xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์แห่งโลกภายใน (57)

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา


ลำดับนี้จะได้พรรณนากัมมัฏฐานวิธีจำพวกอัปมัญญา ซึ่งมีอยู่ 4 วิธี หรือ 4 ชนิดต่อไป กัมมัฏฐานวิธีจำพวกอัปมัญญา 4 ชนิด หรือ 4 วิธี ได้แก่ การเจริญเมตตาหนึ่ง กรุณาหนึ่ง มุทิตาหนึ่ง และอุเบกขาอีกหนึ่ง ซึ่งธรรมทั้ง 4 ประการนี้ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพรหมวิหาร 4

ดังนั้นแม้จะแยกได้ถึง 4 วิธี แต่ความจริงก็คือการเจริญพรหมวิหาร 4 นั่นเอง เป็นแต่ว่าเป็นการเจริญในฐานะที่เป็นการปฏิบัติกัมมัฏฐานวิธีแต่ละชนิดหรือแต่ละวิธี ตามความพอใจหรือตามความเหมาะสมแห่งอัชฌาสัย

ขอทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าเหตุใดอัปมัญญา 4 นี้ จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าพรหมวิหาร 4

เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นธรรม 4 ประการนี้เมื่อรวมเป็นองค์ 4 แล้วได้ชื่อว่าเป็นพรหมวิหาร 4 นั่นคือเป็นหัวข้อธรรมหรือหลักปฏิบัติธรรม 4 ประการ เพื่อเข้าถึงความเป็นพรหม หรือเข้าถึงสถานที่อันเป็นที่สถิตของพรหม แต่ถ้านำหัวข้อธรรมข้อใดข้อหนึ่งมาฝึกฝนอบรมจิต การฝึกฝนอบรมนั้นย่อมได้ชื่อว่าอัปมัญญา

อุปมาดั่งอากาศ เมื่ออยู่นิ่งๆเฉย ๆ ก็อาจเรียกว่าอากาศ แต่พอเคลื่อนตัวไปก็เรียกได้ว่าลม หากลมพัดกล้าขึ้นก็ย่อมเรียกว่าพายุ ฉันใดก็ฉันนั้น

หัวข้อธรรมในพระพุทธศาสนาที่ลงท้ายด้วย “วิหาร” ที่สำคัญก็คือ “พรหมวิหาร” ซึ่งแปลตามตัวว่าที่อยู่ของพรหม หรือแปลโดยความหมายว่าวิหารธรรมที่เข้าไปตั้งอยู่แล้วย่อมถึงซึ่งความเป็นพรหม จัดเป็นอาคารที่พักอาศัยของจิตในระดับที่จิตมีภูมิธรรมสูงกว่าปกติ และถ้าสูงขึ้นไปกว่านั้นก็คืออริยวิหาร และตถาคตวิหาร ซึ่งหมายถึงภาวะที่ภูมิธรรมของจิตสูงหรือดำรงอยู่ในธรรมแห่งพระอริยเจ้าหรือพระตถาคตเจ้า แล้วแต่กรณี

พรหมวิหารนั้นเป็นวิหารธรรมสำหรับผู้ฝึกฝนอบรมจิตในหนทางเจโตวิมุติ เพราะกัมมัฏฐานวิธีจำพวกอัปมัญญา 4 เป็นกัมมัฏฐานวิธีในหนทางปฏิบัติแบบเจโตวิมุติ ในขณะที่การปฏิบัติในหนทางปัญญาวิมุตินั้นจะมีอานาปานสติเป็นแบบฝึกฝนปฏิบัติที่ชัดเจนสมบูรณ์เป็นระบบอย่างยิ่ง ยามที่จิตเจริญอานาปานสติย่อมได้ชื่อว่าจิตได้เข้าถึงหรือเข้าอยู่ในวิหารธรรมที่เรียกว่าอานาปานสติ หรือที่เรียกว่าอานาปานสติวิหาร

พระตถาคตเจ้าทรงมีปกติในการดำรงพระจิตอยู่ในอานาปานสติวิหาร ซึ่งตรัสรับรองว่าเป็นที่อยู่เป็นสุข และสุขในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสุขแบบชาวโลก แต่เป็นความสุขในทางธรรมที่ไกลจากกิเลส จิตมีความอิสระผ่องใส มีปัญญาเห็นความจริงตามความเป็นจริง เป็นสุขที่ปราศจากอามิสและเป็นสุขที่เกิดในสมาธิโดยเฉพาะ

อานาปานสติวิหารหรือการที่จิตเข้าถึงวิหารธรรมตามวิถีทางปัญญาวิมุติย่อมมีหลายระดับตามภูมิธรรมและความสำเร็จของการฝึกฝนอบรม มีอริยวิหารและตถาคตวิหารเป็นที่หมายปลายทาง นั่นคืออาคารที่พักหรือที่สถิตแห่งจิตของหนทางปัญญาวิมุติและเจโตวิมุติที่ปลายทางนั้น คือวิหารธรรมที่เรียกว่าอริยวิหารและตถาคตวิหารอย่างเดียวกัน ดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่าน้ำทั้งหลายย่อมไหลไปสู่พระมหาสมุทรอย่างเดียวกันฉันใด ธรรมทั้งหลายย่อมมีที่หมายปลายทางคือความสิ้นกิเลสอาสวะฉันนั้น

พรหมวิหารเป็นวิหารธรรมหรือเป็นองค์ธรรมสำคัญที่สัมผัสและเข้าถึงได้ตั้งแต่เริ่มต้นฝึกฝนปฏิบัติเป็นลำดับ ๆ ไป จนกระทั่งสิ้นกิเลสอาสวะ ยามที่ฝึกฝนปฏิบัติและจิตเข้าถึงองค์ธรรมทั้ง 4 คือเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาแล้ว ยามนั้นย่อมได้ชื่อว่าจิตอยู่ในหรือเข้าถึงพรหมวิหาร หรือความเป็นพรหม ที่จะไม่จมลงสู่ปลักแห่งอบายอีก

ในการฝึกฝนอบรมจิตโดยอาศัยองค์ธรรมแห่งพรหมวิหารคือเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา จะรวมเรียกโดยแบบกัมมัฏฐานวิธีว่าอัปมัญญา 4 ทั้งๆ ที่ในการปฏิบัติจริงนั้นเป็นการฝึกฝนปฏิบัติแต่ละหัวข้อธรรมไป ไม่ใช่ปฏิบัติพร้อมกันทีเดียวทั้ง 4 หัวข้อธรรม เพราะแต่ละหัวข้อธรรมยังมีความต่างกันบ้าง มีการปฏิบัติที่ต่างกันบ้างและมีอานิสงส์ที่ต่างกันบ้าง ไม่อาจปฏิบัติพร้อมกันทั้งสี่วิธีได้ แต่ในฐานะองค์ธรรมที่เป็นพรหมวิหารนั้นจะต้องประกอบด้วยองค์สี่ในเวลาเดียวกัน นี่คือความต่างที่พึงทำความเข้าใจให้ดี

อย่างน้อยก็เพื่อความถูกต้องในการสื่อความเข้าใจว่าอะไรคือพรหมวิหาร อะไรคืออัปมัญญา 4 ดังนี้

ได้กล่าวมาบ้างแล้วว่าเหตุที่แสดงอัปมัญญา 4 เป็นลำดับหลังจากกัมมัฏฐานวิธีประเภทอาหาเรปฏิกูลสัญญาและจตุธาตุววัตถานก็เพราะเป็นกัมมัฏฐานวิธีที่มีความละเอียดประณีตลึกซึ้ง จะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าถ้าหากได้พรรณนาอาหาเรปฏิกูลสัญญาและจตุธาตุววัตถานเสียก่อน

และเมื่อได้เข้าใจกัมมัฏฐานวิธีประเภทอาหาเรปฏิกูลสัญญาและจตุธาตุววัตถานแล้วก็จะเป็นทางที่ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องอัปมัญญา 4 ง่ายขึ้นไปอีก

เพราะกัมมัฏฐานวิธีประเภทอาหาเรปฏิกูลสัญญาและจตุธาตุววัตถานนั้นแม้จะจัดอยู่ในกัมมัฏฐานวิธีในหนทางเจโตวิมุติก็ตาม แต่ก็มีการเจริญและมีการใช้ปัญญาเพิ่มขึ้นมา ส่วนอัปมัญญาทั้ง 4 วิธีนั้นแม้จัดอยู่ในกัมมัฏฐานวิธีในหนทางเจโตวิมุติเหมือนกัน แต่ยังมีความต่างเพิ่มขึ้นไปอีก คือนอกจากมุ่งเอาความเข้มแข็งของพลังอำนาจจิต มีการเจริญและใช้ปัญญาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือการเพ่งแผ่พลังจิต ซึ่งส่วนนี้เป็นลักษณะเฉพาะ เป็นคุณสมบัติเฉพาะและวิธีการเฉพาะของกัมมัฏฐานวิธีจำพวกอัปมัญญา 4

คำว่า “อัปมัญญา” แปลว่าการแผ่ไปโดยไม่มีขอบเขต หรือแผ่ไปอย่างกว้างขวางหาประมาณมิได้

ที่ว่าแผ่นั้นก็คือการแผ่พลังอำนาจของจิตออกไปภายนอกทั้งระยะใกล้ ทั้งระยะไกล จนพ้นประมาณ เป็นการแผ่พลังอำนาจของจิตไปในทุกทิศ เป็นการแผ่พลังอำนาจของจิตไปยังสรรพสิ่งอย่างกว้างขวางหาประมาณมิได้

พลังอำนาจของจิตที่แผ่ไปประการใดย่อมขึ้นอยู่กับกัมมัฏฐานวิธีใดในจำพวกอัปมัญญา นั่นคือถ้าเป็นกัมมัฏฐานวิธีเมตตา สิ่งที่จิตส่งกำลังแผ่ไปก็คือพลังแห่งความเมตตา ถ้าเป็นกัมมัฏฐานวิธีกรุณา สิ่งที่จิตส่งกำลังแผ่ไปก็คือพลังแห่งความกรุณา ถ้าเป็นกัมมัฏฐานวิธีมุทิตา สิ่งที่จิตส่งกำลังแผ่ไปก็คือพลังแห่งมุทิตา ยกเว้นก็เฉพาะแต่เป็นกัมมัฏฐานวิธีจำพวกอุเบกขา ซึ่งมีความเฉพาะเป็นพิเศษ คือ ไม่ได้แผ่ออกไปภายนอก หากเป็นการแผ่ภายใน มุ่งเอาที่จิตเองเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่แผ่นั้นกลับเป็นพลังแห่งปัญญาที่เห็นความจริงตามความเป็นจริง แล้วทำให้จิตยกระดับถึงซึ่งอุเบกขาธรรม

อุเบกขาธรรมในกัมมัฏฐานวิธีจำพวกอัปมัญญา 4 นี้ก็คือธรรมที่มีคุณสมบัติและมีลักษณะเดียวกันที่ทำให้จิตวางเฉยจากกิเลสด้วยปัญญา เป็นอุเบกขาธรรมอย่างเดียวกันกับอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่ากัมมัฏฐานวิธีจำพวกอัปมัญญา 4 นอกจากเป็นกัมมัฏฐานวิธีที่มุ่งเน้นการยกระดับความเข้มแข็งและพลังของจิตซึ่งเป็นหลักทั่วไปในการฝึกฝนปฏิบัติแบบเจโตวิมุติแล้ว ยังมีการเจริญและใช้ปัญญาเพิ่มขึ้นและมีการแผ่พลังของจิตเพิ่มขึ้นอีก ตามลักษณะธรรมที่ฝึกฝนปฏิบัตินั้น ๆ

นี่คือลักษณะพิเศษ ความละเอียด ความประณีตของกัมมัฏฐานวิธีจำพวกอัปมัญญา 4 ที่ค่อนข้างต่างจากกัมมัฏฐานวิธีจำพวกกสิณ 10 อสุภสัญญา 10 และอนุสติ 10

ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นก็คืออัปมัญญา 4 เป็นกัมมัฏฐานวิธีที่ตรงกันข้ามกับกิเลส อุปมาดั่งเป็นความสว่างที่หากมีขึ้น ณ ที่ใดแล้ว ณ ที่นั้นความมืดคือกิเลสก็ย่อมสูญสิ้นสลายตัวเป็นลำดับ ๆ ไป

เมตตา คือความรัก ความปรารถนา ที่ต้องการให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นพ้นจากความทุกข์ เป็นความรัก ความปรารถนาที่บริสุทธิ์ ปราศจากกามหรือราคะเจือปน มีลักษณะคล้ายคลึงกับความรักระหว่างมารดาบิดากับบุตร ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับความโกรธหรือโทสะ

ดังนั้นเมตตามีขึ้น ณ ที่ใด ก็ย่อมขับไสไล่ส่งโทสะ ณ ที่นั้น จะขับไสไล่ส่งในระดับใดก็ย่อมเป็นไปตามระดับของจิตที่ได้เจริญเมตตานั้น และเมื่อเจริญถึงที่สุดแล้ว โทสะก็ย่อมหมดไปอย่างที่สุดด้วย

กรุณา คือความเอ็นดู ความปรารถนาที่ต้องการให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นประสบความสุข เป็นความเอ็นดู ความปรารถนาที่บริสุทธิ์ ไม่เจือด้วยกามหรือราคะหรืออามิสใด ๆ มีลักษณะตรงกันข้ามกับความพยาบาทมาดร้ายทั้งปวง

ดังนั้นกรุณามีขึ้น ณ ที่ใด ย่อมขับไล่ไสส่งพยาบาท ณ ที่นั้น จะขับไสไล่ส่งในระดับใดก็ย่อมเป็นไปตามระดับของจิตที่ได้เจริญเมตตานั้น และเมื่อเจริญถึงที่สุดแล้ว พยาบาทก็ย่อมหมดไปอย่างที่สุดด้วย

เพราะเหตุที่กรุณาเป็นความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นมีความสุข ดังนั้นจึงเป็นปรปักษ์โดยตรงกับความโลภหรือโลภะ ที่มุ่งปรารถนาแต่จะมีจะเป็นจะได้สำหรับตนหรือพวกตน ดังนั้นเมื่อกรุณาเจริญแล้วจึงมีอานิสงส์ในการขจัดโลภะไปโดยลำดับด้วย

มุทิตา เป็นลักษณะของจิตที่มีความอิ่มใจ มีความชุ่มฉ่ำใจ เบิกบานใจ ในการที่ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นมีความสุข ความเจริญ หรือพ้นจากทุกข์ เห็นคนหรือสัตว์ใดมีความสุข มีความปลอดภัย มีความเจริญก็มีความชื่นใจ มีความเบิกบาน

ลักษณะของปิติจึงตรงกันข้ามกับความริษยา ซึ่งเป็นความปรารถนาที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นมีความสุข หรือมีความเท่าเทียมกับตนในประการต่าง ๆ ริษยาบ่อนทำลายจิต ทำให้จิตขุ่นมัว เป็นปราการที่สกัดกั้นปัญญาและความบริสุทธิ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง

ดังนั้นมุทิตาเจริญขึ้น ณ ที่ใดในระดับแล้ว ไม่เพียงแต่จิตจะมีความอิ่มเอิบชุ่มฉ่ำเบิกบานเท่านั้น ยังทำให้ความริษยาถูกขจัดเป็นลำดับไปอีกด้วย

ส่วนอุเบกขานั้นได้แก่ความรู้สึกวางเฉย แต่ไม่ใช่เป็นการวางเฉยแบบยอมจำนนหรือแบบหลงงมงาย หรือเฉย ๆ แบบตอไม้ หากเป็นความวางเฉยที่เป็นผลจากปัญญาได้เจริญขึ้นถึงระดับที่เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนทำให้จิตมีความเป็นอิสระหลุดพ้นจากภาวะครอบงำทั้งปวง ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ทั้งปวง

อุเบกขาก็มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่เมื่อเห็นความจริงแล้วไม่ทุกข์ไม่ร้อนกับสิ่งใด ๆ ไม่หวั่นไหวกับสิ่งใด ๆ ไปจนถึงระดับสูงสุดที่ปัญญาเจริญเต็มที่ เห็นพระไตรลักษณ์หลุดพ้นจากความครอบงำ จากกิเลสและอาสวะทั้งหลาย

การเห็นความจริงคือเห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ และเห็นความไม่ใช่ตัวตน ทำให้จิตไม่หวั่นไหว ไม่ถูกครอบงำ มีความเป็นอิสระอย่างถึงที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความหลงหรือโมหะ

เหตุนี้เมื่ออุเบกขาเจริญขึ้น ณ ที่ใดในระดับใดแล้ว โมหะหรือความหลงก็จะถูกขจัดให้สูญสิ้นไปโดยลำดับ ณ ที่นั้น และในระดับนั้น ๆ ด้วย

อัปมัญญา 4 จึงเป็นกัมมัฏฐานวิธีที่มีผลหรืออานิสงส์ต่อการทำลายกิเลสคือโลภ โกรธ หลง โดยตรง เป็นแต่เป็นวิธีปฏิบัติในด้านหนึ่งซึ่งอยู่ตรงกันข้ามหรือเป็นปรปักษ์กับกิเลสเหล่านั้น จึงนับว่าเป็นกัมมัฏฐานวิธีที่มุ่งหมายขจัดกิเลสอาสวะที่ตรงตัวที่สุดและมีผลมากที่สุด

การฝึกฝนอบรมกัมมัฏฐานวิธีจำพวกอัปมัญญา 4 นี้ จะฝึกและเจริญแต่ละข้อหรือแต่ละวิธี ๆ ไป จนครบถึง 4 วิธีก็ได้ หรือจะฝึกฝนและเจริญแต่วิธีใดวิธีหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับอัชฌาสัยของตนก็ได้สุดแท้แต่ความปรารถนา และความง่ายต่อการที่ได้รับผลซึ่งแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น