xs
xsm
sm
md
lg

เราควรทำอย่างไรกับ "ปัจจัยจีน"?

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การสูญเสียนักท่องเที่ยวจีนไปถึงราวร้อยละ 80 รวมถึงนักท่องเที่ยวจากแหล่งอื่นๆของโลก ทำให้การท่องเที่ยวไทยต้องออก "แคมเปญ" ใหญ่ กระตุ้นนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวทั่วไทย "40 สาย" โดยมีเงินรางวัลตอบแทนร่วม 10 ล้านบาทเป็นเครื่องล่อ ทำให้รู้สึกหดหู่ใจพิกล

ภัยธรรมชาติอันร้ายแรง (คลื่นยักษ์สึนามิ) ได้ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวชนิด "หายห่วง" ขณะที่ภัยจากการกระทำของคนที่ไม่รู้จักคุณค่าของตนเอง เช่น การทำตลาดท่องเที่ยวไทยในจีนจนเละเทะ ด้วยการเอาของถูกเข้าล่อแล้วมาขูดรีดเขาในภายหลัง ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข็ดขี้อ่อนขี้แก่ไปตามๆ กัน

ทั้งสอง "ภัย" บวกกำลังกันเข้า เลยทำให้การท่องเที่ยวไทยต้องพังแบบไม่เป็นท่า ยังผลให้ประชาชนในอาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสัตว์ท่องเที่ยว เช่น ช้าง พลอยตกงาน ไม่มีรายได้

นอกจากนั้น ความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ ก็นับวันกลายเป็นปัจจัยลบ บั่นทอนทั้งทางวัตถุและจิตใจ เป็นภัยใกล้ตัวที่คุกคามความปลอดภัยชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

มองไปสู่อนาคต แล้วก็ยังมองไม่เห็นทางออกแต่ประการใด

การกระตุ้นด้วย "แคมเปญ" ใหญ่เช่นนี้ ก็คงไม่ได้ช่วยให้อะไรต่อมิอะไรดีขึ้นได้จริง เพราะมันฉาบฉวย และผิวเผิน เป็นแบบไฟไหม้ฟาง วาบแล้วก็มอดดับ

ทำอย่างไรดี?

จับฉวยโอกาสจาก "ปัจจัยจีน"

ในฐานะผู้ติดตามศึกษาเรื่องจีนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโอกาสเดินทางไปเปิดหูเปิดตาดูความเป็นจริงของประเทศจีนเป็นระยะๆ พบปะกับคนจีน ทำให้รู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า หากเรารู้และเข้าใจจีนได้อย่างถูกต้อง จะทำให้มองเห็นโอกาส และสามารถใช้โอกาสได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้าม หากเราไม่รู้และเข้าใจจีนอย่างถูกต้อง เราก็จะปฏิบัติต่อจีนแบบผิดๆถูกๆ ดังเช่น การปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งกำลังพัฒนาเติบใหญ่เป็นแหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวสำคัญที่ประเทศต่างๆ พากันแย่งกันทำตลาด

ทั้งที่ประเทศไทยเคยเป็น "จุดเลือกแรก" ของนักท่องเที่ยวจีนมาก่อน แต่เราก็ปล่อยให้สิ่งเลวร้ายพอกพูนจนประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น "จุดเลือกสุดท้าย" ไปแล้ว สูญเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

จึงเป็นเรื่องแปลกไม่น้อย เมื่อคนไทยที่คิดว่าตนเองรู้จักคนจีนไม่น้อยไปกว่าคนอื่น แต่กลับจัดการกับจีน เช่น โอกาสต่างๆ ที่มาจากจีนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ได้ประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย กะพร่องกะแพร่ง

เมื่อเทียบกับบางประเทศที่เขา "เดินเข้าหา" จีนแบบเต็มสูบ เช่นเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ทั้งนี้ ไม่นับฮ่องกงและไต้หวันซึ่งมีฐานะพิเศษที่จีนเอื้อประโยชน์เยี่ยงคนจีนด้วยกัน

กรณีเกาหลีใต้ มีจุดน่าสนใจตรงที่ เพียง 12 ปี (นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 จีนกับเกาหลีใต้เปิดสัมพันธ์ทางการทูต) ปัจจุบันเกาหลีใต้มีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด มีมูลค่าการค้าขายกับจีนมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นประเทศที่ 4 (ถัดจากอียู สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) ที่มียอดมูลค่าการค้ากับจีนมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์

ควบคู่ไปกับการพัฒนาขยายตัวแบบก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจการค้าของสองประเทศ ปรากฏว่า คนเกาหลีใต้ได้ปรับแนวคิดและค่านิยมอย่างรวดเร็ว พากันส่งบุตรหลานไปเรียนต่อในประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อเรียนจบแล้ว สามารถเข้าทำงานในบริษัทเกาหลีทั้งในจีนและในเกาหลีใต้ ตลาดแรงงานตอบรับผู้ที่รู้ภาษาจีนอย่างท่วมท้น

นับเป็นตัวเลขที่น่าทึ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีจีน นายเวินเจียเป่า บอกแก่นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ที่เดินทางไปเยือนจีนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาเกาหลีเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาของจีนถึงราว 40% ของนักศึกษาต่างประเทศทั้งหมดที่เรียนอยู่ในจีน

บริษัทธุรกิจใหญ่น้อยของเกาหลีใต้ พากันแห่ไปลงทุนทำการผลิตและค้าขายในจีน โทรศัพท์มือถือของซัมซุง และรถยนต์ยี่ห้อฮุนได ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภคจีน รวมทั้งภาพยนตร์ เพลง เกมคอมพิวเตอร์ของเกาหลีก็เป็นที่ชื่นชอบและคลั่งไคล้ของคนจีน

ตลาดจีนขนาดมหึมา กำลังสร้างรายได้ให้แก่บริษัทเกาหลีอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะความเป็นหนึ่งเดียวของแนวคิดและค่านิยมของคนเกาหลีตั้งแต่ระดับรัฐบาลจนถึงบริษัทธุรกิจเอกชน กระทั่งครอบครัวคนเกาหลี (นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนต่อที่จีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่การส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น)

ภาษาจีนกลายเป็นภาษาที่คนเกาหลีกระหายใคร่เรียนรู้ ไม่แพ้ภาษาอังกฤษ สถาบันขงจื๊อ สถาบันสอนภาษาจีนในต่างประเทศ ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการการสอนภาษาจีนในต่างประเทศของจีน ได้เปิดขึ้นที่กรุงโซลเป็นแห่งแรก (มีเป้าหมายเปิดขึ้น 100 แห่งทั่วโลก ปัจจุบันเปิดไปแล้วมากกว่า 20 แห่ง)

เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า เกาหลีใต้สามารถทำอะไรเกี่ยวกับจีนได้ดีกว่าเรามาก โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน

มิหนำซ้ำ ยังมีผลพลอยได้จากการ "ส่งออก" ภาพยนตร์ทีวี ดารานักร้องนักแสดง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แบบ "นุ่ม" กินลึกเข้าไปในจิตใจของคนจีน

ผู้เขียนอยากสรุปว่า นั่นเป็นเพราะคนเกาหลีมีข้อสรุปเกี่ยวกับจีนชัดเจนกว่าเรา จึงสามารถดำเนินนโยบายเชิงรุก ใช้ "ปัจจัยจีน" อย่างคุ้มค่า คือรุกเข้าหา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ศิลปวัฒนธรรม ชิงเชื่อมโยงเข้ากับระบบเศรษฐกิจตลาดจีนอย่างทั่วด้าน

ในที่สุด ย่อมเชื่อได้ว่า เกาหลีใต้จะเกาะติด "มังกรจีน" โผบินสู่โลกแห่งอนาคตอันยาวไกล จีนยิ่งก้าวหน้า ยิ่งเจริญ เกาหลีใต้ก็จะรับอานิสงส์ต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แล้วเหตุไฉน ประเทศไทยที่ว่ามีคนไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก จึง "เข้าไม่ถึงจีน" ไม่สามารถใช้ปัจจัยจีนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อประเทศชาติ ต่อสังคมไทยโดยรวม?

ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะคนไทยทั้งในภาครัฐและภาคประชาชน ไม่ได้ทำความเข้าใจในเรื่อง "ปัจจัยจีน" อย่างถ่องแท้และทะลุปรุโปร่ง

เมื่อไม่มีภาพ "เคลียร์" ก็ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเอาอย่างไรกับจีน

ดูเหมือนจะเป็นแบบนี้ตั้งแต่รัฐบาลลงไปจนถึงพ่อค้า นักลงทุน

จะมีบ้างก็เป็นบางราย เช่น กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ชื่อว่าเป็นผู้กล้าเข้าไปลงทุนจีนตั้งแต่จีนเริ่มเปิดประเทศ แต่ก็ไม่ได้สร้างอานิสงส์ให้ภาครัฐเห็นความสำคัญตามเลย

จนกระทั่งทุกวันนี้ ประเทศไทยยังค้าขายกับจีนน้อยมาก มีมูลค่าการค้าขายกับจีนน้อยกว่ามาเลเซียเสียอีก

ผู้เขียนดูข่าวทีวีจีน เห็นไต้หวันนำผลไม้ไปวางขายในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ผู้คนเบียดเสียดกันแย่งซื้อ ทั้งๆ ที่ผลไม้เหล่านั้น มีปลูกกันในประเทศไทยกันทั้งนั้น เช่น กล้วยหอม ฝรั่ง แก้วมังกร สับปะรด แตงโม ชมพู่ ฯลฯ

ถ้าเป็นผลไม้ไทย แล้วคนจีนจะแย่งกันซื้อไหม?

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะผลไม้ไทยสู้ไต้หวันไม่ได้แน่นอน แต่เป็นเพราะการทำงานของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง "ไร้น้ำยา"

ผลไม้ไทยมีมากมายและอร่อยกว่าไต้หวันเป็นไหนๆ และเราก็ได้รับสิทธิ์ตามข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีจีน-ไทย และ จีน-อาเซียน สามารถส่งผลไม้เข้าตลาดจีนได้โดยไม่ต้องเสียภาษี (ภาษีเท่ากับ 0) เช่นเดียวกัน

แต่เป็นเพราะเหตุใด เราจึงต้องมานั่งมองคนจีนยื้อแย่งกันซื้อผลไม้ไต้หวัน?

มันน่าจะเป็นการยื้อแย่งซื้อผลไม้ไทย มากกว่า มิใช่หรือ?

แล้ววันเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทย สมาคมผู้ผลิต ผู้ส่งออก และอะไรต่อมิอะไร ที่ยุบยับไปหมด ทำอะไรกันอยู่?

หรือกำลังคิดหาทางปลอมปนสินค้า ยัดไส้ แหกตา? ดังเช่นที่ทำกับนักท่องเที่ยวจีน?

ในที่สุด สินค้าไทยก็ "เหม็น" ไม่เป็นที่สนใจของคนจีน ตลาดจีน

ทำให้เราเสียโอกาสมากมาย ครั้งแล้วครั้งเล่า เกี่ยวกับจีน

หรือว่า เรากำลังทำลายตัวเอง และมุ่งทำลายตัวเองไปเรื่อยๆ? โดยที่เราคิดว่าเราฉลาด? โดยที่สำคัญผิดว่า ความคดโกงก็คือความฉลาด?

ถึงตรงนี้ ก็ให้รู้สึกสมเพช ในการที่เราไม่รู้จักตัวเอง และไม่รู้จักจีนจริงๆ ไม่มีปัญญาใช้ "ปัจจัยจีน" ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่

ปัจจัยจีนคืออะไร?

ปัจจัยจีนหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "China factor" ในความหมายที่ยังไม่มีใครสรุปอย่างเป็นทางการ ก็คือ

ด้านหนึ่ง หมายถึงอะไรก็ตามที่อุบัติขึ้นมาเรื่อยๆ จากการขับเคลื่อนของกระบวนการพัฒนาของประเทศจีน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม

อีกด้านหนึ่ง หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปเกี่ยวข้องของประเทศจีน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเมือง การทหาร ฯลฯ บนเวทีโลก

ความหมายแรก หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวจีนเอง ส่วนความหมายที่สอง หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการไปปรากฏตัวของจีนในเวทีโลก

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยจีนภายใน ส่งผลต่อผลกระทบของปัจจัยจีนภายนอกเสมอ และปัจจัยจีนที่เกิดขึ้นบนเวทีโลก ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาของปัจจัยจีนในประเทศเช่นเดียวกัน

เราจำเป็นต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยจีนทั้งสองส่วนนี้ในบริบท "ทั้งโลก" (global) อย่ามองจีนโดดๆ เห็นแต่ความน่ากลัว เกิดความประหวั่นพรั่นพรึง หรือคิดเอาแต่ได้ จะขอให้จีนช่วยเหลือด้านด้านนี้อยู่ร่ำไป แต่สมควรมองแบบกลางๆ ดูว่าจีนกำลังเป็นไปอย่างไร และกำลังมีบทบาทในด้านไหนบ้างในสังคมโลก

ทั้งนี้ เพื่อจะได้ประเมินถึงสถานภาพ และศักยภาพที่แท้จริงของปัจจัยจีนในระดับองค์รวม จากนี้ไปกำหนดแนวทางและวิธีการปฏิบัติต่างๆที่สอดคล้องกับกระบวนการพัฒนาของปัจจัยจีน สำหรับจับฉวยโอกาสต่างๆ ที่เกิดจากปัจจัยจีนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง "ขี้หมูไหล" แน่ เพราะมีการพูดถึงการจับฉวยโอกาสจากปัจจัยจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับโลก อาทิเช่น นิตยสาร "อีโคโนมิสต์" ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม กล่าวไว้ในบทบรรณาธิการว่า การพัฒนาประเทศของจีนไม่เพียงเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อองค์รวมเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคด้วย ส่งผลกระทบอย่างรอบด้านตั้งแต่ระดับค่าจ้างค่าแรง กำไร ราคาสินค้า และอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ เพราะจีนเป็นตลาดแรงงานราคาถูกขนาดมหึมา และเป็น "ตลาดเปิด" ที่เปิดกว้างอย่างชวนพิศวง ด้วยความมหึมาและเปิดกว้างเช่นนี้เอง ที่ทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลกระทบอย่างแรงต่อองค์รวมเศรษฐกิจขนาดต่างๆ ของโลก

เห็นได้อย่างจะจะจากการปรับค่าเงินหยวนเมื่อเร็วๆ นี้ แม้จะปรับเพียงน้อยนิดเพียง 2% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ได้ดึงดูดความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก และส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่นไปทั่วโลก ทั้งต่อตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดพันธบัตร และตลาดสินค้าทั่วไป

นี่เป็นเพียงการขยับตัวเพียงเล็กน้อยของพญามังกร ก็ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง

เรื่องนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์อีกครั้งหนึ่ง สำหรับกลุ่มคนที่กำลังบริหารประเทศ และกลุ่มคนที่คิดจะทำอะไรต่อมิอะไรกับจีนว่า อย่ามัวแต่ทำเป็น "ฉลาด" ยึกยักแต่จะหาประโยชน์เฉพาะหน้า จงรีบปรับแนวคิดให้ชัดเจนเกี่ยวกับจีน และกำหนดยุทธศาสตร์ใช้ประโยชน์ "ปัจจัยจีน"อย่างทั่วด้าน!
กำลังโหลดความคิดเห็น