ศูนย์ข่าวภูเก็ต -ผู้ประกอบการรถลิมูซีนสนามบินภูเก็ต ร่วมกับกลุ่มรถแท็กซี่ตามหาดต่างๆทั่วเกาะภูเก็ตกว่า 200 คน บุกศาลากลาง ร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าฯ เลิกบริการรถแท็กซี่มิเตอร์และเคาน์เตอร์ที่สนามบินภูเก็ต และชายหาด แต่ผู้ว่าฯยืนยันตามเดิม คือ ให้แท็กซี่มิเตอร์วิ่งบริการเพิ่มทางเลือกนักท่องเที่ยว สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชุมนุมถึงขั้นปิดล้อมรถผู้ว่าฯนานครึ่งชั่วโมง สุดท้ายต้องนัดเจรจากันใหม่ 5 สิงหาฯ
วานนี้(29 ก.ค.) กลุ่มผู้ประกอบการรถลีมูซีน จากสหกรณ์บริการรถยนต์บริการภูเก็ต (รถลีมูซีน ที่สนามบินภูเก็ต) พร้อมด้วยผู้ประกอบการรถแท็กซี่ บริการรับจ้างจากสหกรณ์ต่างๆในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต นำรถรับจ้างกว่า 100 คัน และผู้ประกอบการอีกประมาณ 200 คน พร้อมป้ายผ้าประท้วงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้มาชุมนุมที่ บริเวณสนามไชย ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อนายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กรณีที่จังหวัดและท่าอากาศยานภูเก็ต ให้รถแท็กซี่มิเตอร์วิ่งรับผู้โดยสารที่สนามบินภูเก็ต โดยการตั้งเคาน์เตอร์ภายในตัวอาคารผู้โดยสาร ทำให้รถลิมูซีนได้รับความเดือดร้อน เพราะนักท่องเที่ยว เลือกใช้แท็กซี่มิเตอรเนื่องจากเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ขณะที่ลิมูซีนรู้จักเฉพาะที่สนามบินภูเก็ตเท่านั้น
จากนั้น นายอุดมศักดิ์ ผู้ว่าฯภูเก็ต ได้เชิญตัวแทนผู้ชุมนุม10 คน พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ผู้บังคับการตำรวจภูธร พล.ต.ต.สุวิทย์ โอทอง พ.ต.อ.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ รองผู้บังคับการตำรวจภูธร นายอำเภอถลาง หารือปัญหาที่เกิดขึ้น โดยใช้เวลาคุยกันประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ก็หาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายผู้ชุมนุมยืนกรานที่จะไม่ให้มีรถแท็กซี่มิเตอร์ วิ่งบริการทั้งที่สนามบินภูเก็ตและในเขตพื้นที่ต่างๆของภูเก็ต โดยเฉพาะจุดที่มีรถแท็กซี่ป้ายเขียวให้บริการอยู่แล้ว เช่น หน้าโรงแรม และชายหาด เพราะมีรถแท็กซี่ป้ายเขียวให้บริการเต็มหมดแล้ว
นอกจากนี้ เห็นว่า ขณะนี้ในภูเก็ตมีรถลีมูซีนและรถแท็กซี่ ให้บริการอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวก็มีน้อย อยู่ในภาวะที่ลำบาก หากเพิ่มรถแท็กซี่มิเตอร์เข้ามาอีก จะทำให้ทั้งลีมูซีนและแท็กซี่มิเตอร์กอดคอกันตาย โดยระบุว่า ผู้ว่าฯ น่าที่จะจัดการแก้ปัญหารถรับจ้างที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่เพิ่มปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการ
ขณะที่นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีนโยบายชัดเจน ในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในการสร้างทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งคนไทยและต่างชาติใช้บริการรถที่สนามบินภูเก็ต โดยการนำรถป้ายดำที่ผิดกฎหมายมาทำให้ถูกต้องด้วยการจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่มิเตอร์ และเปิดโอกาสให้ทั้งรถแท็กซี่มิเตอร์และรถแท็กซี่อื่นๆได้ทำมาหากินร่วมกัน แทนที่จะทำตัวเป็นเจ้าถิ่นเหมือนในปัจจุบันนี้ โดยที่สนามบินจะให้รถแท็กซี่มิเตอร์ ตั้งเคาน์เตอร์ได้ที่บริเวณใต้สะพานลอย และนำรถมารับผู้โดยสารได้ครั้งละ 3 คัน ที่หน้าจุดรับรองพิเศษ
นอกจากนี้ ในวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคมจังหวัดจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น จากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งโรงแรม ผู้ประกอบการรถแท็กซี่มิเตอร์ รถลิมูซีน รถแท็กซี่รับจ้างทั่วไป รวมทั้งประชาชนในภูเก็ตและนักท่องเที่ยว ว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายของจังหวัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังผู้ว่าฯชี้แจงนโยบายให้ตัวแทนผู้ชุมนุมรับทราบ ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ พร้อมยังยืนยันที่จะให้จังหวัดภูเก็ต ยกเลิกการมีรถแท็กซี่มิเตอร์ และจะไม่ยอมให้จังหวัดตั้งเคาน์เตอร์แท็กซี่มิเตอร์ โดยหากจะมีเคาน์เตอร์ก็ให้ตั้งข้างนอก ห่างจากตัวอาคารผู้โดยสารประมาณ 50 เมตร และให้มีแค่ 41 คันเท่านั้น แต่ผู้ว่าฯก็ยังยืนกรานที่จะให้มีแท็กซี่มิเตอร์บริการที่สนามบิน หลังจากนั้นผู้ว่าฯได้สั่งปิดการเจรจาทันที เนื่องจากไม่สามารถที่จะตกลงกันได้
ทั้งนี้ เมื่อผู้ว่าฯภูเก็ต ลงมาจากศาลากลางเพื่อขึ้นรถยนต์ประจำตำแหน่งออกไปข้างนอก กลุ่มผู้ชุมนุมที่รออยู่ข้างล่างได้ส่งเสียงโห่ร้องและล้อมรถของผู้ว่าฯ โดยต้องการให้ผู้ว่าฯชี้แจงให้ชัดเจน จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าดูแลความสงบและความปลอดภัย ซึ่งทางผู้ว่าฯได้ชี้แจงเหมือนกับที่แจ้งกับตัวแทนที่ไปเจรจาด้วย กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้โห่ร้องและตะโกนเสียงดังตลอดเวลาที่ผู้ว่าฯทำการชี้แจง โดยอ้างว่าแท็กซี่มิเตอร์ที่ให้บริการไม่ได้เป็นของชาวบ้านแต่เป็นของนายทุนทั้งสิ้น
กลุ่มผู้ชุมนุมได้ล้อมผู้ว่าฯไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง สุดท้ายผู้ว่าฯตกลงให้นำข้อเรียกร้อง ซึ่งมี 2 ข้อ คือ 1. ไม่ต้องการให้เพิ่มรถแท็กซี่มิเตอร์ โดยให้คงไว้ที่ 41 คัน และ 2 .ไม่ให้มีการตั้งเคาน์เตอร์แท็กซี่ตามชายหาดต่างๆ เข้าประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 5 สิหาคมนี้ จึงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมยอมสลายการชุมนุม