xs
xsm
sm
md
lg

ฮอลลีวูดในฐานะเจ้าโลก

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ในระยะราวๆ หนึ่งทศวรรษมานี้ ดูเหมือนว่าระบบการผลิตภาพยนตร์ไทยได้ก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก จากเดิมที่เป็นอะไรซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่อดูๆ กันเองเสียเกือบร้อยทั้งร้อย ก็ได้พัฒนาขึ้นมาในระดับใหม่ที่ภาพยนตร์ไทยจำนวนหนึ่งได้กลายเป็นอะไรที่สามารถดึงดูดความสนใจจากต่างประเทศได้บ้างแล้ว

ทั้งนี้ ในแง่ที่ว่ามีภาพยนตร์ไทยได้รับเชิญให้นำไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งในบางโอกาส ภาพยนตร์ไทยบางเรื่องก็ถึงกับได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ระหว่างประเทศที่มีเกียรติคุณเป็นอย่างสูง นอกจากนี้ ในบางกรณี ภาพยนตร์ไทยบางเรื่องก็ประสบความสำเร็จทางการพาณิชย์ ถึงขนาดที่สามารถจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ของตนให้แก่พ่อค้าภาพยนตร์ระหว่างประเทศเพื่อนำไปไปจัดจำหน่ายต่อในต่างโลกได้สำเร็จ

ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งชี้ว่าความใฝ่ฝันอันเก่าแก่ของวงการภาพยนตร์ไทยในอันที่จะ "ส่งออก" ผลิตภัณฑ์ของตนไปสู่ตลาดโลก ซึ่งในอดีตเป็นเพียงสิ่งที่ชอบพูดกันเล่นๆ ในเวทีต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านภาพยนตร์ในเมืองไทย นั้นดูจะมีวี่แววแห่งความหวังเล็กๆ ขึ้นมาบ้างแล้ว

ในเงื่อนไขอย่างนี้ ผู้ประกอบการในวงการภาพยนตร์ไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายในการสนับสนุนความรุ่งเรืองของภาพยนตร์ไทย จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างทางธุรกิจของภาพยนตร์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพราะความพยายามใดๆ ในอันที่จะ "เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก" ของภาพยนตร์ไทยจะต้องก่อรูปและออกแบบขึ้นมาในบริบทดังกล่าวนี้

แน่นอน เหนืออื่นใด เมื่อเราพูดถึงโครงสร้างทางธุรกิจของภาพยนตร์ระหว่างประเทศ เราต้องพูดถึงบทบาทของภาพยนตร์อเมริกัน เพราะเกือบตลอดช่วงเวลากว่าหนึ่งร้อยปีของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ภาพยนตร์อเมริกันมีบทบาทโดดเด่นที่สุดในตลาดโลก จนถึงขนาดที่เป็นผู้อำนาจนิยามโครงสร้างของธุรกิจภาพยนตร์โลกเลยทีเดียว

ยกเว้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อบางประเทศในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำหน้าที่เป็นผู้นำร่วมกับสหรัฐอเมริกาในตลาดภาพยนตร์โลก หลังสงครามครั้งนั้นเป็นต้นมา พร้อมๆ กับความเสียหายที่บังเกิดขึ้นกับระบบการผลิตภาพยนตร์ของทวีปยุโรปในช่วงสงคราม สหรัฐอเมริกาก็ได้ขึ้นแป้นครองความเป็นเจ้าแห่งตลาดภาพยนตร์โลกอย่างชัดเจน

ตกถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 หลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น กล่าวได้ว่าไม่มีดินแดนใดๆ ในโลกที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจทางการค้าและวัฒนธรรมของภาพยนตร์อเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผลิตโดยบรรษัทชั้นนำเพียงไม่กี่แห่ง และแนวโน้มนี้เด่นชัดยิ่งขึ้นตลอดเวลา

ตัวอย่างเช่น เมื่อ ค.ศ. 2000 ในขณะที่รายได้สุทธิจากธุรกิจภาพยนตร์ในตลาดอเมริกันมีมูลค่าเท่ากับ 7.66 ล้านเหรียญอเมริกัน ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.3 จากจำนวน 5.97 ล้านเหรียญอเมริกันใน ค.ศ. 1986 รายได้จากการให้เช่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มีมูลค่าสูงถึง 8.85 ล้านเหรียญอเมริกัน ซึ่งเป็นยอดรวมที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 426 นี่หมายความว่าตลาดในต่างประเทศของภาพยนตร์อเมริกันมีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าตลาดภายในประเทศเป็นอย่างมาก ข้อมูลใน Table 1 แสดงให้เห็นรายได้สุทธิจากการให้เช่าภาพยนตร์อเมริกันและวัสดุอื่นๆ ในตลาดโลกทั้งหมดและในบางตลาดที่สำคัญๆ ของโลกในช่วง ค.ศ. 1986 จนกระทั่งถึง ค.ศ. 2000

อนึ่ง โปรดสังเกตว่า "ค่าเช่า" นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายได้สุทธิเท่านั้น เพราะตามปกติแล้ว เนื่องจากมีสำนักงานของตนกระจายไปทั่วโลก ซึ่งหน้าที่ส่วนหนึ่งก็คือการทำบัญชีรายได้ ณ หน้าห้องตั๋ว ผู้ค้าภาพยนตร์อเมริกันจึงสามารถวางระบบขอแบ่งสันปันส่วนจากรายได้ที่แท้จริงเป็นอัตราร้อยละเท่านั้นเท่านี้ด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นรายได้ที่สำคัญทีเดียว ทว่าข้อมูลส่วนนี้มักจะถูกเก็บเป็นความลับทางธุรกิจ ด้วยเหตุผลทางภาษีอากร

สถานการณ์อย่างนี้เป็นไปได้ก็เพราะนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบการผลิตและการจัดจำหน่ายทั้งส่งและปลีก ของสหรัฐอเมริกาได้แปรสภาพเป็นธุรกิจในแบบฉบับของบรรษัทข้ามชาติมากขึ้นทุกที กล่าวคือ

(1) ภาพยนตร์เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาธุรกิจที่บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ดำเนินกิจการหลายชนิดถือครองไว้ในระบบธุรกิจของตน ความที่พลังทางการเงินของบรรษัทข้ามชาติที่ล้วนอยู่ในกลุ่ม Fortune 500 เหล่านี้มีอยู่มากมหาศาล ฉะนั้น บรรษัทข้ามชาติพวกนี้จึงสามารถเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ชั้นดีที่มีศักยภาพทางการตลาดสูงๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมาก หรือในบางกรณีก็สามารถหาพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแรงที่สุดในแต่ละประเทศโดยไม่จำเป็นลงทุนเองกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ ยังผลให้การยึดครองตลาดในประเทศของตนและตลาดสำคัญอื่นๆ เป็นไปได้โดยง่าย

(2) ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ในเชิงนโยบายของบรรษัทข้ามชาติเพื่อการขยายอิทธิพลของภาพยนตร์อเมริกันในตลาดโลก ได้ถูกกำหนดให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน ทั้งนี้ โดยผ่านทางการทำงานของสมาคมผู้ส่งออกภาพยนตร์แห่งอเมริกา (The Motion Picture Export Association of America) ซึ่งเป็น "กลไกร่วม" สำหรับการคุ้มครองและขยายผลประโยชน์ของภาพยนตร์อเมริกันในตลาดโลกของบรรษัทข้ามชาติจำนวนไม่ถึงสิบแห่ง การดำเนินการเจรจาทางธุรกิจของสมาคมดังกล่าวนี้จะเน้นการแสวงหาภาวะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดในตลาดต่างประเทศ ทั้งๆ ที่การดำเนินการในทำนองนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา

(3) เครือข่ายของสำนักงานด้านการตลาดของบรรษัทข้ามชาติด้านภาพยนตร์อเมริกันที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนครอบคลุมอาณาบริเวณต่างๆ ไปทั่วทั้งโลก ยังผลให้ภาพยนตร์อเมริกันสามารถวางระบบในลักษณะแบบผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดและแบ่งปันผลประโยชน์จากรายได้วันต่อวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(4) ระบบการผลิตภาพยนตร์อเมริกันมีลักษณะที่มุ่งเป้าเป็น "สินค้า" เพื่อตลาดโลกอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ภาพยนตร์ที่ให้น้ำหนักแก่ลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมของภาพยนตร์อเมริกันมีจำนวนลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ในมิติหนึ่ง ความเป็นสินค้าดังกล่าวนี้ก็คือระบบการผลิตจะเน้นการทำภาพยนตร์จำนวนน้อยเรื่องลง ทว่ายอดลงทุนในแต่ละภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะสูงขึ้น ยังผลให้ต้นทุนในการบริหารทางการเงินของภาพยนตร์ลดลงเป็นอย่างมาก อีกทั้ง "คุณค่าทางการตลาด" ของภาพยนตร์อเมริกันก็มีสูงขึ้น จนกระทั่งภาพยนตร์สัญชาติขึ้นๆ ไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลย

(5) นอกจากนี้ ความเป็น "สินค้า" ของภาพยนตร์อเมริกันยังมีความเป็นสากลเพิ่มขึ้นเรื่อยในหลายมิติ เช่น มีการขยายระบบการผลิตไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่ตลาดภาพยนตร์มีขนาดใหญ่ รวมทั้งการผสมผสานระหว่างทุนข้ามชาติมากขึ้น เช่น ในกรณีที่โซนี่ไปซื้อธุรกิจการทำภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ยังทำการคัดเลือกว่าจ้างบุคลากรด้านภาพยนตร์ของประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่ในระบบการผลิตภาพยนตร์อเมริกันมากขึ้นเรื่อยๆ อันนอกจากจะทำให้ระบบการผลิตภาพยนตร์สหรัฐอเมริกามีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นแล้ว วงการภาพยนตร์ของประเทศแม่ของบุคลากรต่างประเทศเหล่านี้ยังถูกทำให้อ่อนแอลงอีกด้วย

(6) ในขณะที่ภาพยนตร์อเมริกันอยู่ในฐานะของเจ้าผู้ครองตลาดโลกอย่างชัดเจนต่อเนื่องกันมานานๆ หลายทศวรรษ ทว่าตลาดภาพยนตร์อเมริกันเองกลับเป็นตลาดที่เกือบปิดตายสำหรับภาพยนตร์ต่างประเทศ ภาพยนตร์ต่างประเทศใดๆ ที่ได้รับการนำไปจัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกานั้นมีสัดส่วนทางการตลาดน้อยมากจนแทบไม่จำเป็นต้องพูดถึง ทั้งนี้ โดยอ้างว่าภาพยนตร์ต่างประเทศไม่มีคุณค่าเพียงพอที่จะได้รับความสนใจจากตลาดภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา

แม้ข้ออ้างดังกล่าวอาจจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง ทว่าความจริงอีกด้านหนึ่งที่สำคัญกว่าก็คือระบบธุรกิจภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการครองตลาดในบ้านของตนเองด้วยสินค้าของตนเอง ครั้นเมื่อใดก็ตามที่มีการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศเพื่อนำไปจัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาอยู่บ้างเป็นครั้งคราว ก็มักจะถูกนำเอาไปจัดจำหน่ายแบบเสียไม่ได้ หรือไม่ก็ดองไว้เป็นเวลานานๆ เช่น ในกรณีที่มิราแม็กซื้อลิขสิทธิ์ Hero ของจางอี้โหมวไปนั้น ว่ากันว่าถูกเก็บไว้ในกรุนานถึงสองปีกว่าที่จะนำออกมาวางตลาด

ในขณะที่โลกทั้งโลกล้วนตกอยู่อุ้งมือของภาพยนตร์อเมริกันที่ลงทุนมากๆ จำนวนเพียงไม่กี่เรื่องต่อปีที่ผลิตขึ้นมาโดยบรรษัทข้ามชาติอเมริกันเพียงไม่กี่แห่ง กลุ่มประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญอย่างแท้จริงก็คือ ประเทศอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป ตัวอย่างเช่น เพียงแค่อังกฤษ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์รวมกัน ก็มีมูลค่ารวมกันเท่ากับร้อยละ 35 ของรายได้จากการให้เช่าในต่างประเทศทั้งหมดของภาพยนตร์อเมริกันแล้ว

ตลาดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่อื่นๆ ก็คือญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิล และเกาหลีใต้ กล่าวโดยรวมๆ ในประเทศกลุ่มนี้ ภาพยนตร์อเมริกันมักจะมีรายได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของรายได้สุทธิจากการฉายภาพยนตร์ในแต่ละประเทศต่อปี และในบางกรณีจะพุ่งสูงถึงสองในสามของรายได้สุทธิทั้งหมด (โปรดดูข้อมูลใน Table 2 ประกอบ)

ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่าในประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งโลก อิทธิพลของภาพยนตร์จากบรรษัทข้ามชาติอเมริกันก็มีสัดส่วนไม่ค่อยแตกต่างกันจากตัวอย่างที่ยกมาแสดงในตารางทั้งสองมากนัก นอกจากผลกระทบที่เห็นได้ชัดๆ อย่างเช่น การสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าและดูภาพยนตร์อเมริกันแล้ว ภาพยนตร์อเมริกันยังส่งอิทธิพลอื่นๆ ต่อประเทศผู้รับอีกมาก รวมทั้งการรับรู้วัฒนธรรมอเมริกันที่อาจจะเข้าข่ายมากเกินไป ยังผลให้เกิดความไม่สมดุลกับการรับรู้วัฒนธรรมจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งเชื่อกันว่าจะส่งผลกระทบถึงพฤติกรรมและจิตสำนึกของประชากรในประเทศนั้นๆ อย่างไร้ขอบเขต รวมทั้งอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร

ทั้งนี้ โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงผลกระทบที่เห็นได้อย่างจะแจ้ง นั่นก็คือ การที่ภาพยนตร์อเมริกันมาแก่งแย่งตลาดและรายได้จากตลาดภาพยนตร์ในแต่ละประเทศ จนกระทั่งยังผลให้ภาพยนตร์ในประเทศนั้นๆ ต้องดิ้นรนที่จะอยู่รอดด้วยความยากลำบากภายใน "พื้นที่ทางการตลาด" ที่ยังเหลืออยู่ไม่มากนักในประเทศของตน อีกทั้งผลกระทบที่มองเห็นไม่ชัดเจนนักอย่างเช่น การที่ภาพยนตร์ของแต่ละประเทศที่จำเป็นต้องเลียนแบบภาพยนตร์อเมริกันมากขึ้นทุกที ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่รอดในประเทศของตนได้ลำบาก โดยไม่ต้องพูดถึงการนำไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งล้วนมีความเป็นอเมริกันมากขึ้นทุกทีเช่นเดียวกัน

ลงท้าย การครองโลกของภาพยนตร์อเมริกันจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางสังคมล้วนๆ ทว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถทำลายความหลากหลายในวัฒนธรรมภาพยนตร์ของโลกได้ นี่แหละคือมิติหนึ่งของ "โลกานุวัตรทางวัฒนธรรม" นั่นก็คือ ความใฝ่ฝันของชาวโลกมีความละม้ายกันมากขึ้นทุกที ทว่าในความเป็นจริง ความแตกต่างในมาตรฐานแห่งการดำรงชีวิตในทางวัตถุกลับมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยประการฉะนี้ นอกจากจะเป็น "ของเล่น" ที่สามารถสร้างความสนุกสนานได้มากอย่างยิ่งแล้ว ภาพยนตร์อเมริกันจึงเป็น "ของจริง" อันสำคัญที่จำเป็นต้องมีความรู้ให้เท่าทันในทุกย่างก้าวเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น