xs
xsm
sm
md
lg

อุบัติเหตุกระทบเปิดใช้สะพานข้ามโขง2 กิจกรรมทางเศรษฐกิจในEWECไม่ชะงัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เผยกำหนดเปิดใช้สะพานเศรษฐกิจนานาชาติมุกดาหาร-สะหวันนะ เขตอาจล่าช้าออกไป เพราะต้องใช้เวลาเก็บกู้ซากอย่างน้อย 3 -6 เดือน แต่ไม่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเส้นทาง East-West Economic Corridor-EWEC ชี้หากการก่อสร้างไม่ชะงักจะแล้วเสร็จก่อนกำหนดตามที่นายกฯ"แม้ว"ขอไว้

เหตุการณ์เครนที่ใช้ก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)หัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับ 10 รายและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้แก่หลายชีวิตแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบ กับการก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจนานาชาติแห่งนี้ ซึ่งในสัญญาได้ระบุให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการสัญจรได้ในเดือนธันวาคม 2549 ซึ่งช่วงเวลานั้น เส้นทางคมนาคมหลักๆถนนหมายเลข 9 ทั้งในฝั่งลาวและเวียดนาม รวมถึงเส้นทางขนส่งในฝั่งไทย ที่เชื่อมโยงกับแลนด์บริดจ์แห่งนี้ก็จะแล้วเสร็จเช่นกัน

นายสาธร ทัศนเอี่ยม นายช่างแขวงการทางมุกดาหาร กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการก่อสร้างสะพานว่า จะทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จล่าช้าออกไป เพราะการก่อสร้างจะต้องยุติชั่วคราว เพื่อให้บริษัทซูมิโตโม มิตซุย คอนสตรั๊คชั่น จำกัด เก็บกู้ซากและจัดหาอุปกรณ์วัสดุทดแทนที่เสียหายไปคาดว่า อย่างเร็วต้องใช้เวลา 3 เดือน ถึงจะเก็บกู้ซากที่หักพังเสร็จและอย่างช้าอาจต้องใช้เวลามากถึง 6 เดือน

สำหรับมูลค่าความเสียหาย ที่ซูมิโตโม มิตซุย คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ต้องจ่ายเพิ่ม จากความเสียหายของเครนยกที่หัก และเซกเมนต์หรือส่วนรองรับตัวสะพานที่ตกลงในแม่น้ำโขงในเบื้องต้นประมาณ 100 ล้านบาท ไม่นับรวมกับค่าชดเชยให้กับวิศวกรและคนงานที่เสียชีวิตตามกฎหมายแรงงานกำหนดอีกด้วย

สะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ต่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ด้านหนองคาย-เวียงจันทน์คือเป็นสะพานเศรษฐกิจ มีนัยสำคัญในการเชื่อมความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นที่คาดหวังกันว่า สะพานแห่งนี้จะเป็นแลนด์บริดจ์ที่จะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคนี้เชื่อมกับการค้าภูมิภาคอื่นๆของโลก

มูลค่าการก่อสร้างสะพานดังกล่าวใช้งบประมาณทั้งสิ้นราว 3,100 ล้านบาท รัฐบาลไทยและสปป.ลาวแยกกันกู้จากโออีซีเอฟคนละครึ่ง ในอัตราดอกเบี้ย 3.75 % ตัวสะพานมีความยาว 1,600 เมตร กว้าง 12 เมตร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ตามกำหนดสัญญาใช้ เวลาก่อสร้าง 3 ปีและจะเสร็จในเดือนธันวาคม 2549

งบประมาณก่อสร้างสะพานข้างต้น ครอบคลุมค่าเวนคืนที่ดินฝั่งไทยและลาว ค่าก่อสร้างด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งสองที่จังหวัดมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขต ค่าก่อสร้างถนน4 ช่องจราจร จากสะพานเชื่อมกับถนนหมายเลข 9 สปป.ลาว ระยะทางราว 5 กิโลเมตร และถนนเชื่อมจากสะพานฝั่งไทยไปยังถนนสาย 212 อีกประมาณ 1.7 กิโลเมตร

นายไพรัตน์ สกลพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ระบุว่าหากบริษัทผู้สัมปทานเร่งเก็บกู้ซากเครนหรืออุปกรณ์ก่อสร้างที่ตกลงในแม่น้ำโขงขึ้นมาได้เร็ว ขั้นตอนก่อสร้างก็จะเดินหน้าต่อได้ทันที และหากสะพานแม่น้ำโขงแห่งนี้จะแล้วเสร็จล่าช้า ก็อยู่ที่ขั้นตอนการจัดหาเซกเมนต์ ส่วนรองรับตัวสะพานขึ้นมาแทนตัวเดิมที่ตกน้ำ 3 ตัว และเชื่อว่าทางบริษัทฯน่าจัหล่อขึ้นใหม่ ขณะที่เครื่องมืออุปกรณ์อื่นคงต้องสั่งนำเข้าใหม่

"ปัญหาการทำงานตอนนี้คือระดับน้ำในแม่น้ำโขงลึก และไหลเชี่ยวมาก จะเป็นปัญหาต่อการเก็บกู้ซากพอสมควร ส่วนรายละเอียดความเสียหายทั้งหมด คงต้องรอผู้บริหารของซูมิโตโมชี้แจง โดยตอนนี้บริษัทฯได้ยุดการก่อสร้างชั่วคราวแล้ว "ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารกล่าวและว่า

การก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ณ ขณะนี้ก้าวหน้าไปมากถึง 70 % หากไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้น เชื่อว่าจะแล้วเสร็จก่อนกำหนดด้วยซ้ำ อาจจะเปิดให้ใช้ได้ก่อนเดือนธันวาคมปีหน้า ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งก่อสร้างไว้เมื่อคราวเดินทางมาทำพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสะพานเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547

ส่วนขั้นตอนการก่อสร้างที่อาจแล้วเสร็จล่าช้าไปจากเดิมนั้น นายไพรัตน์ ย้ำว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะปัจจุบันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าระหว่างชายแดนและข้ามพรมแดนด้านนี้ก็เป็นไปตามกรอบความร่วมมืออยู่แล้ว สะพานฯเป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยให้การขนส่งสินค้า การเดินทางของคนสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต บริษัทสัมปทานรับเหมาก่อสร้างประกอบด้วยซูมิโตโม มิตซุย คอนสตรั๊คซั่น จำกัด บริษัทสยามซินเทค คอนสตรั๊คชั่น บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างและบริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียร์

สะพานข้ามแม่น้ำโขงมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ไม่มีรางรถไฟ เพราะหากมีรางรถไฟจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 30 % ของงบก่อสร้างสะพานรถวิ่งอย่างเดียว ไม่คุ้มต่อการลงทุน จุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง2 ฝั่งไทยอยู่บริเวณบ้านสงเปือย ต.บางทรายใหญ่ อ.เมือง มุกดาหาร ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร ตรงข้ามกับฝั่งลาว บริเวณบ้านนาแก บ้านท่าอุดม เมืองคันทะบุรี แขวงสะหวันนะเขต

สะพานแห่งนี้ จะเป็นจุดเชื่อมสำคัญของเส้นทางคมนาคมทางบกสายตะวันออก-ตะวันตก (East-west corridor)ในโครงการความร่วมมืออนุภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ (ไทย-ลาว-เวียดนาม-กัมพูชา-พม่าและจีนตอนใต้)

โดยถนนหมายเลข 9 เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม แนวตะวันออก-ตะวันตก หรือ "East-West Economic Corridor-EWEC" ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion-GMS) มีระยะทางยาวราว 1,450 กิโลเมตร เชื่อมโยง เวียดนาม ลาว ไทย และพม่า การพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ด้าน

คือ ด้านตะวันออกเชื่อมโยงไทย-ลาวและเวียดนาม ประกอบด้วย(1) สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต (2) เส้นทางหมายเลข 9 ในลาวและเวียดนาม เชื่อมจังหวัดมุกดาหาร-แขวงสหวันนะเขต-เมืองดองฮา-นครดานังและ (3) ท่าเรือน้ำลึกเทียนซาที่นครดานัง และด้านตะวันตก เชื่อมโยงไทยกับพม่า ได้แก่ ถนนสายแม่สอด-เมียวดี-พะอัน-(เมาะลำไย)-ท่าตอน

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือ GMS ได้กำหนดให้โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมด้านตะวันออกมีลำดับความสำคัญสูงสุด และกำหนดให้เป็นโครงการนำร่องตามแนวคิดการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามันอย่างเต็มรูปแบบ

การพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ East -West Economic Corridor ณ ขณะนี้ถือว่าคืบหน้ามาก โดยเส้นทางหมายเลข 9 ส่วนในลาวระยะทาง 245 กิโลเมตรก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขณะที่เส้นทางในส่วนเวียดนามระยะทาง 255 กิโลเมตรเองก็เสร็จเกือบสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้จะเหลือเพียง ส่วนการขุดอุโมงค์ไฮวันเพื่อเชื่อมระหว่างเว้-ดานังเท่านั้นที่ยังอยู่ระหว่างการเร่งก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2548 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น