xs
xsm
sm
md
lg

สับสน วุ่นวาย และไร้ทิศทาง : พฤติกรรมสังคมวันนี้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เสียงสะท้อนประการหนึ่งจากผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมรับรู้ได้ในเกือบทุกสถานที่ แม้กระทั่งในสถานการณ์ก็คือ มีแต่ความสับสนวุ่นวาย และไร้ทิศทางยิ่งขึ้นทุกวัน และที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะว่า ผู้คนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีความพร้อมรองรับ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

1. ด้านทางสังคม

ถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้สนใจในด้านนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็จะพบว่าผู้คนในสังคมไทยวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงจากอดีตเป็นอย่างมาก

เมื่อพูดถึงคนไทยในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท สิ่งแรกที่คนไทยหรือแม้กระทั่งต่างชาติที่มีความคุ้นเคยกับคนไทยเป็นอย่างดี จะพูดถึงความภาคภูมิใจในฐานะเป็นคนไทยก็คือ เป็นคนรักความสงบ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ผูกไมตรีกับคนแปลกหน้าจนได้รับคำยกย่องเป็นดินแดนแห่งเมืองขึ้นในสายตาคนตะวันตก นี่คือพฤติกรรมภายนอกที่ผู้พบเห็นสัมผัสได้ในแง่ของกายภาพ

ส่วนในด้านจิตใจ คนไทยในอดีตยึดมั่นในคำสอน และประเพณีอันดีงามของชาติอย่างแน่นแฟ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยอยู่กันอย่างสงบ และมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย

แต่คนไทยวันนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปจากที่เคยอยู่อย่างสงบ กินแต่พอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย ยึดในวิถีทางแห่งความเป็นผู้สันโดษ โดยการพอใจในสิ่งที่ตนเองมี และได้มาโดยชอบธรรม มาเป็นการวิ่งไล่ล่าหาสิ่งที่ตนต้องการให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ภายใต้ปัจจัยหลัก 2 ประการคือ ศักยภาพในการแสวงหา และโอกาสในการได้มาจากการแสวงหานั้น จึงทำให้ผู้คนในสังคมเกิดการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และนี่เองคือจุดเปลี่ยนจากคนที่เคยถือสันโดษมาเป็นคนที่ต้องวิ่งไล่ความอยากดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย นับตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อยไปจนการปล้นจี้ และคดโกงในระดับชาติเกิดขึ้น

2. ในด้านเศรษฐกิจ

สังคมไทยในอดีตดำเนินไปภายใต้ครรลองแห่งพุทธปรัชญาที่ว่าด้วยการครองเรือน เป็นต้นว่า ผู้ที่ครองเรือนควรเห็นการสิ้นไปของยาหยอดตาที่หมดไปทีละหยด ในที่สุดก็หมดได้ นั่นหมายถึงว่า อย่าประมาทในความสูญเสียทรัพย์สินเงินทองแม้ทีละน้อย แต่เมื่อหลายๆ ครั้ง และมีความถี่ในการสูญเสียก็ทำให้ทรัพย์สินก้อนโตหมดไปได้ ในทางกลับกัน ผู้ครองเรือนควรเห็นการประมวลมาซึ่งน้ำผึ้งจากเกสรดอกไม้ของตัวผึ้งแม้เพียงครั้งละน้อย แต่นานเข้าก็กลายเป็นน้ำผึ้งในรังปริมาณมากได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าคนมีความพยายามหาทรัพย์แม้ทีละน้อยๆ ถ้าบ่อยเข้าก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้

โดยนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนา ในทำนองนี้เองจึงกลายเป็นที่มาของคำสอนผู้คนที่จะดำรงชีวิตให้เป็นสุขในส่วนที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ โดยให้ยึดหลักแห่งการประหยัด อย่างเช่น สุนทรภู่ที่ปรากฏอยู่ในสุภาษิตบทหนึ่งที่ว่า

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน

จากหลักการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมไทยในทำนองนี้เองที่ทำให้สังคมไทยในยุคโบราณจึงไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย เพราะต้องแบกรับภาระหนี้สินดังทุกวันนี้ที่กล่าวกันว่า ทุกวันนี้หนี้ครัวเรือนได้พุ่งขึ้นถึงหนึ่งแสนบาทต่อหนึ่งครัวเรือนแล้ว และที่เป็นเช่นนี้ แน่นอนส่วนหนึ่งมาจากความฟุ่มเฟือยของผู้คนในสังคมที่ถูกลัทธิบริโภคนิยมครอบงำเอง แต่ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ได้เกิดจากนโยบายเร่งให้เศรษฐกิจโต โดยการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ครัวเรือนด้วยการหาแหล่งก่อหนี้มาให้เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายใต้นโยบายประชานิยม โดยการจัดให้มีโครงการในรูปแบบต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน และล่าสุดคือเอสเอ็มแอล เป็นต้น

3. ในด้านการเมือง

ปัจจัยทางการเมืองดูจะเป็นเรื่องใหม่ที่ก่อให้เกิดความสับสนขึ้นในหมู่ผู้คนในสังคม แต่เดิมถึงแม้ในสายตาต่างชาติจะมองว่าประเทศไทยล้าหลังในแง่ของการปกครอง โดยดูเพียงว่าประเทศไทยปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีรัฐธรรมนูญการปกครองที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ปวงชนเยี่ยงประเทศที่เรียกตัวเองว่า อารยะทั้งหลาย

แต่ภายใต้การปกครองเช่นที่ว่านี้ ถ้านำมาเปรียบกับการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย ในขณะที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งพรรคเดียว และมีเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นแล้ว ก็จะพบว่าสิ่งที่ประชาชนได้รับจากการปกครองทั้งในสองรูปแบบนี้ไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องกินดีอยู่ดี และมีความสุข ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน

จะแตกต่างกันบ้างก็เพียงในเรื่องของรูปแบบทางการเมือง ที่ในอดีตไม่มีสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นผู้แทนปวงชน แต่ในปัจจุบันมีอยู่

แต่ถ้าดูในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนได้ ก็ไม่มีอะไรบอกได้อย่างชัดเจนว่าดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลชุดนี้ เพราะถึงแม้คณะรัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งโดยนิตินัยแล้ว แต่ในทางพฤตินัยดูเหมือนว่าการตัดสินใจใดๆ จะมาจากผู้นำรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วไม่แตกต่างไปจากเผด็จการนัก จะเห็นได้จากการเกิดความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่สุดท้ายแล้วผู้นำประเทศได้ออก พ.ร.ก.เพื่อให้อำนาจแก่ตนเองให้เป็นศูนย์กลางอำนาจในการสั่งการ ซึ่งก็คือเผด็จการในยุคของการมีรัฐธรรมนูญปกครองนั่นเอง

ด้วยเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้เอง จึงกล่าวได้ว่า ในขณะนี้สังคมไทยกำลังสับสนวุ่นวาย และไร้ทิศทางไปเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

อะไรที่ทำให้น่าเชื่อได้ว่าสังคมสับสน วุ่นวาย และไร้ทิศทาง และจะมีวิธีแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?

ก่อนอื่นขอเริ่มด้วยการทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านในคำ 3 คำที่ยกมาเป็นหัวเรื่องของบทความนี้ก่อน

เริ่มด้วยคำสับสนหมายถึงว่า ฟังแล้วไม่เข้าใจ หรือมีผู้เข้าใจแต่สิ่งที่เข้าใจนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อันเป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเพื่อประโยชน์ของผู้คนส่วนใหญ่โดยรวม

ยกตัวอย่างที่เพิ่งจะเกิดขึ้น และก่อให้เกิดความสับสนเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่าจะยังสับสนต่อไปจนกว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะออกมาพูดความจริงให้เป็นรูปธรรมในทุกประเด็น

เรื่องที่ว่านี้ก็คือ เรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบอาวุธซีทีเอ็กซ์ 9000 เพื่อมาติดตั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ติดต่อกันมานานหลายเดือน และประเด็นที่ทำให้สับสนก็คือ การสั่งซื้อผ่านคนกลางหรือนายหน้าแทนที่จะซื้อตรง และประเด็นต่อมาก็คือ การสั่งซื้อผ่านนายหน้านี้เองน่าจะเป็นสาเหตุให้ราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น ตามที่ฝ่ายค้านได้นำเรื่องนี้มาเปิดประเด็นอภิปรายฯ รัฐบาล และได้รับคำตอบจากฝ่ายรัฐบาลว่า ไม่แพง ทั้งยืนยันว่าไม่มีการรั่วไหลใดๆ แต่เมื่อได้ชี้แจงไปแล้วเรื่องนี้ยังเป็นข้อกังขา ทางรัฐบาลออกมาแก้เกมโดยการบอกเลิกสัญญาและซื้อตรง แต่กลับก่อให้เกิดความสับสนเพิ่มขึ้นเมื่อราคายังคงแพง นี่เพียงตัวอย่างหนึ่งแห่งความสับสน

คำที่สองคือ วุ่นวาย โดยนัยแห่งคำนี้ก็คือไม่สงบสุข ผู้คนอยู่ด้วยความกังวล และหวาดระแวง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ปัญหาการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งจะวุ่นวายและก่อความเดือดร้อนให้ผู้คนยิ่งขึ้นก็เพิ่งจะปีกว่าๆ มานี้เอง และจากวันนั้นถึงวันนี้ดูเหมือนว่า ความวุ่นวายจะมิได้ลดลง ถึงแม้ทางภาครัฐจะได้ทุ่มเทงบประมาณ กำลังคนลงไปในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความวุ่นวายที่ว่านี้ ก็ยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดทางรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.เพื่อหวังให้ปัญหานี้ยุติลงโดยเร็ว แต่เมื่อดูจากเนื้อหาของ พ.ร.ก.และจากการได้รับฟังหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงวิธีการใช้ พ.ร.ก.แล้ว น่าเชื่อได้ว่าความวุ่นวายคงจะไม่ลดลง ตรงกันข้ามจะเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ใช้ พ.ร.ก.เองด้วย เพราะเพียงเริ่มต้นก็ส่อเค้าแห่งความวุ่นวายระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายกับกระบวนการตุลาการแล้วว่าเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกัน และนี่เองที่น่าจะบอกล่วงหน้าได้ว่าคงจะวุ่นวายเพิ่ม

คำที่สามไร้ทิศทาง โดยนัยแห่งคำนี้มีความหมายตามตัวอักษรคือ ไม่มีทางไปที่แน่นอนว่าจะจบลงที่ใด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ก็คือ การปฏิรูประบบราชการที่ทำมาแล้วตลอดเวลาเกือบ 5 ปี แต่จนถึงวันนี้ถ้าไปถามข้าราชการเกือบจะทุกคนไม่เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และจะจบลงอย่างไร เมื่อใด จบลงแล้วจะมีผลดีกว่าเดิมประการใด เพราะเท่าที่ผ่านมาก็มีเพียงยุบและเบื่อหน่ายงาน มิได้มีการปฏิรูปพฤติกรรมองค์กร และพฤติกรรมบุคคลให้องค์กรดีขึ้นกว่าเดิม เช่น เคยมีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ก็ยังคงมีอยู่ไม่น้อยกว่าเดิม หรือบางทีมากขึ้นด้วยซ้ำถ้าดูจากปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในขณะนี้

โดยสรุปจึงพูดได้ว่า สังคมไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะสับสน วุ่นวาย และไร้ทิศทาง ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลที่ประชาชนให้ความไว้วางใจมากที่สุด แต่ในขณะนี้กำลังเกิดข้อกังขาจากพฤติกรรมของนักการเมืองมากที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นความไม่โปร่งใส
กำลังโหลดความคิดเห็น