xs
xsm
sm
md
lg

ค้นหาผ้ายุคก่อนประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


นักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา และนักโบราณคดี พบหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์รู้จักใช้ธนูเป็นอาวุธในการล่าสัตว์เป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ 20,000 ปีก่อนนี้ และรู้จักวาดภาพเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 35,000 ปีมาแล้ว ดังจะเห็นได้จากภาพวาดที่ปรากฏบนผนังถ้ำ Chauvet ในฝรั่งเศส และรู้อีกว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ได้เริ่มละทิ้งสภาพชีวิตที่เร่ร่อนที่กระจัดกระจายต่างคนต่างอยู่ มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านที่ Tell Abu Hureya ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศซีเรีย เมื่อ 11,000 ปีก่อน เป็นต้น

แต่ถ้าใครถามว่า มนุษย์เริ่มรู้จักทอผ้าเป็นครั้งแรกเมื่อไร

คำถามนี้ตอบยาก เพราะใยผ้าเปื่อยสลายง่าย ดังนั้น เวลาผ้าตกอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง โอกาสที่มันจะคงสภาพมีน้อยเต็มที

ในปี พ.ศ. 2531 ทีมนักโบราณคดีภายใต้การนำของ R. Braidwood แห่งมหาวิทยาลัย Chicago และ H. Cambel แห่งมหาวิทยาลัย Istanbul ในตุรกีได้ขุดพบวัสดุชิ้นหนึ่งซึ่งทำจากเขากวางและมีด้ามถือ ซึ่งด้ามถูกเคลือบด้วยแคลเซียม วัสดุนี้อยู่ในโบราณสถานที่หมู่บ้าน Cayonu ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี โดยหมู่บ้านนี้อยู่ใกล้แม่น้ำ Tigris และมีประชากร 500 คน

การวิเคราะห์ชิ้นส่วนที่หุ้มวัสดุด้วยกล้องจุลทรรศน์ แสดงให้เห็นว่า มันมีขนาด 4 เซนติเมตรx8 เซนติเมตร และเป็นเส้นด้ายที่ทำจากใยไม้ โดยด้ายมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 มิลลิเมตร ด้ายที่ถูกทอในแนวดิ่งมี 28 เส้น และแนวนอนมี 40 เส้น ดังนั้น ผ้าจึงมีรูปแบบการทอเหมือนการสานตะกร้าในปัจจุบัน

การวัดอายุของผ้าด้วยวิธีกัมมันตรังสี ทำให้นักโบราณคดีทั้งสองรู้ว่า เศษผ้ามีอายุ 9,000 ปี

ข้อมูลนี้ชี้นำให้ G. Vogelsang-Eastwood แห่งมหาวิทยาลัย Leiden ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เศษผ้าดังกล่าวคงเคยเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องนุ่งห่ม แล้วถูกนำไปใช้เป็นผ้าพันด้ามของเครื่องใช้ในบ้าน การซึมซับแคลเซียมบนด้ามที่ทำด้วยเขากวาง ทำให้ใยผ้าไม่ถูกแมลงเจาะไช ตลอดเวลานานร่วม 9,000 ปี และนั่นก็แสดงว่า ชาวบ้านในสมัยนั้น รู้จักทอผ้าโดยการนำพืชไปแช่ในน้ำให้เปื่อย แล้วนำมาตีจนใยพืชแตกแยกเป็นเส้น จากนั้นก็นำเส้นใยมาทอเป็นผ้า

เพราะเครื่องนุ่งห่มเป็นปัจจัยหนึ่งในสี่ที่จำเป็นสำหรับชีวิต ดังนั้น การค้นหาประวัติของการทอผ้าจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในการบอกจุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์ เช่น ในปี พ.ศ. 2533 Jon Godal แห่ง Norwegian Craftmens Registry และ Eric, Anderson แห่ง Viking Ship Museum ที่ Roskilde ในเดนมาร์ก ได้พบเศษผ้าอายุ 650 ปี ที่ทำด้วยขนแกะและซุกอยู่ในโบสถ์แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์

การวิเคราะห์เศษผ้าชิ้นนั้น ทำให้นักโบราณคดีรู้ว่า มันเป็นเศษผ้าของใบเรือไวกิ้ง (Viking) การศึกษาลักษณะการทอทำให้รู้ว่าการที่เรือไวกิ้งสามารถเดินทางได้ไกล เพราะสตรีไวกิ้งมีเทคนิคการทอใบเรือที่ทำให้มันแข็งแรง และทนทาน

อันที่จริงในช่วงเวลา 150 ปีที่ผ่านมานี้ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้ขุดพบเรือไวกิ้งหลายลำในท้องน้ำของ fjord (ฟยอร์ด) และเรือไม้เหล่านั้นล้วนอยู่ในสภาพดี แต่สิ่งที่ไม่เคยพบคือใบเรือ เพราะผ้าที่ใช้ทอทำใบเรือได้เปื่อยสลายไปหมดสิ้น

แต่ก็นับเป็นโชคดีที่ในประเทศนอร์เวย์ เมื่อ 1,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคที่ไวกิ้งเรืองอำนาจได้มีกฎหมายชื่อ Gulatingslovi ซึ่งกำหนดว่า ผู้ชายทุกคนที่อาศัยอยู่ใกล้ทะเล มีหน้าที่เก็บพิทักษ์ใบเรือในโบสถ์ เพราะใบเรือเป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่ไวกิ้งต้องนำไปใช้กับเรือ เพื่อปกป้องเอกราชของชาติตน

ส่วน Any Lightfoot แห่ง Tommervik Textile Trust ที่เมือง Hitra ในนอร์เวย์ก็ได้ศึกษาลวดลายบนผ้าทอโบราณที่พบในโบสถ์บนเกาะ Shetland และ Faroe เธอก็ได้พบว่า ผ้าผืนนั้นทอด้วยขนแกะที่คงทน และไม่ขาดง่าย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ใบเรือแข็งแรงจนสามารถทนกระแสลมแรงได้ และก็ไม่หนักจนทำให้เรืออุ้ยอ้าย หรือหนักจนกะลาสีเรือยกใบขึ้นยาก พูดง่ายๆ คือใบเรือไวกิ้งที่ดีจะต้องยืดหยุ่น พอดีๆ คือไม่มากไปจนใบเรือหย่อนยาน ทำให้แล่นเรือไม่ได้ หรือตึงมากจนกัปตันเรือบังคับทิศทางเรือได้ยาก ดังนั้น เทคนิคการทอใบเรือที่ดี จึงขึ้นกับลักษณะการทอและคุณภาพของใยมาก

เมื่อเร็วๆ นี้ การวิเคราะห์รายละเอียดของใบเรือด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทำให้ Lightfoot พบว่า ขนแกะที่ใช้ในการทอเป็นแกะหางสั้นพันธุ์ villsau (Ovis brachyura) ที่เลี้ยงกันมากในยุโรปตอนเหนือ และ ณ วันนี้แกะพันธุ์นี้มีเลี้ยงในฟินแลนด์ตะวันตก ส่วนชาวนอร์เวย์เองก็ชอบเลี้ยงแกะพันธุ์นี้เช่นกัน เพราะมันชอบกินหญ้าที่ขึ้นตามชายฝั่งของนอร์เวย์ และมีวิถีชีวิตที่ง่ายๆ คือมันไม่ต้องการที่พักในหน้าหนาว และไม่ต้องการอาหารปริมาณมากในการดำรงชีวิต ดังนั้น คนเลี้ยงจึงไม่ต้องทำงานหนักในการหาอาหารมาเลี้ยงมัน และการใช้ชีวิตนอกคอกตลอดเวลาทำให้ขนมันไม่ซึมซับน้ำง่ายด้วย ดังนั้น ใบเรือที่ทอด้วยขนแกะชนิดนี้ จึงยังคงทำงานได้ดีขณะเรือเผชิญพายุฝน

นอกจากนั้น Lightfoot ก็ยังพบอีกว่า ในการทำใบเรือสำหรับเรือไวกิ้งชื่อ Sara Kjerstine แกะพันธุ์ villsau 25 ตัว จะให้ขนไม่เพียงพอสำหรับการทอ ดังนั้น เธอจึงต้องการขนของแกะพันธุ์อื่น ซึ่งได้แก่ พันธุ์ spelsau มาเพิ่มเติม

สำหรับการทอใบเรือที่มีพื้นที่ 85 ตารางเมตร ที่ต้องใช้ขนแกะ 2,000 กิโลกรัมจากแกะ 2,000 ตัว ในเวลา 1 ปี และ Lightfoot ก็ได้พบว่า งานทอขนแกะเป็นใบเรือนี้เป็นงานใหญ่มาก เพราะเธอกับเพื่อนต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน ในการเตรียมใยที่ยาวทั้งสิ้น 165,000 เมตร และใช้เวลาอีกนาน 2.5 ปี ในการทอใบเรือ 1 ใบ

แต่ก่อนแต่ไร นักประวัติศาสตร์เคยสนใจแต่โบราณวัตถุ และไม่สนใจโบราณาภรณ์ แต่เมื่อถึงวันนี้ ผ้าโบราณกำลังทำให้เกิดวิทยาการใหม่ที่นักมานุษยวิทยากำลังให้ความสนใจ เพราะการศึกษาคุณลักษณะของเส้นใยที่ใช้ในการทำใบเรือไวกิ้ง ทำให้เรารู้ว่ากษัตริย์ Knut ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงใช้เรือใบ 1,700 ลำ ทำสงครามชนะพระเจ้า William ที่ 1 แห่งอังกฤษอย่างไร และขนแกะมีบทบาทเพียงไรในการขยายอำนาจของไวกิ้ง และเมื่อใบเรือแต่ละใบต้องการขนแกะปริมาณมาก ดังนั้น ชาวไวกิ้งจะต้องมีวิธีเลี้ยงแกะที่ดี และแกะ villsau ในอดีตเมื่อ 3,400 ปีก่อนนี้ คงได้กินหญ้าที่มีขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ในฤดูร้อน จนทำให้มันมีขนดกเพียงพอให้ไวกิ้งตัดขนไปทำใบเรือนับพันใบได้

อนึ่ง Lightfoot ยังได้พบอีกว่า ใบเรือที่ทอด้วยขนแกะนี้ ดีกว่าใบเรือปัจจุบัน เพราะมันทำให้เรือเดินได้เร็วขึ้น 10% และเมื่อเดือนกันยายนปีกลายนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ Roskilde ได้ใช้เรือไวกิ้งชื่อ Skuldelev 2 แล่นใบไปไอร์แลนด์

แต่ใบของเรือลำนี้ มิได้ทอด้วยขนแกะ เพราะทางพิพิธภัณฑ์ไม่มีแกะให้ตัดขน และไม่มีใครช่วยทอใบเรือหรือพูดง่ายๆ คือไม่มีเงินจะจัดหาใบเรือที่ทอด้วยขนแกะครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน
กำลังโหลดความคิดเห็น