xs
xsm
sm
md
lg

เสียงเชียร์เสียงด่า พูดไปทำไมมี

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เวลานี้ สังคมไทยเต็มไปด้วยเสียง วิพากษ์วิจารณ์ โจมตี ด่าทอ (โดยเฉพาะในเว็บไซต์) หลอกลวง ทำร้ายกันและกัน สภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศทางสังคมของไทยเสื่อมทรุดอย่างน่าใจหาย เข้าสูตร "คนไทยเหมือนไก่จิกตีกันเอง" เป๊ะ

สาเหตุเพราะอะไร?

คำตอบที่ได้จะไม่เหมือนกันจากกลุ่มหรือฝ่ายที่ต่างกัน

บทความชิ้นนี้ไม่มีคำตอบ เพียงแต่ขอแสดงมุมมอง

คือมองในแง่หนึ่ง มันเป็นผลจากการพัฒนาประเทศแบบ "ไทยๆ" คือไม่ได้สนองตอบผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติและประชาชนคนอย่างแท้จริง หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนที่สุดก็คือ คุณภาพชีวิตคนไทยส่วนใหญ่เลวลง ขับเคลื่อนสังคมไทยก้าวไปสู่ความเป็นสังคมหลากหลายแบบ "มั่วๆ" คนไทยส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตแบบ "ลอยตามน้ำ" ไม่รู้จักว่ายน้ำ ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม "พลังสังคม" อ่อนแอ

นั่นคือสาเหตุสะสมทางประวัติศาสตร์ เมื่อบวกกับการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีนโยบายเยี่ยม กล้าคิดกล้าทำ แต่ขาดความโปร่งใส ทำให้การคิดการทำไม่สนองตอบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง แต่กลับทะลักไปกองรวมกันอยู่ในกลุ่มทุนที่เป็นฐานทางวัตถุเงินทองของพรรคไทยรักไทย ที่เป็นรัฐบาล ใช้อำนาจบริหารประเทศ

ที่เป็นเช่นนั้น (อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้) ก็เพราะพรรคไทยรักไทย เป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ที่กินจุ จึงกินทุกอย่างที่ขวางหน้า เพื่อเร่งเสริมสร้างพลังให้เหนือกว่า และกลายเป็นกลุ่มนำในสังคมไทย

ปัจจุบัน การห้ำหั่นกันของกลุ่มทุนใหม่กับกลุ่มทุนเดิมๆเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่เห็นแววของการประนีประนอมกันแต่ประการใด คาดว่า สถานการณ์จะคงเป็นไปในทำนองนี้อีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะเห็นดำเห็นแดง

สังคมไทยโดยรวมแล้ว เป็นสังคมรอมชอม แต่ก็มักจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเป็นระยะๆ แบบไม่แตกหัก ไม่ถึงกับทำให้ประเทศแตกแยก ดังที่ปรากฏในประเทศอื่นๆ

ที่พูดมานั้น ก็เป็นเพียงข้อวินิจฉัย(ตั้งเป็นประเด็นค้นคว้าร่วมกัน)เท่านั้น ไม่ใช่คำตอบ

จีนก็เป็นสังคมด่าทอ

ยิ่งจีนพัฒนามากเท่าไหร่ ชาวโลกก็จะยิ่งสับสนในเรื่องจีนมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งคนไทยที่บอกกับตัวเองว่ามีความสัมพันธ์สนิทใกล้ชิดกับจีนเป็นพิเศษ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะจีนเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และในทุกๆ ด้าน แล้วสะท้อนออกมาทางตัวคน รู้สึกร่วมกันได้ว่า ปัจจุบันคนจีน "เปลี่ยนไป"

มองในสายตาประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของจีนยุคใหม่ มาจากการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 จากการปฏิวัติทางความคิดมาเป็นการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย โดยจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงนี้ อยู่ที่การประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯในปลายปี ค.ศ.1977 เมื่อที่ประชุมลงมติเอกฉันท์ ให้ดำเนินการปฏิรูปและเปิดกว้าง

นั่นคือต้นเหตุหรือจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีตรงนั้น จีนก็จะไม่มีวันนี้

ภายหลังจากนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งนิสัยใจคอของคนจีน ยิ่งในคนรุ่นหลังๆ แล้ว แทบจะหาความเป็น "จีน" แบบเดิมๆ ได้ยากมาก

ประเทศจีนวันนี้ กลายเป็นสังคมแตกต่างหลากหลาย คนจีนไม่เพียงแต่แตกต่างกันไปตามความแตกต่างของถิ่นที่อยู่อาศัยเท่านั้น แม้แต่ในท้องถิ่นหรือมณฑลเดียวกัน เมืองเดียวกัน ก็มีความแตกต่างทางฐานะ มีรวยมีจน มีความแตกต่างระหว่างวัย ระหว่างคนที่มีการศึกษากับผู้ด้อยการศึกษา ระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท

โดยภาพรวม จีนวันนี้ เป็นสังคมแตกต่างหลากหลาย สลับซับซ้อนยิ่งกว่ายุคใดๆ

อย่าว่าแต่คนต่างประเทศเลย แม้แต่คนจีนเองก็ยังชักจะไม่เข้าใจคนจีนด้วยกันเองมากขึ้นทุกที

ความแตกต่างอย่างหลากหลายเหล่านี้ ถ้าจัดการไม่ดีหรือปล่อยไปตามยถากรรม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้ง แตกแยกในสังคม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะพรรคบริหารประเทศ ต้องทำงานหนักมากในการบริหารประเทศ เพราะการดำเนินนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะมีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์ แต่คนกลุ่มอื่นๆ อาจเสียประโยชน์ เกิดความไม่พอใจ ไม่เว้นแม้แต่ในวงนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานของพรรค

เช่นเมื่อรัฐบาลจีนดำเนินมาตรการปรับและควบคุมการขับเคลื่อนการพัฒนาของเศรษฐกิจ ไม่ให้ร้อนแรงเกินไป ซึ่งเป็นการปรับในระดับมหภาค (แม็คโครคอนโทรล หรือ "หงกวนเถียวค่ง") ด้วยคำสั่งของรัฐบาล (รัฐเข้าแทรกแซงด้วย "มือที่มองเห็น") ลดหรือเลิกโครงการลงทุนขนาดใหญ่บางประเภท เพื่อลดปริมาณการบริโภควัตถุดิบและพลังงาน สำหรับการปรับโครงสร้างทางการผลิต ให้เป็นการผลิตแบบคุณภาพ ประหยัด และยั่งยืนต่อไป

แต่ก็ได้รับเสียงคัดค้านและเกิดแรงเสียดทานไม่น้อย จากอำนาจปกครองท้องถิ่น ที่จำเป็นต้องลดหรือยุบโครงการของตน ตาม "คำสั่ง"

หรือการปรับอัตราภาษีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดกระแสการปั่นราคาบ้านและที่ดินในเขตเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศจีน เช่นเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น เป็นต้น ก็ถูกกลุ่มนักธุรกิจบ้านและที่ดินจำนวนหนึ่งกล่าวโจมตี ว่าเป็นเหตุให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการเช่นนั้น ก็เพราะต้องการให้ราคาบ้านและที่ดินในตลาดปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่เหมาะสม ให้คนฐานะปานกลางซื้อได้

ใช้มาตรการทางภาษีบีบให้ตลาดปรับตัวไปยังชนชั้นกลางของจีน สร้างบ้านราคาถูกให้คนธรรมดาๆ ซื้อหาได้

มาตรการปรับและควบคุมดังกล่าว จะเป็นผลดีต่อคนส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็คนชั้นกลางในเมือง ตลาดบ้านและที่ดินจีนก็จะพัฒนาเติบใหญ่ ไม่ตกเป็น "ของเล่น" ให้กลุ่มทุนใหญ่ปั่นทำกำไร

ถ้าปล่อยให้กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ยึดครองตลาด ทำแต่บ้านราคาแพงออกมาขาย ปล่อยให้กลุ่มทุนเงินหนาเข้าไปกว้านซื้อเก็งกำไร ตลาดบ้านและที่ดินโดยรวมของจีนก็จะแคระแกร็น

ดูแต่ประเทศไทย เห็นมีแต่ป้ายประกาศบ้านราคาหลังละ 10-20 ล้าน หรือกระทั่ง 40-50 ล้าน เกลื่อนถนน ก็อดไม่ได้ที่จะต้องถามกับตัวเองว่า "แล้วใครจะมาซื้อกันหว่า?"

การยอมให้พ่อค้าปั่นราคา ถือว่าเป็นข้อบกพร่องของรัฐบาล ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม

จากนี้ก็พอจะมองเห็นแล้วว่า พรรคและรัฐบาลจีนกำลังพยายามปรับระบบเศรษฐกิจตลาดจีนให้พัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นระบบเศรษฐกิจตลาดที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ไม่ตกอยู่ในการผูกขาดของกลุ่มทุน เพราะธรรมชาติของกลุ่มทุน ก็คือพยายามทำกำไรสูงสุด ได้โอกาสเมื่อไรเป็น "ฟัน" รัฐบาลในฐานะผู้ใช้อำนาจจึงต้องทันเกม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใช้อำนาจบริหารจะต้องไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของกลุ่มทุน ทั้งทางตรงและทางอ้อม กรณีทุจริตโกงกินของเจ้าหน้าที่จีนที่ยังมีเป็นข่าวรายวัน ก็สะท้อนถึงความจริงที่ว่า ปัญหาโกงกินคอร์รัปชันคงไม่หมดไปจากประเทศจีนแน่ ตราบใดที่ยังมีเจ้าหน้าที่จีนจำนวนหนึ่งทนไม่ได้กับความเย้ายวนของเงินทองและ "ของฝาก" จากกลุ่มทุน

การใช้อำนาจอย่างเหมาะสม กับกลุ่มทุน จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของพรรคและรัฐบาลจีน

เสียดายที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่เป็นกลุ่มทุนเสียเอง จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะใช้อำนาจได้อย่างถูกต้อง ยิ่งมีอำนาจมากเท่าไหร่ก็ยิ่งใช้อำนาจไปในทางที่ผิดมากเท่านั้น สุดที่ชาวบ้านทั่วไปจะรู้ทัน ตามสัจธรรมที่ว่า "อำนาจเบ็ดเสร็จ คอร์รัปชันสุดๆ"

แต่ทำอย่างไรได้ ในเมื่อระบบเศรษฐกิจการเมืองของเรากำหนดให้ต้องมีรัฐบาลกลุ่มทุน จึงเกิด "กติกา" แฝงในสังคมไทยว่า ขอเพียงแต่ "กินตามน้ำ" ไม่มูมมามเกินไป สังคมไทยก็ยอมได้ "ทน" ได้

กระนั้น การที่รัฐบาลจีนไม่ปล่อยให้ตลาดอยู่ในกำมือของกลุ่มทุน แต่มุ่งปรับและควบคุมการพัฒนาขยายตัวของตลาดให้เป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ ก็ยังหนีไม่พ้นการก่นด่าของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมจีน

ด้านหนึ่งจากกลุ่มทุนหรือกลุ่มผู้เสียประโยชน์เฉพาะหน้า อีกด้านหนึ่ง จากกลุ่มคนที่ไม่สมหวังหรือผิดหวังต่อการดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้าง อาจเพราะกลไกตลาดไม่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นหรือกระทั่งเลวลง ทำให้กลายสภาพเป็น "กลุ่มคนผู้อ่อนแอ" (ภาษาจีนเรียกว่า "ร่อซื่อฉวินถี่")ในสังคมจีน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เต็มที่ ต้องอาศัยการช่วยเหลือของรัฐ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละที่ก็มีคุณภาพแตกต่างกัน บางแห่งก็แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้ดี แต่บางแห่งก็แย่ หรือกระทั่งเป็นตัวสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านเสียเอง เช่น อนุมัติโครงการพัฒนา ไล่ที่ชาวบ้าน ถึงกับมีการรวมตัวกันประท้วงไม่หยุดหย่อนในหลายๆ ที่ของประเทศจีน

จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินเสียงก่นด่าเจ้าหน้าที่จีนกันไม่ขาด และเผลอๆ อาจมีเสียงด่าลามไปถึงพรรคและรัฐบาลกลางใน "จงหนันไห่" (อยู่กลางกรุงปักกิ่ง เป็นทำเนียบหรือศูนย์รวมหน่วยงานสำคัญๆ ของพรรคและรัฐบาลจีน) ทำให้วงการนักศึกษาเรื่องจีนพลอยรู้สึกตื่นเต้น สูดปากซี้ดซ้าดโดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน

เพราะการด่าพรรคและรัฐบาล มีไม่มากในประเทศจีน รัฐบาลจีนจะไม่ปล่อยให้จีนมี "ขาประจำ" เกิดขึ้นเด็ดขาด

ปัจจุบัน "ขาประจำ" เกือบทั้งหมดพากันโยกย้ายกันไปตั้งฐานในต่างประเทศ เช่นสหรัฐฯ ทำการเคลื่อนไหวโดยความช่วยเหลือจากหน่วยงานเปิดและลับของประเทศต่างๆ พวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคและรัฐบาลจีนในรูปแบบต่างๆ อาทิ เปิดเว็บไซต์โจมตีพรรคและรัฐบาลจีน มีการนำเสนอข่าวสารข้อมูล "ใต้ดิน" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข่าวคราวเบื้องหลังความไม่ชอบมาพากลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

กล่าวคือ อะไรที่ไม่ดีของพรรคฯ จีน (จริงเท็จแค่ไหนไม่รู้ พิสูจน์ไม่ได้) สามารถดูได้จากแหล่งข่าวเหล่านั้น

หลายคนทีเดียว เมื่อเข้าไปอ่านข่าวในนั้น ก็จะคล้อยตาม แล้วเกิดอารมณ์ร่วม ด่าส่งด่าเช็ดพรรคฯ และรัฐบาลจีน

คนที่ด่า ส่วนใหญ่ก็เป็นคน "จีนๆ" ด้วยกันนั่นแหละ

ทั้งนี้เพราะอะไร?

ก็เพราะการพัฒนาประเทศตามแนวคิดปฏิรูปและเปิดกว้างที่ริเริ่มโดยพรรคฯ จีนในยุคเติ้งเสี่ยวผิงเป็นแกนนำ กำลังส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อคนจีน ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็เชียร์ ผู้ที่เสียประโยชน์ก็ด่า

ปัจจุบันเสียงเชียร์มากกว่าเสียงด่าอย่างชัดเจน เว้นแต่ในบางเรื่อง เช่นเมื่อครั้งเกิดวิกฤตโรคซาร์ส คนจีนที่อยู่ใกล้เหตุการณ์พากันด่าขรมเจ้าหน้าที่จีนที่พากันปกปิดความจริง (คล้ายๆ กับเมื่อเกิดวิกฤตไข้หวัดนกในประเทศไทย ภาครัฐก็ปกปิดกันสุดเหวี่ยง ด้วยเหตุผลนานาประการ) แต่เมื่อพรรคฯและรัฐบาลจีนชุดใหม่ คือชุดปัจจุบัน สั่งจัดการอย่างเฉียบขาด สั่งปลดทั้งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่ง และออกกฎหมายใหม่ๆ บังคับให้หน่วยงานรัฐทำงานอย่างโปร่งใสมากขึ้น เสียงด่าจึงกลายเป็นเสียงเชียร์

แสดงว่า เสียงด่าหรือเสียงเชียร์ของประชาชนจีนเป็นเสียงบริสุทธิ์ ไม่มีอคติต่อพรรคหรือรัฐบาลจีน ต่างจากเสียงก่นด่าสาปแช่งของพวก "มีความเห็นไม่ลงรอย" กับพรรคและรัฐบาลจีน ที่เป็น "ขาประจำ"
กำลังโหลดความคิดเห็น