xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึง กึ่งพัฒนา: ทักษิณกับอานันท์ (1)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

บทความนี้ เขียนจากความจำและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อฟังนายกฯทักษิณกับอดีตนายกฯอานันท์พูดกันในทีวีจบลง ท่านนายกฯสรุปว่าจะนำพระราชกระแสเรื่องความเข้าใจ เข้าถึง และการพัฒนามาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา

ด้วยเคารพ ผมเห็นว่าการกระทำของรัฐบาลตั้งแต่ต้นมาโดยลำดับ หาได้สอดคล้องกับพระราชกระแสเลย มิใช่แต่การกระทำเท่านั้น แม้แต่คำพูดก็เหมือนกัน

คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขียนบทความที่จับใจผมว่า ถ้าคิดผิด ก็ทำผิด เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลนี้คิดผิด จึงได้พูดอะไรผิดๆ และทำอะไรผิดๆ ทำให้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้เลวลงๆ

ผมว่านายกฯอ่านอาการโรคสามจังหวัดได้อย่างแจ่มแจ้ง บังเอิญอาการโรคอย่างนี้มิใช่ของแปลก มีเกิดอยู่ทั่วไปในโลก มีให้ดูอยู่ในทีวีทุกวัน แต่สมุฏฐานที่แท้จริงของโรคต่างกันไปแต่ละที่ หากอ่านสมุฏฐานของโรคผิด ก็ย่อมจะวางยารักษาผิด ผมไม่คัดค้านยาสมานฉันท์ แต่มันเป็นเพียงยาชูกำลังหรือกล่อมประสาทเท่านั้น หาใช่ยาที่จะตัดโรคไม่

พอขึ้นต้น นายกฯก็สรุปเลยทีเดียวว่า เรื่องสามจังหวัดนี้เป็นเรื่องของการเสนอหรือแปลประวัติศาสตร์ผิดๆ ซ้ำยังมีสถาบันการศึกษาที่ให้การศึกษาอย่างไม่ถูกต้องเสียอีก ถ้านายกฯเชื่ออย่างนี้จริงๆ ผมก็อยากจะฟันธงว่า ต่อให้นายกฯเก่งล้นฟ้า หรืออดีตนายกอานันท์ช่วยจนตัวโก่ง ชาตินี้ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะเข้าใจสมุฏฐานของโรคไม่พอ

โรคสามจังหวัดนี้ มีทั้ง สมุฏฐานโรคหลัก โรครอง โรคแทรก และโรคซ้อน สำแดงอาการต่างๆออกมา หนักบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่สมุฏฐาน และการวางยา หรือการงดเว้นไม่วางยา นอกจากนั้น อาการนี้จะปรวนแปรไปตามดินฟ้าอากาศ กาลเวลาและปัจจัยที่มาจากข้างนอกอีกด้วย หากผู้ป่วยมีกำลังใจดีและสภาพร่างกายแข็งแรงก็จะผ่านอาการต่างๆไปเป็นครั้งคราว แต่ไม่ถึงกับหายขาด

โรคหลักของสามจังหวัดนี้ ก็คือ ระบบราชการของรัฐไทย ซึ่งมี สัญลักษณ์ โครงสร้าง องค์ประกอบ และพฤติกรรม ที่บั่นทอนสุขภาวะของประชาชน พูดกันง่ายๆ(ทั้งๆที่เรื่องจริงลึกซึ้งกว่านั้น)ว่า การต่อสู้เพื่ออิทธิพลผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและบริวารนั่นแหละคือต้นตอและความยืดเยื้อของปัญหา

พล.ต.ท.ชูชาติ ทัศนเสถียร เป็นคนดีที่ชาวบ้านไว้ใจ ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกปัตตานี ท่านบอกว่า การบริหารในสามจังหวัดจะต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณควบคู่กันไป การใช้พระเดชนั้นถึงจะบ่อยและโหดแค่ไหน ชาวบ้านเขายอมรับและเข้าใจ แต่ขอให้เป็นเรื่องจริงและตรงไปตรงมา ผมไปขอวิทยาทานท่านเมื่อปีที่แล้ว ทราบว่าตั้งแต่ปัญหาปะทุขึ้นมา ยังไม่มีผู้ใดมาขอความเห็นจากท่านเลย

สำมะหาอะไรอย่างผม ความรู้เรื่องปักษ์ใต้แค่หางอึ่ง มีประสบการณ์เล็กน้อย ครั้งหนึ่งเกือบ 50 ปีมาแล้ว ผมเคยไปปักหลักปฏิบัติราชการอยู่ที่คุรุสัมมนาคาร จังหวัดยะลา เคยไปนอนในโรงเรียนปอเนาะหลายแห่ง ต่อมาผมได้ทำงานให้นายกฯสัญญา พยายามจะแก้สมุฏฐานของโรคหลัก เริ่มด้วยการสนับสนุนให้ตั้ง “กลุ่มสลาตัน” รวบรวมกลุ่มหนุ่มสาวมุสลิมทั้งในพื้นที่และผู้ที่มาเรียนอยู่กรุงเทพฯ สร้างเครือข่ายและอำนวยความสะดวกให้ไปประสานสัมพันธ์กันและแก้ปัญหาอันเกิดจากหน่วยราชการของรัฐ รวมทั้งกลุ่มพลังที่เป็นปัญหาไม่ว่าโจรจีน หรือกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าแยกดินแดน มีเปาะสู เป็นต้น เมื่อเป็นมิตรกันทุกกลุ่ม รู้สึกว่าปัญหาเบาบางลง ต่อมากลุ่มสลาตันได้กลายเป็นแกนสำคัญของกลุ่มวาดะห์ ที่รับราชการได้ตำแหน่งสูงๆก็มี น่าเสียใจว่าเดี๋ยวนี้มิได้รับความไว้วางใจให้อยู่ในพื้นที่ ส่วนองค์ประกอบที่จะเป็นพื้นฐานในการปกครองท้องถิ่นก็ได้พยายามรวบรวมไว้ หลายคนได้เข้ามาเป็นกรรมการต่างๆหรือสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ บังเอิญทั้งหมดนี้ไม่สามารถขยายผลและล้มเหลวไปเพราะการปฏิรูปถอยหลัง 6 ตุลาคม

ผมเคยกินข้าวหม้อเดียวกับคุณพ่วง สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่ามือปราบของสงขลา บุตรคนโตของท่านคือนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีปัจจุบัน อดีตผู้ว่าปัตตานี รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้อำนวยการศอบต.ที่ถูกล้มไป นานทีปีครั้งพบกัน ก็คุยกันเรื่องปัญหาปักษ์ใต้บ้าง ผมไม่แตกฉานเหมือนท่านทั้งสอง แต่ผมพอจะมีความรู้เรื่องประเภทและระดับของความโหดร้ายของการต่อสู้ทางการเมืองด้วยอาวุธ เพราะเคยได้เล่าเรียนมา ผมจึงด้านหน้าเขียนไปเตือนคนสำคัญที่รับผิดชอบสามจังหวัดภาคใต้ ให้เตรียมทำบัญชีไว้ล่วงหน้า เกี่ยวกับพื้นที่และอาณาเขตอันอาจจะเกิดเหตุร้ายหนึ่ง และเกี่ยวกับวันเวลา(สำคัญ)ที่เหตุการณ์ร้ายมักจะเกิดอีกหนึ่ง ผมไม่อาจหาญถึงกับจะทำนายล่วงหน้าว่า ผู้พิพากษาจะถูกยิงเวลารถติดไฟแดง หรือจะเกิดเหตุการณ์ร้ายครบรอบปีที่ 50 ที่มัสยิดกรือเซะ แต่เหตุการณ์ทั้งสองนี้เราสามารถคาดการณ์และหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้าได้เนิ่นๆ

เมื่อรัฐบาลนี้เข้ารับตำแหน่ง ผมพอจะหยั่งความคิดและความเคยชินของคณะผู้นำได้ ผมได้เขียนบทความแสดงความเป็นห่วงไว้เป็นระยะๆ ได้ทราบว่าผมถูกตีโต้ถึงขนาดด่าทอกลับจากเสียงของผู้ที่ภักดีต่อรัฐบาล ทำอย่างไรหนอ คนไทยจึงจะเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นและท้วงติงนั้น เกิดจากความเป็นห่วงและหวังดี มิได้มุ่งโค่นล้างหรือฝักใฝ่ฝ่ายใด พูดก็พูด ผมรักประชาธิปัตย์หลายคน แต่ในชีวิตผมไม่เคยลงคะแนนให้พรรคนี้แม้แต่ครั้งเดียว

ผมเริ่มเขียน อย่าให้ใต้ร่มเย็นลุกเป็นไฟ ในผู้จัดการ เมื่อ 17 ก.ค. 45 ตามด้วย อย่าให้ชีวิตชาวใต้ต่ำเหมือนราคายาง! 24 ก.ค. 45 การเมืองทรามที่ปักษ์ใต้ ? 31 ก.ค. 45 การปกครองเสมือนกึ่งเมืองขึ้นแบบคอนโดมิเนียม7 ส.ค. 45 หลังจากนั้นผมเขียนบทวิเคราะห์ที่มิได้ตีพิมพ์ มอบให้บุคคลสำคัญและผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับ เป็น 21ข้อคิดเกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ และการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยหลักอโหสิกรรมและกฎ(หมาย)ธรรมชาติ ผมส่งให้”เซี่ยวเส้าหลง”ทั้ง 2 ฉบับ รองนายกฯหรือนายกฯก็น่าจะได้รับ

ผมเห็นด้วยกับอดีตนายกฯอานันท์ว่า ” ความเชื่อ” ของประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ความจริงจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฟังสองนายกฯพูดกันไปมาจบแล้ว

ผมไม่เชื่อว่า ทั้งสองฝ่ายมีความคิดตรงกัน แต่ตกลงกันได้อย่าง”ชาวตะวันตก”(ทีเดียว)ว่าจะปฏิบัติการคู่ขนานโดยเอาแนวสมานฉันท์เป็นหลัก อันใดที่แตกต่างก็จะบอกกล่าวกันโดยไม่แปลกแยกเพราะต่างก็ยึดถือสันติสุขของประเทศชาติเป็นเป้าหมายร่วมกัน แค่นี้ ผมว่า ไม่เพียงพอ ผมเกรงว่าเรื่องนี้ก็จะเหมือนกับนโยบายและปฏิบัติการคู่ dual tract อื่นๆของรัฐบาล มีเสียงบ่นว่าแทนที่จะเป็นมาตรการคู่ก็ กลับกลายเป็น 2 มาตรฐานไปเสียฉิบ

ผมขอคัด “อย่าให้ใต้ร่มเย็นลุกเป็นไฟ” บางตอนมาให้ท่านผู้อ่านตัดสินเอาเองว่า

จนกระทั่งพูดกันในทีวีจบลงคืนพฤหัสบดีที่ 28 กรกฏาคม 2548 สิ่งที่ผมพูดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2545 ยังเป็นความจริงอยู่หรือไม่

“ การเข้าใจปัญหาทุกอย่างอย่างถี่ถ้วนร่วมกัน แนวทางเดียวกัน และดำเนินการให้องค์ประกอบและกลไกในการปฏิบัติการทั้งในระดับอำนาจรัฐ ท้องถิ่น ชุมชน สถาบันสังคมต่างๆ ตลอดจนประชาชน ให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องแนบเนียน จะทำให้แก้ปัญหาสำเร็จ มิใช่เป็นตาบอดคลำช้าง ต่างคนต่างพาย อย่างทุกวันนี้

แนวทาง 4 อย่างของนายกฯ ก็ดี หรือมาตรการเชิงรุก ทั้ง 6 ของร.ต.อ.ปุระชัย ก็ดี หากเป็นจริงดังนั้น จะเป็นการราดน้ำมันเข้ากองเพลิง แทนที่ใต้จะร่มเย็น กลับจะลุกเป็นไฟ

ฟังจากสื่อ 4 แนวทาง ก็คือ 1. การเน้นความสำคัญของการข่าว 2. การดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ แต่ต้องใช้วิธีการกดดัน ทั้งทางตรงทางอ้อม ให้ครบวงจร คือ กดดัน-ติดตาม-กวาดล้าง-ทำลาย ให้สิ้นซาก 3. วิเคราะห์ปัญหาของกลุ่มโจรแต่ละกลุ่มให้แตก และ 4. ปลุก-ให้ความรู้และฟื้นจิตใจประชาชน

มาตรการเชิงรุกทั้ง 6 โดยย่อ คือ 1. การป้องกันโดยใช้ตำรวจเป็นหลัก 2. การปราบปรามโดยการให้สินบน ตั้งค่าหัวและตามล่า ใช้หลักตาต่อตา ฟันต่อฟัน 3. การให้บริการ พัฒนา เข้าถึงประชาชน กระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก 4. การข่าว ตำรวจเป็นหลัก 5. การประชาสัมพันธ์โดยการช่วยเหลือประสานกันและออกข่าวเป็นแนวเดียวทุกระดับ 6. การประเมินและกำหนดตัวชี้วัด

นอกจากข้อ 6 ซึ่งเป็นวิชาการซีอีโอ ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาตามแบบตำรวจ จึงเน้นการใช้กำลังเป็นหลักกับทั้งยังมองปัญหาแคบเกินไป ไม่เชื่อมโยง”

ผมเห็นด้วยกับการวินิจฉัยของอดีตนายกฯอานันท์ รวมทั้งสไตล์ของการวางยารักษา คือ ความจริงใจ โปร่งใส ไม่ล่วงละเมิด แต่คุณอานันท์ไม่ได้บอกว่า ตัวยาที่จะใช้ตัดโรคนั้นคืออะไร แต่ก็ยังดีกว่านายกฯทักษิณที่แก้เกี้ยวและประกันว่า “อย่างนั้นอย่างนี้ ที่ว่าไม่ดีหรือเป็นการใช้อำนาจที่ผิดรับรองว่าจะไม่เกิด เพราะมีขั้นตอนกลั่นกรองป้องกันแน่นหนา” ผมฟังแล้วไม่เชื่อ ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อนายกฯ แต่ผมไม่เชื่อระบบ ครับ ระบบที่คุณอานันท์บอกนี่แหละว่าตั้งแต่เกิดเหตุอยู่ดีๆคนหายไปแล้วนับร้อย จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีคำตอบ อย่างนี้ใครที่ไหนเขาจะเชื่อ

ผมเห็นด้วยกับคุณอานันท์อีกว่า ไม่ต้องกลัวการแยกออกเป็นรัฐอิสระ เพราะใครที่ไหนเขาจะรับรอง แม้แต่สหประชาชาติก็ตาม แต่ผมใคร่จะติงว่า การที่ประชาชนจะขอให้สหประชาชาติสนับสนุนสิทธิที่จะตัดสินชะตากรรมของตนเองนั้น (The Right to Self-Determination) ย่อมจะกระทำได้ เราไม่ควรประมาทเพราะเราเคยพลาดมาแล้วในเรื่องเขาพระวิหาร หรือแม้แต่เรื่องหมู่บ้านร่มเกล้า ถ้าเราขืนดันทุรังต่อไป ก็จะต้องหงายหลังกลับมา

ผมจะพูดเรื่องนี้ต่อในฉบับหน้า รวมทั้งข้อเสนอของผมว่าเราจะแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยหลักอโหสิกรรมและกฎหมายธรรมชาติอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น