xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประท้วงเดือดปฏิรูปอุตฯน้ำตาลอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – แผนการปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำตาลของคณะกรรมาธิการยุโรป เผชิญบททดสอบสำคัญครั้งแรกในวันนี้ (18) เมื่อบรรดารัฐมนตรีเกษตรของกลุ่มอียูประชุมหารือเรื่องดังกล่าวที่กรุงบรัสเซลส์ ขณะที่บรรดาเกษตรกรผู้ผลิตน้ำตาลจำนวนมาก ก็นัดหมายเดินขบวนประท้วง

สหภาพยุโรป (อียู) จำเป็นต้องปฏิรูปในเรื่องดังกล่าว หลังองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ตัดสินว่า นโยบายอุดหนุนผู้ผลิตน้ำตาลของอียูซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 1968 นั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ตามคำฟ้องร้องของออสเตรเลีย บราซิล และไทย

ตามระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อียูรับประกันราคาน้ำตาลให้บรรดาผู้ผลิต ด้วยการรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาโดยเฉลี่ยในตลาดโลกถึง 3 เท่า

เวลานี้ คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังเสนอแผนลดการประกันราคาลงให้ได้ 39% ในเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นไป ตลอดจนวางแผนจ่ายเงินชดเชยให้กับบรรดาเกษตรกรที่ถูกบีบให้ต้องออกจากธุรกิจ อันเนื่องมาจากการปรับลดราคาครั้งนี้

ทว่า แผนการปฏิรูปดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อไปถึงธุรกิจน้ำตาลใน 18 ประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในแถบแอฟริกา แคริบเบียน และแปซิฟิก (กลุ่มประเทศเอซีพี) ซึ่งก็ได้ประโยชน์จากระบบการกำหนดราคารับซื้อสูงเป็นพิเศษของอียู โดยประเทศเหล่านี้ระบุว่า พวกตนจะต้องสูญเสียเงินได้กว่า 400 ล้านยูโร (480 ล้านดอลลาร์) ต่อปีหากมีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว

ในการประชุมที่จะมีขึ้นวันนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เหล่าคณะรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร 25 ชาติของกลุ่มอียู จะต้องเปิดไฟเขียวให้กับแผนการปฏิรูปเหล่านี้อย่างแน่นอน

แต่กระนั้นก็ยังมีอีก 8 ประเทศในกลุ่มอียูคือ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ กรีซ อิตาลี ไอร์แลนด์ ลิทัวเนีย โปรตุเกส และสเปน ยังคงคัดค้านเรื่องนี้ ด้วยเกรงว่าการปฏิรูปนี้จะทำให้ธุรกิจการปลูกหัวผักกาดแดงใช้ทำน้ำตาล (ชูการ์บีท)ในประเทศพวกตนล่มสลายไป ขณะที่กลับทำให้ประเทศอียูที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนี กลายเป็นฝ่ายได้ประโยชน์

ทั้งนี้ แม้ว่าทางคณะกรรมาธิการได้เสนอจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรเป็นจำนวน 60% ของความเสียหายที่ได้รับจากการลดระดับการประกันราคา แต่ก็ไม่ได้ปิดบังท่าทีที่ว่า กำลังหาทางกำจัดผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าออกไป

สำหรับกลุ่มประเทศเอซีพี แม้คณะกรรมาธิการจะเสนอให้เงินช่วยเหลือ 40 ล้านยูโรแก่ผู้ผลิตในกลุ่มนี้ แต่ดูเหมือนแผนการปฏิรูปต่างๆ น่าจะสร้างความสูญเสียเป็นมูลค่ามากกว่าเงินก้อนนี้

มาดาน ดัลลู รัฐมนตรีต่างประเทศของมอริเชียส ซึ่งเป็นประเทศโฆษกของกลุ่มเอซีพีในประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว บอกว่า เอซีพีหลายประเทศต้องพึ่งพิงการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดอียู เพื่อเป็นรายได้มาจับจ่ายซื้อหาอาหาร หากแหล่งรายได้ตรงนี้หมดไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหารขึ้น

ด้านองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ อย่าง ออกซ์แฟม และ อะโปรเดฟ ต่างมีความคิดเห็ทำนองเดียวกันนี้ และได้วิพากษ์วิจารณ์ “ข้อเสนออันหอมหวาน” ที่ทางคณะกรรมาธิการหยิบยื่นให้แก่บรรดาผู้ผลิตว่า จะแปรเปลี่ยนกลายเป็น “ยาขม” สำหรับเหล่าประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้คาดว่าที่กรุงบรัสเซลส์ จะมีเกษตรกรกว่า 5,000 คนออกมาร่วมเดินขบวนประท้วงต่อสู้เพื่ออนาคตของพวกตน โดยพวกเขาระบุว่า เกษตรกรราว 120,000 คนจากทั้งหมด 320,000 คนในกลุ่มอียูจะหมดอาชีพไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น