xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงคนชนบทถูกหลวกลวงสคบ.โอนอำนาจให้ท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - สคบ.เตรียมโอนอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการกับ บริษัท ห้างร้านที่เอาเปรียบและหลอกลวง ในการขายบริหารและขายสินค้าให้กับประชาชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมีน้อย ไปตรวจสอบไม่ทันการ เริ่มสัมมนาให้ความรู้ในพื้นที่ภาคกลาง ก่อนขยายไปภาคอื่น จากนั้นจังโอนอำนาจให้

นางสุกัญญา สันทัด ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.มีแผนจะถ่ายโอนอำนาจการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองผู้ท้องถิ่นทั่วประเทศ ประกอบด้วย เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) , องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), ผู้อำนวยการเขตกรุงเทพฯ 50 เขต,เมืองพัทยา สามารถดำเนินการ ตรวจสอบ,ยึดและอายัดสินค้ารวมถึงการเรียกผู้ประกอบการมาชี้แจงกรณีที่สงสัยว่า เข้าข่ายกระทำความผิดเกี่ยวกับจำหน่ายสินค้าและบริการหรือ หลอกลวงประชาชน

นางสุกัญญา กล่าวว่าในปัจจุบันเห็นว่ามีผู้บริโภคต่างจังหวัดจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนกรณีที่ถูกผู้ประกอบการหลอกลวง และที่สำคัญเมื่อเจ้าหน้าที่ จากส่วนกลางเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าบางกรณีผู้ประกอบการหนีไปเปิด กิจการที่อื่นแล้ว ดังนั้นนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) จึงมีนโยบายการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น สามารถดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ตรวจสอบผู้ประกอบการ และให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีอำนาจลงมติฟ้องร้องผู้ประกอบการแทนผู้บริโภค เพื่อเสนอให้ คคบ. พิจารณาได้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ

สำหรับประโยชน์การถ่ายโอนอำนาจนั้นจะทำให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือ ที่รวดเร็วขึ้น เพราะมีเจ้าหน้าที่เพียงพอและรู้ข้อมูลที่ลึกกว่าส่วนกลาง ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะไม่กล้านำสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือ เอารัดเอาเปรียบโดยเฉพาะตามชนบท รวมถึงลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่วนกลางที่ปัจจุบันมีงานเยอะแต่จำนวนคนน้อย

“เชื่อว่าหาก สคบ. โอนอำนาจให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ในการตรวจสอบสินค้า,อายัดหรือยึดสินค้าที่สงสัยว่าเป็นอันตราย ไม่มีฉลากรวมถึงการเชิญผู้ประกอบการมาชี้แจง ก็จะทำให้การฉ้อโกงในต่างจังหวัดลดน้อยลงและที่สำคัญประชาชนก็จะได้รับการชดเชยได้เร็วกว่า เนื่องจากมีหลายกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนว่ามีบริษัทกระทำความผิดแต่เมื่อเจ้าหน้าที่ส่วนกลางไปตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการหนีไป ดำเนินกิจการที่อื่นแต่หากท้องถิ่นมีอำนาจก็สามารถดำเนินการตรวจสอบได้เลย”

นางสุกัญญา กล่าวว่าในต่างจังหวัดปัญหาที่ยังน่าเป็นห่วงคือการทำสัญญาต่าง ๆ กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่อง บ้าน, เช่าซื้อรถยนต์ และซ่อมรถยนต์ในอู่ เช่น ไม่อ่านสัญญาให้ละเอียด, ไม่ได้รับหลักฐานการทำสัญญากรณีซื้อรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการขายตรงในลักษณะที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่,จำหน่ายสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงการโฆษณาชักจูงผู้บริโภคที่เกินความจริง เป็นต้น

นางสุกัญญา กล่าวว่า เบื้องต้นสคบ.จะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคแก่พนักงานท้องถิ่นทั่วประเทศก่อน โดยวานนี้ ( 24 ก.ค. ) ได้จัดสัมมนาเรื่อง การเพิ่มพูนความรู้ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ในภาคกลางก่อน หลังจากนั้นจะขยายไปภูมิภาคอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น