xs
xsm
sm
md
lg

สำนึกสร้างชาติ ต้องนำหน้าสำนึกสร้างพรรค

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

คงจะไม่ถึงกับสวนบรรยากาศ หากผู้เขียนจะยกเอาเรื่องการสร้างพรรคไทยรักไทยให้เป็นสถาบันมาพูดในตอนนี้

ดูบรรยากาศ คล้ายๆ กับว่า พรรคไทยรักไทยที่มี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้นำ กำลังโงนเงนสั่นไหวไปกับความไม่แน่นอนของอนาคตของตนเอง เนื่องเพราะกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติรุมเร้าจากด้านต่างๆ อย่างมากมาย และแทบจะมองไม่เห็นวี่แววว่าจะแก้ไขได้อย่างแท้จริง

แม้จะมีการเปิดอาคารที่ทำการพรรคใหม่ไปแล้ว แต่หากตัวผู้นำคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีเหตุต้อง "ล้างมือ" พรรคไทยรักไทยก็ต้องประสบปัญหา "แพแตก" แน่ๆ เฉกเช่นพรรคการเมือง "เฉพาะกิจ" จำนวนมาก ที่ปัจจุบันเหลือแต่ชื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ลักษณะพรรคดั้งเดิม ของพรรคไทยรักไทย

อย่าลืมว่า พรรคไทยรักไทย เกิดขึ้นด้วยการรวมตัวกันของกลุ่มทุน จากการมองเห็นช่องทางและโอกาสการ "ช่วงชิง" อำนาจบริหารประเทศไปจากพรรคการเมืองอาชีพ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนกลุ่มทุนเก่าได้โดยไม่ยาก ภายหลังจากประเทศไทยประสบวิกฤติการเงินอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มทุนเก่า (ทุนธนาคารเป็นหลัก) พากันเจ๊งกันระนาว

มีการใช้แนวคิดการลงทุนและกลยุทธ์การตลาดชี้นำการตั้งพรรคอย่างชัดเจน

นั่นคือ ตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นมา แล้ว "เทกโอเวอร์" พรรคเฉพาะกิจ ผูกขาดการบริหารประเทศ ดำเนินการขยายฐานทุนของกลุ่มทุนใหม่ให้ใหญ่โต และเหนือกว่ากลุ่มทุนเดิมๆ อย่างเด็ดขาดในระยะเวลาอันสั้น

จากนั้นจึงมาพิจารณาว่าจะพัฒนาประเทศไปในทางใด สร้างประเทศชาติให้เจริญไปในทางใด ตามแนวคิดและ "วิสัยทัศน์" ร่วมของกลุ่มทุนใหญ่ผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศแต่เพียงผู้เดียว

จึงไม่แปลกเลย เมื่อแรกพรรคไทยรักไทยเข้าบริหารประเทศ จึงสามารถสร้างภาพของพรรคการเมืองสมัยใหม่ให้แก่สังคมไทยได้ รวมทั้งใช้วิธีการตลาดสร้างฝันให้แก่คนไทยรากหญ้าได้อย่างกว้างขวาง

แต่เนื่องจากปัญหาโดยรวมของสังคมไทยมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะใช้อำนาจบริหารอย่างเดียวมาจัดการ ดังนั้น เพียงแค่สมัยเดียวของการบริหารประเทศ พรรคไทยรักไทยก็ตกเข้าสู่วังวนของวิกฤติรอบตัว

ทั้งนี้เพราะไม่ได้แก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สินและความยากจนของประชาชน เรื่องสามจังหวัดภาคใต้ เรื่องของสำนึก วัฒนธรรม และค่านิยมที่เตลิดเปิดเปิงของวัยรุ่นไทย อันนำไปสู่ความเป็นสังคมอาชญากรรมของประเทศไทยในที่สุด

แนวคิดใช้อำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ (ซีอีโอ) ซึ่งไม่ใช่ภูมิปัญญา เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาซับซ้อน ก็ติดตัน สะท้อนถึงความตีบตันทางปัญญาของผู้นำรัฐบาล ซึ่งก็คือผู้นำพรรคไทยรักไทย

เมื่อแนวคิดติดตัน การบริหารก็ฝืด การใช้อำนาจก็ "สวิง" ไปมาอย่างสะเปะสะปะ จุดอ่อนที่ซ่อนเร้นอยู่ได้เผยตัวออกมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระบบตัดสินใจในพรรคไทยรักไทย ที่ขึ้นต่อตัวบุคคล คือหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว ทำให้การขับเคลื่อนของอำนาจบริหารรวนเรระส่ำ ติดยึกยักและขัดกันเองในเชิงระบบ ยังผลให้ระบบลอจิสติกส์ทางอำนาจตกอยู่สภาวะกึ่งอัมพาต ไม่เกิดประสิทธิภาพ สิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งทาง "ฮาร์ดแวร์" และ "ซอฟต์แวร์" (วัตถุสิ่งของเงินทองกำลังคนและโอกาส) เป็นอย่างมาก

ทำยังไงดี ถึงตอนนี้ ไม่ต้องเดาก็รู้เลยว่า ผู้นำรู้สึกร้อนใจ และใจร้อนที่จะหาทางออกโดยเร็ว

ผลคือ ผู้นำฯ "มึน" พร้อมที่จะรับแนวคิด "ฉาบฉวย" มาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าการระดมปัญญารวมหมู่ภายในพรรคและในสังคมไทย ซึ่งเฉพาะนี้แทบจะทำไม่ได้ เพราะขาดระบบเชื่อมโยงทางปัญญาระหว่างผู้นำกับสมาชิกพรรค และผู้นำกับสังคมไทย

การแก้ปัญหาโดยการ "ปรึกษา" คนใกล้ตัว จึงกลายเป็นวิธีการทำงานหลักของผู้นำฯ เพราะมัน "ง่ายดี"

ผลคือ แผนแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆ ที่ปรากฏออกมา จึงไม่เป็นที่เข้าใจของสังคม และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นตัวปัญหากระตุ้นให้วิกฤติขยายตัวยิ่งขึ้น

ต้นตอของวิกฤติอยู่ที่แนวคิดที่ผิดพลาด

มาถึงจุดนี้ ก็พอจะสรุปได้ว่า ปัญหาที่นำมาสู่วิกฤติ และทำให้วิกฤติขยายตัว ที่สำคัญที่สุดก็คือ แนวคิดการตั้งพรรคไทยรักไทย ที่มุ่งครองอำนาจบริหารเพื่อสร้างฐานอำนาจเบ็ดเสร็จให้แก่กลุ่มทุนใหม่ มุ่งทำประเทศไทยให้เป็น "ทุน" สำหรับขยายอำนาจทุนยุคใหม่

อีกนัยหนึ่ง กลุ่มทุนมาก่อน ตั้งพรรคเพื่อกลุ่มทุน สร้างอาณาจักรกลุ่มทุนซ้อนทับอยู่บนอาณาจักรไทย

ด้วยแนวคิดดังกล่าว นำไปสู่การเกิดขึ้นของระบบบริหารประเทศ ที่เป็นไปเพื่อการรวมศูนย์อำนาจไว้ในมือของกลุ่มทุน ผู้นำประเทศอยู่ในฐานะ ซีอีโอ มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว

การปฏิรูปองค์กรทั้งทางด้านการทหารและพลเรือน ก็เพื่อเป็นเครื่องมือสนองตอบต่อการใช้อำนาจอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

การกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณ ก็มุ่งให้เอื้อต่อการพัฒนาขยายตัวของกลุ่มทุนเป็นหลัก ตามแนวคิดชี้นำเบื้องต้น

ปัญหารูปธรรมที่โผล่ตามมา อาทิ เรื่องการหมกเม็ดในโครงการต่างๆ ตามนโยบายพัฒนาประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการยักษ์ มูลค่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน เพื่อขยายฐานทุนและระดมทุนเข้าพรรค หรือเรื่องการขยายฐานธุรกิจของกลุ่มทุนต่างๆ ในสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะกลุ่มทุนเครือญาติใกล้ชิดของผู้นำพรรค หรือเรื่องการกินนอกกินใน กินจุกกินจิก ในวงการต่างๆ จนกระทั่งนำไปสู่การเปิดโปงและขยายผลวงกว้างในสังคมไทย ฯลฯ

สุดที่ผู้นำจะควบคุมได้

เมื่อถึงจุดนี้แล้ว ความชอบธรรมในการบริหารประเทศของผู้นำ รวมไปถึงสถานภาพโดยรวมของพรรคไทยรักไทยจึงได้สั่นไหวโงนเงน

ทางออกของพรรคไทยรักไทย และประเทศไทย

แต่การจะปล่อยให้ทุกอย่างสายเกินแก้ จนเกิดกลียุค ก็กระไรอยู่

สมควรที่จะต้องช่วยกันคิดหาทางออก ทั้งเพื่อพรรคไทยรักไทย เพื่อประเทศไทย ประชาชนไทยโดยรวม

นั่นคือ จำเป็นที่จะต้อง "ยกเครื่อง" ครั้งใหญ่ ปรับแนวคิดอุดมการณ์ ในการก่อตั้งพรรคเสียใหม่ ปฏิวัติระบบวิธีคิดและวิธีการทำงานภายในพรรคไทยรักไทยเสียใหม่

ผู้เขียนเป็นนักมองโลกในแง่ดี มีกุศลธรรมฉันทะชี้นำจิตใจเสมอ

แม้กับพรรคไทยรักไทย ที่กำลังเป็นปัญหาเสียเอง จนเกิดมีปัญหารุมเร้าอย่างมากมายในเวลานี้ ก็ยังไม่พูดว่า "ไม่" เพราะยังคิดว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งที่เป็นสังคมเปิด หากกลุ่มหรือพรรคการเมืองเปิดกว้างหรือกระทั่ง "ปลดปล่อย" ทางความคิด ไม่ยึดติดในตนหรือสิ่งที่ตนมีอยู่หรือที่กำลังจะมี สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะเป็นจริงของประเทศไทย ตั้งมั่นในแนวคิดอุดมการณ์พัฒนาประเทศชาติ สร้างชาติให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหรือพรรคอะไร ก็มีความชอบธรรมที่จะขึ้นมาเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศได้ตามกฎกติกาสากล คือ ใช้อำนาจบริหารภายในระบอบประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้เขียนเชื่อในกฎแห่งกรรมตามหลักปฏิจจสมุปบาท ที่ว่า "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" (อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ) และ "เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี" (อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ)

พรรคไทยรักไทยสามารถปรับตัวเอง ด้วยการทำให้ "สิ่งเดิม" ไม่มี แล้วความเป็นพรรคแบบเดิมก็จะไม่มี

พรรคไทยรักไทยสามารถปรับตัวเอง ด้วยการทำให้ "สิ่งใหม่" มี แล้วความเป็นพรรคแบบใหม่ก็จะมีขึ้น

"สิ่งใหม่" ที่พรรคไทยรักไทยจะต้องมี ก็คือ "แนวคิดอุดมการณ์สร้างชาติ มาก่อนสร้างพรรค" นั่นคือเอาชาติและประชาชนเป็นตัวตั้งของการสร้างพรรค ของการบริหารอำนาจในฐานะพรรครัฐบาล

อีกนัยหนึ่ง สลัดแนวคิดการก่อตั้งพรรคเพื่อกลุ่มทุน (สิ่งเดิม) ให้หมดไป แทนที่ด้วยแนวคิดก่อตั้งพรรคเพื่อชาติเพื่อประชาชน (สิ่งใหม่) เมื่อนั้น พรรคไทยรักไทยที่เป็นพรรคกลุ่มทุนก็จะหายไปกลายเป็นพรรคเพื่อชาติเพื่อประชาชน "เปลี่ยนสีแปรธาตุ" ได้ในที่สุด

สรุปคือ การเปลี่ยนถ่ายแนวคิด คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงขององคาพยพพรรคไทยรักไทย

ทำได้ไม่ได้ก็ไม่รู้เน้อ!

เท่าที่คิดได้ในตอนนี้ ก็คือ ต้องหาตัวแปรที่ทรงพลัง "บีบ" ให้ต้องเปลี่ยนแปลง ลำพังรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในโดยอัตโนมัติไม่ได้ เพราะกลุ่มทุนที่กำลังเสวยอำนาจ โภคทรัพย์บารมีจะต่อต้านสุดฤทธิ์สุดเดช ประเภท "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา"

อันดับแรก ให้ตัวแปรที่เป็น "แก่นแกน" ที่ทรงพลังที่สุดของพรรคไทยรักไทย นั่นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดของพรรค จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจะต้องมาจากตรงนี้

ขณะเดียวกัน จะต้องเร่งสร้างตัวแปรทรงพลังอีกตัวหนึ่งขึ้นมาประกบรองรับอย่างทันการณ์ นั่นคือ นำเอาระบบการตัดสินใจภายในพรรค แบบรวมหมู่มาใช้ในทันที

นั่นคือ การปรับเปลี่ยนทางความคิดของผู้นำ จะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับเปลี่ยนระบบวิธีคิดและการตัดสินใจ ให้มีความเป็น "วิทยาศาสตร์" มีความเป็นประชาธิปไตย และเอื้อต่อการแตกปะทุทางปัญญามากที่สุด

การปรับเปลี่ยนทางนามธรรมและตัวบุคคล จะต้องประกบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนทางรูปธรรมและระบบ จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ส่งผลยาวไกล

การนำรวมหมู่ที่ทรงประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้ ก่อนอื่นด้วยการคัดสรรเอาผู้มีแนวคิดหรืออุดมการณ์ "ร่วมกัน" ที่ได้รับการยอมรับในหมู่สมาชิกพรรคและสังคมไทย เข้ามาร่วมการนำรวมหมู่ ขณะที่ไม่ปฏิเสธบุคลากรใกล้ชิดที่มีความรู้ความสามารถ "เหมาะแก่การใช้งาน" อย่างแท้จริง

ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ ให้บุคคลตัวแทนกลุ่มทุนที่มีฐานทุนรองรับโดยตรง ถอยออกมาจากตำแหน่งบริหารภาครัฐ เข้าไปทำงานเป็นผู้บริหารพรรคตามแนวการนำรวมหมู่ ในระดับที่เหมาะสม และต้องยอมรับมติรวมหมู่ ปฏิบัติตามมติรวมหมู่อย่างเคร่งครัด

ช่วยกันกำหนดแนวนโยบายพัฒนาประเทศ สร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริงออกมาเป็นชุดๆ

ทั้งนี้ ผู้ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งบริหารในรัฐบาล จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแนวนโยบายพรรคอย่างแท้จริง นั่นคือ ต้องบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสทุกขั้นตอน

หลุดจากวังวนผลประโยชน์ทับซ้อนจริงๆ!

มุ่งสู่ความเป็นพรรคเหนือทุน

นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างพรรคไทยรักไทย (หรือพรรคการเมืองอื่นๆ) ให้เป็นพรรค "เหนือทุน" อันเป็นพรรคการเมืองที่พึงประสงค์ของสังคมไทยยุคปัจจุบัน

กล่าวคือ แม้พรรคนี้จะประกอบด้วยกลุ่มทุน แต่ต้องไม่รับใช้กลุ่มทุน ถือเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนเป็นอันดับแรกเสมอ

ตามกฎ "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" พรรคไทยรักไทยก็จะกลายธาตุเป็นพรรคสร้างชาติ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน

การใช้อำนาจบริหารประเทศ ก็จะเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เกิดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นศรัทธาในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย

ปัญหาต่างๆ ก็จะได้รับการแก้ไขให้ตกไปได้เป็นลำดับ

ผลคือ ในท่ามกลางกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ ความเป็น "สถาบัน" ของพรรคไทยรักไทยก็ย่อมจะเกิดขึ้นและมีความเหนียวแน่นยั่งยืนในตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น