่งร้อยกว่ากิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งราวสองชั่วโมงก็ถึง

เหิงเตี้ยน อยู่ในเขตปกครองของเมืองตงหยัง ซึ่งดูแลเมืองอี้อู ศูนย์ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันที่ใหญ่ที่สุดของจีนด้วยเช่นเดียวกัน (เมืองอี้อูนี้ ปัจจุบันกำลังดังเป็นพลุแตก เพราะพ่อค้าปลีกและส่งจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย พากันแห่แหนกันไปเลือกซื้อสรรพสิ่งของที่ต้องการที่เมืองนี้กันไม่เว้นแต่ละวัน ถ้ามีโอกาสจะเขียนถึงเมืองอี้อูโดยเฉพาะ)

นับแต่โบราณกาล ชาวเหิงเตี้ยนมีความเป็นอยู่ค่อนข้างอัตคัด เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินเป็นเขา ไม่เหมาะในการเพาะปลูก

ภูเขาที่ตั้งตระหง่านง้ำ เฝ้ามองเมืองเหิงเตี้ยนอยู่เรียกว่า "ปาเมี่ยนซัน" หรือ เขาแปดหน้า เป็นเขาสูง มองไกลจะเป็นยอดเขามีรูปทรงคล้ายกับยอดเขาฟูจิของญี่ปุ่น เพียงแต่ว่าเป็นสีเขียวด้วยต้นไม้ มิใช่สีขาวโพลนเพราะปกคลุมด้วยหิมะ

แต่ "ปาเมี่ยนซัน" มีเรื่องปรัมปราให้เล่าขานกันต่อๆ ในหมู่ชาวบ้านสืบต่อกันมานับร้อยนับพันปี เรื่องของ "ควายทองคำ" ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการเล่าขานกันมา ชวนให้ต้องไขขานกันว่า มันหมายถึงเรื่องอะไร?

เมื่อถามเรื่องนี้กับสวีเหวินหรง เขาเล่าว่า มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า เมื่อกาลครั้งหนึ่ง สักหลายแสนหรือนับล้านปีก่อนกระมัง ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ยังผลให้เกิดปาเมี่ยนซันโผล่พ้นเส้นขอบฟ้า เป็นภูเขาสูงตระหง่านง้ำดังกล่าว ปรากฏว่า รอบๆ ภูปาเมี่ยนซัน ที่เป็นที่ต่ำได้ถูกน้ำท่วมมิด

จนกระทั่ง "ต้าหวี่" วีรชนผู้สร้างระบบชลประทานแรกในแผ่นดินจีนได้มาถึง แล้วจัดการระบายน้ำออกจนหมด เหลือแต่พื้นที่รูปแอ่งกระทะขนาดใหญ่รอบๆ ภูปาเมี่ยนซัน

ความสำเร็จของการจัดการระบายน้ำ ทำให้ต้าหวี่รู้สึกลิงโลด กระโดดลอยตัว ทำให้เสาค้ำไม้คาน (ชาวนาชาวไร่ใช้ค้ำไม้คานเวลาพักระหว่างหาบของหนัก) หลุดมือหล่นกระแทกยอดเขาปาเมี่ยนซัน ยังผลให้ยอดเขาปาเมี่ยนซันปลิวไปไกลถึงเมืองหังโจว กลายเป็นยอดเขา "เฟยไหลเฟิง" (ยอดภูเขาที่ปลิวมา) ของเมืองหังโจวไป ส่วนยอดภูเขาปาเมี่ยนซันก็กลายสภาพเป็นพื้นที่ราบขนาด 75 โหม่ว หรือราว 25 ไร่ (1 โหม่วจีนเท่ากับราว 1/3 ไร่ไทย) บนยอดภู ซึ่งต่อมามีการสำรวจพบว่าเป็นเช่นนั้นจริง คือมีที่ราบบนยอดภูเขา 75 โหม่ว

เมื่อต้าหวี่จากไป ได้เหลือควายทองคำไว้หนึ่งตัวบนยอดภู เป็นที่หวังพึ่งของชาวบ้านว่า สักวันหนึ่งควายทองคำตัวนั้นจะลงจากยอดภู นำเอาโชคลาภมาสู่พวกเขา

และแล้ว ในฤดูใบไม้ผลิของปีหนึ่ง ควายทองคำก็ลงมาจากยอดภูปาเมี่ยนซัน สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวบ้านยิ่งนัก พากันแห่หันกันห้อมล้อมควายทองคำไว้ ไม่ให้หนีไปไหน แต่ควายทองคำก็พาตัวหลบหลุดจากวงล้อมของชาวบ้านไปจนได้ แล้วกลับขึ้นไปอยู่บนยอดเขาปาเมี่ยนซันดังเดิม แต่ก่อนที่จะพ้นสายตาชาวบ้าน ควายทองคำก็หันมาพูดกับชาวบ้านว่า พวกเขาจะต้องใช้เวลาสามพันปีในการนำเอาฟางข้าวมาพันรอบภูเขาปาเมี่ยนซัน เมื่อทำได้เช่นนั้นแล้ว เขา (ควายทองคำ) จึงจะลงมาช่วยให้ชาวบ้านมั่งคั่งและร่ำรวย

ชาวบ้านเฝ้ารอคอยว่าเมื่อไหร่ควายทองคำจึงจะลงมาช่วยนำโชค ความยากจนยังเป็นวิถีชีวิตของคนเหิงเตี้ยนเช่นเคย พากันอดๆ อยากๆ ปาเมี่ยนซันยังยืนตระหง่านง้ำเมืองเหิงเตี้ยน

แต่ ณ วันนี้ เหิงเตี้ยนร่ำรวยแล้ว พลิกโฉมจากชนบทที่ยากจนล้าหลัง เป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดย่อมและเมืองภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ชาวบ้านไม่เพียงหลุดพ้นจากชีวิตยากจน แต่ได้กลายเป็นชีวิตมั่งคั่งกันถ้วนหน้า ไม่ต้องทำงานแบบหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินกันอีกต่อไป

ทั้งนี้ ด้วยการนำของสวีเหวินหรง

ในขณะที่ชาวบ้านพากันกล่าวขวัญกันถึงความดีความชอบของสวีเหวินหรง ว่าเป็นผู้จูง "ควายทองคำ" ลงมาจากยอดเขาปาเมี่ยนซัน แต่สวีเหวินหรงบอกว่า "ไม่ใช่" แต่เป็นเติ้งเสี่ยวผิงต่างหาก ที่เป็นผู้จูงลงมา

"คุณรู้ไหม ฟางข้าวสามพันปีหมายถึงอะไร?" สวีเหวินหรงโยนคำถาม แล้วก็ตอบเสียเองเลยว่า "ก็คือชาวบ้าน"

แล้วผู้จูงควายทองคำลงมาคือใคร? ก็คือเติ้งเสี่ยวผิง

เติ้งเสี่ยวผิงใช้แนวนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้างเป็นเส้นเชือกจูงควายทองคำลงมาจากภูเขาปาเมี่ยนซัน "นโยบายนี้เป็นนโยบายสร้างคนให้รวย ให้ชาวบ้านพ้นจากความยากจน"

จึงสรุปได้ว่า ชาวบ้านคือฟางข้าวสามพันปี แนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือเส้นเชือก และผู้จูงควายทองคำลงมาจากเขาปาเมี่ยนซันก็คือเติ้งเสี่ยวผิง

ปัจจุบัน ในกลางเมืองเหิงเตี้ยน มีรูปปั้นควายทองคำเหลืองอร่ามนอนแช่น้ำอยู่หนึ่งตัว นั่นแหละคือควายทองคำในนิทานปรัมปรา

พวกเขาจดจำควายทองคำ โดยไม่ลืม "คนจูง"
กำลังโหลดความคิดเห็น