xs
xsm
sm
md
lg

การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับว่าเป็นกระบวนการสลับซับซ้อน ประกอบไปด้วยกิจกรรมมากมาย โดยการวิจัยและพัฒนานับเป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น กิจกรรมอื่นๆ เช่น การดัดแปลงเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต การออกแบบ วิศวกรรม ฯลฯ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ภาคเอกชนจะลงทุนในด้านพัฒนาเทคโนโลยีต่ำกว่าระดับที่สังคมปรารถนา (Optimum) เนื่องจากปัญหา “ความล้มเหลวของตลาด” (Market Failure) กล่าวคือ การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีลักษณะเป็นสินค้ามหาชน (Public Good) ผู้ลงทุนจึงไม่สามารถตักตวงผลประโยชน์กลับคืนมาได้ทั้งหมด โดยบางส่วนจะกระจาย (Spillover Effect) ไปยังบริษัทอื่นๆ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ลอกเลียนแบบกระบวนการผลิต บุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมลาออกไปทำงานบริษัทอื่น ฯลฯ ดังนั้น จำเป็นที่รัฐจะต้องให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้มีการใช้จ่ายในระดับ Optimum

เดิมมีความคิดที่ว่าสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐเป็นฝ่ายวิจัยและพัฒนา ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนจะรับเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากหน่วยวิจัยของภาครัฐเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แต่ปัจจุบันมีแนวความคิดใหม่ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญต่อการผลิตและความสามารถในการแข่งขันนั้น ความจริงแล้วส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในภาคธุรกิจเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากภาคเอกชนลงทุนในด้านนี้จำนวนมาก

ขณะเดียวกันแนวคิดใหม่ได้ให้ทัศนะว่าบทบาทของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยจะต้องเปลี่ยนมาเน้นร่วมมือกับภาคเอกชนในด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงเพิ่มบทบาทการพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการใหม่ สำหรับตัวอย่างของความสำเร็จ คือ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งมีโครงการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทที่ตั้งในย่านซิลิกอนวัลเลย์และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่จำนวนมาก

สำหรับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพัฒนาจนกลายเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของโลก คือ ศาสตราจารย์ ดร. เฟรเดอริค เทอร์แมน อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแดนฟอร์ด ซึ่งมีทัศนะว่าบทบาทมหาวิทยาลัยไม่ใช่อยู่บนหอคอยงาช้าง ตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยมีพันธกิจสำคัญที่จะต้องพยายามนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ ยังได้กระตุ้นให้บรรดาผู้สำเร็จการศึกษาหรือแม้แต่คณาจารย์ให้เบนเข็มมาเป็นเถ้าแก่ไฮเทค แทนที่จะยึดอาชีพลูกจ้าง ทำให้แถบนี้เกิดผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมไฮเทคขึ้นมามากมาย

เพื่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเท้าติดดิน ไม่อยู่บนหอคอยงาช้าง ดร. เทอร์แมนจึงกระตุ้นให้ทั้งคณาจารย์และลูกศิษย์ไปร่วมงานกับภาคอุตสาหกรรมระหว่างการเรียนการสอน พร้อมกันนี้ได้เน้นให้โครงการวิจัยของนักศึกษาเป็นปัญหาที่ภาคธุรกิจประสบอยู่จริง โดยเขาได้กล่าวอุปมอุปไมยอย่างน่าฟังว่าหากมหาวิทยาลัยไม่ติดดินแล้ว ก็เปรียบเสมือนกับขว้างเทคโนโลยีไปยังฝาผนัง ไม่เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติแต่อย่างใด

สำหรับกรณีของประเทศไทย ปัจจุบันแม้รัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาไปยังสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถนำผลการวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างและพัฒนาต่อยอดมากเท่าที่ควร เนื่องจากมีความร่วมมือระดับค่อนข้างต่ำระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย

จุดอ่อนของนโยบายในช่วงที่ผ่านมามีหลายประการ เป็นต้นว่า ขอบเขตการวิจัยของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยจะมุ่งเน้นด้านวิชาการเฉพาะเรื่อง มากกว่าจะมุ่งตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงมีการกล่าวกันว่าปัญหาสำคัญที่สุดของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยในประเทศไทย คือ ขาดโจทย์ในการวิจัยและพัฒนา

จากเหตุผลข้างต้น จึงมีการกล่าวกันมากว่าการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยนั้น “ขึ้นหิ้ง ไม่ไปห้าง” เหมือนกับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ส่งผลให้ประเทศยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ

ขณะเดียวกันอาจารย์ในสถาบันการศึกษามีความรู้ความเข้าใจจำกัดเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในธุรกิจภาคเอกชน ขาดทักษะบริหารงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงคุณภาพของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา โดยโรงงานจะต้องใช้จ่ายในด้านฝึกอบรมเพิ่มเติมจำนวนมากเพื่อให้บุคลากรเหล่านี้มีความพร้อมในการทำงาน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังขาดการไหลเวียนของข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ โดยจากการศึกษาของธนาคารโลกเมื่อปี 2544 พบว่าบริษัทไทยส่วนใหญ่มีทัศนะว่าสถาบันวิจัยของรัฐไม่มีความสำคัญในฐานะแหล่งของเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ประสบปัญหาไม่สามารถแสวงหาเทคโนโลยีซึ่งตนเองต้องการ ส่งผลให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับต่ำกว่าผู้ประกอบการต่างประเทศซึ่งสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีจากบริษัทแม่

จากปัญหาข้างต้น แผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (2547 – 2556) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 จึงเน้นส่งเสริมความร่วมมือหรือเชื่อมโยงกันเป็นคลัสเตอร์ระหว่างผู้ผลิตสินค้าและบริการ ผู้ผลิตชิ้นส่วน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน ฯลฯ เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มการไหลเวียนของข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ อันจะนำไปสู่การดัดแปลงและการแพร่กระจายของเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพ นวัตกรรม และขีดความสามารถในการแข่งขันในที่สุด

แผนกลยุทธ์ฯ ข้างต้นยังได้เสนอแนะให้หน่วยงานสนับสนุนด้านทุนและส่งเสริมการลงทุนปรับเงื่อนไขการให้ความอุดหนุนโดยให้ลำดับความสำคัญสูงแก่โครงการวิจัยที่แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงการร่วมมือหรือเชื่อมโยงกันระหว่างผู้มีบทบาทสำคัญในคลัสเตอร์

สำหรับในด้านการส่งเสริมการลงทุน ได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2546 โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ซึ่งมุ่งเน้นให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมหากโครงการมีความดีเด่นในด้านต่างๆ โดยร่วมถึงโครงการที่มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยด้วย โดยหากใช้จ่ายในด้านนี้ไม่น้อยกว่า 1% ของยอดขายในช่วง 3 ปีแรก จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น 1 ปี พร้อมกับไม่จำกัดวงเงินสูงสุดที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งปกติกำหนดว่าจะได้รับยกเว้นไม่เกินจำนวนเงินไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนที่ลงทุนในโครงการนั้นๆ

มาตรการ STI นับว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งในด้านกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมสนใจการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ทั้งในรูปการร่วมวิจัยและพัฒนา และความร่วมมือโดยอนุญาตให้อาจารย์และนักศึกษามาดูงาน ฝึกงาน และจัดบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

ปัจจุบันสถานการณ์ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และอุตสาหกรรมดีขึ้นมาก โดยมีหลายบริษัทซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้จัดทำโครงการร่วมมือในด้านวิจัยและพัฒนากับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยตามมาตรการ STI อย่างไรก็ตาม บางโครงการยังเป็นความลับจึงไม่สามารถเปิดเผยให้ทราบได้

จากการสอบถามตัวแทนของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการได้กล่าวว่าความจริงแล้ว ภาคอุตสาหกรรมมีความรู้อยู่แล้วมากถึง 90% ดังนั้น จะต้องสอนอาจารย์ให้รู้ในส่วน 90% นี้ก่อน เพื่อให้สามารถวิจัยและพัฒนาในส่วนที่เหลืออีก 10% ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น